เมื่อเวลานำมาขายได้

วัชระ แวววุฒินันท์

“เวลา” เป็นสิ่งที่ส่งเสริมประชาธิปไตยมาก เพราะทุกคนไม่ว่าจนหรือรวยล้วนมีอยู่เท่าๆ กัน คือ วันละ 24 ชั่วโมง

เหมือนสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งคนละ 1 เสียงเท่ากัน

เวลาแม้จะมีเท่ากัน แต่ในความรู้สึกแล้วต่างกัน หากใครอยู่ในช่วงสุขจะรู้สึกว่าทำไมเวลามันผ่านไปรวดเร็วยังงี้ ยังจู๋จี๋กับแฟนได้ไม่เท่าไรเลย

ตรงกันข้าม หากตกอยู่ในช่วงทุกข์ แต่ละนาทีที่ผ่านไปมันช่างเหมือนตัวสล็อตคืบคลานยังไงอย่างงั้น

ในขณะที่ทุกคนมีเวลาเหมือนกัน เท่ากัน แต่หากมีคนที่คิด “ขายเวลา” ขึ้นมา มันจะเป็นอย่างไร?

 

มีหนังสือเล่มเล็กๆ ชื่อ “ร้านขายเวลา” เขียนโดยนักเขียนชาวเกาหลีชื่อว่า “คิมซ็อนย็อง” แปลโดย “สุมาลี สูนจันทร์”

เป็นหนังสือที่อ่านเพลิน แถมได้ชวนลุ้นจากงานบริการขายเวลาของเจ้าของร้านที่ใช้นามแฝงว่า “โครนอส” ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเด็กหญิงชั้นมัธยมอายุ 16 ปี ที่ชื่อจริงว่า “อนโจ”

ร้านขายเวลาของอนโจ ไม่ได้มีหน้าร้านจริง แต่เป็นร้านที่เปิดบริการอยู่บนอินเตอร์เน็ต คาเฟ่ โดยเขียนเงื่อนไขของการใช้บริการไว้ 4 ข้อคือ

หนึ่ง ปฏิเสธสิ่งที่เกินความสามารถของตนเอง

สอง ไม่ทำเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

สาม เลือกเรื่องที่ช่วยปลอบประโลมลูกค้าได้แม้แต่น้อยก็ยังดี

และ สี่ เหนือสิ่งอื่นใดคือ เลือกงานที่ทำให้เวลากลายเป็นเงินได้จริง

ทำไมอนโจถึงได้ลุกขึ้นมาเปิดร้านขายเวลาเพื่อหารายได้พิเศษ นั่นก็เป็นเพราะก่อนหน้านี้เธอได้ลองทำงานอย่างอื่นแล้ว แต่ไม่พอใจจากปัญหาที่เจอ เช่น เคยทำงานเป็นลูกจ้างร้านเบเกอรี่ และพบว่าเจ้าของร้านเอาเปรียบลูกค้าโดยการเอาขนมปังหมดอายุมาวางขาย

แห่งที่สองเป็นร้านอาหาร ปรากฏว่างานนั้นหนักและใช้กำลังมากเสียจนร่างกายอันบอบบางของเธอรับไม่ไหว นอกจากเลือดกำเดาที่ไหลออกมาเป็นระยะ สุดท้ายเธอก็เป็นลมหมดสติด้วยอาการโลหิตจาง จนต้องเลิกทำงานนี้ไป

เธอได้บอกกับแม่ที่เลี้ยงเธอมาเพียงลำพังว่า “หนูเคยคิดแต่ว่า เวลาคือสิ่งที่จับต้องไม่ได้ หนูเพิ่งเคยรู้สึกเหมือนเวลาเป็นสิ่งจับต้องได้ก็ตอนนี้เอง หนูคิดแบบนี้เพราะเห็นว่า เวลาที่หนูเคลื่อนไหวมันสามารถแปลงเป็นเงินเป็นทองได้”

แล้วอนโจก็คิดขึ้นมาว่า ในเมื่อเวลากลายเป็นเงินเป็นทองได้ ถ้าเราขายเวลาเสียเลยล่ะ จะเป็นอย่างไร?

 

ฟังดูเหมือนกับว่า อนโจตั้งหน้าแต่จะหาเงินจากงานพิเศษที่ทำเท่านั้น แต่ไม่ใช่เลย การที่เธอคิดเรื่องร้านขายเวลาขึ้นมานั้น เธอได้รับอิทธิพลจากพ่อที่เป็นนักผจญเพลิงและเสียชีวิตไปแล้ว ถึงเรื่องของความสำคัญของเวลา และความสุขจากการที่เราได้ช่วยเหลือคนอื่น

ในจดหมายที่พ่อได้เขียนถึงเธอก่อนจะจากไป ตอนหนึ่งความว่า

“…ในฐานะนักผจญเพลิง และเวลาไม่อาจหวนคืน พ่ออธิษฐานขอให้เป็นที่จดจำในฐานะนักผจญเพลิงที่ช่วยเหลือผู้อื่นอย่างสุดความสามารถ…”

จากงานที่พ่อทำ พ่อก็ได้อุทิศตัวเพื่อช่วยผู้ประสบภัยในกองเพลิงมาแล้วหลายราย ใครก็ทราบดีว่า ทุกวินาทีของงานแบบนี้มีชีวิตของคนเป็นเดิมพัน

ครั้งหนึ่งตอนที่อนโจอยู่ชั้น ป.6 พ่อได้มาที่ชั้นเรียน เพื่อพูดคุยให้เด็กๆ ฟังถึงงานอาชีพที่ทำ พ่อได้เล่าอย่างภาคภูมิใจว่า

“มนุษย์ไม่ได้ใช้ชีวิตตัวคนเดียว แต่ได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่น และเมื่อต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน การมอบความรักและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จึงเป็นหนทางในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้มากกว่าการจงเกลียดจงชังกัน”

“หากเราสามารถช่วยชีวิตใครสักคน หรือช่วยให้เขารอดพ้นจากสถานการณ์อันยากลำบากได้ ก็ยิ่งดีขึ้นไปอีก …เพราะโลกนี้ยังมีคนที่มีใจที่จะแบ่งปันและช่วยเหลือผู้อื่น หากทุกคนช่วยกันก็อาจเกิดเป็นคลื่นลูกใหม่ที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้”

จากวิธีคิดของพ่อที่อนโจซึมซับมานั้น เธอหวังว่าร้านขายเวลาของเธอ น่าจะช่วยเหลือคนที่มีปัญหา และมีความทุกข์ ให้สามารถก้าวข้ามมันไปได้ และเธอก็จะได้รู้สึกภาคภูมิใจในตนเองเหมือนที่พ่อของเธอเป็น

ยิ่งกว่านั้น มันเป็นงานที่สร้างความสุขที่สามารถหารายได้ได้ด้วย

“ร้านขายเวลา” ผู้เขียน “คิมซ็อนย็อง” แปลโดย “สุมาลี สูนจันทร์”

ในหนังสือได้ชวนให้เราติดตามถึง “งาน” ที่ลูกค้าของเธอติดต่อเข้ามาเพื่อให้เธอช่วยทำ ซึ่งเป็นตั้งแต่ปัญหาที่ไม่หนักหนาอะไรไปจนถึงเรื่องที่ลุกลามถึงขั้นคอขาดบาดตายจนถึงแก่ชีวิตก็มี ซึ่งเธอเองก็คาดไม่ถึงว่าจะเป็นเช่นนั้น

บางงานเป็นงานที่เธอรับมาทำด้วยความงุนงงอยู่บ้าง ด้วยไม่เข้าใจว่าทำไมลูกค้ารายนี้ถึงไม่ทำเสียเอง แต่จ้างให้เธอมาทำแทน เช่น “การไปกินข้าวกับคุณปู่ของเขาในอาหารมื้อกลางวันมื้อหนึ่ง”

แต่จากการรับงานนั้นเธอก็ได้เรียนรู้ถึงความเป็น “มนุษย์” มากยิ่งขึ้น ที่แต่ละคนจะมีที่มาที่ไป มีความคิดและปัญหาของตนเอง ที่ทับซ้อนกับคนรอบข้าง หรือแตกต่างแปลกแยกไปเลยก็มี

ความสนิทสนมจากการได้นั่งกินข้าวด้วยกัน ทำให้คุณปู่ค่อยๆ เล่าเรื่องราวในชีวิตที่เกี่ยวพันกับหลานชายที่เป็นลูกค้าของเธอ โดยคิดว่าเธอเป็นแฟนของหลานชาย

เธอได้นำเรื่องราวนั้นถ่ายทอดให้ลูกค้าได้ฟัง และในการนัดครั้งต่อไป แทนที่หลานชายจะไปเสียเองก็ยังคงใช้บริการของเธออีก แต่ครั้งนี้ดูคุณปู่จะไม่ผิดหวังที่ไม่ได้เจอหลานชายเหมือนครั้งแรก เพราะรู้สึกดีกับอนโจ และได้เธอเหมือนเป็นที่ให้คนแก่ๆ คนหนึ่งได้ระบายความในใจออกมาจนหมดสิ้น

เธอมีความกล้าพอจะเสนอความคิดเห็นของเธอในระหว่างการสนทนา ซึ่งก็ทำให้คุณปู่ได้มีความคิดที่เปิดกว้าง และแน่นอนที่เธอจะส่งผ่านความรู้สึกผิดของปู่ให้หลานชายได้รับรู้ นั่นทำให้เขาเปิดใจและเรียนรู้อะไรมากขึ้น สุดท้ายเขาก็ยินดีที่จะไปพบคุณปู่ในการนัดครั้งต่อไปเอง โดยไม่ต้องรบกวนเธออีกแล้ว

นี่เป็นหนึ่งในงานขายเวลาของอนโจที่เธอรู้สึกภาคภูมิใจเหมือนพ่อที่ภูมิใจในงานที่เขาทำ

 

ผู้ประพันธ์ไม่ได้นำเสนอเฉพาะงานชิ้นต่างๆ ของอนโจเท่านั้น แต่เดินเรื่องคู่กันไปกับชีวิตประจำวันของเธอกับแม่ กับเพื่อน กับครู และสังคมที่โรงเรียนด้วย ซึ่งทำให้เราได้รู้จักกับตัวตน ของอนโจมากยิ่งขึ้น

รวมทั้งได้รู้จักวิถีสังคมของเกาหลีใต้อีกด้วย ซึ่งบางเรื่องก็ไปสนับสนุนกับสิ่งที่เราเคยได้รับรู้จากซีรีส์ของประเทศนี้เหมือนกัน นั่นทำให้เราเข้าใจคนเกาหลีใต้มากขึ้นไปอีก

ในตอนท้ายของหนังสือ ผู้เขียนได้เขียนถึงสิ่งที่อนโจตกผลึกจากร้านขายเวลาของเธอว่า

“เราไม่อาจรู้ว่าเวลาจะนำพา ‘ปัจจุบัน’ ไปยังที่ใด แต่สิ่งที่แน่ชัดคือช่วงเวลาจะนำพาช่วงขณะในปัจจุบันนี้ ไปยังที่อื่นๆ อีกแน่นอน หากเราไม่พลาดช่วงเวลาเหล่านั้นเสียเอง”

หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลผลงานวรรณกรรมเยาวชน Jaeum & Moeum ครั้งที่ 1 ซึ่งในเล่มได้ลงบทวิจารณ์จากคณะกรรมการให้ได้อ่านกันด้วย

เราทุกคนตระหนักดีว่า เวลาเป็นของมีค่า เวลาก็เหมือนสายน้ำที่ไหลผ่านก้อนหิน หมู่ปลา และธรรมชาตินานา ในสายน้ำจึงมีชีวิตที่หลากหลาย และเวลาก็เช่นเดียวกันมีชีวิตที่ผ่านเข้ามามากมาย เพียงแต่ใครจะใส่ใจกับรายละเอียดมากน้อยเพียงใด

หนังสือเล่มนี้จะทำให้เรารู้คุณค่าของเวลามากขึ้น

 

เวลาไม่เคยคอยใคร โดยเฉพาะการหาเสียงที่ได้มีกำหนดวันเลือกตั้งออกมาชัดเจนแล้ว เหล่าผู้ท้าชิงต่างๆ ต่างใช้เวลาทุกนาทีเพื่อแย่งชิงคะแนนจากพี่น้อง หากร้านนี้มีอยู่จริง จะมีผู้สมัครคนใดมาขอใช้บริการเพื่อช่วยเขาหาเสียงให้ทันเวลาหรือไม่ หากมีผู้ขอใช้ อนโจจะรับงานไหม มาดูจากเงื่อนไขในการรับงานของเธอกัน

หนึ่ง ปฏิเสธสิ่งที่เกินความสามารถของตนเอง – ข้อนี้ ถ้าอนโจจะทำจริงๆ ก็น่าจะพอทำได้ เหมือนเป็นหัวคะแนนอย่างนั้น เคาะประตูตามบ้าน ยิ้ม ยกมือไหว้ พร้อมแจกแผ่นพับ ไม่ยากๆ

สอง ไม่ทำเรื่องที่ไม่ถูกต้อง – อืม…ข้อนี้ น่าคิด เพราะอนโจคงไม่แน่ใจในคุณภาพของนักการเมืองไทยสักเท่าไร ว่าหากช่วยหาเสียงแล้วเขาได้เข้าไปนั่งในสภา เขาจะทำเรื่องที่ถูกต้อง เป็นประโยชน์กับประชาชนและประเทศชาติหรือไม่ ข้อนี้มีความสุ่มเสี่ยงสูงถึงสูงมาก หากดูจากหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยแล้ว

เมื่อข้อสองก็ดูจะติดขัดเสียแล้ว ข้อสามและสี่ก็ไม่ต้องมาคำนึงถึง

เอาเป็นว่า ท่านๆ ก็หาเสียงของท่านไป ส่วนเราก็อ่านหนังสือเล่มนี้ไปหากว่าใครสนใจ แล้วพอถึงเวลาก็ออกไปใช้สิทธิ์กัน

อย่าลืมว่า ไม่ว่าจนหรือรวย เรามีเวลาและหนึ่งสิทธิ์เท่าๆ กัน •

 

เครื่องเคียงข้างจอ | วัชระ แวววุฒินันท์