รู้จัก เชตวัน เตือประโคน (อีกหนึ่ง) ตัวตึงก้าวไกล ชิงชัยปทุมธานี ขอไล่บี้เสนาพาณิชย์!

ต้องยอมรับว่า พื้นที่สีเขียวบริเวณกรุงเทพฯ โซนเหนือ ไปจนถึงปทุมธานี หายากจริงๆ เลยออกไปจากสวนรถไฟ สวนจตุจักร ซึ่งอยู่เขตจตุจัักร ก็ไม่มีพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่ให้คนเข้าไปพักผ่อนหย่อนใจ

เมื่อฤดูเลือกตั้งมาถึง มีนักการเมืองคนหนึ่งมองเห็นปัญหานี้ แล้วเสนอว่า มีพื้นที่หนึ่งอยู่เป็นที่ราชพัสดุเนื้อที่ 600 กว่าไร่ ที่กองทัพอากาศนำมาทำเป็นสนามกอล์ฟ คือ สนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ พื้นทีี่อยู่ในจังหวัดปทุมธานี ใกล้ๆกับเขตดอนเมือง ซึ่งเป็นเสนาพาณิชย์ ธุรกิจของกองทัพ จะดีกว่าไหม ถ้าเปลี่ยนพื้นที่ตรงนี้ให้คนจำนวนมากเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ แทนที่จะเป็นที่ตีกอล์ฟของคนไม่กี่คน

นักการเมืองคนนั้นคืิอ เชตวัน เตือประโคน จากพรรคก้าวไกล เราไปคุยกับเขาในฐานะนักการเมืองหน้าใหม่น่าจับตาในศึกเลือกตั้ง 2566 ที่จะถึงนี้ กับนโยบายที่น่าสนใจ คือการผลักดันให้มีการเปลี่ยนพื้นที่ราชพัสดุที่กองทัพอากาศใช้งานอยู่ หรือที่รู้จักในนามสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ ว่ามีเบื้องลึกเบื้องหลังอย่างไร เส้นทางชีวิตเขาเป็นอย่างไร และเขารู้จักปทุมธานีดีแค่ไหน จะเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร?

เชตวันเริ่มต้นเล่าให้ฟังถึงความสนใจในการเข้ามาสู่วงการเมือง โดยเริ่มต้นจากการเป็นนักข่าวอยู่โต๊ะเฉพาะกิจ และด้วยความเป็นโต๊ะเฉพาะกิจก็มีโอกาสได้ทำข่าวทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม แต่จุดเปลี่ยนอยู่ที่การที่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประกาศตั้งพรรคการเมือง ช่วงปลายปี 2560

สำหรับธนาธรเป็นคนที่รู้จักชื่อเสียงตั้งแต่การทำกิจกรรมในกระบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษา ประจวบเหมาะกับปิยบุตร แสงกนกกุล ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่มาร่วมตั้งพรรค ซึ่งก็เป็นคนที่มีโอกาสได้ตามทำข่าวตั้งแต่สมัยเป็นนักวิชาการคณะนิติราษฎร์ จนกระทั่งสนิทกับอาจารย์ปิยบุตร

เพราะคณะนิติราษฎร์ยุคนั้นไม่สามารถยกหูโทรศัพท์หาได้ อยากสัมภาษณ์ต้องไปดักที่บ้าน หรือไปดักรอที่งาน จนทำให้เจอ อ.ปิยบุตรบ่อย

ถึงเวลาออกจากเซฟโซน

“เมื่อปิยบุตรมาตั้งพรรคร่วมกับธนาธร หากจะใช้คำของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก็คือมันเหมือนกับเป็นกระดิ่งในใจเราที่มันดังขึ้นมา ผมผ่านการรัฐประหารในปี 2549 มา ผ่านการรัฐประหารในปี 2557 มา เห็นแบบนี้แล้วไม่สามารถปล่อยบ้านเมืองไว้ได้ สภาพบ้านเมืองที่มันถอยหลังลงคลองทุกวัน จึงตัดสินใจออกจาก Safe Zone ของตัวเองลาออกจากอาชีพนักข่าวที่ทำมา 10 กว่าปี ไปร่วมงานกับอนาคตใหม่ตั้งแต่วันที่ยังไม่ได้จดจัดตั้งพรรค ทำงานในฐานะทีมสื่อของพรรค ผมคือ Content คนแรกของพรรค ติดตามธนาธร ปิยบุตร ช่อ พรรณิการ์ วานิช ไปพื้นที่ต่างๆ ไปกันตั้งแต่ยังไม่มีใครรู้จักพรรคอนาคตใหม่” เชตวัน กล่าว

เมื่อเข้าสู่การเลือกตั้งปี 2562 ก็มารับหน้าที่เป็นบรรณาธิการฝ่ายการเมืองของพรรคอนาคตใหม่ ทำหน้าที่ดูแลเรื่องข่าว ประชุมข่าวกับส่วนกลาง กำหนดประเด็นให้กับแกนนำคนสำคัญต่างๆ ในสนามการเมือง สุดท้ายอนาคตใหม่ได้ส.ส.ถึง 88 คน ก่อนจะโดนบัตรเขย่งเล่นงานเหลือ 81 คน นั่นก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการประสบความสำเร็จที่พวกเราทำกันมา แต่สุดท้ายพรรคอนาคตใหม่ก็ถูกยุบ

และนั่นคือเหตุปัจจัยที่ทำให้คิดว่าทำงานเบื้องหลังมานานแล้ว ถึงเวลาออกมาทำงานเบื้องหน้าแล้ว บ้านอยู่ปทุมธานีจึงอาสาขอลงชิงเก้าอี้ที่นี่ เป็นผู้สมัครส.ส.ก้าวไกลจังหวัดปทุมธานี

เชตวันมั่นใจว่า ปทุมธานีคือพื้นที่ศักยภาพที่พรรคก้าวไกลสามารถคว้าเก้าอี้ไว้ได้ เขาเล่าว่า “มองให้ไกลเราหวังทั้ง 7 เขต เราหวังที่จะได้แลนสไลด์ปทุมธานีทั้งจังหวัด หลายคนอาจจะรู้สึกว่าเราจะไปเอาคะแนนมาจากไหน ปทุมธานีเต็มไปด้วยบ้านใหญ่และหัวคะแนน ขณะที่พรรคก้าวไกลไม่มีเรื่องพวกนี้เลย แต่พวกเรารู้สึกได้จากกระแสจากการลงพื้นที่ เราสัมผัสถึงการให้กำลังใจจากคนในพื้นที่อย่างสูงยิ่ง”

ส่วนตัว พื้นที่เลือกตั้งอยู่ในตำบลคูคต ลำสามแก้วและลาดสวาย มั่นใจว่ารู้จักพื้นที่นี้ดี ตัวเองแม้จะเป็นคนต่างจังหวัดมาทำงานในกรุงเทพฯ แต่ไม่สามารถซื้อบ้านในกรุงเทพฯได้ ต้องออกมาอยู่ชานเมืองแบบนี้ ทั้ง 3 ตำบลมีลักษณะเป็นหมู่บ้าน ชุมชนและบ้านจัดสรรค่อนข้างเยอะ จึงเข้าอกเข้าใจผู้คนเป็นอย่างดี

เพราะมี Political Project เดียวกัน

เชตวันเล่าถึงความฝันที่อยากจะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยและจังหวัดปทุมธานี โดยเริ่มเล่าจากคำพูดที่ปิยบุตรพูดกับเขาตั้งแต่ช่วงตั้งพรรคอนาคตใหม่ ปิยบุตรใช้คำว่า “ขอเวลา 4 สมัย แล้วมาดูประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงยังไง ถ้าไม่เปลี่ยนก็คงหมดเวลาของพวกเราปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคนรุ่นต่อไป” เชตวันเล่าต่อว่า ขณะนี้ผ่านมา 1 สมัยแล้ว ได้เห็นการทำหน้าที่ในสภาของพรรคอนาคตใหม่เดิมและพรรคก้าวไกล ยกระดับมาตรฐานสภาไทย ยกระดับวาระสำคัญทางสังคมให้พรรคการเมืองอื่นทำตาม เช่นกันพูดเรื่องการปฏิรูปกองทัพ ยกเลิกเกณฑ์ทหาร การกระจายอำนาจเลือกตั้งผู้ว่าทุกจังหวัด การทลายทุนผูกขาดอย่างสุราก้าวหน้า เรื่องสมรสเท่าเทียมที่พูดเรื่องการโอบรับความหลากหลายในหลักการคนเท่ากัน

“ผมคิดว่าวาระพวกนี้อนาคตใหม่และพรรคก้าวไกลปักธงลงในสังคมแล้ว บางที 16 ปีที่ปิยบุตรขอไว้อาจจะนานเกินไปด้วยซ้ำ สำหรับผมเป้าหมายทางการเมืองของผมก็เหมือนกับที่ธนาธรและปิยบุตรพูดบ่อยๆนั่นคือ Political Project ที่เราต้องการเปลี่ยนประเทศไทยให้มันดีกว่าที่เป็นอยู่”

ส่วนที่ปทุมธานีนั้น ความฝันในเชิงพื้นที่ของเชตวัน เขาฝันว่าอยากจะเห็นการกระจายอำนาจ ให้คนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมีอำนาจสูงสุดในการกำหนดวาระการพัฒนาในจังหวัดไม่ว่าจะเรียกตำแหน่งนั้นว่าอะไรก็ตาม ประเด็นสำคัญก็คือผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดต้องมาจากการเลือกตั้งประชาชน ปัจจุบันมันมีทั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้ง แต่กลับมีข้อจำกัดหลายอย่างที่ไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ถูกผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็นคนของส่วนกลาง มาสั่งการควบคุม ซึ่งมากกว่าแค่การกำกับดูแล ดังนั้นข้อเสนอตรงไปตรงมาของพรรคก้าวไกลก็คือเลือกตั้งผู้ว่า และกระจายอำนาจเต็มสูบแบบที่พรรคก้าวไกลและคณะก้าวหน้าเคยร่วมกันนำเสนอในสภา เพื่อเอาภารกิจหน้าที่ อะไรที่เกิดในท้องถิ่นให้ท้องถิ่นจัดการ เป็นคนทำ ตอนนี้ท้องถิ่นมีงบประมาณลงทุนแบบจำกัดจำเขี่ยมาก ภาษีที่เก็บได้ก็แค่เล็กน้อย ภาษีใหญ่ๆเก็บไม่ได้ เพื่อเพิ่มกำลังคนมากกว่านี้ให้ท้องถิ่น

เชตวันเล่าต่อว่า ถ้าการกระจายอำนาจเต็มสูบประสบความสำเร็จ มันจะนำมาสู่การกระทำเรื่องอื่นๆอีก ยกตัวอย่างนโยบายรถเมล์ไฟฟ้าที่พรรคก้าวไกลชู ก็จะเข้ามาแก้ปัญหาการจราจรในพื้นที่ปทุมธานีได้มาก เวลานั่งรถเมล์สาธารณะออกมาจากพื้นที่กรุงเทพฯ พอถึงปทุมธานีก็จะพบว่ารถเมล์สาธารณะน้อยมาก และเป็นรถเมล์ของผู้ประกอบการไม่กี่เจ้า อยู่มานานแล้ว

“ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ตลกมากเลยนะที่คนเราเวลาต้องออกจากบ้าน มันจะต้องเผื่อเวลา เพราะรถเมล์จะมาไม่ตรงเวลา ทำไมเราต้องมาเผื่อเวลาเป็นชั่วโมงกว่าจะถึงบ้าน หรือไปถึงจุดหมาย ความไม่แน่นอนเหล่านี้ทำให้เราไม่สามารถจัดการชีวิตตัวเองได้” เชตวันระบุ

ดังนั้นเมื่อกระจายอำนาจเต็มสูบแล้วผู้บริหารท้องถิ่นก็สามารถเดินหน้านโยบายรถเมล์ไฟฟ้าได้ นั่นคือหนึ่งความฝันของเชตวัน

เปลี่ยนเสนาพาณิชย์เป็นสาธารณะ

อีกหนึ่งความฝันของเชตวัน คือปัญหาที่ดินราชพัสดุที่กองทัพอากาศขอใช้อยู่ตอนนี้ ซึ่งเป็นที่ดินแปลงใหญ่ 600 กว่าไร่ บริเวณแยกปากทางลำลูกกา ถูกนำไปใช้เป็นสนามกีฬาของกองทัพอากาศและสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ ซึ่งส่วนตัวมองว่าในจุดที่เป็นธุรกิจกองทัพคือสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ควรยกเลิกไปได้แล้ว เรามีสนามกอล์ฟ 600 กว่าไร่กลางเมืองตรงนั้น โดยที่คนที่เข้าไปใช้ประโยชน์ได้มีเพียงนายพลและคนมีเงินไม่กี่คน แต่ประชาชนชาวคูคตที่อยู่กันหนาแน่นตรงนั้น แทบจะไม่มีพื้นที่สีเขียว ไม่มีพื้นที่ออกกำลังกายเลย ข้อเสนอผมคือยกเลิกธุรกิจกองทัพ สนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ตรงนี้ควรคืนให้ราชพัสดุ แล้วก็ให้ท้องถิ่นที่เรากระจายอำนาจเต็มสูบให้ มาขอใช้ทำเป็นสวนสาธารณะก็ได้ มาขอใช้ทำเป็นศูนย์เรียนรู้ก็ได้ หรือจะมาทำเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้กับประชาชนก็ได้

“เพราะผมพูดเรื่องนี้ไป ชาวบ้านมาบอกกับผมว่าเขาอยากได้มากกว่านั้น คืออยากได้โรงพยาบาล เพราะตอนนี้ชาวคูคต ลำสามแก้ว ลาดสวาย เวลาจะไปโรงพยาบาลต้องไปโรงพยาบาลลำลูกกาซึ่งแออัดมาก จะไปโรงพยาบาลปทุมธานีก็แออัดมาก และก็สภาพไม่ค่อยดีด้วย”

เชตวันกล่าวต่อว่า ที่สุดแล้วมันสะท้อนว่าประชาชนเขาเห็นด้วยกับเรา ไม่ว่าจะเอาพื้นที่ตรงนั้นไปสร้างอะไรแต่จุดร่วมเดียวกันคือ พื้นที่ 600 กว่าไร่ตรงนั้นมันไม่ควรเป็นพื้นที่ให้กองทัพไปทำเป็นสนามกอล์ฟเพื่อทำธุรกิจ ดังนั้นเรื่องกระจายอำนาจสำคัญที่สุด และการจัดการนโยบายเชิงพื้นที่ก็จะทำตามมา เพราะมีศักยภาพที่จะทำได้

เชตวันเล่าเรื่องการลงพื้นที่ว่า เสนอตัวลงเป็นว่าที่ผู้สมัคร ตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2564 จากนั้นช่วงปลายปีก็ได้รับการรับรอง ตลอดช่วงปี 2565 ก็คือช่วงเวลาของการลงพื้นที่ทั้งปี และนั่นคือคำตอบว่าทำไมเขาจึงชูประเด็นเรื่องสวนสาธารณะเป็นเรื่องใหญ่ในการหาเสียงครั้งนี้ของเขา

“ผมเห็นคนที่วิ่งออกกำลังกาย เส้นลำลูกกาซอย 1 ตรงนั้น หลังสนามกอล์ฟ คุณคิดดูมีคนลุงคนหนึ่งปั่นจักรยานออกกำลังกายทุกเช้า แล้วตรงนั้นรถวิ่งเร็วมากนะ มีคนวิ่งออกกำลังกายทั้งเช้าทั้งเย็น อยู่ข้างนอกสนามกอล์ฟ ทั้งที่ข้างหน้าที่คนวิ่งเลาะรั้วอยู่ เป็นพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล จะปลูกต้นไม้เพิ่มก็ได้ แต่คนไม่มีสิทธิ์เข้าไปใช้ เขาก็วิ่งสูดควันพิษอยู่ข้างสนามกอล์ฟ แล้วมันก็อันตรายด้วย ลองไปดูก็ได้ครับถ้าไม่เชื่อว่ามีคนวิ่งทุกเช้าทุกเย็น” เชตวัน กล่าว

เชตวันกล่าวเพิ่มว่า พื้นที่คูคตและลำสามแก้ว เป็นพื้นที่ที่อยู่อาศัยกันอย่างหนาแน่นแต่ไม่มีพื้นที่สาธารณะ แทบจะไม่มีสวนสาธารณะเป็นของตัวเอง นโยบายที่ตนผลักดันก็แตกยอดมาจากโครงสร้างนโยบายใหญ่ของพรรคนั่นเอง การปฏิรูปกองทัพไม่ได้หมายความว่าแค่ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร แต่การยกเลิกธุรกิจของกองทัพก็จำเป็น การทำธุรกิจไม่ใช่หน้าที่อะไรของทหารเลย ถึงเวลาแล้วที่กองทัพจะคืนที่ราชพัสดุนี้ แล้วให้ท้องถิ่นมาขอใช้เพื่อทำประโยชน์ให้คนส่วนใหญ่จริงๆ ถามว่าตอนนี้สนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ทำรายได้ให้กับกองทัพอากาศเท่าไหร่ก็ไม่มีใครตรวจสอบได้ ไม่มีการทำสัญญากับกรมธนารักษ์ใดๆทั้งสิ้น

เสียงดังสุดคือเสียงขอให้ไล่ประยุทธ์

นอกจากเรื่องรถติด และพื้นที่สาธารณะน้อย เขตเลือกตั้งดังกล่าวยังมีปัญหาเรื่องน้ำท่วม ที่ค่อนข้างซีเรียสมาก หลายจุดท่วมซ้ำซาก เชตวันเล่าว่าในพื้นที่คลองมีความสำคัญมากเพราะเป็นเสมือนหลังบ้านของทุกคน ต้องสร้างสำนึกว่าคลองไม่ใช่พื้นที่ทิ้งขยะ มิฉะนั้นเดือนตุลาคมของทุกปีจะต้องเจอกับการเสี่ยงน้ำท่วม นอกจากนี้เมกะโปรเจคของรัฐบาลบริเวณตลาดสี่มุมเมืองเป็นต้นไป ก็ยังไม่มีวี่แววจะเสร็จสักที พื้นที่คูคตและลำสามแก้ววันนี้ฝนตกทีไรใจก็ตุ้มๆต่อมๆ ปีที่แล้วภาพที่ยังหลอกหลอนอยู่คือภาพน้ำท่วมบริเวณหน้าตลาดสี่มุมเมืองและเซียร์รังสิต หลายหมู่บ้านท่วมหมด เพราะมีปัญหาเรื่องการขุดลอกท่อระบายน้ำที่ไม่ได้ทำ

เมื่อถามว่าบรรยากาศการลงพื้นที่เมื่อพบเจอประชาชนเขาสะท้อนปัญหาอะไรมามากที่สุด เชตวันตอบกลับมาทันทีว่า ส่วนใหญ่พูดตรงกันคือทำยังไงก็ได้ให้เอา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาออกไปจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที และนี่คือเสียงที่เรื่องแรกและเป็นเสียงที่ดังที่สุดที่ได้ยินจากการลงพื้นที่ ต้องให้รัฐบาลชุดนี้ออกไป ยุติการมีอำนาจของพลเอกประยุทธ์

เราถามความเห็นส่วนตัวของเชตวัน ประเด็นเรื่องฝ่ายค้านแย่งฐานเสียงกันเอง โดยเฉพาะระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล เชตวันเล่าว่า

“ในพื้นที่นี้พูดลำบากว่าเป็นการแย่งฐานเสียงเดียวกัน เพราะครั้งที่แล้วพรรคอนาคตใหม่หรือก้าวไกลปัจจุบัน ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 2 แพ้พรรคเพื่อไทยไปราว 1,000 คะแนน ดังนั้นในเขตเลือกตั้งนี้เพื่อไทยกับก้าวไกลคือคู่แข่งขันกันมานานแล้ว แน่นอนก็ต้องแย่งคะแนนกัน เพราะเป็นคู่แข่งกันโดยตรงมาตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งที่แล้ว นี่ไม่ใช่การตัดคะแนนแต่คือการต่อสู้แข่งขันกันในทางการเมืองตามกติกาโดยตรง ซึ่งรอบนี้ก็เป็นการบ้านให้พรรคก้าวไกลต้องต่อสู้แข่งขันเรื่องนโยบายให้โดดเด่นกว่า ซึ่งมันไปไกลกว่าการเป็นพรรคประชาธิปไตยด้วยกัน มันพูดถึงการจะทำอะไรให้พื้นที่ นโยบายของใครที่เสนอแล้วประชาชนให้การยอมรับ หรือแม้แต่เรื่องความมุ่งมั่น เจตจำนงในการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ผมคิดว่าประชาชนเขาดูออกและตัดสินได้เอง” เชตวัน กล่าว

ธงก้าวไกลคือพรรคมวลชน

ถามเรื่องความยากลำบากของคนธรรมดา มาทำงานการเมืองในยุคสมัยนี้ เชตวัน เล่าให้ฟังว่า ช่วงที่เป็นพรรคอนาคตใหม่ ตอนนั้นไม่ค่อยมีเวลาในการลงพื้นที่และเตรียมทรัพยากรอะไรต่างๆ ก็น้อยมาก คนที่เข้ามาเป็นส.ส.ก็เกิดขึ้นเร็วมาก ระยะเวลาคัดสรรน้อย แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ของพรรคก้าวไกล มีระยะเวลาคัดสรรคน มีเวลาในการทดลองทำงาน หลายคนทำงานกันมากว่า 2 ปี ท้าทายอย่างยิ่งว่าคนธรรมดาจะทำงานการเมืองได้ไหม ช่วงจังหวะของพรรคก้าวไกลนี่แหละ ก็จังหวะของการพิสูจน์ตัวตน ที่ผ่านมาผู้สมัครบางคนก็เป็นครู จันทร์ถึงศุกร์ทำงาน เสาร์-อาทิตย์ก็มาลงพื้นที่ บางคนเป็นทนายความ ว่าความตอนกลางวัน ตอนเย็นลงพื้นที่ ผมเองเป็นพนักงานบริษัทเอกชน กลางวันก้ไปทำงาน เลิกงานก็มาทำพื้นที่ สิ่งที่จะพิสูจน์คือเรื่องของความต่อเนื่อง ถ้าตั้งธงว่าก้าวไกลจะเป็นพรรคมวลชน ก็ต้องเข้าหาประชาชนอย่างต่อเนื่อง เช่นนี้ คนของพรรคก้าวไกลก็คือคนธรรมดาที่ใช้ชีวิตประจำวันอยู่กับทุกคน กินข้าวแกง เดินตลาด โหนรถเมล์ รถไฟฟ้า นี่คืออยู่กับประชาชนทุกวัน เราไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจ หรือพรรคเลือกตั้งที่มาหาประชาชนเฉพาะวันเลือกตั้ง

“ผมบอกประชาชนตลอดนะว่า ผมมาเดินให้เห็นหน้า เลือกตั้งเสร็จก็จะกลับมาใหม่ และจะกลับมาอีกเรื่อยๆ ถ้าไม่เห็นผม สะกิดเตือนผมแรงๆได้เลย ว่าผมไม่ลงพื้นที่ ในโซเชียลมีเดียของผม เปิดเผยข้อมูลหมด มีเบอร์มีไลน์ให้ไว้หมด ใครจะไปติดตาม กระทุ้งผมทางไหน ได้หมด” เชตวันกล่าว

เมื่อถามมุมมองเรื่องงูเห่าที่ผ่านมาของอดีตส.ส.อนาคตใหม่ เชตวัน กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ส่วนตัวทำงานอยู่กับอนาคตใหม่ตั้งแต่ก่อตั้งจนถูกยุบ เคยทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำตัวของ ปิยบุตร แสงกนกกุล เข้าไปทำงานสภากับอ.ปิยบุตร เมื่อถูกตัดสิทธิ์ก็สิ้นสภาพ มั่นใจว่าผลงาน การทำงานที่ผ่านมาจะช่วยตอบคำถามได้ว่าตนจะเป็นงูเห่าทรยศประชาชนหรือไม่ เหตุที่เกิดกับอนาคตใหม่ ยอมรับว่าเป็นความบกพร่องของการคัดผู้สมัคร เพราะขั้นตอนมันเกิดขึ้นเร็ว เป็นการพูดคุยสัมภาษณ์ ไม่เหมือนการคัดผู้สมัครของก้าวไกลรอบนี้ว่า ดูจากการทำงานมาได้ 2-3 ปีที่ผ่านมา