สงครามในโลกที่เห็นต่าง : สงครามและมุมมองการเมือง | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“วัตถุประสงค์ของเราไม่ใช่การแลกระหว่างสันติภาพกับเสรีภาพ แต่เราต้องการทั้งสันติภาพและเสรีภาพพร้อมกัน”
ประธานาธิบดีเคนเนดี้

 

สิ่งที่เราคาดหวังอย่างมากในสังคมโลกก็คือ การเดินทางสู่จุดสุดท้ายที่การระบาดของโควิด-19 ซึ่งการดำรงอยู่ของเชื้อจะไม่ส่งผลกระทบกับชีวิตของสังคมและผู้คนอย่างมาก เช่น ในระหว่างปี 2020-2022 แต่มิได้หมายถึงเชื้อโรคดังกล่าวจะหมดสิ้นไป

ภาวะเช่นนี้จะส่งสัญญาณถึงการก้าวสู่ “ยุคหลังโควิด-19” ของสังคมโลกอย่างแท้จริง ดังจะเห็นได้จากการเดินทางระหว่างประเทศและการเปิดประเทศ

ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสัญญาณบวกของการกลับคืนสู่ภาวะปกติของชีวิตของยุคหลังการระบาดใหญ่

แต่วิกฤตคู่ขนานอีกด้านกลับไม่เห็นสัญญาณบวกแต่อย่างใดคือ “วิกฤตการณ์สงครามยูเครน” ผลจากการตัดสินใจของประธานาธิบดีปูตินในการบุกยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 อันนำไปสู่สถานการณ์สงครามชุดใหญ่อย่างคาดไม่ถึงนั้น แม้ในด้านหนึ่ง อาจทำให้ดูเหมือนว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครนเป็นเพียงแค่ “สงครามของรัฐยุโรป” แต่ในอีกด้าน สงครามชุดนี้กลับขยายตัวและส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางในเวทีโลก และเป็นหมุดหมายสำคัญของการเมืองโลกในยุคหลังโควิด-19 อย่างชัดเจน

แน่นอนว่าการกำเนิดสงครามใหญ่ทุกครั้งที่นำไปสู่ข้อถกเถียงทางการเมืองในทุกสังคมเสมอ และข้อถกเถียงในเบื้องต้นคงหนีไม่พ้นประเด็นว่า “ใครถูก… ใครผิด?”

 

ความถูก-ความผิด?

ถ้าเราเริ่มต้นด้วยการมองสังคมการเมืองในภาพรวม… ความถูก-ผิดของการก่อสงครามดูจะขึ้นอยู่กับทัศนะทางการเมือง (หรือจะเรียกว่าชุดความคิดทางการเมือง) ของแต่ละคนอย่างมาก ซึ่งว่าที่จริงแล้ว การตัดสินเช่นนี้สะท้อนถึงการตีความสงครามภายใต้ความคิดของแต่ละบุคคลอย่างมาก

หากเราลองสำรวจอย่างหยาบๆ แล้ว เราอาจจะพบว่าฝ่ายที่สมาทานความคิดแบบอำนาจนิยม หรือบรรดา “กลุ่มขวาจัด” ทั้งหลายมักมีแนวโน้มในการสนับสนุนรัสเซีย อาจจะด้วยความชอบในความเป็นอำนาจนิยมเป็นทุนเดิม

พวกเขาจึงสนับสนุนผู้นำที่เป็นอำนาจนิยม และกล่าวชื่นชมคนอย่างประธานาธิบดีปูติน และไม่น่าแปลกใจที่คนในกลุ่มนี้จะสนับสนุนผู้นำอำนาจนิยมจีนอย่างสี จิ้นผิง อีกด้วย

อีกทั้งยังสนับสนุนนโยบายของจีนต่อไต้หวัน ที่มีนัยถึงการใช้กำลังในการแก้ปัญหา

ดังนั้น คนกลุ่มนี้จึงไม่มีทางที่จะสนับสนุนอุดมการณ์เสรีนิยม หรือมีทัศนะที่เชิดชูประชาธิปไตยได้เลย ดังได้กล่าวแล้วว่าชุดความคิดเช่นนี้ย่อมเห็นว่าการอ้างกรรมสิทธิ์ด้านดินแดนของรัสเซียเหนือดินแดนยูเครนเป็นความชอบธรรม

 

ในขณะที่ฝ่ายประชาธิปไตยมีท่าทีชัดเจนที่สนับสนุนยูเครน และยกย่องบุคคลอย่างประธานาธิบดีเซเลนสกีในฐานะของการเป็นผู้นำการต่อสู้เพื่อปกป้องเอกราชของยูเครน แต่การสนับสนุนของฝ่ายประชาธิปไตยก็จะถูกข้อหาว่า เป็นพวกที่รับวาทกรรมของสหรัฐ และอยู่ภายใต้อิทธิพลของนาโต โดยเฉพาะประชาธิปไตยในมุมมองของคนกลุ่มนี้เป็น “อิทธิพลอเมริกัน”

การรับความคิดเรื่องประชาธิปไตย จึงถูกตีตราจากฝ่ายขวาว่า เป็นพวก “นิยมอเมริกัน” ไปโดยปริยาย

ฉะนั้น ระบอบเสรีนิยมจึงกลายเป็นสิ่งที่ฝ่ายอำนาจนิยมรับไม่ได้ และมองประชาธิปไตยในทางลบทุกอย่าง จนลืมไปว่าคนในสังคมไม่ได้ “อิ่มอาหาร” แต่ยอม “อดเสรีภาพ”

เช่นในแบบที่ผู้นำจีนพยายามนำเสนอ หรือโมเดลจีนที่ยืนอยู่บนความเชื่อว่า คนอิ่มแล้วจะยอมทนอยู่กับระบอบอำนาจนิยม หรือฝ่ายนิยมสงครามรัสเซียไม่ยอมรับว่า คนอิ่มแล้ว และอยากมองหาเสรีภาพและความเจริญแบบตะวันตก จึงอยากแยกตัวไปจากระบอบอำนาจนิยมที่ล้าหลังของประธานาธิบดีปูติน

แต่กลับเชื่อว่าความต้องการเช่นนี้มาจากการ “ปั่นกระแส” ของตะวันตก

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของรัสเซียนั้น การที่ยูเครนไม่ยอมกลับไปอยู่ภายใต้อำนาจของรัสเซียอีกครั้ง กลายเป็น “ความผิดมหันต์” เพราะเหตุผลมีเพียงประการเดียวคือ ยูเครนต้องอยู่กับรัสเซียเท่านั้น จะ “ปันใจ” คิดเอียงไปทางสหภาพยุโรปและฝ่ายตะวันตกไม่ได้

ฝ่ายขวาจัดมักมองใน “กรอบคิด” เดียวกับประธานาธิบดีปูติน ที่เชื่อว่าการต่อสู้เพื่อเอกราชกับรัสเซียเป็นการ “ทำลายบ้านเมือง” และผู้นำยูเครนควรยอมแพ้ เพราะยูเครนเป็นดินแดนที่เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซียมาแต่เดิม จึงต้องเป็นของรัสเซียต่อไป

แม้ยูเครนจะเคยเป็นเอกราชแล้วในปัจจุบันก็ตาม พวกฝ่ายขวาดูจะคล้อยตามไปกับการสร้างวาทกรรมของผู้นำรัสเซียในปัจจุบันว่า “รัฐเอกราชยูเครน” ไม่มีอยู่จริง

ทั้งยังเชื่อมโยงกระแสประชาธิปไตยในยูเครนว่า เป็นกระบวนการขยายอำนาจของตะวันตกที่นำโดยสหรัฐ

 

การบรรจบทางความคิด

แต่น่าสนใจว่าในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน “กลุ่มซ้ายจัด” บางส่วนเอง ก็มีจุดยืนในการสนับสนุนรัสเซียไม่ต่างจากกลุ่มขวาจัด อาจจะเป็นเพราะการมีทัศนะร่วมกันในการต่อต้านตะวันตก

โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่า “ทัศนะตกค้าง” ของความเป็นฝ่ายซ้ายของลัทธิมาร์กซ์-เลนินจากยุคเก่า ที่ต้องมองสหรัฐและเนโต้ด้วยความหวาดระแวง (ไม่ต่างจากมุมมองของประธานาธิบดีปูติน)

ขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะยอมรับความชอบธรรมในการทำสงครามของรัสเซียเพื่อตอบโต้กับภัยคุกคามของฝ่ายตะวันตก

ในทำนองเดียวกัน ฝ่ายซ้ายเหล่านี้มองไม่เห็นเหตุผลที่ยูเครนจะต่อสู้เพื่อเอกราชของตัวเอง เช่นที่ในยุคสหภาพโซเวียตนั้น ผู้นำอย่างสตาลินเคยกล่าวถึงการขับเคลื่อนของลัทธิชาตินิยมในรัฐที่ผู้นำคอมมิวนิสต์ผนวกเข้ามาว่า เป็นสิ่งผิดพลาดทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากสหภาพโซเวียตต้องสร้างเอกภาพด้วยการควบคุมดินแดนเหล่านี้ให้อยู่ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์

วันนี้ถ้าสังเกตให้ดี เราจะเห็นทัศนะที่มาบรรจบกันระหว่าง “ขวาจัด” กับ “ซ้ายจัด” ที่มีจุดยืนชัดในการต่อต้านสหรัฐ อันมีนัยถึงการต่อต้านนาโต ที่เป็นองค์กรทางทหารในยุคสงครามเย็นด้วย โดยถือว่าการขยายสมาชิกภาพของนาโตเข้าไปในยุโรปตะวันออกคือปัญหาสำคัญที่เป็นต้นทางของสงครามยูเครน

แต่พวกเขาละเลยความหวาดระแวงของบรรดารัฐเอกราชที่แยกตัวออกมาจากรัสเซีย และมีความกังวลอย่างมากกับการคุกคามทางทหารของรัสเซีย รัฐเหล่านี้จึงต้องแสวงหาการปกป้องจากทางฝ่ายตะวันตก และทั้งเห็นอีกว่า ฝ่ายตะวันตกไม่ควรเข้าไปยุ่งกับพื้นที่ทางภูมิรัฐศาสตร์ในส่วนนี้

และรัฐเล็กๆ เหล่านี้ควรต้องยอมรับอำนาจของรัสเซีย เพื่อให้เกิดสันติภาพของโลก

 

ดังนั้น เมื่อเกิดสงครามยูเครนขึ้น คนเหล่านี้จะมีทัศนะที่โน้มเอียงไปทางฝั่งรัสเซีย เพราะยูเครนเป็นฝ่ายละเมิด “สันติภาพแบบรัสเซีย” พวกเขาจึงไม่ขัดแย้งกับการทำ “สงครามของปูติน” ในครั้งนี้ จนพวกเขาเป็นเหมือน “ผู้สนับสนุนสงคราม” หรืออีกนัยหนึ่ง พวกเขามีจุดยืนแบบ “สายเหยี่ยว” ที่ไม่สนใจต่อปัญหาความสูญเสียของพลเรือนที่กำลังเกิดขึ้นจากการโจมตีอย่างไม่จำแนกของรัสเซีย อันก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านมนุษยธรรมอย่างมาก

ไม่ว่าจะเป็นการทำลายที่พักอาศัย โรงเรียน โรงพยาบาล และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ จนอาจมองได้ว่า รัสเซียกำลังทำลายสังคมยูเครน ไม่ต่างกับการทำลายประชาชนยูเครนในยุคของความอดอยากใหญ่ในสมัยของสตาลิน

ในภาวะเช่นนี้ กลุ่มคนเหล่านี้จึงไม่ใส่ใจว่าหายนะใหญ่ที่มาพร้อมกับสงครามคือ ความตาย ความสูญเสีย การพลัดพราก…

สงครามยูเครนนำไปสู่การเกิดคลื่นของผู้อพยพชุดใหญ่ของยุโรป และเป็นผู้อพยพที่เกิดจากปัญหาสงครามภายในของยุโรปเอง ต่างจากกรณีของผู้อพยพจากแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง อีกทั้งยังเป็นการอพยพที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุดในยุคปัจจุบัน

ประเด็นสำคัญที่สุดในกรณีนี้ก็คือ คนเหล่านี้ดูจะละเลยหัวใจของปัญหา กล่าวคือสงครามเกิดจากการที่รัฐใหญ่ใช้กำลังทางทหารบุกรัฐเล็ก เพื่อการขยายดินแดนและ/หรือเพื่อสร้างเขตอิทธิพล

ดังนั้น สงครามในบริบทเช่นนี้ก็คือ การใช้เครื่องมือทางทหารของรัสเซียเพื่อการเข้าควบคุมยูเครนทั้งประเทศ อันจะนำไปสู่ “การเปลี่ยนแปลงระบอบ” (regime change) เพื่อจัดตั้งรัฐบาลนิยมรัสเซียขึ้นที่เคียฟ

ขณะเดียวกันวัตถุประสงค์ของสงครามคือ การเปลี่ยนสถานะให้ยูเครนกลายเป็น “รัฐในอารักขา” ของรัสเซีย ในแบบของเบลารุส และอยู่ภายใต้การอำนาจและการนำของมอสโก ที่ไม่อนุญาตให้เคียฟเป็นอิสระจากมอสโก

 

อำนาจ vs ธรรม

การกระทำเช่นนี้ของรัสเซียย่อมส่งผลให้เกิด “สงครามที่ไม่ชอบธรรม” อย่างยิ่ง ทั้งยังชัดเจนว่า การกระทำของรัสเซียเป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศ

เพราะหากเวทีโลกอนุญาตให้รัฐใหญ่ใช้กำลังเพื่อยึดครองรัฐเล็กแล้ว ย่อมเท่ากับเรายอมรับถึงภาวะ “อำนาจคือธรรม” และจะทำให้เรายอมรับว่า ผู้ที่แข็งแรงกว่าย่อมมีสิทธิที่จะจัดการกับผู้ที่อ่อนแอกว่าด้วยกำลัง โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงประเด็น “ความชอบธรรม” ในระบบระหว่างประเทศ

หรืออาจเรียกแนวคิดนี้ว่าเป็น “ระเบียบโลก” แบบรัฐอำนาจนิยม

สำหรับเวทีโลกแล้ว ระเบียบในยุคปัจจุบันเป็น “ระเบียบโลกแบบที่มีกฎเกณฑ์” (rules-based international order) ซึ่งถูกฝ่ายนิยมปักกิ่ง-มอสโกมองว่าเป็นผลผลิตของรัฐตะวันตก และเป็น “ระเบียบแบบเสรีนิยม” (liberal international order) ที่วางอยู่บนกติกาและบรรทัดฐานแบบเสรีนิยม ซึ่งย่อมขัดกับแนวคิดของ “ระเบียบโลก” ที่มาจากมุมมองของจีนและรัสเซียโดยตรง เนื่องจากระเบียบเช่นนี้ขัดแย้งโดยตรงกับแนวคิดและอุดมการณ์พื้นฐานของรัฐทั้งสอง

นอกจากนี้ การยอมรับใน “หลักการอำนาจคือธรรม” ในเวทีโลกจึงเสมือนหนึ่งเป็นการพารัฐในโลกสมัยใหม่กลับเข้าสู่ยุคโบราณของ “การสร้างจักรวรรดิ” และจักรวรรดิใหญ่สามารถขยายดินแดนออกไปอย่างไม่มีข้อจำกัดภายใต้อำนาจทางทหารที่มีอยู่

ซึ่งประวัติศาสตร์ในอดีตได้ชี้ให้เห็นว่า แว่นแคว้นเล็กๆ ที่ไม่ได้มีอำนาจทางทหารที่เข้มแข็ง ย่อมไม่สามารถต้านทานการขยายจักรวรรดิด้วยกำลังทหารได้เลย

แต่ปัจจุบันเป็นโลกของศตวรรษที่ 21 และยุคจักรวรรดิได้จบสิ้นไปแล้ว และสำหรับเวทีโลกสมัยใหม่นั้น การใช้กำลังภายใต้แนวคิดของ “ลัทธิขยายดินแดน” ไม่ใช่สิ่งที่ประชาคมระหว่างประเทศยอมรับ และถือว่ารัฐที่กระทำเช่นนั้น ย่อมสมควรจะถูก “ลงโทษ” เพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดอธิปไตยของรัฐเล็กที่ไม่สามารถคุ้มครองตัวเองได้

หลักการเช่นนี้ถือเป็นกติกาและบรรทัดฐานของระเบียบระหว่างประเทศที่ไม่ยอมรับต่อพฤติกรรมการรุกรานที่เกิดจากการใช้กำลังของรัฐใหญ่ และเป็นหลักการที่ให้ความคุ้มครองต่อการดำรงไว้ซึ่งเอกราชและบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐเล็ก

ระเบียบระหว่างประเทศเช่นนี้อาจจะไม่ถูกใจผู้นำทั้งที่ปักกิ่งและมอสโก เพราะกติกาและบรรทัดฐานของความเป็นเสรีนิยม แต่อย่างน้อยระเบียบเช่นนี้ให้ความคุ้มครองแก่รัฐเล็กที่จะไม่ตกเป็นเหยื่ออันโอชะของรัฐใหญ่ที่เข้มแข็งกว่า

การตีสงครามยูเครนจึงเป็นภาพสะท้อนของความคิด 2 ชุดระหว่าง “เสรีนิยม vs อำนาจนิยม” ที่สู้กันมาโดยตลอด และยังมาสู้กันอีกครั้งในสงครามยูเครนด้วย!