พิพิธภัณฑ์ไรนา โซเฟีย สุดยอดพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ และศิลปะร่วมสมัยแห่งศตวรรษที่ 20 (จบ)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ตามรอยศิลปะ ณ ดินแดนสเปน : พิพิธภัณฑ์ไรนา โซเฟีย
สุดยอดพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ และศิลปะร่วมสมัยแห่งศตวรรษที่ 20 (จบ)

 

นอกจากผลงานชิ้นเอกของปิกัสโซอย่าง Guernica แล้ว พิพิธภัณฑ์ไรนา โซเฟีย ยังมีผลงานเด่นๆ ชิ้นอื่นๆ ของปิกัสโซอีกหลายหลากชิ้น

รวมถึงผลงานของศิลปินสเปนผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคศตวรรษที่ 20 หลากหลายคน อย่าง ซัลบาดอร์ ดาลี, ฆวน มิโร, เอดูอาร์โด ชิลญีดา (Eduardo Chillida), ปาโบล การ์กัลโญ (Pablo Gargallo), ฆูลิโอ กอนซาเลซ, หลุยส์ กอร์ดิญโญ (Luis Gordillo), ฆวน กรีส์ (Juan Gris), โฆเซ่ กูเตียร์เรซ โซลาน่า (José Gutiérrez Solana), ลูซิโอ มูโนซ(Lucio Muñoz), ฆอร์เฆ ออร์เตซา (Jorge Oteiza), ฆูลิโอ โรเมโร เด ตอร์เรส (Julio Romero de Torres), ปาโบล เซราโน, และ อันโตนี ตาเปียส เป็นต้น

Map of Valencia: Polivalence, a Critical Alter-Cartography of the City (2015) ผลงานศิลปะจัดวางในนิทรรศการ Radical Geographics โดย โรเฆลิโอ โลเปซ กูเองกา

ในพิพิธภัณฑ์ยังมีคอลเล็กชั่นผลงานของศิลปินร่วมสมัยชาวสเปนและนานาชาติระดับแนวหน้าอย่าง ฟรานซิส เบคอน, โจเซฟ บอยส์ (Joseph Beuys), ปีแยร์ บอนาร์ (Pierre Bonnard), ฌอร์ช บราก (Georges Braque), อเล็กซานเดอร์ คาลเดอร์, โรแบรต์ เดอโลเน (Robert Delaunay), มักซ์ แอร์นส์ท, แมน เรย์ (Man Ray), เรอเน มากริต, อีฟว์ ตองกี (Yves Tanguy), ลูซิโอ ฟอนตานา (Lucio Fontana), ซาราห์ กริโล (Sarah Grilo), เดเมียน เฮิร์สต์, โดนัลด์ จัดด์ (Donald Judd), วาสซิลี คานดินสกี, พอล คลี (Paul Klee), อีฟว์ คไลน์, แฟร์นอง เลเช, ฌากส์ ลิปชิตซ์ (Jacques Lipchitz), เฮนรี มัวร์, คลิฟฟอร์ด สติลล์, บรูซ นาวมัน (Bruce Nauman), นัม จุน เพ็ก (Nam June Paik), ดิเอโก ริเวรา (Diego Rivera), กาเบรียล โอรอซโก (Gabriel Orozco), มาร์ก รอธโก, จูเลียน ชนาเบล (Julian Schnabel), ริชาร์ด เซอร์รา, มาริโอ แมร์ซ (Mario Merz), ปิแอร์ เปาโล คัลโซลารี (Pier Paolo Calzolari), ซินดี เชอร์แมน (Cindy Sherman), หลุยส์ บรูชัวร์, โวลฟ์ วอสเตลล์ (Wolf Vostell), ฌิล ฌี วูลแมน (Gil J. Wolman), อลัน เซคูลา (Allan Sekula) และ โรเฆลิโอ โลเปซ กูเองกา (Rogelio López Cuenca) เป็นต้น

ถ้าจะให้หยิบเอาผลงานของศิลปินเหล่านี้มาเล่าให้ฟังทุกชิ้น พื้นที่ตอนนี้คงไม่พอลง เราเลยจะขอเล่าถึงผลงานที่โดดเด่นโดนใจเราเป็นพิเศษก็แล้วกัน

Enigma of Hitler (1939) โดย ซัลบาดอร์ ดาลี

เริ่มจากผลงานชิ้นที่เราตื่นเต้นอย่างมากที่ได้เห็นว่าถูกแสดงอยู่ในพิธภัณฑ์แห่งนี้อย่าง The Enigma of Hitler (1939) หรือ ‘ปริศนาของฮิตเลอร์’ ภาพวาดสีน้ำมันโดย ซัลบาดอร์ ดาลี ที่วาดขึ้นในปี 1939 ช่วงเวลาก่อนที่เขาถูกขับไล่ออกจากกลุ่มเซอร์เรียลิสม์ไม่นาน

ดาลีกล่าวว่า ภาพวาดนี้เป็นการตีความความฝันหลายประการที่เขามีต่อผู้นำเผด็จการของเยอรมนีอย่าง อดอฟล์ ฮิตเลอร์

โดยในภาพแสดงจานเปล่าที่มีรูปถ่ายของฮิตเลอร์วางอยู่ เหนือจานมีกิ่งไม้ที่แขวนร่มคันหนึ่ง ซึ่งดาลีกล่าวว่าเป็นของ เนวิลล์ แชมเบอร์เลน (อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรในช่วงปี 1937 ผู้ดำเนินนโยบายประนีประนอมรอมชอมกับเผด็จการนาซี) กับค้างคาว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความหวาดกลัวในวัยเด็กของดาลี และโทรศัพท์ที่ถูกตัดสายขาด ที่ถูกตีความว่าเป็นการตัดการสื่อสารระหว่างแชมเบอร์เลนและฮิตเลอร์ อันเป็นชนวนของสงครามโลกครั้งที่สองในเวลาต่อมา

Volunteer watching, volunteer smiling (Isla de Ons, 19/12/02) ผลงานภาพถ่ายโดย อลัน เซคูลา

ถึงแม้ดาลีจะถูกจดจำในฐานะสัญลักษณ์ของกระแสเคลื่อนไหวเซอร์เรียลิสม์และเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักที่สุดของกลุ่ม แต่ในความเป็นจริง เขาเป็นศิลปินที่ถูกขับไล่ออกจากกลุ่มด้วยสาเหตุหลายประการ

ไม่ว่าจะเป็นการที่เขาชอบเล่นกับความขัดแย้งทั้งในผลงานและพฤติกรรมของตนเองเพื่อยั่วยุและเรียกร้องความสนใจ ด้วยบุคลิกเพี้ยนๆ การพูดจาอันแปลกประหลาดพิลึกพิลั่น และความเป็นนักประชาสัมพันธ์ตัวเองชั้นยอด ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่สมาชิกในกลุ่มเซอร์เรียลิสม์อย่างมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจ้าลัทธิผู้เป็นเสมือนพระสันตะปาปาแห่งเซอร์เรียลิสม์อย่าง อองเดร เบรอตง ที่เริ่มรู้สึกว่าดาลีกำลังแย่งความโดดเด่นไปจากตน

Anti-Concept (1951) ผลงานศิลปะจัดวางโดย ฌิล ฌี วูลแมน

ความไม่พอใจนี้ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดก็ถึงจุดแตกหัก เมื่อดาลีแสดงการสนับสนุนผู้นำเผด็จการของสเปนอย่าง ฟรานซิสโก ฟรังโก อย่างออกนอกหน้า

และแสดงความเลื่อมใสต่อฮิตเลอร์ว่า “ไม่มีอะไรเซอร์เรียลไปกว่าผู้นำเผด็จการ” รวมถึงใส่ภาพฮิตเลอร์ลงในภาพวาด The Enigma of Hitler ภาพนี้ของเขา

เมื่อมีการแสดงนิทรรศการเซอร์เรียลิสม์นานาชาติที่นิวยอร์กในปี 1942 เบรอตงก็ไม่ยินยอมให้ดาลีนำผลงานเข้ามาร่วมแสดง เพราะถือว่าเขาไม่มีคุณสมบัติในการเป็นสมาชิกของกลุ่มอีกต่อไป

โดยกล่าวหาว่าเขา “แสวงหาชื่อเสียงและความสำเร็จทางการค้ามากเกินไป” (Avida Dollars) จากการที่เขาเริ่มรับงานจ้างวานที่ได้รับค่าตอบแทนสูง อีกทั้งยังสร้างผลงานที่เลียนแบบความสำเร็จของตัวเอง รวมถึงข้อหาที่ร้ายแรงอย่าง “การฝักใฝ่ในลัทธินาซีและเผด็จการ”

เบรอตงประกาศขับดาลีออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มอย่างเด็ดขาด

ผลงานวิดีโอจัดวางในห้องแสดงงานมัลติมีเดียของพิพิธภัณฑ์ไรนา โซเฟีย

สมาชิกในกลุ่มบางคนเองก็กล่าวถึงดาลีราวกับเป็นบุคคลในอดีตที่ตายจากไปแล้ว

บางคนถึงกับสาบส่งดาลีอย่างเกรี้ยวกราดจวบจนกระทั่งตอนที่เขาตายไปแล้วก็ตาม (แต่ก็ยังมีสมาชิกบางคนในกลุ่มโต้แย้งว่า ถ้าเซอร์เรียลิสม์คือการสำรวจความฝันและเรื่องต้องห้ามโดยไม่มีการจำกัดความคิดหรือเซ็นเซอร์ ดาลีก็มีสิทธิทุกประการที่จะฝันเกี่ยวกับฮิตเลอร์เหมือนกัน)

แต่ถึงแม้จะถูกขับออกจากกลุ่ม ท้ายที่สุด ดาลีก็ยังเป็นศิลปินที่เป็นเสมือนตัวแทนผู้ถูกจดจำมากที่สุดของกลุ่มเซอร์เรียลิสม์อยู่ดี

ภาพวาดนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่แห่งศตวรรษที่ 20 ในฐานะหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ดาลีถูกไล่ออกจากกลุ่มเซอร์เรียลิสม์นั่นเอง

Portrait of Luis Bu?uel (1924) ภาพเหมือนของ หลุยส์ บุนเยล โดย ซัลบาดอร์ ดาลี

ผลงานที่เก๋ไก๋ได้ใจเราอีกชิ้นก็คือ Portrait of Luis Buñuel (1924) ภาพเหมือนของ หลุยส์ บุนเยล (Luis Buñuel) ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวสเปนที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นคนทำหนังผู้ทรงอิทธิพลที่สุดตลอดกาล ที่วาดโดยดาลี ซึ่งจัดแสดงเคียงคู่กับการฉายภาพยนตร์สั้น Un Chien Andalou (1929) (เจ้าหมาอันดาลูเซียน) ผลงานการกำกับฯ ของบุนเยล และร่วมเขียนบทโดยดาลี ที่สร้างความตื่นตะลึงให้ผู้ชม ด้วยภาพเหนือจริงอันน่าสยดสยอง ไม่ว่าจะเป็นมือที่ถูกมดรุมไต่ตอมยุ่บยั่บ หรือดวงตาที่ถูกมีดโกนคมกริบผ่าจนขาดเป็นสองซีกอย่างน่าหวาดเสียว

Untitled (Floor Sculpture Series) (1992) ประติมากรรมจัดวางโดย โดนัลด์ จัดด์

หรือผลงานประติมากรรม Untitled (Floor Sculpture Series) (1992) ของ โดนัลด์ จัดด์ ศิลปินชาวอเมริกันในกระแสเคลื่อนไหว มินิมอลลิสม์ (Minimalism) ผู้เป็นที่รู้จักจากผลงานประติมากรรมกล่องสี่เหลี่ยมอันเรียบง่าย ที่ผลิตจากระบบอุตสาหกรรม ซึ่งไม่ได้เป็นภาพแทนของอะไรทั้งสิ้น นอกจากความเป็นวัตถุของมันเอง

ผลงานประติมากรรมจัดวางชิ้นนี้ของเขา ประกอบด้วยกล่องรูปทรงสี่เหลี่ยมเหล็กกล้า ความสูง 150 ซ.ม. จำนวนสามกล่อง แต่ละกล่องเจาะช่องสี่เหลี่ยมตรงกลาง 50 ซ.ม. ตั้งห่างกัน 50 ซ.ม. ทำให้เกิดเป็นมุมมองของกล่องสี่เหลี่ยมวางเรียงรายอย่างเรียบง่าย ไร้การปรุงแต่ง อันเป็นคุณลักษณะของงานศิลปะแบบมินิมอลลิสม์

Lying Figure (1966) โดย ฟรานซิส เบคอน

หรือผลงานภาพวาด Lying Figure (1966) ของ ฟรานซิส เบคอน ที่นำเสนอภาพร่างกายของมนุษย์อันบิดเบี้ยว พิกลพิการ ที่ถูกกักขังอยู่ในพื้นที่อันโดดเดี่ยว คับแคบ น่าสะพรึงกลัว เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงสภาพจิตใจอันวิปริตผิดเพี้ยน ความชั่วร้ายเลวทรามของมนุษย์ และความเจ็บปวดของตัวเขาเอง และผู้คนในยุคสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สองได้อย่างจัดจ้าน เปี่ยมเอกลักษณ์

หรือผลงานของ หลุยส์ บรูชัวร์ หลายชิ้น ทั้งประติมากรรมขนาดน้อยใหญ่ และงานภาพพิมพ์ต่างๆ

Spider (1994) ประติมากรรมรูปแมงมุมโดย หลุยส์ บรูชัวร์

ที่โดดเด่นเตะตาที่สุดเห็นจะเป็นผลงาน Spider (1994) ประติมากรรมรูปแมงมุมขนาดเขื่อง แต่ก็ยังมีขนาดย่อมกว่าประติมากรรมแมงมุมขนาดยักษ์ที่ตั้งวางตามพื้นที่กลางแจ้งต่างๆ จึงนำมายืนเขย่งเกงกอยภายในห้องแสดงงานของพิพิธภัณฑ์ให้เราเข้าไปดูชมกันได้ตามอัธยาศัย

ที่น่าสนใจก็คือ เจ้าแมงมุมตัวนี้มีแข้งขาแหลมเรียวเล็กคล้ายเข็มเย็บผ้า ให้ความรู้สึกเชื่อมโยงกับประติมากรรมรูปเข็มจักรเย็บผ้า ที่จัดแสดงอยู่ในห้องเดียวกัน

วัตถุเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์แทนแม่ของบรูชัวร์ ที่ทำธุรกิจสิ่งทอ ผู้เปรียบเสมือน “คุณแม่แมงมุม” ในแรงบันดาลใจของเธอนั่นเอง

Untitled (1947-1949) ประติมากรรมรูปเข็มจักรเย็บผ้าโดย หลุยส์ บรูชัวร์

ในพิพิธภัณฑ์ไรนา โซเฟีย ยังจัดแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยอันแปลกใหม่ ล้ำสมัย อย่าง งานภาพยนตร์ทดลอง, วิดีโอจัดวาง, วิดีโอแสดงสด, ศิลปะจัดวาง และภาพถ่ายแนวคอนเซ็ปช่วล ฯลฯ ให้ดูกันอย่างเต็มอิ่ม จุใจ

เรียกได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ห้ามพลาดสำหรับคนรักงานศิลปะสมัยใหม่และงานศิลปะร่วมสมัยจริงๆ อะไรจริง!

Fibonacci Napoli [Factory in San Giovanni a Teduccio] (1971) ผลงานศิลปะจัดวางโดย มาริโอ แมร์ซ
Inept Rhapsody (1969) ผลงานศิลปะจัดวางโดย ปิแอร์ เปาโล คัลโซลารี

พิพิธภัณฑ์ไรนา โซเฟีย ตั้งอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟอโตชาและสถานีรถไฟใต้ดินบนถนน Paseo del Prado ในกรุงมาดริด ประเทศสเปน

เปิดทำการวันจันทร์, พุธ-เสาร์ เวลา 10:00 – 21:00 น. วันอาทิตย์เปิดทำการเวลา 10.00-14.30 น. หยุดทำการวันอังคาร

สนนราคาค่าเข้าชม บุคคลทั่วไป 12 ยูโร, เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี, ผู้พิการ และผู้สูงอายุกว่า 65 ปี เข้าชมฟรี

ดูรายละเอียดการเข้าชมเพิ่มเติมได้ที่นี่ https://rb.gy/6e3v

 

 

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ตามรอยศิลปะ ณ ดินแดนสเปน : พิพิธภัณฑ์ไรนา โซเฟีย (1)