จิตต์สุภา ฉิน : จออะไรเลี้ยงลูกไม่ได้?

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

บอกตามตรงเลยนะคะว่าเกิดและใช้ชีวิตอยู่ในประเทศนี้มาก็นานหลายปี ซู่ชิงไม่เคยได้ยินความเชื่อที่บอกว่าถ้าเด็กไม่พูดให้เอาเขียดหรือกบตบปากมาก่อนเลย

ดังนั้น เมื่อไม่นานมานี้ที่ได้เห็นเพจเฟซบุ๊กชื่อดังออกมารณรงค์ไม่ให้เอาเขียดตบปากเด็กก็ทำให้เหวอไปพอสมควรเหมือนกัน

เพราะคิดไม่ถึงว่าจะมีใครเชื่อมโยงเอาเขียด กบ และความสามารถในการพูดของเด็กมาเป็นสิ่งที่เป็นเหตุเป็นผลกันได้

แล้วในทางปฏิบัติมันยังไงกันแน่ ต้องเป็นกบเท่านั้น เป็นเขียดเท่านั้น ต้องตบด้วยระดับความแรงแค่ไหน ตบกี่ครั้ง ตบแล้วทำอะไรต่อ เด็กจะเจ็บไหม กบจะตายไหม ตบเสร็จแล้วทอดกินด้วยไหม ฯลฯ

ซู่ชิงมีเครื่องหมายคำถามลอยอยู่เต็มหัวไปหมด

ลองเสิร์ชอินเตอร์เน็ตดูปรากฏว่าเจอผลลัพธ์การค้นหาเรื่องนี้ไม่น้อย

บางลิงก์เป็นการให้ความรู้ทางการแพทย์ที่ชี้ให้เห็นถึงผลเสียของการทำตามความเชื่อข้อนี้ (แน่นอนว่าไม่มีลิงก์ทางการแพทย์ไหนที่ชี้ให้เห็นถึงผลดีนะคะ)

ในขณะที่ก็มีกระทู้จำนวนไม่น้อยที่หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาคุย ซึ่งสิ่งที่น่าตกใจก็คือเกือบทุกความเห็นออกมาบอกว่าตัวเองลองทำมาแล้ว ไม่ว่าจะได้ผลหรือไม่ได้ผลก็ตาม

และพลาดไม่ได้กับประโยคคลาสสิคที่เราได้ยินกันจนชินหูอย่าง “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่”

บางคนไปไกลถึงขั้นใช้คำว่า จุ๊บ ซึ่งก็คงจะน่ารักดีถ้าไม่ได้กำลังพูดถึงกบ เขียด ที่คลุกคลีอยู่กับดินและไม่รู้ว่าปากหรือลิ้นมันไปสัมผัสกับอะไรมาแล้วบ้างก่อนที่จะมาสัมผัสกับปากนุ่มๆ ของลูกเรา

หากคุณผู้อ่านเป็นหนึ่งในคนที่มีปัญหากลุ้มใจเรื่องลูกไม่ยอมพูดสักที ก่อนที่จะออกไปด้อมๆ มองๆ หรือจ้างคนไปจับกบแล้วเอามาตบปากลูก ลองฟังทางนี้ดูก่อนค่ะ บางทีนี่อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกคุณพูดช้ากว่าเด็กคนอื่นก็ได้

 

ในยุคสมัยที่ทุกบ้านมีหน้าจอมากกว่าหนึ่ง และโทรทัศน์ไม่ใช่หน้าจอประเภทเดียวภายในบ้านของเราอีกต่อไป แต่มีหน้าจอที่เล็กกว่า ใกล้ชิดลูกกะตามากกว่า และสัมผัสโต้ตอบได้ทำให้อยู่กับมันได้นานกว่า

พ่อแม่จำนวนไม่น้อยก็เลือกที่จะใช้หน้าจอเลี้ยงลูก

ในอดีตอาจจะแค่ปล่อยให้ลูกนั่งดูโทรทัศน์ไปเรื่อยๆ แต่สมัยนี้เด็กที่ได้ลิ้มรสความสนุกสนานอันยากจะถอดถอนใจของการใช้จอสัมผัสแล้ว ก็จะร่ำเรียกร้องหาแต่สมาร์ตโฟนหรือแท็บเล็ตเรื่อยไป

พ่อแม่ก็ใจอ่อนเพราะการหยิบยื่นแท็บเล็ตให้นั้นได้ผลชะงัดนัก ลูกไม่กวน ไม่งอแง ไม่เรียกร้อง นั่งนิ่งๆ อยู่หน้าจอได้นานหลายชั่วโมง พ่อแม่ก็เอาเวลานั้นไปทำธุระปะปังอะไรของตัวเองไป รู้ตัวอีกทีก็ผ่านไปแล้วค่อนวัน

รศ.นพ.วีระศักดิ์ ชลไชยะ หัวหน้าสาขาวิชาพัฒนาการและการเจริญเติบโต ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่าย้อนกลับไป 10 ปีก่อน ท่านเคยทำโครงการวิจัยเรื่อง “แนวโน้มการดูโทรทัศน์ในเด็กพูดช้าเปรียบเทียบกับเด็กปกติ” โดยทํา การศึกษาในเด็กอายุตั้งแต่ 15 เดือนจนถึง 48 เดือน และพบว่า เด็กตั้งแต่ 6 เดือนลงไป หากดูทีวีเกินวันละ 2 ชั่วโมง จะมีอัตราเสี่ยงที่จะพูดช้ามากกว่าเด็กปกติถึง 6 เท่า

เนื่องจากรายการที่เด็กนั่งดูหน้าจอทีวีนั้นล้วนเป็นรายการสำหรับผู้ใหญ่ และไม่มีใครมีปฏิสัมพันธ์ด้วยในระหว่างการดูทีวี

วาร์ปมาถึงโลกยุคปัจจุบัน ไทยแลนด์ 4.0 สื่อที่เด็กเสพและระยะเวลาของการเสพอย่างต่อเนื่องนั้นเพิ่มขึ้นมาอย่างน่าใจหาย พ่อแม่มีแนวโน้มในการใช้จอเลี้ยงลูกมากขึ้น นำมาซึ่งปัญหาเด็กมีพัฒนาการช้าจนถึงมีภาวะออทิสซึ่มที่มากขึ้นไปด้วย

รศ.นพ.วีระศักดิ์ ให้ข้อมูลว่าปัจจุบันพบว่าเด็กออทิสติก 1.5% มีสาเหตุมาจากพันธุกรรม คือมีประวัติว่าคนในตระกูลพูดช้า ซึ่งอาการนี้ไม่สามารถตรวจพบได้ก่อน 6 เดือน แต่หากเลี้ยงดูไม่ดี อาการจะค่อยๆ ปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆ จนถึงช่วงประมาณ 1 ขวบครึ่งถึง 2 ขวบ ที่จะเห็นอาการชัดเจน

อาการที่ว่าคือมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ อย่างเช่น ซนมาก หากไม่ได้ดังใจก็จะกรีดร้อง ทำร้ายคนอื่น ทำร้ายตัวเอง ไม่มองหน้าสบตาใคร มีโลกส่วนตัวที่ไม่ยอมมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น สมาธิสั้น เห็นพ่อแม่เป็นเหมือนอากาศ และไม่ชี้บอกความต้องการ

ซึ่งทั้งหมดนี้อาจเกิดจากการปล่อยให้ลูกอยู่หน้าจอคนเดียวเป็นเวลานานๆ โดยไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นรอบตัวเลย

 

เมื่อมีปัญหาแบบนี้เกิดขึ้น พ่อแม่จำนวนไม่น้อยแทนที่จะลองทบทวนพฤติกรรมการเลี้ยงลูกของตัวเอง หรือพาไปตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด กลับเสียเวลาไปกับการไปจับกบ จับเขียด แล้วเอามาตบปากลูกตัวเอง

คุณหมอเองก็บอกว่ามีคุณแม่ที่มาปรึกษาปัญหาเรื่องนี้แล้วยอมรับว่าตบปากลูกด้วยเขียดไปแล้วเหมือนกันแต่ไม่เวิร์ก

วิธีการป้องกันก็มีอยู่นะคะ คุณหมอบอกว่าหากเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ จะต้องหลีกเลี่ยงการอยู่หน้าจอทุกประเภท ให้พ่อแม่ปิดสื่อแล้วทำกิจกรรมร่วมกับลูก พาออกไปข้างนอก เล่นกับเพื่อนในวัยเดียวกัน

ส่วนเด็กอายุ 2-5 ขวบ ให้เลือกสื่อที่มีคุณภาพและรับชมร่วมกับพ่อแม่เป็นเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน

พ่อแม่ต้องเข้าใจว่า 5 ขวบแรกของชีวิตเป็นช่วงเวลาที่สมองมีพัฒนาการมาก เซลล์ประสาทแต่ละตัวจะส่งสัญญาณเชื่อมโยงโยงใยโครงข่ายในสมองเป็นพันล้านโครงข่าย ในแต่ละวินาทีสามารถเชื่อมต่อกันมากว่า 1 ล้านโครงข่าย

ดังนั้น จึงจำเป็นจะต้องลงทุนกับเด็กในช่วงห้าปีแรกของชีวิตเป็นอย่างดี

และการลงทุนที่ว่าก็คือการให้การดูแลและเอาใจใส่ใกล้ชิดนั่นเอง

มิใช่การใช้เงินไปกับค่าของเล่นสุดหรูหรือค่าเทอมแสนแพงแต่อย่างใด

 

ไกด์ไลน์ว่าเด็กอายุเท่าไหร่จึงจะสามารถใช้อุปกรณ์สมาร์ตดีไวซ์เหล่านั้นได้อาจจะแตกต่างกันออกไป แต่ก็จะไม่ลงไปต่ำกว่าเด็กวัย 2 ขวบ

เว็บไซต์ PBS Parents ให้ข้อมูลไว้ว่า ถ้าหากพ่อแม่อยู่ข้างๆ ลูกและใช้อุปกรณ์สมาร์ตดีไวซ์ไปพร้อมๆ กัน เด็กอายุประมาณ 4-5 ขวบ ก็จะพร้อมสำหรับการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้เป็นคู่มือในการเรียนรู้ แต่ในสภาพแวดล้อมที่พ่อแม่ปล่อยให้ลูกจับถือสิ่งของเหล่านี้ด้วยตัวเองโดยไม่ได้คอยดูแลอยู่ใกล้ๆ กว่าเด็กจะพร้อมก็นู่นเลยค่ะ รอไปถึงอายุ 11-13 ปีเลย

ในกรณีที่เกิดอาการผิดปกติไปแล้ว แต่พามาหาหมอเร็วภายในช่วงห้าปีแรกและรีบปรับสภาพการเลี้ยงดู ก็จะยังพอแก้ไขได้ทันท่วงที

แต่หากปล่อยให้ล่วงเลยเนิ่นนานไปกว่านั้นก็จะเป็นปัญหาที่ใหญ่และเรื้อรังจนอาจจะแก้ไม่ได้

แม้ว่าจะไม่ได้มีลูกเป็นของตัวเองแต่ซู่ชิงก็พอจะเข้าใจหัวอกของพ่อแม่สมัยใหม่นะคะ ว่าการที่ทั้งพ่อและแม่ต้องทำงานไปด้วย เลี้ยงลูกไปด้วย ในสภาพสังคมที่แข่งกันกันรุนแรงแบบทุกวันนี้มันเหน็ดเหนื่อยแค่ไหน

บางครั้งการหยิบสมาร์ตโฟนของเรายื่นส่งให้ลูกเพื่อแลกกับ 30 นาทีแห่งการได้พักผ่อนหรือทำงานในสภาพแวดล้อมที่สงบเงียบปราศจากเสียงร้องไห้โยเยว่าจะเอานั่นเอานี่ก็ดูเป็นราคาที่คุ้มค่าที่จะจ่าย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผลลัพธ์ไม่ได้เกิดขึ้นให้เห็นภายในทันตา มันก็ชวนให้คิดเข้าข้างตัวเองว่า เอาน่า ไม่เป็นไรหรอก ให้อีกสักนิด คราวหน้าค่อยใจแข็ง แล้วก็ผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อยๆ

ลองฮึดกันดูสักนิดนะคะ จัดตารางเวลาที่พอจะมีอยู่ให้ลงตัวที่สุดเพื่อดึงลูกออกจากจอในวัยที่ยังไม่พร้อม เดินไปนั่งข้างๆ ลูกและใช้มันไปพร้อมๆ กัน ยอมเสียเวลาวันละนิดวันละหน่อยตอนนี้ ดีกว่าจะต้องเจอปัญหาใหญ่ในวันหน้า

วันที่ลูกเป็นวัยรุ่นที่ควรต้องผละออกจากอ้อมอกพ่อแม่ได้แล้วแต่กลับยังทำสิ่งที่พื้นฐานที่สุดด้วยตัวเองไม่ได้

ส่วนกบเขียดก็ปล่อยให้มันเริงร่าท้าฝนในที่ของมันเถอะค่ะ อย่าไปยุ่งกับมันเลย