“ผู้รู้การเมือง…” จะเลือก ส.ส.แบบคุ้มค่าที่สุด ลักษณะพิเศษของการเลือกตั้งปี 2566

มุกดา สุวรรณชาติ

การเมืองยุคก่อนเป็นการเมืองที่ 2 ขั้ว เช่นปี 2550 และ 2554

ปัจจุบันก็ยังมีการแบ่งฝ่ายอยู่ แต่ว่าในแต่ละฝ่ายไม่ได้มีเพียงพรรคการเมืองเดียว เช่น เพื่อไทยและประชาธิปัตย์

การที่กองเชียร์จะเทคะแนนไปให้ฝ่ายตนเองชนะจึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะในสนามเลือกตั้งปี 2566 อย่างน้อยก็มี 6-7 พรรคที่ต้องตะลุมบอนแข่งขันกันเพื่อแย่งคะแนนในทุกเขตเลือกตั้ง

ในกรณีที่เป็นบัตรปาร์ตี้ลิสต์ดูแล้วไม่เป็นปัญหาเพราะไม่ว่าจะเลือกพรรคใดในฝ่ายประชาธิปไตย จะเลือกที่เขตไหนจังหวัดใด ก็จะได้ ส.ส.ถ้าคะแนนของพรรคนั้นรวมได้ประมาณ 350,000 คะแนนก็ได้ ส.ส. 1 คน

แต่ในการเลือก ส.ส.เขต พรรคที่มีแนวทางเดียวกันไม่ว่าจะเป็นเสรีประชาธิปไตยหรือฝ่ายอนุรักษนิยมก็พบปัญหาเดียวกันคือมีการแบ่งคะแนนในฝ่ายเดียวกันตั้งแต่ 2 พรรคขึ้นไป ของฝ่ายเสรีประชาธิปไตยก็คือเพื่อไทยกับก้าวไกล

ของฝ่ายอนุรักษนิยมนั้นมีทั้งประชาธิปัตย์กับรวมไทยสร้างชาติ และรวมไทยสร้างชาติกับพลังประชารัฐ และบางเขตก็ตัดกันชุลมุนทั้ง 4 พรรคโดยมีพรรคภูมิใจไทยเข้าร่วมวงเกือบทุกพื้นที่

แทบทุกพรรคมีเหตุผลในตัวเองที่ถอยให้กันไม่ได้ บางพรรคไม่เพียงแค่หวังเข้าร่วมรัฐบาล แต่หมายถึงพรรคแทบจะสูญพันธุ์หรือสลายตัวไปในไม่กี่ปีข้างหน้าถ้าได้ ส.ส.น้อยและไม่ได้เป็นรัฐบาล

 

กลัวคะแนนตกน้ำ

เลือกตั้งครั้งนี้มีคนจำนวนหนึ่งบอกว่าเลือกยากที่สุด เนื่องจากเขามีความรู้การเมืองมากขึ้น รู้เศรษฐกิจมากขึ้น ประสบปัญหาในชีวิตตลอด 10 ปีที่ผ่านมา และมีความหวังว่าถ้าได้รัฐบาลใหม่มาอาจสามารถช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ได้บ้าง

ดังนั้น ผู้ลงคะแนนส่วนหนึ่งจึงต้องคิดว่าการเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบที่มีสิทธิเลือกพรรคการเมืองและบุคคลแยกกัน ทำอย่างไรจึงจะได้ ส.ส.และรัฐบาลแบบที่ต้องการ

ในการแข่งขันชิง ส.ส.เขตถ้ามองในระดับทั่วประเทศแล้วจะพบว่าพรรคการเมืองส่วนใหญ่สู้แบบมีความหวังได้ประมาณ 1 ใน 4 เท่านั้น คือไม่เกิน 100 เขต ยกเว้นพรรคเพื่อไทย ที่สู้ได้ถึง 250 เขต

แต่ในการเลือกตั้งแม้รู้ว่าแพ้ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ยังต้องสู้ไปจนจบเกม

และจะมีตัวอย่างผลเลือกตั้ง เช่น ผู้ชนะได้ 38,000 คะแนน ที่ 2 อาจจะได้ 30,000 คะแนนเป็นผู้แพ้ และที่ 3 อาจจะได้แค่ 12,000 คะแนน แต่ก็ไม่มีพรรคไหนสั่งถอย เพียงแต่ในช่วงท้ายก่อนจะลงคะแนนจริง แรงสนับสนุนของผู้ที่แพ้ห่างในเขตนั้นอาจจะหายไปเพราะแต่ละพรรคต้องไปให้ความสำคัญกับเขตที่จะลงทุนลงแรงแล้วได้ชัยชนะจริง

เมื่อเป็นเช่นนี้คะแนนของ ส.ส.เขตที่แพ้ไม่ว่าจะได้ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 จะสูญไปในการต่อสู้ที่บางคนเรียกว่าคะแนนตกน้ำ

ที่จริงไม่ใช่คะแนนที่ตกน้ำหายไป แต่เป็นคะแนนที่ส่งผลในการต่อสู้ทางการเมืองแต่ไม่มีผลลัพธ์โดยตรงที่จะทำให้เกิด ส.ส.เพิ่มขึ้นมาดังที่ผู้ลงคะแนนต้องการ

 

ผู้ลงคะแนน…
คือผู้ชี้ขาดชัยชนะ
ไม่ใช่พรรคการเมือง

1.ต้องเข้าใจว่าการเลือกเป็นสิทธิส่วนตัวของทุกคนที่จะลงคะแนนให้พรรคการเมืองใดหรือบุคคลใด ก็โดยการลงคะแนนบัตร 2 ใบ จะเป็นพรรคเดียวกันหรือต่างกันก็ได้

แต่ทุก 1 คะแนนของแต่ละคนเมื่อรวมกับหลายๆ คนแล้วก็จะมีผลต่อการเมือง การบริหารการปกครอง รวมทั้งเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนทั้งประเทศ

เพราะคะแนนเหล่านั้นจะส่งผลให้เกิดการแพ้ชนะ การได้ ส.ส. และรวมกันไปชิงการจัดตั้งรัฐบาล มีผลต่อการกำหนดตัวบุคคลที่เป็นตั้งแต่นายกรัฐมนตรีจนถึงรัฐมนตรีที่มาใช้อำนาจบริหาร ซึ่งอาจจะทำให้ประเทศเจริญก้าวหน้าหรือหยุดนิ่งหรือถอยหลังก็ได้

2. พรรคการเมืองทุกพรรคก็ต้องโฆษณาและเชียร์พรรคตนเอง โดยเสนอให้ประชาชนเลือกพรรคของตนเองโดยใช้บัตรทั้ง 2 ใบไม่ว่าจะเลือกพรรคหรือบุคคล ไม่มีพรรคใดที่จะโฆษณาว่าให้เลือกตนเอง 1 ใบและไปเลือกพรรคอื่นอีก 1 ใบ

การเลือกแบบง่ายก็คือเป็นแฟนคลับพรรคไหน ชอบพรรคไหนก็เลือกพรรคนั้นไปหมดทั้ง 2 ใบ

3. การเลือกแบบยาก ในทางปฏิบัติแล้วประชาชนบางกลุ่มจะเลือก ส.ส.เขตพรรค A และเลือกปาร์ตี้ลิสต์พรรค B ก็ได้ การเลือกแบบนี้มาจากคน 2 กลุ่ม

กลุ่มแรกเป็นคนเป็นกลางๆ ที่นำนโยบายของพรรคต่างๆ มาเปรียบเทียบชั่งน้ำหนักแล้วก็เลือกพรรคที่มีนโยบายที่ตนเองชอบ หรือได้ผลประโยชน์โดยตรงหรือโดยอ้อม ซึ่งพรรคนั้นยังมีจุดยืนทางการเมืองสอดคล้องกับผู้เลือกด้วย คะแนนปาร์ตี้ลิสต์จึงให้กับพรรคนั้น

จากนั้นจะพิจารณา ส.ส.เขต โดยจะดูเพิ่มไปว่าบุคคลที่ลงสมัครในเขตนั้นตนเองชอบหรือไม่ ถ้าไม่ชอบก็อาจจะเปลี่ยนไปให้พรรคอื่นที่ชอบรองลงมา

กลุ่มที่ 2 ก็เป็นแฟนคลับของพรรค แต่คนกลุ่มนี้รู้เรื่องการเมืองดีที่สุดและไม่ได้มองความต้องการของตนเองเป็นหลัก แต่มีจุดยืนทางการเมืองและมีเป้าประสงค์ทางการเมืองที่ต้องการให้ฝ่ายประชาธิปไตยจัดตั้งรัฐบาลให้ได้

ดังนั้น คนกลุ่มนี้จะเทคะแนนไปให้พรรคที่มีโอกาสชนะในเขตนั้น โดยหวังว่าจะให้มีคะแนนเกินครึ่งของ ส.ส.ในสภา

 

ผู้รู้การเมือง…
เลือกแบบหวังผลการเมือง
ให้คุ้มค่าที่สุด

การเลือกตั้งแบบคุ้มค่าที่สุด จะใช้ได้กับคนที่ชอบเลือกแบบยาก เพราะกลุ่มที่จงรักภักดีต่อพรรค จะไม่ยอมเปลี่ยนใจง่ายๆ กลุ่มคนแบบนี้ก็มีอยู่ในพรรคฝ่ายอนุรักษนิยมและยังคงเลือกพรรคประชาธิปัตย์ เลือกรวมไทยสร้างชาติในการเลือกตั้งครั้งนี้

ส่วนกลุ่มที่นิยมเพื่อไทยหรือก้าวไกลแบบจงรักภักดี ก็จะเทคะแนนให้ 2 พรรคนี้โดยไม่เปลี่ยนแปลงเช่นกัน

ความหวังจึงจะอยู่กับคนที่มีความคิดการเมืองและพร้อมจะเปลี่ยนแปลงเพื่อเป้าหมายทางการเมือง และไม่อยากให้คะแนนของเขาตกน้ำทิ้งอย่างไร้ค่า คนแบบนี้มีอยู่ในทุกเขตเลือกตั้ง รวมแล้วหลายล้านคน

กรณีที่เป็นรูปธรรมที่จะปรากฏในเขตเลือกตั้งต่างๆ ก็คือการต่อสู้ของเพื่อไทยกับภูมิใจไทยในเขตช่วงชิงซึ่งไม่น้อยกว่า 50 เขต และเพื่อไทยกับพลังประชารัฐหรือรวมไทยสร้างชาติอีกประมาณ 40 เขต

กรณีแบบนี้ผู้เลือกตั้งสามารถจะเปลี่ยนไปเลือกพรรคฝ่ายตนเองนิยม ที่เป็นตัวเต็งอาจได้ที่ 1 หรือที่ 2 และทำให้คะแนนที่ลงไปนั้นเปลี่ยนแปลงเป็นชัยชนะอย่างคุ้มค่า บางคนเรียกว่านี่เป็นการเลือกแบบยุทธศาสตร์

แต่ทีมงานของเราเรียกว่าเป็นการเลือกแบบคุ้มค่าที่สุด ในทางปฏิบัติแล้วก็ไม่ใช่ง่าย เพราะผู้ลงคะแนนจะต้องติดตามข่าวการเมืองจนรู้แนวโน้มทางการเมืองว่าตัวเต็งเป็นใครชิงที่ 1 ที่ 2

ตัวอย่างกรณีบางเขตของสามจังหวัดภาคใต้ กองเชียร์ก้าวไกลและเพื่อไทยอาจต้องหันมาช่วยพรรคประชาชาติ ที่เป็นตัวเต็งเพื่อให้ได้ ส.ส.เขต

 

แต่ละพรรคหาเสียงไปตามปกติ
ประชาชนแต่ละเขต รู้จักคิดเอง

การแข่งกันเองระหว่างก้าวไกลกับเพื่อไทยประมาณ 70 เขต ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรมาก 30 เขตอยู่ในกรุงเทพฯ ถ้ามีตัวเต็งอยู่แค่ 2 พรรคนี้ไม่ว่าพรรคใดชนะก็ถือว่าได้ ส.ส.ของฝ่ายประชาธิปไตยมา

แต่เขตที่มีการต่อสู้ 3 พรรคถ้ามีพรรคฝ่ายตรงข้ามแทรกเข้ามาได้ อาจชิงชัยชนะไป

ในเขตปริมณฑลน่าจะมีอยู่ประมาณ 15 เขต และเขตเมืองใหญ่ต่างจังหวัดอีก 25 เขต ในหลายเขตอาจประเมินไม่ได้ต้องปล่อยให้การลงคะแนนเป็นไปอย่างอิสระ

แต่มีหลายเขตที่แข่งกันอย่างสูสีอยู่กับฝ่ายตรงข้าม และรู้อยู่แล้วว่าถ้าลงคะแนนไปให้พรรคแนวร่วม ที่ได้ที่ 3 หรือที่ 4 คะแนนนั้นก็ตกน้ำทิ้ง และผลสุดท้ายอาจทำให้แนวร่วมแพ้ไปเพียง 1,000-3,000 คะแนน ทำให้เสีย ส.ส.เขตให้ฝ่ายตรงข้ามไป 1 คน เขตแบบนี้มีไม่น้อยกว่า 150 เขต แต่ที่แพ้ชนะกันเล็กน้อย อาจมี 50 เขต

ถ้าใครพลาด 20 เขตจะทำให้ฝ่ายตรงข้ามได้ ส.ส.เขตเพิ่มขึ้น 20 และฝ่ายเราเสีย ส.ส.ไป 20 เกิดความแตกต่างของคะแนนในสภา 40 เสียงทันที

สุดท้ายก็อยากจะฝากทั้งพรรคและกองเชียร์ ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการต่อสู้ทางการเมืองครั้งหนึ่งในหลายครั้งเท่านั้น ปัญหาที่รอเราอยู่ข้างหน้ามีทั้งเรื่องเศรษฐกิจซึ่งอาการหนักมากและยังจะต้องแก้ปัญหาการเมืองและความยุติธรรม ซึ่งจะต้องไปเริ่มต้นที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่

การเสนอการเปลี่ยนแปลงใดๆ ยังจะมีการต่อต้านอย่างหนัก จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะฝ่าฟันไปข้างหน้าแม้ร่วมมือสามัคคีกัน ก็ยังต้องออกแรงดันอย่างหนัก

ถ้าหากแตกสามัคคีจนเกิดความล้มเหลวทั้งขบวนประชาธิปไตยอาจจะต้องพ่ายแพ้ซ้ำอีก

ปลายหอกเหล็กที่แหลมคมยังต้องมีด้ามไม้ยาว 10 ฟุต จึงจะใช้งานได้ผล