ศึกพระพุทธสิหิงค์ (7) : การจำลองพระพุทธสิหิงค์ทั่วล้านนา และทั่วแผ่นดินสยาม

เพ็ญสุภา สุขคตะ

วิทยากรท่านถัดไปคือ รองศาสตราจารย์ ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้กล่าวว่า

พระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปที่มีการจำลองแบบไปสร้างตามที่ต่างๆ มากที่สุด

ไม่เพียงแต่ในล้านนาเท่านั้น ทว่า ยังทั่วแผ่นดินสยามอีกด้วย

 

แนวคิดการจำลองพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์

ความคิดพื้นฐานของพุทธศาสนิกชนคือ เวลาที่ตนต้องการทำบุญ มักอยากจำลองพระพุทธรูปที่มีความศักดิ์สิทธิ์ของแต่ละกลุ่มชน เพื่ออัญเชิญไปไว้ตามสถานที่ที่เป็นบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองด้วย

เช่น จำลองไปไว้ในอารามใกล้ๆ บ้าน หรือคราวเกิดศึกสงคราม ต้องพลัดพรากจากถิ่นฐาน เร่รอนไปอยู่ต่างบ้านต่างเมือง ก็มีความคิดที่จะจำลองพระพุทธรูปสำคัญที่ตนเคยกราบไหว้ไปไว้ในสถานที่ใหม่ด้วย

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวว่า เมื่อพิจารณาถึงพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์บนแผ่นดินสยาม ผู้เขียนตำนานมักจะเชื่อมโยงประวัติของพระพุทธรูปองค์นั้นๆ ให้เข้ากับองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสมอ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ตัวอย่างสำคัญคือ “พระเจ้าไม้แก่นจันทน์” ตำนานระบุว่าสร้างมาแล้วตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าทรงมีพระชนม์ชีพ ถึงขนาดที่ว่าพระพุทธองค์ทรงทอดพระเนตรพระไม้นั่นมาแล้วด้วย

ทั้งยังตรัสให้คนทั่วไปนำพระเจ้าไม้แก่นจันทน์นี้ไปใช้เป็นต้นแบบในการสร้างพระพุทธรูป ด้วยเหตุผลที่ว่า อีกไม่นานนักพระพุทธองค์ก็จักปรินิพพานแล้ว จึงขอฝากพระศาสนาไว้กับพระพุทธรูป

พระพุทธสิหิงค์จำลองในวัดพระเจ้าเม็งาย เชียงใหม่ ที่ฐานมีจารึกคำว่า “พระสหิงค์”

ส่วนพระพุทธสิหิงค์ที่ถูกนำไปเชื่อมโยงกับองค์พระศาสดานั้น รศ.ดร.รุ่งโรจน์มองว่ามีความแตกต่างไปจากการผูกเรื่องพระเจ้าไม้แก่นจันทน์ กล่าวคือ กำหนดให้พระพุทธสิหิงค์อุบัติขึ้นหลังยุคพุทธกาลไปแล้วประมาณ 700 ปี (ตามตำนานสิหิงคนิทาน)

โดยได้รับการยืนยันว่าพระพุทธปฏิมาองค์ที่กำลังจะสร้างขึ้นนี้ มีรูปร่างหน้าตางามงดเหมือนกับพระพุทธเจ้าทุกประการ เนื่องจากสร้างขึ้นตามต้นแบบที่พญานาคเนรมิตตนให้ช่างได้ยล

นาคตนนี้เคยเห็นพระพุทธเจ้ามาแล้ว ด้วยความที่มีอายุยืนยาวมากว่า 700 ปี ทำให้นาคกลายเป็นประจักษ์พยานสำคัญเพียงผู้เดียวที่สามารถพรรณนาถึงพุทธลักษณะของพระพุทธเจ้าได้

เรื่องราวของพระพุทธสิหิงค์ผูกเรื่องให้เกิดขึ้นในลังกาทวีป (ทั้งๆ ที่ผู้รจนาคือพระภิกษุชาวล้านนา) กำหนดให้ลังกาคือสถานที่หล่อพระพุทธสิหิงค์ ทั้งยังตอกย้ำว่าพระพุทธปฏิมาองค์นี้มีความเหมือนกันกับองค์จริงของพระพุทธเจ้าทุกประการ

ผลที่ได้ตามมาคือ ความเลื่อมใสศรัทธาจากพุทธศาสนิกชน รศ.ดร.รุ่งโรจน์ตั้งข้อสังเกตว่า ตำนานตั้งใจตั้งต้นนำเสนอประเด็นนี้ จนน่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พระพุทธสิหิงค์กลายเป็นพระพุทธรูปสำคัญมากที่สุดขึ้นมาทันที นอกเหนือไปจากเหตุผลด้านการเมือง หรือการเชิดชูนิกายสงฆ์นิกายใดนิกายหนึ่งให้เหนือกว่าอีกนิกาย และบริบทอื่นๆ

ฐานพระพุทธสิหิงค์ ที่มีการจารว่า “พระศรีสิทธามหาสังฆราช” สร้าง “พระสหิงค์” ปี พ.ศ.2012

องค์ไหนคือพระพุทธสิหิงค์ในตำนาน?

ประเด็นคำถามนี้ รศ.ดร.รุ่งโรจน์ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากยิ่งที่จะฟันธงให้ชัดเจนได้ เหตุที่พระพุทธสิหิงค์มีการพบทั้งที่เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช และที่วังหน้า

อย่างไรก็ดี ในเมื่อตำนานสิหิงคนิทานเขียนขึ้นครั้งแรกโดยพระภิกษุเมืองเหนือ ย่อมหนีไม่พ้นว่า จุดเริ่มต้นของการสร้างพระพุทธสิหิงค์ก็ควรเป็นพระพุทธรูปฝีมือช่างล้านนา ดังที่นิยมเรียกกันว่า พระสิงห์ 1 หรือพระสกุลช่างเชียงแสนระยะเริ่มแรก ด้วยเช่นกัน

ในแง่ของพระพุทธสิหิงค์ล้านนา ไม่มีใครทราบว่าองค์ประธานในวิหารลายคำวัดพระสิงห์ เชียงใหม่ จะใช่องค์ดั้งเดิมที่มีอายุ 600 ปีในสมัยพระญากือนาหรือไม่ ด้วยเหตุที่มีการโยกย้าย เปลี่ยนผ่าน เปลี่ยนมือกันบ่อยครั้ง เป็นเรื่องราวที่เราคงสรุปไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรกันแน่

อย่างน้อยที่สุด สิ่งที่เราพอจะอธิบายได้คือ พุทธลักษณะหรืออัตลักษณ์เฉพาะของพระพุทธสิหิงค์ ที่คนโบร่ำโบราณได้ยึดถือและทำจำลองสืบต่อกันมาว่านี่คือพระพุทธสิหิงค์ ก็คือจำเป็นต้องมีองค์ประกอบดังนี้

ระพุทธสิหิงค์น้อย (พระเจ้าทองทิพย์) สร้างโดยพระเจ้าติโลกราช ณ วัดพระสิงห์ เชียงใหม่

พระพักตร์กลม อมยิ้ม เม็ดพระศกโตขมวดเป็นก้นหอย พระอุระค่อนข้างนูน ชายสังฆาฏิสั้นเหนือพระถัน คุณสมบัติที่โดดเด่นมากที่สุดที่ทำให้พระสิงห์ 1 แตกต่างจากพระพุทธรูปสกุลช่างอื่นทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทยคือ

การนั่งขัดสมาธิเพชร แลเห็นฝ่าพระบาททั้งสองข้าง ลักษณะเช่นนี้สะท้อนถึงสายสัมพันธ์ของศิลปะแบบพุกามในพม่าที่เข้ามาสู่ดินแดนภาคเหนือ อาจจะรับมาตั้งแต่สมัยหริภุญไชยตอนปลายแล้วถ่ายทอดต่อสู่สมัยล้านนา หรือหากล้านนาไม่รับจากหริภุญไชย ก็อาจไปรับตรงจากเมืองพุกามเลยก็ได้ (แม้อาณาจักรพุกามจักเริ่มร่วงโรยในยุคที่ล้านนาค่อยๆ เรืองอำนาจก็ตาม)

กล่าวโดยสรุป รศ.ดร.รุ่งโรจน์เห็นว่า รูปแบบที่ถูกต้องของพระพุทธสิหิงค์ควรเป็นพระพุทธปฏิมาล้านนาแบบที่เรียกว่าสิงห์ 1 นั้นชัดเจนแล้ว

ส่วนปริศนาที่ว่า ทำไมพุทธลักษณะเช่นนี้จึงไปปรากฏที่นครศรีธรรมราชในกลุ่ม “พระขนมต้ม” ด้วยเล่า หรือทำไมพระพุทธสิหิงค์ที่วังหน้าจึงนั่งขัดสมาธิราบไม่นั่งขัดสมาธิเพชร

ฉบับนี้ขออุบไว้ก่อน

พระล้านนาสิงห์ 1 ประดิษฐานที่พระระเบียงคต วัดเบญจมบิพตร คำถามคือ จะเรียกว่า “พระพุทธสิหิงค์จำลอง” ได้หรือไม่

พระพุทธสิหิงค์มีการจำลองมากที่สุด

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวว่า ในบรรดาพระพุทธรูปสำคัญของประเทศไทย ไม่มีพระพุทธปฏิมาองค์ไหนได้รับการจำลองหรือผลิตซ้ำมากเท่าพระพุทธสิหิงค์อีกแล้ว

เมื่อเทียบกับตำนานพระแก้วมรกต เนื้อหาไม่ได้กล่าวถึงว่ามีการจำลองพระแก้วมรกตให้เป็นหลายองค์แต่อย่างใดเลย รวมทั้งพระพุทธชินราชในพงศาวดารเหนือ ก็ไม่กล่าวถึงการจำลองรูปแบบใดๆ ทั้งสิ้น

ในขณะที่ตำนานสิหิงคนิทาน มีการกล่าวถึง “การจำลองพุทธปฏิมา” อย่างน้อย 4 ครั้ง ดังนี้

ครั้งแรก การจะสร้างพระพุทธสิหิงค์ได้ ต้องจำลองมาจากนาคเนรมิต

ครั้งที่สอง พระมารดาของพระญาณดิศ (เจ้าเมืองกำแพงเพชร) ให้จำลองพระพุทธสิหิงค์ขึ้นมาอีกองค์ เป็นการหล่อถวายคืนสมเด็จพระรามาธิบดี กษัตริย์อยุธยา แล้วนำองค์จริงไปไว้ที่กำแพงเพชร

(หมายเหตุรายละเอียดตอนนี้มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนอยู่มาก นอกจากนี้ ตำนานพระพุทธสิหิงค์บางฉบับ ยังเรียกพระญาณดิศเป็นพระญายุทธิษฐิระ เรียกพระรามาธิบดีเป็นพระบรมราชาธิราชอีกด้วย ซึ่งเนื้อความในส่วนนี้ ดิฉัน ผู้เขียนจักทำการวิเคราะห์ต่อไปในบทท้ายๆ หลังจากที่นำเสนอความเห็นของวิทยากรทุกท่านเสร็จหมดแล้ว)

จุดเด่นประการสำคัญของพระพุทธรูปกลุ่มพระพุทธสิหิงค์จำลอง หรือพระสิงห์ 1 คือ การนั่งขัดสมาธิเพชร แลเห็นฝ่าพระบาทสองข้าง ตามคัมภีร์มหาบุรุษลักษณะแล้ว ฝ่าพระบาทของพระพุทธองค์มีลายเป็นตาข่ายดอกไม้หรือรูปวงคล้ายธรรมจักร (ภาพจากพระสิงห์ 1 ระเบียงคต วัดเบญจมบพิตร)

ครั้งที่สาม พระภิกษุชาวกำแพงเพชรได้ปั้นหุ่นขี้ผึ้ง จำลองพระพุทธสิหิงค์ จาริกไปถึงเมืองเชียงราย ทำให้ท้าวมหาพรหมเห็นพระพุทธสิหิงค์แล้วบังเกิดความปรารถนาอยากครอบครอง จึงส่งกองทัพมาที่กำแพงเพชร

ครั้งที่สี่ เมื่อท้าวมหาพรหมได้พระพุทธสิหิงค์จากกำแพงเพชรและนำไปไว้ที่เชียงรายแล้ว ได้หล่อพระพุทธสิหิงค์ใหม่ขึ้นอีกองค์หนึ่ง เพื่อที่ว่าจักต้องนำองค์ที่ได้มาจากกำแพงเพชรไปถวายพระญาแสนเมืองมากษัตริย์เชียงใหม่ผู้เป็นหลานชาย

กล่าวได้ว่า ตำนานพระพุทธสิหิงค์มีความพิเศษมากกว่าตำนานทุกฉบับ ในแง่ที่ว่ามีการกล่าวถึง “การจำลองพระพุทธรูป” อยู่หลายหน

จุดนี้ถือว่าเป็นเค้าเงื่อนที่น่าสนใจสำหรับคนรุ่นต่อๆ มาได้หรือไม่ กล่าวคือ เวลาที่ได้ฟังตำนาน หรือยามที่นึกถึงพระพุทธสิหิงค์ขึ้นมาคราใด มักเกิดแรงบันดาลใจ ว่าเราควรจำลองพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานในดินแดนบ้านเกิดเมืองนอนของเราบ้างดีกว่า

ดังเช่นชาวนครศรีธรรมราช ในเมื่อทราบว่าตำนานพระพุทธสิหิงค์นั้นระบุว่า ครั้งหนึ่งเคยประทับที่นครศรีธรรมราชมาก่อนที่จะย้ายขึ้นไปยังสุโขทัย กำแพงเพชร เชียงราย จึงเกิดแนวคิดที่จะจำลองพระพุทธสิหิงค์มาไว้ที่นครศรีธรรมราชด้วยเช่นกัน

รายละเอียดเกี่ยวกับการจำลองพระพุทธสิหิงค์แบบขนมต้มของนครศรีธรรมราช จักได้กล่าวถึงอีกครั้งในฉบับหน้า

จุดเด่นประการสำคัญของพระพุทธรูปกลุ่มพระพุทธสิหิงค์จำลอง หรือพระสิงห์ 1 คือ การนั่งขัดสมาธิเพชร แลเห็นฝ่าพระบาทสองข้าง ตามคัมภีร์มหาบุรุษลักษณะแล้ว ฝ่าพระบาทของพระพุทธองค์มีลายเป็นตาข่ายดอกไม้หรือรูปวงคล้ายธรรมจักร (ภาพจากพระสิงห์ 1 ระเบียงคต วัดเบญจมบพิตร)

พระสิงห์ 1 ทุกองค์ คือพระพุทธสิหิงค์จำลองใช่หรือไม่?

หลักฐานด้านลายลักษณ์ที่มีการจำลองพระพุทธสิหิงค์ในรูปแบบสิงห์ 1 ปรากฏอยู่ที่ฐานพระพุทธรูปองค์กลางบนแท่นแก้วสูงใหญ่ในวิหารวัดพระเจ้าเม็งราย เชียงใหม่ โดยระบุว่า “พระศรีสิทธามหาสังฆราชสร้าง “พระสหิงค์” (ไม่มีสระอิตรง ส.) พ.ศ.2012″ ตรงกับสมัยพระเจ้าติโลกราช

การจงใจจารคำว่า “สหิงค์/สิหิงค์” เป็นการยืนยันว่า พระพุทธสิหิงค์ได้รับการจำลองอย่างกว้างขวาง และสามารถกระทำได้โดยไม่ผิดกติกาแต่อย่างใดตั้งแต่สมัยล้านนามาแล้ว

ส่วนพระเจ้าติโลกราชเอง ก็จำลองพระพุทธสิหิงค์ ด้วยการสร้าง “พระพุทธสิหิงค์น้อย” ในรูปแบบพระสิงห์ 1 ถวายวัดพระสิงห์ด้วยวัสดุพิเศษคือ “ทองทิพย์” เมื่อ พ.ศ.2020 ปีที่มีการสังคายนาพระไตรปิฎกในเชียงใหม่

รศ.ดร.รุ่งโรจน์ตั้งคำถามที่ชวนให้น่าขบคิดอย่างยิ่งว่า

“ในเมื่อแนวคิดของคนล้านนาโบราณ นิยมสร้างพระพุทธสิหิงค์จำลองในรูปแบบพระสิงห์ 1 ทำให้เกิดคำถามที่ตามมาคือ แล้วพระพุทธรูปแบบสิงห์ 1 ของล้านนาที่มีจำนวนมหาศาลนั้น จักถือว่าเป็นพระพุทธสิหิงค์จำลองหมดทุกองค์ได้หรือไม่

ขอฝากไว้เป็นการบ้าน ซึ่งอาจจะใช่ก็ได้ หรือไม่ใช่ก็ได้”

ฉบับหน้า รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง จักมาเฉลยให้ทราบว่า ทำไมพระพุทธสิหิงค์จึงได้รับความนิยมอย่างมากมาย ยิ่งกว่าพระพุทธปฏิมาองค์ใดๆ เมื่อเทียบกับพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์อื่นๆ เช่น พระแก้วมรกต หรือพระพุทธชินราช

เหตุไฉนพระพุทธสิหิงค์จึงมีผู้เคารพกราบไหว้กันอย่างกว้างขวางและเหนียวแน่น จากเหนือจรดใต้ และจากอดีตจนถึงปัจจุบัน •

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ