ปรากฏการณ์สงสัย ‘อิคคิว’ ตายทิพย์ เคลือบแคลง ‘ระบบอุปถัมภ์-เส้นสาย’ โกงยุติธรรม

กรณีโลกออนไลน์ตั้งข้อสงสัย หลังติดตามข่าวการเสียชีวิตของอิคคิว หรือนายภูมิพัฒน์ นักเรียนเตรียมทหารรุ่น 65 บุตรชาย พล.อ.สมชาย ชัยวณิชยา อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองบัญชาการกองทัพไทย ใช้ปืนยิง น.ส.สุพิชชา หรือจีจี้ ปรีดาเจริญ อายุ 22 ปี เน็ตไอดอลสาวชื่อดังเสียชีวิตก่อนยิงตัวตายตาม ในห้องพักชั้น 14 คิว อโศก คอนโดมิเนียม ใกล้แยกอโศกเพชร ถนนเพชรบุรี แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กทม. เมื่อวันที่ 19 เมษายน

เป็นการตายจริง หรือตายทิพย์

ประเด็นที่ชาวเน็ตตั้งข้อสงสัยมีหลายแง่มุม มีการช่วยเหลือ อำพรางหลักฐานต่างๆ หรือไม่?

เนื่องจากฝ่ายชายเป็นนักเตรียมทหาร มีบิดาเป็นถึงพลเอก

จน “บิ๊กเด่น” พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ต้องออกมาการันตีว่า ได้รับรายงานจาก ผบช.น. และ ผบก.น.1 ยืนยันว่า นตท.ภูมิพัฒน์เสียชีวิตจริง คดีนี้มีพยานรู้เห็นจำนวนมาก มีพนักงานสอบสวน เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน และแพทย์นิติเวชโรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมตรวจพิสูจน์ตามขั้นตอนตามกฎหมาย

อีกทั้งครอบครัวผู้เสียชีวิตทั้ง 2 คนก็รับทราบกระบวนการทำงานเป็นอย่างดี จึงยืนยันว่าทั้ง 2 คนเสียชีวิต

ตามด้วย พล.ต.ต.อัฏธพร วงศ์ศิริปรีดา ผบก.น.1 ผู้ที่รับผิดชอบคดีนี้ ออกมาสำทับในฐานะเป็นหนึ่งในตำรวจที่เข้าไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ ยืนยันว่า คดีนี้ไม่ได้มีการให้การช่วยเหลือหรือกระทำการอำพรางเหตุการณ์ใดๆ เกี่ยวกับการเสียชีวิต ยืนยันว่าฝ่ายชายเสียชีวิตจริง

พล.ต.ต.อัฏธพร วงศ์ศิริปรีดา

ผบก.น.1 ระบุว่า ผลการตรวจคราบเขม่าดินปืนพบอยู่ที่มือฝ่ายชายเพียงคนเดียว ไม่พบคราบเขม่าที่ร่างฝ่ายหญิง และพบหัวกระสุนที่หายไป 1 นัด ฝังอยู่ในกะโหลกศีรษะฝ่ายชาย

ส่วนผลการตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดคีย์การ์ด ยืนยันว่า จีจี้ลงไปรับแฟนหนุ่มที่ด้านล่างคอนโดฯ ขึ้นมาที่ห้อง ตอนประมาณ 04.00 น. ของวันที่ 18 เมษายน ขณะนั้นยังไม่มีท่าทีทะเลาะ หรือมีปากเสียงกัน ระหว่างนั้นไม่มีภาพบุคคลอื่นเข้าหรือออกจากห้อง

กระทั่งเวลา 13.30 น. วันที่ 19 เมษายน แม่และเพื่อนของจีจี้ไปหาที่ห้องและแจ้งตำรวจ

และหลังจากนั้นมีเพียงตำรวจ เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน และแพทย์นิติเวชเท่านั้น ที่เข้าไปในห้องที่เกิดเหตุ เพื่อร่วมกันชันสูตรพลิกศพ ใช้เวลาตรวจนาน 3 ชั่วโมง จึงให้ครอบครัวทั้ง 2 ฝ่ายเข้าไปดูศพ

ก่อนจะให้เจ้าหน้าที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นำร่างผู้เสียชีวิตส่งไปชันสูตรอย่างละเอียดที่โรงพยาบาลรามาธิบดี

นอกจากนี้ ความสงสัยว่าตายทิพย์จริงหรือไม่ ยังถึงขนาดทีมได้สอบถามพระครูไพศาลพิพัฒนาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเสนาสนารามราชวรวิหาร พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพิธีศพ นตท.ภมิพัฒน์ ได้รับคำตอบว่าครอบครัวผู้เสียชีวิตมาประกอบพิธีทางศาสนาที่วัดจริง โดยมีหลักฐานเอกสารใบมรณบัตรยืนยัน

และศพผู้เสียชีวิตอยู่ในโลงเย็น ข้างๆ มีโลงศพสีทองที่ตั้งบำเพ็ญกุศล ได้รับประกอบพิธีทางศาสนาตามปกติ ไม่มีปิดบัง

ครอบครัวผู้เสียชีวิตก็ไม่ได้ขอ หรือกำชับอะไรเป็นพิเศษ นอกจากการขอทำพิธีเฉพาะคนภายในครอบครัวเท่านั้น

ขณะที่แม่ของจีจี้ ตอบคำถามถึงกระแสโซเชียลที่ไม่เชื่อว่าฝ่ายชายเสียชีวิตจริง โดยยืนยันว่า ได้เห็นศพทั้ง 2 คนในห้องพัก จึงรับรองล้านเปอร์เซ็นต์ว่าทั้ง 2 คนเสียชีวิตจริง และยังเห็นปืนที่ใช้ก่อเหตุตกอยู่ด้วย

ที่ผ่านมาแม่ของฝ่ายชายได้โทรศัพท์มาพูดคุยเพื่อขอโทษ และขออโหสิกรรม ซึ่งก็ยกโทษและอโหสิกรรมให้ เพราะต่างฝ่ายต่างก็สูญเสีย

ปรากฏการณ์ที่โลกโซเชียลสงสัยว่า “อิคคิว” เสียชีวิตจริงหรือไม่ นั้น รศ.พ.ต.อ.ดร.กฤษณะพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดีและประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาฯ มหาวิทยาลัยรังสิต สะท้อนว่าเกิดมาจากไม่มีภาพเบลอเหตุการณ์ที่ให้ทราบรายละเอียด เหมือนบางข่าวอาชญากรรมที่เคยนำเสนอ

ดังนั้น เมื่อไม่มีการเปิดเผยที่พอเห็นได้บ้าง ทำให้คนตั้งคำถาม ด้วยความที่ “อิคคิว” เป็น นตท. พ่อเป็นทหาร สังคมบางส่วนอาจสงสัยว่า ตำรวจกับนายทหารอาจมีการพูดคุย เอื้อประโยชน์กันหรือไม่

จากรายงานคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ พบว่า ประชาชนไม่เชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรม ทำให้กรณีเหตุสลดของคู่รักวัยเรียน เกิดคำถามตามมาว่า ตกลงผู้หญิงเสียชีวิตฝ่ายเดียว แล้วผู้ชายไม่ได้เสียชีวิต และกรณีผู้หญิงเคยถูกผู้ชายทำร้าย ทำให้คนคิดกันว่าผู้ชายใช้อาวุธไปทำร้ายจีจี้หรือไม่ แล้วต้องการยุติความสัมพันธ์ด้วยการใช้อาวุธปืน

“พอยิ่งไม่เห็นภาพเลย หรือแม้แต่เป็นภาพนำเสนอที่เบลอ คนเลยตั้งคำถาม และโลกสังคมออนไลน์มีความหลากหลาย คิดได้หลายมุม เกิดหลากหลายคำถาม แต่สุดท้ายต้องว่ากันด้วยพยานหลักฐาน ทั้งวิทยาศาสตร์ นิติวิทยาศาสตร์ การตรวจพิสูจน์หลักฐาน ซึ่งการชันสูตรของแพทย์ที่ให้ความเห็นได้เสียชีวิตจริง หรือวัดที่ฌาปนกิจต้องมีใบมรณบัตรของคนตาย”

ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยรังสิต จึงฟันธงว่า ประเด็นเกิดจากคนไม่เชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรม เพราะมีคำถามเยอะจากการดำเนินคดีในอดีต ทั้งทายาทเครื่องดื่มชูกำลัง, แพรวา 9 ศพ, ตู้ห่าว, บ่อนการพนันออนไลน์

และเมื่อมาถึงกรณีนี้การเป็นลูกพลเอก คนอาจเข้าใจว่ามีอิทธิพลไปเกี่ยวข้องหรือไม่ เทียบเคียงกับหลายๆ กรณีที่เกิดขึ้น แล้วไม่มีการอธิบายให้สังคมรับรู้รับทราบตั้งแต่เบื้องต้น ทำให้เกิดคำถามว่าช่วยเหลือกันหรือไม่

เพราะฉะนั้น การสื่อสารบนข้อเท็จจริง บนพยานหลักฐานนั้นสำคัญ เมื่อสังคมเริ่มสงสัยวิพากษ์วิจารณ์ ควรมีรูปแบบการสื่อสาร

เช่น ให้แพทย์ หรือเจ้าหน้าที่ชันสูตรที่เป็นกลางออกมาให้ความเห็นต่อสาธารณชน ไม่เช่นนั้นเหมือนไฟลามทุ่ง

ไฟที่เริ่มก่อตัวน้อยๆ แล้วไม่ดับ สุดท้ายลามไปทั้งทุ่ง

ที่สำคัญ ถ้า พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญาผ่านสภา คนจะมีความเชื่อมั่นมากขึ้น เพราะมีพนักงานอัยการเข้ามา กรณีที่คดีคนสนใจ ต้องมีพนักงานอัยการเข้าร่วมตั้งแต่แรก แต่พอกฎหมายไม่ผ่านสภา อัยการไม่เข้ามาเกี่ยวข้อง

 

ด้านอัยการรายหนึ่งให้ความเห็นว่า กรณีปั่นป่วนนี้เกิดจากสังคมไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรม คนไม่เชื่อถือว่าความยุติธรรมมีอยู่จริง หรือคนคิดว่าความยุติธรรมเข้าถึงยาก ไม่มีเส้นเข้าไม่ได้ มีเส้นเข้าถึงทุกอย่าง

อย่างกรณี “อิคคิว” มีพ่อเป็นนายทหาร คนไม่เชื่อมั่นว่าตรงไปตรงมา เพราะที่ผ่านมาทำให้คนคิดว่ามีการปล่อยให้ “ระบบอุปถัมภ์” กับ “เส้นสาย” โกงความยุติธรรม ตั้งแต่คดีทายาทเครื่องดื่มชูกำลัง ที่เป็นบาดแผลสังคม กินลึกไปที่อัยการ

ตอนนี้สังคมมีวิกฤตศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรม พอตัวเองเสียประโยชน์บอกไม่ยุติธรรม แต่ได้ประโยชน์บอกยุติธรรม

กลายเป็นว่าความยุติธรรมอยู่ที่ความเชื่อว่าใครจะเชื่ออย่างไร เชื่อไปตามโซเชียลไม่เป็นไปตามพยานหลักฐาน

ทุกคนไม่เคยเห็นพยานหลักฐาน สำนวนที่แท้จริง คิดอะไรได้ไปเขียน คิดอะไรโพสต์ในโลกโซเชียล แล้วเราก็ปล่อยคนเหล่านี้โพสต์บ้าๆ บอๆ เพราะคนดีจะไม่ดำเนินคดีกับคนเกเร ไม่มีพระที่ไหนชักดาบฟันโจร แล้วโจรได้ใจ โซเชียลปล่อยให้สังคมวิปริตไปแล้วว่า ความจริงเป็นอย่างไร

“ข้อสำคัญ สื่อที่มีอิทธิพลทางการข่าวหวังเรตติ้ง รู้อะไรเร็วกว่าสำนวน แย่งกันล้ำหน้าเพื่อให้มีประเด็นใหม่ เป็นเรื่องจริยธรรมสื่อที่ต้องช่วยกัน” อัยการรายหนึ่งกล่าว

เป็นอีกบทเรียนหนึ่งที่ผู้เกี่ยวข้องต้องสังคายนาหน้าตักตัวเองเพื่อฟื้นศรัทธาต้นธารกระบวนการยุติธรรม