‘สุชาติ’โชว์วิสัยทัศน์ รทสช. ฝ่าวิกฤตโควิด ขยายส่งออกโต 17 %ฝากรัฐบาลใหม่ ดูแลเอสเอ็มอี – ใกล้ชิดผู้ประกอบการ

‘สุชาติ’โชว์วิสัยทัศน์ รทสช. ฝ่าวิกฤตโควิด ขยายส่งออกโต 17 %ฝากรัฐบาลใหม่ ดูแลเอสเอ็มอี – ใกล้ชิดผู้ประกอบการ

วันที่ 28 มีนาคม 2566 นายสุชาติ ชมกลิ่น กรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรคการเมือง พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวเสวนาเรื่อง “วิสัยทัศน์การขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทย” ซึ่งจัดขึ้นโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ เพื่อให้สมาชิก ส.อ.ท.กว่า 15,000 บริษัท ได้รับทราบถึงวิสัยทัศน์และนโยบายของพรรคการเมืองในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงแนวทางการพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ณ ห้องประชุมคอนเวนชันฮอลล์เอ 2 ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ บางกอก คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิร์ด

นายสุชาติ กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ทำงานควบคู่และรับฟังข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรม ซึ่งสิ่งที่เห็นภาพและจับต้องได้รัฐบาลได้เข้าไปช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมในทุกมิติเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ตั้งแต่การเยียวยาผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีกว่า 3.9 แสนราย สนับสนุนให้นายจ้างรักษาการจ้างงานทำให้ธุรกิจสามารถเดินต่อไปได้ ทำให้การส่งออกเมื่อปี 2565 เติบโตถึง 17 เปอร์เซ็นต์ เกิดจากนโยบายรัฐบาลที่รับฟังทุกคน ช่วงสถานการณ์โควิดมีการปิดโรงงานมากมาย เหตุผลคือหายนะของเศรษฐกิจการส่งออก ช่วงนั้นแป้นพิมพ์เงินของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไม่สามารถพิมพ์เงินได้เพราะเครื่องบินหยุดบิน นักท่องเที่ยวไม่มี เหลือเพียงแป้นพิมพ์เงินส่งออก ซึ่งแป้นนี้หยุดไม่ได้ ถ้าหยุดเศรษฐกิจจะหยุดชะงักทันที เราจึงทำโครงการแฟคทอรี่แซนบ๊อกขึ้น โดยใช้หลักเศรษฐศาสตร์ควบคู่สาธารณสุข มีการตรวจคัดกรองโควิดแบบ RT-PCT 100 เปอร์เซ็นต์ การฉีดวัคซีนโควิดฟรีให้แรงงานในสถานประกอบการ จนรัฐบาลสามารถชิงส่วนแบ่งการตลาดจากประเทศเพื่อนบ้านที่ซัพพลายเชนปิด ด้วยการหาตลาดส่งออกและลงนามเอ็มโอยูต่าง ๆ ส่งผลให้ปี 2565 จากการประชุมใหญ่สามัญของสหภาพแรงงาน บริษัทต่าง ๆ สามารถแจกโบนัสประจำปีให้พนักงานสูงสุดถึง 8 เท่า ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างเหล่านี้เกิดจากการวางแผนและการร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลกับสภาอุตสาหกรรม

“รายงานของ IMF คาดปี 2566 จีดีพีไทยเป็นบวก อัตราการว่างงานต่ำที่สุดในโลก 1 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2565 มีการจ้างงานตั้งแต่ไตรมาส 1- 4 อยู่ที่ 2.02 ล้านคน ซึ่งมากกว่าช่วงที่ไม่มีโควิด สิ่งหนึ่งที่จะทำให้รัฐบาล สภาอุตสาหกรรม หรือเจ้าของธุรกิจดำเนินต่อไปได้ รัฐบาลหน้าต้องใกล้ชิดผู้ประกอบการ เพราะเอกชนเขาเก่งอยู่แล้ว หากรัฐบาลจะออกนโยบายไปสร้างเงื่อนไขเพื่อเป็นช่องทางการทุจริตต้องตัดออกจากวงจรนี้ การสนับสนุนเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อไปดูแลลูกน้อง และหากตั้งกองทุนได้จะช่วยเยียวยาเอสเอ็มอีได้ ดังนั้น รัฐบาลที่จะเข้ามานี้ต้องใส่ใจและเปรียบตัวเองเป็นเอสเอ็มอี จะได้รู้ว่าเอสเอ็มอีต้องการอะไร อุตสาหกรรมต้องการอะไร และเขาจะเติบโตได้เอง นายสุชาติ กล่าว

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า สำหรับการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานที่ผ่านมารัฐบาลได้ทำควบคู่กับสภาอุตสาหกรรม และสภาหอการค้าทั่วประเทศ และแก้ไขปัญหาร่วมกันแทบทุกไตรมาส แรงงานที่ขาดแคลนเป็นแรงงานไม่มีทักษะรัฐบาลได้แก้ไขมาตลอดโดยทำเอ็มโอยูกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบของประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้การนำเข้าแรงงานมีข้อจำกัด จึงจำเป็นต้องนำแรงงานผิดกฎหมายที่มีอยู่มาทำให้ถูกกฎหมาย เป็นสิ่งที่ทำให้ช่วยเติมเต็มส่วนที่ขาดแคลนแรงงานให้แก่ผู้ประกอบการได้ ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่โชคดีกว่าหลายประเทศ เนื่องจากไม่มีประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกันเหมือนบ้านเรา วันนี้เราสามารถพึ่งพิงแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านและช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานให้แก่ผู้ประกอบการได้ แต่ขณะเดียวกันถ้าวันหนึ่งวันใดที่ประเทศเพื่อนบ้านมีการลงทุนและพัฒนาที่สูงขึ้น เราจะต้องแก้ไขปัญหาเรื่องแรงงานอย่างไรในอนาคตเป็นโจทย์ที่สำคัญ

“ในส่วนของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น โดยส่วนตัวมองว่าควรมีระบบไตรภาคีที่มีตัวแทนฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายรัฐบาลเป็นผู้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ภาวะเงินเฟ้อ จีดีพี ค่าครองชีพของแต่ละจังหวัด ซึ่งไม่ต้องการให้หน่วยงานรัฐบาลเข้าไปเป็นกลไกในการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ ผมต้องการให้เกิดการแข่งขันของนักลงทุน เพื่อให้นักลงทุนได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยและจ้างงานคนไทยมากขึ้น เพราะเมื่อมีการลงทุน ค่าแรงขั้นต่ำก็จะปรับตัวอัตโนมัติ เกิดการแข่งขันทางการค้าและเศรษฐกิจเติบโต ปัจจุบันมีผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ประมาณ 12 ล้านคน ได้รับประโยชน์จากค่าแรงขั้นต่ำอยู่ประมาณ 2 ล้านคนเศษ เป็นคนงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ประมาณ 1 ล้านคน เป็นแรงงานไทยประมาณ 1 ล้านคน กระทรวงแรงงานจะนำคนไทยเหล่านี้มา Up Skill /Re Skill เพื่อให้ได้ค่าแรงสูงขึ้นตามมาตรฐานฝีมือ ปัจจุบันทำไปแล้ว 129 สาขาอาชีพ สามารถเป็นกับดักรายได้ที่สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำให้กับพี่น้องผู้ใช้แรงงานที่มีฝืมือ ซึ่งจะต้องพัฒนาทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการในแต่ละพื้นที่ เช่น ในพื้นที่อีอีซี จะต้องพัฒนาทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (s-curve)” นายสุชาติ กล่าว

“ผมขอยืนยันว่า นโยบายของพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยเฉพาะในเรื่องของแรงงานนั้น ขอให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานและผู้ประกอบการ มั่นใจได้ว่าเราสามารถทำให้นโยบายต่าง ๆ เดินหน้าต่อไปได้ เพราะที่ผ่านมาเราทำงานใกล้ชิดกับภาคอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันเราใส่ใจและให้ความสำคัญกับพี่น้องแรงงานที่สุด” นายสุชาติ กล่าวท้ายสุด