ขอแสดงความนับถือ

ขอแสดงความนับถือ

 

ขณะที่บ้านเมืองเราท่วมท้นด้วยข่าวสารการเมืองเรื่อง “เลือกตั้ง”

ในระดับโลกเองก็มีกระแสข่าวชวนให้น่าสนใจ และตั้งคำถามมากมาย

และหนึ่งในข่าวอันมากมายนั้น

ก็อาจย้อนหวนมาส่งผลต่อสังคมไทยอย่างน่าพิจารณาด้วย

อย่างไร?

 

พลิกไปที่หน้า 89 สุทธิชัย หยุ่น แห่งคอลัมน์กาแฟดำ

นำเรื่อง “สายลับยุคดิจิทัล : Open-source intelligence (OSINT) เมื่อข่าวกรองมาจากแหล่งข่าวเปิด” มานำเสนอ

อย่างที่ทราบ เดิมการหาข่าวกรองของฝ่ายตรงกันข้าม

มักใช้วิธีการที่เราคุ้นเคย เช่น “ดักฟัง” จารกรรมเอกสารลับ ใช้ “แหล่งข่าวมนุษย์” หรือ สปาย หาข้อมูล เป็นต้น

แต่วันนี้ ซึ่งเป็นยุคดิจิทัล การหาข่าวกรองเปลี่ยนแปลงไปมหาศาล

การเข้าถึงข้อมูล (ทั้งที่ลับและไม่ลับ) ง่ายขึ้น

หน่วยข่าวกรองทั่วโลกต่างต้องปรับตัวขนานใหญ่

เพื่อรองรับสิ่งที่เรียกว่า “Open-source intelligence” (OSINT) หรือ ข่าวกรองโอเพ่นซอร์ส

ที่กลายเป็นแหล่งแสวงหาข่าวกรองสำคัญไปแล้ว

 

แหล่งที่มาของ OSINT ก็เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร วิทยุ และโทรทัศน์จากทั่วประเทศและระหว่างประเทศ

และที่มาแรง มาเร็ว คืออินเตอร์เน็ต สิ่งพิมพ์ออนไลน์ บล็อก กลุ่มสนทนา สื่อพลเมือง (เช่น วิดีโอ โทรศัพท์มือถือ และเนื้อหาที่ผู้ใช้สร้างขึ้น) YouTube และเว็บไซต์โซเชียลมีเดียอื่นๆ (เช่น Facebook, Twitter, Instagram เป็นต้น)

จนอาจกล่าวได้ว่า ทุกวันนี้ แหล่งข้อมูลข่าวกรองจำนวนมหาศาลไม่ได้จำกัดอยู่กับองค์กรความมั่นคง เช่น National Security Agency (NSA) อีกแล้ว

หากแต่อยู่กับ Facebook, Amazon, Apple, Google, Microsoft Line, TikTok และ Instagram

“ข่าวกรองเชิงลึก” เกี่ยวกับคนและกิจกรรมของคนหรือความเคลื่อนไหวของฝ่ายต่างๆ หาได้จากโซเชียลเหล่านี้อย่างไม่ยากเย็น

ยิ่งกว่านั้น ยังแปรแพลตฟอร์มสื่อออนไลน์ให้เป็นอาวุธข่าวกรองทำลายฝ่ายตรงข้ามได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

ตอนนี้ มีการกล่าวถึง “ทางด่วนพิเศษแห่งข่าวปลอม” (disinformation superhighways) ที่ใช้ปล่อยข่าวบ่อนทำลายฝ่ายตรงข้าม ได้อย่างน่าสะพรึงกลัว

จนเกิดคำถามใหญ่ๆ สำหรับสังคมทั้งโลกวันนี้ก็คือ

จะออกกฎกำกับควบคุมพฤติกรรมเหล่านี้โดยไม่กระทบต่อเสรีภาพของประชาชนอย่างไร

 

 

ขณะที่โลกควรจะร่วมหาคำตอบร่วมกัน

แต่น่าเสียดาย ที่เรื่องนี้กลายเป็น “สงครามเย็น” รูปแบบใหม่ไปเสียแล้ว

เมื่อมีการหยิบเอาประเด็นนี้ มาโจมตีกันอย่างเผ็ดร้อน

โดยเฉพาะกรณี TikTok

ซึ่งคอลัมน์ “โลกทรรศน์” ของอุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ ที่หน้า 88 นำเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังอย่างเห็นภาพ

ภาพที่โลกตะวันตก ทั้งยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย กำลังก่อกระแสและโฆษณาชวนเชื่อว่า TikTok ซึ่งมีผู้คนใช้เป็นพันล้านคนทั่วโลก (แน่นอน เป็นแพลตฟอร์มยอดฮิตของคนไทยด้วย)

โดยเชื่อมโยง TikTok กับพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่อาจจะ “ล้วงตับ” นำข้อมูลของผู้ใช้ทั่วโลก

เพื่อไปใช้ประโยชน์ทางการเมืองและโฆษณาชวนเชื่อ

ชาติตะวันตก ตั้งคณะกรรมการและกรรมาธิการ สอบสวน TikTok กันยกใหญ่

และมีแนวโน้มที่จะให้แบน และจัดการ TikTok รีบด่วน

ด้วย (ชาติตะวันตกและพันธมิตร) อ้างว่า มีหลักฐานว่าทางปักกิ่งใช้สื่อโซเชี่ยลเพื่อผลิตโฆษณาชวนเชื่อ รวมทั้งการแทรกแซงทางการเมือง

มีการยกตัวอย่างว่า TikTok มีศักยภาพสูง จนอาจสามารถครอบงำการเลือกตั้งหรือทำให้ผลการเลือกตั้งในประเทศต่างๆ แกว่งไปแกว่งมาและลดทอนเจตนารมณ์แห่งสังคมเปิด (Open Societies) ที่แข่งขันเอาชนะรูปแบบอำนาจนิยมแบบจีนในระดับโลกได้

 

อ่านมาถึงตรงนี้ สำหรับเรา–คนไทยที่เป็นเบี้ยเล็กๆ บนเวทีการเมืองโลก และกำลังจะมีการเลือกตั้ง

แม้ยังไม่อยากให้ตื่นตกใจ หวาดกลัว หรือเชื่อตามที่ชาติตะวันตกฟันธงนัก

แต่ขณะเดียวกัน ด้านหนึ่ง เราก็ไม่ควรเฮฮาชอบใจกับคลิปสั้นใน TikTok อย่างสนิทใจว่าไร้พิษสงเท่านั้น เราก็ต้องไม่วางใจและระแวดระวังสื่อโซเชียลจากชาติตะวันตกกับพันธมิตรเช่นกัน

ลองคิดกันเล่นๆ

หากมหาอำนาจ (ไม่ว่าฝ่ายใด) ใช้แพลตฟอร์มสื่อออนไลน์ ที่ฝ่ายตนเองควบคุมอยู่

เข้ามาปั่น สร้าง ปลุกกระแสข่าวลือ ข่าวปลอม โฆษณาชวนเชื่อ เพื่อผลการเลือกตั้งในไทย อย่างที่ฝ่ายตนต้องการ

เราควรรู้และมีอะไรป้องกันตัว เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อหรือไม่

เพื่อเบี้ยตัวน้อยๆ อย่างเราจะได้ไม่ถูกแทรกแซง และมีภูมิคุ้มกันตัวบ้างหากเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นจริง!?! •