ตามรอยศิลปะ ณ ดินแดนสเปน : พิพิธภัณฑ์ไรนา โซเฟีย (1)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ตามรอยศิลปะ ณ ดินแดนสเปน : พิพิธภัณฑ์ไรนา โซเฟีย

สุดยอดพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ และศิลปะร่วมสมัยแห่งศตวรรษที่ 20 (1)

 

หลังจากเข้าไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ CORPO ที่เมืองโตเลโด กันไปในตอนที่แล้ว

ในตอนนี้ คณะทัวร์ตามรอยศิลปะ ณ ดินแดนสเปนของเรา ก็เดินทางกลับไปยังกรุงมาดริด

เพื่อชมสุดยอดพิพิธภัณฑ์ที่ถูกขนานนามว่าเป็นหนึ่งใน “สามเหลี่ยมทองคำแห่งศิลปะ” (Golden Triangle of Art) อย่างพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติไรนา โซเฟีย (Museo Nacional Centro de Arte Reina Sof?a) ที่เปิดตัวในปี 1992 โดยตั้งชื่อตามสมเด็จพระราชินีโซเฟียแห่งสเปน

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟอโตชา และสถานีรถไฟใต้ดินในกรุงมาดริด บนถนน Paseo del Prado ไม่ไกลกับพิพิธภัณฑ์ทิสเซน ที่เรากล่าวถึงไปในตอนที่ผ่านๆ มา

ตัวพิพิธภัณฑ์สร้างขึ้นบนพื้นที่ของอาคารโรงพยาบาลเก่าในมาดริด ที่ปิดตัวลงในปี 1969 และมีการสร้างพื้นที่ต่อขยายเชื่อมกับอาคารเก่าและหอคอยกระจกในปี 1980 และ 1989

ภายในพิพิธภัณฑ์ยังมีสวนหย่อม และลานประติมากรรมกลางแจ้งให้ผู้เข้าชมได้พักผ่อนหย่อนใจอีกด้วย

พิพิธภัณฑ์ไรนา โซเฟีย เป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่และศิลปะร่วมสมัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก

และเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีผู้เข้าเยี่ยมชมมากที่สุดเป็นอันดับแปดของโลกในปี 2021

พิพิธภัณฑ์ไรนา โซเฟีย, ภาพจาก www.museoreinasofia.es/en/visit

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีไฮไลต์อยู่ที่ผลงานของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 20

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลงานชิ้นเอกที่โด่งดังเลื่องชื่อที่สุดของสุดยอดศิลปินเอกชาวสเปน ปาโบล ปิกัสโซ ที่เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้เราตัดสินใจเดินทางมาสเปนเลยก็ว่าได้

ผลงานชิ้นนี้มีชื่อว่า Guernica (1937) ภาพวาดสีน้ำมันที่ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในผลงานศิลปะที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักที่สุดในโลก และเป็นผลงานที่ทรงพลังและสั่นสะเทือนใจผู้ชมมากที่สุดในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก

ผลงานชิ้นนี้เริ่มต้นจากการที่ ในปี 1937 รัฐบาลสเปนได้ว่าจ้างให้ปิกัสโซซึ่งลี้ภัยการเมืองอยู่ที่ฝรั่งเศส วาดภาพฝาผนังขนาดใหญ่สำหรับแสดงในศาลาสเปน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการศิลปะนานาชาติในงานเวิลด์แฟร์ที่กรุงปารีส

ในตอนแรก ปิกัสโซตั้งใจวาดภาพแบบอุปมานิทรรศ หรือเรื่องเล่าเชิงเปรียบเทียบ ที่นำเสนอภาพของจิตรกรและนางแบบ

แต่ในช่วงที่เริ่มทำงาน เขาบังเอิญได้อ่านข่าวโศกนาฏกรรมที่เกอร์นิกา หมู่บ้านชนบทเล็กๆ ในแคว้นบาสก์ ของสเปน ประเทศบ้านเกิดของเขา ที่ถูกรัฐบาลเผด็จการของนายพลฟรังโก อาศัยกองกำลังทหารนาซีและฟาสซิสต์บุกโจมตีและทิ้งระเบิดปราบปรามผู้ต่อต้านจนย่อยยับในสงครามกลางเมือง ทำให้มีประชาชนผู้บริสุทธิ์ล้มตายเป็นจำนวนมากไม่เว้นแม้แต่เด็กและสตรี

ทำให้ปิกัสโซเกิดความโกรธแค้นเป็นอย่างมาก

และตัดสินใจวาดภาพเกี่ยวกับเหตุการณ์ในเกอร์นิกาขึ้นมาแทน

พิพิธภัณฑ์ไรนา โซเฟีย, ภาพจาก www.museoreinasofia.es/en/visit

ในช่วงเวลาไม่ถึงหกสัปดาห์ เขาวาดภาพลายเส้น, ภาพร่าง และผลงานศึกษาเบื้องต้นได้เกือบห้าสิบภาพ

ก่อนที่จะลงมือขยายเป็นภาพวาดขนาดใหญ่ถึง 3.49 x 7.77 เมตร ด้วยสีน้ำมันทาบ้านที่เขาสั่งทำเป็นพิเศษ

โดยวาดออกมาเป็นภาพวาดแบบคิวบิสม์ขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เขาเคยวาดมา และตั้งชื่อภาพวาดนี้ตามชื่อของหมู่บ้านว่า Guernica

ปิกัสโซกล่าวถึงภาพวาดภาพนี้ว่า

“สงครามครั้งนี้ของสเปนคือการต่อสู้ของรัฐบาลฝ่ายขวาจัดที่ต่อต้านประชาชน ต่อต้านเสรีภาพ ชีวิตในการเป็นศิลปินของผมตลอดมานั้นไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าการต่อสู้อย่างต่อเนื่องยาวนานกับฝ่ายขวาจัดและความตายของศิลปะ อย่างนั้นแล้วจะมีใครหน้าไหนคิดว่าผมจะมีความเห็นพ้องกับฝ่ายขวาจัดและความตายได้อีก? ในภาพที่ผมกำลังวาดอยู่นี้ ซึ่งผมจะเรียกว่า Guernica ผมได้แสดงออกถึงความชิงชังชนชั้นเผด็จการและทหารที่ทำให้สเปนจมดิ่งอยู่ในทะเลแห่งความเจ็บปวดและความตายอย่างที่เป็นอยู่”

เขาใช้เวลาวาดภาพนี้ถึง 35 วัน โดยแล้วเสร็จในวันที่ 4 มิถุนายน 1937

ผลลัพธ์คือผลงานภาพวาดอันซับซ้อนพิสดารนับแต่แรกเห็น ด้วยสไตล์คิวบิสม์และเซอร์เรียลิสม์ ที่ผสมผสานแรงบันดาลใจจากงานจิตรกรรมแบบประเพณีของศิลปินชั้นครูในอดีตอย่าง ปีเตอร์ พอล รูเบนส์ (Peter Paul Rubens), เออแฌน เดอลาครัว (Eugene Delacroix), ฌาก-หลุย ดาวีด (Jacques-Louis David) และ ฟรานซิสโก โกยา

ปิกัสโซได้แรงบันดาลใจจากภาพถ่ายอันโหดร้ายของการสังหารหมู่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ จากสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ อย่างหนังสือพิมพ์

เขาจึงวาดภาพนี้ออกมาในโทนสีขาวดำ คล้ายกับโปสเตอร์ขนาดใหญ่ ที่เป็นหลักฐานของความสยดสยองที่เกิดขึ้นในสงครามกลางเมืองสเปน และสัญญาณเตือนถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในสงครามโลกครั้งที่สอง

ถึงแม้จะเป็นภาพในโทนขาวดำแบบเดียวกับภาพข่าวในหนังสือพิมพ์ แต่ก็แสดงออกถึงความเจ็บปวดและความตายได้อย่างน่าสะเทือนใจ

ด้วยภาพวาดภาพนี้ ปิกัสโซใช้เทคนิคของงานศิลปะสมัยใหม่ถ่ายทอดความความเลวร้ายน่าสยดสยองของสงครามได้อย่างทรงพลังยิ่ง

พิพิธภัณฑ์ไรนา โซเฟีย, ภาพจาก www.museoreinasofia.es/en/visit

องค์ประกอบในภาพถูกจัดวางเป็นรูปสามเหลี่ยมพีระมิด แสดงภาพอันบิดเบี้ยวของหญิงสาวที่ร่ำไห้อุ้มศพลูกน้อยในอ้อมแขน เหนือศีรษะของเธอมีวัวยืนเบิ่งตาเบิกโพลง, นกปีกหัก, ซากศพทหารนอนตายท่ามกลางซากปรักหักพัง, ม้าที่ร้องครวญครางด้วยความเจ็บปวดทรมาน, คนที่กรีดร้องอย่างน่าเวทนาราวกับกำลังอ้อนวอนขอความปรานีต่อพระผู้เป็นเจ้าเบื้องบน โดยมีเปลวไฟสงครามกำลังลุกไหม้อยู่เบื้องหลัง

มีเรื่องเล่ากันว่า ในช่วงที่ปิกัสโซอยู่ที่ปารีสในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ที่นาซียาตราทัพเข้ามา ศิลปินขบถหัวเอียงซ้ายอย่างเขาย่อมตกเป็นเป้าหมาย

ในขณะที่เขาถูกสอบสวนตรวจค้นสตูดิโอรอบแล้วรอบเล่าอยู่นั้น ครั้งหนึ่งเขายื่นภาพโปสการ์ดทีรูปภาพวาดเกอร์นิกาให้เจ้าหน้าที่นาซี

หมอนั่นหยิบมาดูแล้วถามด้วยความเย้ยหยันว่า “ตกลงนายเป็นคนทำภาพนี้ขึ้นมาหรอกเหรอ?”

ปิกัสโซสวนกลับไปทันควันว่า “ไม่ พวกแกนั่นแหละที่เป็นคนทำ!”

เมื่อภาพนี้วาดเสร็จ ก็ถูกนำออกแสดงในงานเวิลด์แฟร์ที่กรุงปารีส

ด้วยความที่ปิกัสโซมีเจตนารมณ์ว่าตราบใดที่ประเทศสเปนยังอยู่ในเงื้อมมือของเผด็จการ และยังไม่คืนสู่ความเป็นเสรีภาพและประชาธิปไตย เขาจะไม่ยอมให้ภาพนี้ถูกส่งกลับคืนไปที่นั่นเป็นอันขาด

ดังนั้น หลังจากถูกนำไปแสดงในหลายประเทศทั้งในยุโรปและอเมริกา ภาพวาดนี้จึงถูกเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งนิวยอร์ก (MOMA)

จนกระทั่งหลังจากที่นายพลฟรังโกเสียชีวิตในปี 1975 สเปนก็เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย

ในที่สุด ภาพเกอร์นิกาก็ถูกนำกลับสู่สเปนในปี 1981 และถูกเก็บรักษาและจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ไรนา โซเฟีย ในกรุงมาดริด จวบจนปัจจุบัน

Guernica (1937) ผลงานชิ้นเอกของ ปาโบล ปิกัสโซ

Guernica ถูกยกให้เป็นหนึ่งในผลงานที่โดดเด่นที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 ที่ยังคงเป็นสัญลักษณ์อันสากลในการต่อต้านสงครามและการกดขี่จากเผด็จการ

และไม่ว่าจะเกิดสงครามขึ้นครั้งใดในโลก ภาพวาดภาพนี้ก็มักจะถูกยกให้เป็นตัวอย่างของการต่อต้านสงครามอยู่เสมอมา

อนึ่ง กระบวนการสร้างผลงานชิ้นนี้ถูกบันทึกเอาไว้เป็นภาพถ่ายโดย ดอรา มาร์ ชู้รักของปิกัสโซในช่วงเวลานั้น

ซึ่งถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างของการบันทึกกระบวนการสร้างงานศิลปะที่สมบูรณ์แบบที่สุดในประวัติศาสตร์เลยก็ว่าได้

ภาพถ่ายบันทึกการทำงานชุดนี้ รวมถึงผลงานภาพวาดลายเส้น, ภาพร่าง และผลงานศึกษาเบื้องต้นต่างๆ ก็ถูกจัดแสดงร่วมกับภาพวาดชิ้นนี้ในห้องแสดงงานหลักภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้อีกด้วย

สวนหย่อมและลานประติมากรรมกลางแจ้ง ภายในพิพิธภัณฑ์ไรนา โซเฟีย

การได้มาเห็นภาพวาด Guernica ของจริงด้วยตาตัวเอง นับเป็นโชคดี ที่เวลาที่เราไปดูผลงานชิ้นนี้ในช่วงเช้า ภายในห้องแสดงงานยังไม่ค่อยมีผู้ชมมากนัก (ผิดกับในช่วงบ่ายที่เราเดินกลับไปดูอีกครั้งนั้นเต็มไปด้วยผู้ชมคับคั่งจนล้นห้อง)

การได้ยืนเผชิญหน้ากับภาพนี้ตรงๆ ได้สัมผัสพลังอันท่วมท้นของภาพที่ทะลักออกมาปะทะสายตา ทำให้เราถึงกับขนลุก หัวใจเต้นระรัวจนแทบทะลุออกมาจากอก

นับเป็นประสบการณ์การชมงานศิลปะอันตราตรึงยากจะลืมเลือนที่สุดในชีวิต

พิพิธภัณฑ์ไรนา โซเฟีย ตั้งอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟอโตชาและสถานีรถไฟใต้ดินบนถนน Paseo del Prado ในกรุงมาดริด ประเทศสเปน, เปิดทำการวันจันทร์, พุธ-เสาร์ เวลา 10:00 – 21:00 น. วันอาทิตย์เปิดทำการเวลา 10.00-14.30 น. หยุดทำการวันอังคาร

สนนราคาค่าเข้าชม บุคคลทั่วไป 12 ยูโร, เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี, ผู้พิการ และผู้สูงอายุกว่า 65 ปี เข้าชมฟรี

ดูรายละเอียดการเข้าชมเพิ่มเติมได้ที่นี่ https://rb.gy/6e3v 

 

 

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์