เพื่อไทย-ก้าวไกล | ปราปต์ บุนปาน

ถึงพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลจะเป็นอดีตพรรคร่วมฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ผ่านมา แต่เมื่อปี่กลองการเลือกตั้ง 2566 ดังขึ้น ทั้งสองพรรคย่อมต้องกลับไปเป็นคู่แข่งขันกัน ด้วยแนวทาง-ความคิดพื้นฐานที่แตกต่างกัน (ถ้าเหมือนกัน ก็ไม่จำเป็นต้องแยกเป็นสองพรรคการเมือง)

ยิ่งเมื่อพิจารณาจากพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยไทยร่วมสมัย อย่างไรเสีย เพื่อไทยและก้าวไกลก็ต้องกลายมาเป็นคู่แข่ง-คู่เทียบกัน

ก่อนปี 2562 พรรคการเมือง “ขั้วประชาธิปไตย” นั้นมีหนึ่งเดียวคือ “เพื่อไทย/พลังประชาชน” ที่สืบทอดมาจาก “ไทยรักไทย” โดยมีพรรคการเมืองขั้วตรงข้าม ซึ่งมีภาพลักษณ์เป็นพรรคที่สนับสนุนหรือสมคบ-สมยอมกับอำนาจนอกระบบ

แต่นับจากปี 2562 พรรคขั้วประชาธิปไตยก็แตกตัวออกเป็นหลายพรรค โดยมีเพื่อไทยกับก้าวไกลเป็นสองพรรคระดับนำ

พรรคเพื่อไทยซึ่งใหญ่กว่า แมสกว่า และเคยมีประสบการณ์การทำงานเป็นรัฐบาลมาแล้ว กับพรรคก้าวไกลที่ขับเน้นปัญหาร่วมสมัยบางข้อได้แหลมคม-กระตือรือร้นมากกว่า

จึงหลีกไม่พ้นที่จะต้องถูกนำมาเปรียบเทียบกันในฐานะคู่แข่งขันทางการเมือง

 

ยังไม่นับรวมประเด็นปลีกย่อยอื่นๆ เช่น ถ้าจะมีพรรคการเมืองไหนที่ใส่ใจเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์/ซอฟต์เพาเวอร์อย่างจริงจัง ไม่ผิวเผิน เท่าที่กวาดตาดู ก็มีแค่สองพรรคการเมืองอย่างเพื่อไทยและก้าวไกลเท่านั้น

จึงเลี่ยงไม่ได้อีกที่จะต้องนำไปสู่การเทียบเคียงว่าระหว่างสองพรรค พรรคใดมีชุดนโยบายด้านนี้ที่ดีและมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติมากกว่ากัน

เมื่อมองไปยังแนวปะทะทางด้านนโยบายโดยรวม ก็ยิ่งชัดเจนว่าเพื่อไทยและก้าวไกลกำลังแข่งขันหรือแก้เกมกันอยู่

หลายคนคงเห็นตรงกันว่า การปราศรัยแสดงวิสัยทัศน์ต่อสาธารณชนของ “เศรษฐา ทวีสิน” คือ การเพิ่มเสริมแนวนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ-สังคมที่ทันสมัยก้าวหน้าแบบที่ก้าวไกล/อนาคตใหม่เสนอตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ลงไปในตัวตนของพรรคเพื่อไทย

เช่นเดียวกับที่ก้าวไกลก็ต้องแถลงข่าวเปิดตัวทีมเศรษฐกิจ เพื่อแก้ข้อกล่าวหาว่าพรรคสนใจแค่อุดมการณ์ทางการเมือง แต่ไม่เชี่ยวชาญหรือใส่ใจเรื่องการแก้ไขปัญหาปากท้อง ซึ่งในทางกลับกัน จุดอ่อนที่ก้าวไกลถูกปิดป้ายก็เป็นเหมือนจุดแข็ง-จุดขายของเพื่อไทย

 

ดังนั้น หนทางไปสู่เป้าหมายแลนด์สไลด์ 310 เสียงของพรรคเพื่อไทย จึงไม่ได้มีเพียงแค่การต้องเอาชนะบรรดาพรรคการเมืองขั้วตรงข้าม หรือการขจัดข่าวลือเรื่องการจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ แต่ยังรวมถึงการต้องแย่งชิงคะแนนเสียงมาจากพรรคขั้วประชาธิปไตยอย่างก้าวไกลด้วย

แนวปะทะนี้พัวพันกับปัจจัยชุลมุนวุ่นวายหลากหลายชุด

ด้านหนึ่ง เพื่อไทยนั้นมีฐานคะแนนเสียงกว้างขวางกว่าก้าวไกลหลายเท่า พร้อมด้วยแนวทางที่เชื่อมั่นในการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้ต่อต้าน “บ้านใหญ่” หรือ “วัฒนธรรมอุปถัมภ์ในท้องถิ่น” อย่างถอนรากถอนโคน

อีกด้านหนึ่ง ก้าวไกลก็เหมือนจะยึดกุมเสียงคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่เอาไว้ได้ ทว่า “คนรุ่นใหม่” ก็ไม่ได้มีลักษณะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือ อาจมีทั้งคนรุ่นใหม่ที่มีอุดมการณ์ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมอย่างแรงกล้า คนรุ่นใหม่ที่แค่ไม่ชอบลุง คนรุ่นใหม่ที่อินกับทุกๆ เรื่อง ตั้งแต่บันเทิงยันการเมือง ผ่านวัฒนธรรมแฟนด้อม หรือคนรุ่นใหม่ที่ไม่สนใจการเมืองเลย

หรือถ้าจะมีปรากฏการณ์สะวิงโหวต คือ คนที่เคยเลือกพรรคการเมืองฝั่งอนุรักษนิยม (จากประชาธิปัตย์ถึงพลังประชารัฐ) คนที่เคยเป่านกหวีด คนที่เคยใส่เสื้อเหลือง เกิดเปลี่ยนใจในทางการเมือง พวกเขาจะเปลี่ยนใจไปถึงระดับไหน? อย่างไร?

หากมองผ่านแว่นตาที่ว่าก้าวไกลเป็นพรรคการเมืองที่หัวรุนแรงสุดขั้วจนเกินไป เพื่อไทยก็อาจเป็นทางเลือกใหม่ที่ซอฟต์กว่า

แต่หากมองในโจทย์ของคนที่เคยฝังใจเจ็บกับอดีตนายกฯ ชื่อ “ทักษิณ” ก้าวไกลก็อาจเป็นทางเลือกใหม่ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งกลุ่มนี้ ท่ามกลางยุคสมัย-บริบทของสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลง จนส่งผลให้ความเชื่อ-หลักยึดของหลายคนผันแปรไป

ด้วยเหตุนี้ แม้บางฝ่ายจะยังวาดหวังให้เพื่อไทยกับก้าวไกลก้าวเดินไปด้วยกัน รวมถึงสนับสนุนซึ่งกันและกันในทางการเมือง แต่ก็เป็นเรื่องยากมากๆ ที่ทั้งสองพรรคจะไม่ปะทะชนหรือขับเคี่ยวกันเลย •