ประชาธิปไตยแบบใหม่แบบสับ | คำ ผกา

คำ ผกา

คุณูปการของคณะนิติราษฎร์และของปิยบุตร แสงกนกกุล ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมาคือการขับเคลื่อนให้สังคมไทยเห็นถึงปัญหาของกฎหมายอาญามาตรา 112 และเสนอทางออกของการเมืองด้วยสิ่งที่เรียกว่า “การลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร”

การรัฐประหารที่เกิดขึ้นซ้ำในปี 2557 ทำให้ชนชั้นกลางของไทยกลุ่มหนึ่งที่เคยสนับสนุนการรัฐประหารเริ่มลังเลที่จะเชื่อว่าการรัฐประหารคือทางออกของประเทศ

การบริหารประเทศของประยุทธ์ จันทร์โอชา และการออกแบบรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่สะท้อนความตั้งใจในการสืบทอดอำนาจ

ประยุทธ์ในฐานะนายกรัฐมนตรี ไม่ได้แสดงบทบาทได้น่าประทับใจเหมือนเมื่อครั้งหนึ่งชนชั้นกลางไทยเคยประทับใจนายกฯ “คนนอก” แบบอานันท์ ปันยารชุน

การตื่นตัวทางวัฒนธรรมในเชิงประวัติศาสตร์วิพากษ์ได้รับการตอบสนองจากประชาชน (ดูได้จากหนังสือเชิงวิชาการ ประวัติศาสตร์แนววิพากษ์ รื้อสร้าง ที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน และศิลปวัฒนธรรม รวมไปถึงหนังสือที่หวนมาสร้างความชอบธรรมให้กับการปฏิวัติสยาม 2475 กลายเป็นหนังสือขายดี และได้รับความสนใจมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน)

และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่ที่ไม่พอใจระบอบอำนาจนิยมในโรงเรียน เหล่านี้ทำให้การตื่นตัวทางการเมืองในสังคมไทยช่วงนี้ น่าสนใจ

ขณะเดียวกันก็มีความย้อนแย้งกันอย่างซับซ้อนที่สุด

 

– การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง จากที่ถูกมองว่าเป็นควายแดง และพวกเผาบ้านเผาเมือง ถูกอธิบายใหม่ว่าเป็นการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ของประชาชน และสมควรได้รับการยกย่องจดจำ

ขณะเดียวกัน กลุ่มคนที่เคยเป็นสลิ่มและเคยเรียกคนเสื้อแดงว่าเป็นควายแดง ครั้งเมื่อตาสว่าง และหันมายกย่องคนเสื้อแดง กลับมีภาวะตาสว่างมากกว่าปกติ

นั่นคือ นำไปสู่การกล่าวโทษพรรคเพื่อไทย เลยไปจนถึงทักษิณ ชินวัตร ว่าเป็น “นักการเมืองที่ทรยศคนเสื้อแดง”

– กลุ่มคนที่เป็นรอยัลลิสต์ สลิ่ม แบบอาการหนัก ครั้งพอสะวิงฝ่ายมาสังกัดฝั่งหัวก้าวหน้า ก็มีความก้าวหน้าแบบเข้มข้น รุนแรง ต้องการการเปลี่ยนแปลงแบบเด็ดขาดปุบปับ เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงเชิง “โครงสร้าง”

หันมามองพรรคเพื่อไทยและผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย (ที่เป็นฝ่ายถูกกระทำจากการรัฐประหารมาตลอด ต่อต้านการรัฐประหารมาตลอด เรียกร้องประชาธิปไตยมาโดยตลอด) ว่าเป็นพวกไร้อุดมการณ์ ไม่มีกระดูกสันหลัง เจ็บแล้วไม่จำ

– ปัญญาชนฝ่ายประชาธิปไตยที่สนับสนุนคนเสื้อแดงมาโดยตลอด รวมถึงอดีตคนเดือนตุลาฯ นักคิด นักเขียน ก็ยังคงมองการเมืองใน “เรื่องเล่า” คลาสสิค

คือ นักการเมืองเลว เห็นแก่ผลประโยชน์ของตนและพวกพ้อง ส่วนคนเสื้อแดงคือผู้ถูกกระทำ น่าสงสาร ออกมาต่อสู้ สุดท้ายถูก “พรรค” ทรยศ พรรคการเมืองไปเกี้ยเซี้ยกับชนชั้นนำ ไม่เห็นหัวชาวบ้าน

จากนั้นก็พยายามทำบทบาทของพระผู้ไถ่ ที่มองลงมายังชาวบ้านที่กำลังทุกข์ระทม

 

ทําไมฉันถึงมองว่านี่เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ย้อนแย้ง

จุดเปลี่ยนที่ก้าวหน้านับตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 คือ คนไทยตั้งคำถามกับสถาบันหลักๆ มากขึ้น

คนไทยมีความเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ดีขึ้น

คนไทยค่อนข้างเห็นตรงกันแล้วว่า การรัฐประหารคืออาชญากรรม เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้โดยสิ้นเชิง

แต่จุดที่ไม่เปลี่ยนเลยอย่างน่าอัศจรรย์ใจคือ ยังคงมีความต้องการ “ประชาธิปไตยสุจริต”

และเชื่อว่าประชาธิปไตยจะเข้มแข็งได้ก็ต่อเมื่อเรามีนักการเมืองและพรรคการเมืองที่ไม่หวังผลประโยชน์ส่วนตน มุ่งทำงานเพื่อประชาชน ไม่ซื้อเสียง ไม่ใช้เงินไม่มีนายทุนพรรค

พูดง่ายๆ คือ มีแนวโน้มจะชอบพรรคการเมืองที่มีกลิ่นอายของการเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง หรือเชื่อถือนักการเมืองที่มีกลิ่นอายแบบจำลอง ศรีเมือง

และแม้ปากจะบอกว่า เกลียดเผด็จการ เกลียดการรัฐประหาร อยากได้ประชาธิปไตย

แต่วิธีการที่จะได้มาซึ่งประชาธิปไตยของพวกเขากลับไม่อยู่บนวิธีคิดแบบประชาธิปไตยเอาเสียเลย

เช่น นิยมการออกกฎหมายตีกรอบพฤติกรรมของนักการเมืองอย่างเข้มงวด

มองเรื่องการซื้อเสียงอย่างตื้นเขิน แค่นักการเมืองชั่วกับประชาชนที่โง่เขลา อยากให้มีบทลงโทษนักการเมืองหนักๆ อยากเขียนรัฐธรรมนูญให้มีการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งของของนายกรัฐมนตรี และแม้กระทั่งการเป็น ส.ส.

(ปิยบุตรเคยเสนอให้ ไม่ควรเป็น ส.ส.เกิน 2 วาระ เพื่อเปิดโอกาสให้คนหน้าใหม่ได้เข้ามาเป็น ส.ส.บ้าง)

 

สําหรับฉันนี่คือการย้อนกลับไปใช้โลกทัศน์แบบชนชั้นกลางมีการศึกษาที่เชื่อว่า ประชาธิปไตยอ่อนแอเพราะนักการเมืองที่เป็นคนดีมีความสามารถไม่สามารถชนะการเลือกตั้ง เนื่องจากทุนรอนน้อยกว่า มีแต่อุดมการณ์และความมุ่งมั่นตั้งใจที่ลงสู้ทีไรก็แพ้พวกพรรคใหญ่ที่ทุนหนาตลอด

ด้วยโลกทัศน์แบบนี้ โดยไม่รู้ตัว เวลาหาเสียงจึงมีการสร้างภาพคู่ตรงกันข้าม กลายเป็นพรรคที่มีเงิน กับพรรคที่ทอดผ้าป่าขอเงินประชาชนมาทำทุน มีประชาชนเป็นเจ้าของพรรค

อันตรายของการจับภาพคู่ตรงกันข้ามทำให้พรรคอย่างพรรคเพื่อไทยที่เป็นพรรคที่ยืนอยู่ข้างประชาธิปไตยถูกแปะป้ายเป็นพรรคนายทุน พรรคของตระกูลใดตระกูลหนึ่ง

สุดท้ายย้อนกลับไปอยู่ในวาทกรรมของการเคลื่อนไหวพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ความย้อนแย้งที่ฉันอยากจะพูดถึงคือ อยู่ในขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการอยู่ดีๆ ก็ไปติดหล่ม การสร้างวาทกรรม “ผีทักษิณ” ผีทุนสามานย์ ผีประชานิยม ผีนักการเมืองกอบโกยผลประโยชน์

ไม่แตกต่างอะไรจากขบวนการล้มล้างประชาธิปไตยของสนธิ ลิ้มทองกุล หรือ สุเทพ เทือกสุบรรณ

และที่มันขำขื่น absurd มากคือ ทั้งขบวนของสนธิและสุเทพ ก็อ้างว่า ตัวเองเป็นประชาธิปไตยสุจริตและการปฏิรูปประเทศ

และลึกที่สุดของอุดมการณ์แบบนี้ในนามของความปรารถนาดีอยากได้การเมือง “สะอาด” มันก่อให้เกิดขบวนการขับเคลื่อนการเมืองที่ “ต่อต้านความเป็นการเมือง” ด้วยตัวของมันเอง

อันผลลัพธ์สุดท้ายคือ มันบั่นทอนวัฒนธรรมประชาธิปไตยด้วยวิธีการที่มุ่งสร้างกฎ กติกา การแก้ไขกฎกมาย การเขียนกฎหมายเพิ่มเพื่อสกัดกั้นมิให้ “คนชั่ว” หรือ เพื่อปกป้องประชาชนที่โง่และอ่อนแอ มิให้ตกเป็นเครื่องมือของนักการเมือง

ภาวะ “ต่อต้านการเมือง” คืออะไร?

 

คือภาวะที่มองว่า ถ้าการมือง “สกปรก” แปลว่านี่ไม่ใช่การเมืองที่น่าปรารถนา – และการที่ฉันเขียนเช่นนี้ไม่ได้แปลว่า ฉันเห็นว่าการเมือง “สกปรก” เป็นเรื่องที่ดี

แต่คำว่า “การเมือง” และคำว่า “ประชาธิปไตย” มันไม่ใช่สงครามระหว่างฝ่ายธรรมะ กับอธรรม

และแน่นอนว่า คำว่าประชาธิปไตย ไม่ได้หมายถึงความดีงามปราศจากความด่างพร้อย

แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องทำใจยอมรับให้ได้คือ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ “การเมือง” และไม่มีใครเป็นเจ้าของผูกขาดคำว่า “ประชาธิปไตย”

ที่สำคัญเราต้องยอมรับว่าไม่มีใครเข้ามาทำการเมืองโดยไม่หวังผลประโยชน์

การที่เราเฝ้าใฝ่ฝันหรือเชื่ออย่างหมดจิตหมดใจว่ามีนักการเมืองที่เข้าสู่การเมืองเพราะเสียสละ อุทิศตน อยากทอดกายลงถมพื้นดินให้มวลประชาเดิน เป็นเรื่องเหลวไหล ไร้สาระ ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

แม้แต่การเข้าสู่การเมืองเพราะรู้สึกว่ามันท้าทาย เพราะอยากได้ชื่อว่า “ฉันทำสิ่งนี้สำเร็จ” ก็ถือเป็นผลประโยชน์เพราะทำเพื่อสนองอีโก้ของตัวเอง

สำคัญที่สุดเราพึงตระหนักว่าการ “เลือก” พรรคการเมืองและนักการเมืองนั้นเป็นการเลือกเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของผู้เลือกใน “ห้วงเวลาหนึ่ง” เท่านั้น

เช่น พรรคที่ตอบโจทย์เราในปีนี้ อาจจะไม่ใช่พรรคที่ตอบโจทย์เราในอีก 4 ปีข้างหน้า มันจึงเป็นการเลือกที่ไม่ “จีรัง”

เพราะฉะนั้น การมุ่งเฟ้นหาคนดีที่ปราศจากผลประโยชน์ และรอยบาปจึงเป็นการเสียเวลาและแรงงานโดยเปล่าประโยชน์

 

ประชาธิปไตยคือสนามแห่งการต่อสู้ ช่วงชิงกันของสารพักกิเลส ตัณหา ความอยาก กระหาย ความละโมบ ความเห็นแก่ตัว ที่สำคัญมันเป็นเรื่องของประโยชน์แห่งพวกพ้อง อันเราเรียกอย่างไพเราะว่า “กลุ่มผลประโยชน์”

แต่ข้อดีของประชาธิปไตยคือท่ามกลางความอยาก กระหาย ตัณหาและกิเลสนี้ยุติลงที่การเคารพเสียงข้างมากว่าคนเหล่านั้นเลือกอะไร และดีที่สุดคือ พรรคที่ถูกเลือกจะอยู่ในวาระเพียงสี่ปีเท่านั้น จากนั้นทุกคนก็ลงสู่สนามแห่งการส่งตัวเองไปให้ประชาชนเลือก และประชาชนก็เลือกใหม่

เราไม่จำเป็นต้องมีบทลงโทษพรรคการเมืองที่ทำตามนโยบาย เพราะคนที่จะลงโทษคือประชาชน

การโกง การคอร์รัปชั่นย่อมถูกตรวจสอบ เพราะต่างพวกพ้องต่างกลุ่มก็ย่อมไม่ยอมให้กลุ่มอื่นตักตวงผลประโยชน์มากจนไม่เหลือให้คนอื่น ที่สำคัญพรรคการเมืองที่เป็นฝ่ายค้านพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ฝ่ายรัฐบาลแพ้ แล้วเองได้กลายเป็นรัฐบาลได้บ้าง

โดยไม่ต้องมีคนดี กลไกประชาธิปไตยมีการแข่งขันสกัดดาวรุ่งด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว ขอแค่คนไทยสลัดให้หลุดจากมายด์เซ็ต ให้ “คนดีปกครองบ้านเมือง” เท่านั้น

 

ที่สำคัญคนไทยต้องตระหนักว่าแม้จะเป็นประชาธิปไตยและมีรัฐบาลจากประชาชนแล้วก็ไม่ได้การันตีความสำเร็จหรือความผาสุกใดๆ ถ้าได้พรรคการเมืองทำงานไม่เป็น

แต่หัวใจของประชาธิปไตยคือรัฐบาลจะห่วยแค่ไหน อำนาจยังอยู่ในมือประชาชนเสมอ

กลืนกินจิตวิญญาณประชาธิปไตยเช่นนี้ไว้กับเนื้อตัวของเรา สืบทอดให้กลายเป็นวัฒนธรรม เป็นประเพณีปฎิบัติ โดยไม่ต้องไปออกกฎหมายล้มล้างผลพวงการรัฐประหาร นี่จะเป็นเกราะกำบังการรัฐประหารและเป็นเครื่องมือปกป้องประชาธิปไตยที่ดีที่สุด ยั่งยืนที่สุดกว่าการแก้กฎหมาย เขียนกฎหมาย เพิ่มบทลงโทษ

ประชาธิปไตยจะเข้มแข็งได้ก็ในวันที่ประชาชนเลิกมองพรรคการเมือง นักการเมืองเป็นพระผู้ช่วยให้รอด

แต่คือ “คนที่เราเลือกให้ไปทำงานแทนเราชั่วคราว”

กฎหมายแก้ได้ก็ฉีกทิ้งได้ แต่ประชาธิปไตยที่กลายเป็นวัฒนธรรม เป็นวิถีชีวิตฉีกทิ้งไม่ได้ จะสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยได้ ก็ต้องสร้างการเมืองที่ไม่ต่อต้านการเมือง

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับการเคลื่อนไหวของฝ่ายประชาธิปไตยปัญญาชนอย่างไม่รู้ตัวอยู่เสมอคือสร้างขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่มีลักษณะ “ต่อต้านการเมือง”

และท้ายที่สุดพลังทางอุดมการณ์นี้กลายมาเป็นพลังบั่นทอนประชาธิปไตยเสียเอง

เฉกเช่นที่ฉันเห็นในกลุ่มคนที่สนับสนุนพรรคก้าวไกลอยู่ในตอนนี้