วัฒนธรรมจิบชาแกล้มเค้ก ทำคนอังกฤษอ้วนทะลุกราฟ

บทความพิเศษ | จักรกฤษณ์ สิริริน

 

วัฒนธรรมจิบชาแกล้มเค้ก

ทำคนอังกฤษอ้วนทะลุกราฟ

 

วัฒนธรรมจิบชาแกล้มเค้กของคนอังกฤษ สืบสาแหรกกลับไปได้ไกลในยุคศตวรรษที่ 16 ยกระดับจากวัฒนธรรมเป็นอารยธรรมที่คุ้นชินในปัจจุบัน

หากเราไปเที่ยวอังกฤษ ก็จะต้องเห็นอารยธรรมการจิบช้าแกล้มขนมเค้กชิ้นเล็กๆ

ซึ่งคนอังกฤษจะแบ่งกระบวนการจิบชาออกเป็น 3 แบบได้แก่ Afternoon Tea กับ High Tea รวมถึง Elevenses

ที่ดูคล้ายกันมากจนบางครั้งแทบจะแยกไม่ออกว่าอะไรคือ Elevenses อะไรคือ Afternoon Tea และอะไรคือ High Tea กันแน่

ซึ่งหากว่าดูเผินๆ จากชื่อ อาจจะพอแยกออกได้นิดหน่อย

กล่าวคือ Elevenses ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า Eleven ที่แปลว่า 11 (หมายถึง 11 โมงเช้า)

Elevenses คือการกินเค้กชิ้นเล็กๆ หรือขนมปังกรอบอย่างบิสกิต ร่วมกับชาหรือกาแฟในช่วง 11 โมงเช้า เพราะเป็นของว่างที่ไม่หนักท้องมาก นิยมกินกันช่วงสายๆ ก่อนเวลาอาหารกลางวัน

Afternoon Tea ชื่อก็บอกเช่นกัน ว่าเป็นช่วงหลังเที่ยง เป็นอารยธรรมการจิบชาหลักของคนอังกฤษตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ในหมู่คนชนชั้นสูง

Afternoon Tea มีชื่อเล่นว่า Low Tea มักเริ่มกินตั้งแต่บ่ายสามครึ่งเป็นต้นไป มี 3 เมนูคือ Light Tea (ชา+สโคน) Cream Tea (ชา+สโคน+แยม+ครีม) Full Tea (ชา+สโคน+แซนด์วิช)

เสิร์ฟชาคู่กับขนมนิดๆ หน่อยๆ บนโต๊ะทรงเตี้ย เพราะการจิบชายามบ่ายเป็นวัฒนธรรมของการพูดคุยมากกว่าการจิบชาแบบเอาจริงเอาจัง ไม่เน้นกินขนม

High Tea เป็นวัฒนธรรมที่เกิดจากความหมั่นไส้ชนชั้นสูงของชนชั้นแรงงานยุคปฎิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งมักจะตั้งวงกินกันตอนเลิกงาน หลังจากใช้พลังงานไปทั้งวัน

จึงจัดกันเต็มคาราเบล เน้นอาหารหนักที่มีทั้งขนมปัง เนื้อสัตว์ ปลา ไข่ ผัก ผลไม้ ของหวาน เช่น ทาร์ต, ช็อกโกแลต, แซนด์วิช และขนมอื่นๆ ที่สำคัญก็คือ ต้องมีชาร้อนๆ เพื่อเยาะเย้ยชนชั้นสูง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลักษณะการวางกับแกล้มจะไว้บนโต๊ะสูง เพื่อให้ดูเว่อร์วังอลังการ เสียดสีวัฒนธรรมการจิบชาของชนชั้นสูง จึงเป็นที่มาของคำว่า High Tea นั่นเอง

 

จะเห็นได้ว่า นอกจากกระบวนการในการจิบที่ต่างกัน วัฒนธรรมการจิบชาได้แบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลาอย่างชัดเจน

แต่ถ้าหากเราไปเที่ยวอังกฤษคนเดียว เดินๆ อยู่อาจมีคนแซวคำว่า CUPPA! เหมือนกึ่งเชิญชวนให้ไปจิบชาด้วยกัน

CUPPA! มาจากคำว่า a cuppa หรือ a cup of tea มาจากคำเต็มว่า time for a cuppa แต่สามารถลดรูปแบบพูดสั้นๆ ว่า Let’s have a CUPPA! ถ้าอยากชวนใครสักคนไปจิบชา

อย่างไรก็ดี จากรากอารยธรรมที่หยั่งลึกของคนอังกฤษ คือการจิบชาที่เป็นวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงบ่ายๆ ต้องมีการล้อมวงเล็กๆ เพื่อจิบชาแกล้มเค้กชิ้นย่อมๆ

ทำให้ทันตแพทย์ออกมาเตือนถึงพฤติกรรมการเสิร์ฟของหวาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขนมเค้ก ด้วยความห่วงใยว่าอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาวได้

เพราะการรับประทานเค้ก หรือขนมหวาน แกล้มชายามบ่ายในชีวิตประจำวันของชาวอังกฤษ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพช่องปาก และนำไปสู่โรคอ้วน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงคริสต์มาสที่ผ่านมา มีการใช้จ่ายเพื่อซื้อเค้กในอังกฤษมูลค่าสูงถึง 200 ล้านยูโร

จากสถิติชี้ว่า ปัจจุบัน 2 ใน 3 ของผู้ใหญ่ในอังกฤษมีน้ำหนักเกิน หรือเป็นโรคอ้วนจำนวนมาก

ขณะที่มีเด็กเป็นโรคฟันผุมากถึง 64,000 คน

ร้อนถึงคุณหมอฟัน ที่ออกมาเตือนว่า การบริโภคเค้กที่ดี ควรซื้อเค้กประเภทหวานน้อย ไม่ก็ลดขนาดปอนด์ หรือใช้กินแทนอาหารกลางวัน แทนที่จะเป็นของว่างยามบ่าย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ควรเลือกเค้กหรือบิสกิตที่มีส่วนผสมของสารให้ความหวานแทนน้ำตาล สำหรับเป็นกับแกล้มระหว่างการจิบชายามบ่าย ไม่ก็เปลี่ยนเป็นผลไม้ หรือถั่วต่างๆ แทนจะดีมาก

เพราะทุกวันนี้ วัฒนธรรมที่ฝังลึก อย่างการนำเค้กมาแบ่งปันให้เพื่อนร่วมงานที่ออฟฟิศ ซึ่งเป็นกระบวนการกระชับความสัมพันธ์ในที่ทำงาน ยังคงได้รับความนิยมอยู่

แต่บรรดาแพทย์ได้ออกมาเตือนว่า การผูกมิตรผ่านขนมแสนอร่อยของชาวอังกฤษ ที่ปฏิบัติกันมาเนิ่นนาน มาพร้อมความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนที่เพิ่มขึ้น

 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา รัฐสภาอังกฤษได้เผยแพร่รายงานด้านสุขภาวะ ที่ระบุว่า ผู้ใหญ่ชาวอังกฤษมากถึง 25.9% ประสบภาวะโรคอ้วน และอีก 37.9% เป็นผู้ที่มีน้ำหนักเกิน โดยอ้างอิงจากผลสำรวจทางสถิติสุขภาพในปี ค.ศ.2021

โดยรายงานฉบับดังกล่าว ได้เผยแพร่รายละเอียดเพิ่มเติมว่า จากผลการสำรวจพบว่า ประเทศสหรัฐอเมริกามีอัตราผู้เป็นโรคอ้วนสูงที่สุดในโลก ซึ่งคิดเป็น 43%

ขณะที่ในประเทศอังกฤษมีอัตราผู้เป็นโรคอ้วน อยู่ที่ 28% ซึ่งทั้งหมดนี้อ้างอิงจากข้อมูลสถิติด้านสุขภาพอย่างเป็นทางการ จากศูนย์ข้อมูลองค์การเพื่อความร่วมมือ และการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

Katharine Jenner ผู้อำนวยการเครือข่าย Obesity Health Alliance ซึ่งมีสมาชิกที่เป็นองค์กรซึ่งเกี่ยวข้องกับปัญหาโรคอ้วนจากทั่วโลกกว่า 40 หน่วยงาน กล่าวว่า แนวโน้มโรคอ้วนในอังกฤษนั้นมีแต่ “ย่ำแย่ลง”

“ทุกวันนี้ ระบบบริการสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ต้องใช้งบประมาณปีละราว 60,000 ล้านปอนด์ หรือราว 2.4 ล้านล้านบาท เพื่อรับมือกับโรคอ้วน” Katharine Jenner กล่าว และว่า

คนอังกฤษจะต้องรีบปรับวัฒนธรรมการกินโดยเร็ว เพราะขณะนี้ประเทศของเรากำลังเผชิญปัญหาสุขภาพจากการบริโภคน้ำตาล และพฤติกรรมการรับประทานอาหารในระดับใกล้เคียงกับเมื่อ 60 ปีที่แล้ว

 

สอดคล้องกับศาสตราจารย์ ดร. Susan Jebb นักโภชนาการแห่ง University of Oxford ในฐานะประธานหน่วยงานมาตรฐานอาหารของอังกฤษ ที่ระบุว่า วัฒนธรรมการนำเค้กมาที่ทำงาน จะเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพของเพื่อนร่วมงาน

“การนำเค้กมาแบ่งกันกินกับเพื่อนที่ออฟฟิศ เปรียบเหมือนคุณสูบ และพ่นควันบุหรี่ในที่ทำงาน ทำให้เพื่อนของคุณสูดดมควันบุหรี่มือสอง” ศาสตราจารย์ ดร. Susan Jebb กระชุ่น

วัฒนธรรมการนำเค้กไปแบ่งกันกินที่ทำงาน เป็นการส่งเสริมให้ผู้คนเลือกรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น ศาสตราจารย์ ดร. Susan Jebb กล่าว และว่า

“ถ้าไม่มีใครนำเค้กมาที่ทำงาน ฉันก็คงไม่ได้แตะต้องเค้กเลยในวันดังกล่าว” ศาสตราจารย์ ดร. Susan Jebb สรุป

 

อย่างไรก็ดี Katie Mulligan พนักงานบริษัทโฆษณาในกรุงลอนดอน ยังคงอบขนมเค้กรสบีทรูทให้เพื่อนร่วมงานโดยไม่สนใจคำเตือน

“อะไรกัน การกินเค้กจะเหมือนกับการสูบบุหรี่ได้อย่างไร อย่าลืมว่า เพื่อนร่วมงานของฉัน สามารถเลือกที่จะกินเค้ก หรือไม่กินก็ได้นะ” Katie Mulligan กล่าว และว่า

ตรงกันข้าม เค้กของฉันช่วยให้เพื่อนร่วมงานตื่นตัวขึ้นระหว่างการทำงานช่วงบ่าย ดีเสียอีก แถมบีทรูทก็เป็นผักผลไม้ที่ดีต่อสุขภาพ

“การนำเค้กมาที่ทำงาน ช่วยสร้างมิตรภาพ สร้างบรรยากาศที่เป็นมิตร ตราบใดที่ผู้คนมีความตระหนัก และเลือกกินอาหารอย่างสมดุล ฉันยังคิดว่าการนำเค้กมาแบ่งปันในที่ทำงาน เป็นเรื่องที่น่ารักมาก” Katie Mulligan ทิ้งท้าย