อโยธยา เมืองสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฝั่งสถานีรถไฟอยุธยา | สุจิตต์ วงษ์เทศ

AFBELDINGE DER STAD IUDIAD Hooft des Choonincrick Siam (ภาพเขียนพระนครศรีอยุทธยาเมืองหลวงแห่งราชอาณาจักรสยาม) โดยโยฮันน์เนส วิงก์โบนส์ ตีพิมพ์ใน Vingboons Atlas ราวปี ค.ศ. 1660

เมืองอโยธยาถูกบังคับสูญหายจากประวัติศาสตร์ไทย โดยเหล่านักวิชาการประวัติศาสตร์โบราณคดีที่เลื่อมใสรัฐราชการรวบอำนาจรวมศูนย์ ที่ยกย่อง “สุโขทัยราชธานีแห่งแรก”

แต่อโยธยามีอายุเก่ากว่ากรุงสุโขทัย จึงไม่พบผังเมืองและเรื่องราวความเป็นมาของเมืองอโยธยาในเอกสารการศึกษาผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรมของแหล่งมรดกโลก พระนครศรีอยุธยา ทั้งๆ ระบบรถไฟความเร็วสูงที่จะสร้างมีทิศทางแนวเหนือ-ใต้ ผ่าเมืองอโยธยาเต็มๆ เท่ากับทำลายเมืองอโยธยาย่อยยับ

เมืองอโยธยา ตั้งอยู่บริเวณแผ่นดินผืนใหญ่เดียวกัน ยังไม่มีเกาะอยุธยา (วาดเส้นฝีมือ พเยาว์ เข็มนาค)

อโยธยา อยู่ทางสถานีรถไฟอยุธยา

อโยธยา อยู่นอกเกาะเมืองอยุธยาทางด้านตะวันออก บริเวณที่ปัจจุบันเป็นทางรถไฟและสถานีรถไฟอยุธยา มีแม่น้ำป่าสักเป็นเส้นแบ่งที่ถูกสร้างขึ้น

แต่สมัยอโยธยา แม่น้ำป่าสักไหลไปทางคลองหันตรา (แม่น้ำป่าสักเดิม) ดังนั้น พื้นที่เกาะเมืองอยุธยากับตัวเมืองอโยธยาเป็นแผ่นดินเดียวกัน โดยมีคูน้ำเป็นคูเมืองอโยธยาด้านตะวันตก (เรียกคูขื่อหน้า) สมัยอยุธยาขยายคูเมืองอโยธยา “คูขื่อหน้า” ให้กว้างแล้วน้ำไหลทางตรงจนกลายเป็นแม่น้ำป่าสัก


ผังเมืองอโยธยา (กรอบขาว ขนาด 1,400 x 3,100 เมตร) จากภาพถ่ายทางอากาศ พ.ศ.2497 (ตรวจสอบและจัดทำโดย พเยาว์ เข็มนาค)

รูปร่างหน้าตา ตัวเมืองอโยธยามีคูน้ำคันดินล้อมรอบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 1,400 x 3,100 เมตร กว้าง แนวตะวันออก-ตะวันตก ประมาณ 1,400 เมตร ยาว แนวเหนือ-ใต้ ประมาณ 3,100 เมตร

ลักษณะการวางผังเมืองคล้ายกันมากกับเมืองสุพรรณบุรี แต่ที่สุพรรณบุรีคันดินยังเหลืออยู่ ส่วนเมืองอโยธยาไม่ปรากฏให้เห็นเลย พเยาว์ เข็มนาค ศึกษาจากภาพถ่ายทางอากาศ พ.ศ.2496 พบว่า

ด้านเหนือ คูเมืองยังปรากฏแนวชัดเจน ตั้งแต่เหนือวัดอโยธยาพุ่งตรงไปผ่านคลองทรายหรือแม่นํ้าป่าสัก ปัจจุบันเข้าเกาะลอย ชาวบ้านเรียกคลองบนเกาะช่วงนี้ว่าคลองวัดข้าวสารดำ แผนที่ของพระยาโบราณราชธานินทร์ยังปรากฏแนวคูคลองช่วงนี้ให้เห็นอยู่

ด้านทิศตะวันตก คูเมืองคือคูขื่อหน้า ตอนเหนือของคูด้านนี้อยู่บนเกาะลอย ผ่านวิทยาลัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการต่อเรือพระนครศรีอยุธยา ไปชนกับคลองข้าวสารดำ ยังปรากฏร่องรอยจากภาพถ่ายเก่าให้เห็น

ผังเมืองอโยธยา จำลองจากภาพถ่ายทางอากาศ พ.ศ.2497 (ฝีมือพเยาว์ เข็มนาค)

ด้านใต้ คูเมืองจากคูขื่อหน้าพุ่งเข้าคลองสวนพลู ซึ่งเป็นคูเมืองเดียวกันไปบรรจบกับคูเมืองด้านใต้ที่คลองพระนอน ยังปรากฏแนวคูชัดเจน พุ่งตรงผ่านด้านทิศใต้ของวัดใหญ่ชัยมงคลไปที่บริเวณวัดไก่เตี้ย (ร้าง)

ด้านทิศตะวันออก คือ คูเมืองคลองมเหยงคณ์ แต่ช่วงจากคลองกระมังลงไปทางใต้ (เขตวัดใหญ่ชัยมงคล) มีขาดเป็นช่วง (ภาพถ่ายทางอากาศ พ.ศ.2496)

รายละเอียดเมืองอโยธยาสี่เหลี่ยมผืนผ้า ได้จากงานวิจัยทุนศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เรื่อง ระบบลำน้ำสมัยอยุธยา ของ พเยาว์ เข็มนาค (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2562 หน้า 75-93)

พเยาว์ เข็มนาค (2490-2561) บรรยายในห้องประชุม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา เมื่อ พ.ศ.2556 (ภาพโดย ปัทพงษ์ ชื่นบุญ)

พเยาว์ เข็มนาค (พ.ศ.2490-2561) ชาวอยุธยาโดยกำเนิด อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา รับราชการกองโบราณคดี กรมศิลปากร เป็นผู้คัดลอกภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์ในอีสาน โดยเฉพาะภาพเขียนที่ผาแต้ม (อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี) เป็นผู้สำรวจและเขียนแผนที่แสดงที่ตั้งโบราณสถานในเกาะเมืองและรอบนอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา (ตามแผนที่อยุธยาของพระยาโบราณราชธานินทร์ และเพิ่มเติมจนสมบูรณ์) ต่อมากรมศิลปากรใช้ประกอบการนำเสนออยุธยาเป็นมรดกโลก ตำแหน่งสุดท้ายเป็นหัวหน้ากลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา งานวิชาการเรื่องสุดท้ายคือ “ระบบลำน้ำสมัยอยุธยา” •