ขอแสดงความนับถือ

และแล้ว 20 มีนาคม 2566

พระราชกฤษฎีกา ยุบสภาผู้แทนราษฎร ถูกประกาศผ่านราชกิจจานุเบกษา

นับเป็นการปิดฉากรัฐสภาชุดที่ 25 ที่มาจากวันเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562

อันส่งผลให้รัฐบาลผสมที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ 19 พรรค

สิ้นสุดลงด้วย

แต่จะรักษาการไปจนกระทั่งมี “รัฐบาลใหม่”

 

เมื่อพูดถึงคำว่า “ใหม่” แล้ว

แน่นอนย่อมหมายถึง ความหวังใหม่ ทั้งของประเทศ และของประชาชน

แม้ว่าในความเป็นจริง ความหวัง “ใหม่” นั้น ดูแสนริบหรี่

แต่เราก็ไม่ควรสิ้นหวังมิใช่หรือ

อย่างในอดีต ถึงความหวังที่ว่าจะแลดู “น่าขัน”

–แต่มันก็เคยเป็นความหวัง และมีความพยายามผลักดัน

ดังที่คอลัมน์ My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

นำมาเล่าสู่กันใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับนี้

 

หลังการปฏิวัติ 2475 ด้วยสำนึกชาตินิยม (nationalism) ของผู้นำยุคนั้น

ที่เห็นว่าชาติประกอบขึ้นมาจากประชาชนทั้งมวล เป็นสำนึกทางการเมืองใหม่

ร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ของพลเมืองกลายเป็นเป้าหมายของรัฐบาลคณะราษฎร

นับแต่พระยาพหลฯ (2476-2481) จนถึงจอมพล ป. (2481-2487)

มีการส่งเสริมให้พลเมืองสร้างเรือนร่างขึ้นใหม่ให้มีพลานามัยและอนามัยที่ดี

ร่างกายของพลเมืองเป็นสิ่งที่ต้องปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

เพื่อไปสู่เรือนกายอุดมคติของพลเมืองตามที่รัฐบาลปรารถนา

ด้วยเหตุนี้ ร่างกายที่สะโอดสะองอ้อนแอ้นตามแบบชนชั้นสูง

จึงเป็นร่างกายที่ไม่พึงปรารถนาในระบอบใหม่

เรือนร่างที่รัฐประสงค์ คือเรือนกายที่กำยำ แข็งแรง

เหมือนนักรบหรือเกษตรกรที่แข็งแรงเพื่อร่วมกันสร้างชาติขึ้นใหม่

การรณรงค์ “เราต้องเป็นมหาอำนาจด้วยการเล่นกล้าม”

ถือเป็น”ความหวังใหม่” ที่สังคมไทยยุคนั้น เคยไขว่คว้ามาแล้ว!

 

นอกจากความหวังใหม่ ที่ควรจะมีร่วมกันและผลักดันแล้ว

จะเพิ่มมุมมองแง่บวก หรือโลกสวยเพิ่มขึ้นไปหน่อย ก็คงไม่ว่ากัน

กล่าวคือ หลังยุบสภา สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่

นั่นก็คือ “การแข่งขัน”

ว่ากันว่า ในสมรภูมิเลือกตั้งนั้นเป็นการแข่งขันที่สกปรก ดุเดือด เลือดพล่าน

ไม่น่าจะมีแง่มุมบวก

แต่กระนั้น คอลัมน์ “The Gratitude Diary ขอบคุณที่ทำให้ชีวิตนี้มีความหมาย” ของ ท้อฟฟี่ แบรดชอว์

พาเราไปสัมผัสการแข่งขันในด้านที่ตรงกันข้าม

นั่นคือ เป็นการแข่งขันที่มากด้วย “ความหวัง” และ “กำลังใจ”

ถึงขนาดคนรอบข้างยอมแพ้กันหมด

จนเหลือเพียง “คนเดียว”

แต่ก็ยังยังยืนหยัดสู้และแข่งขันต่อไป

 

แน่นอน เราอยากเห็นนักการเมืองที่เป็นนักสู้เพื่อประชาธิปไตย เพื่อสิทธิเสรีภาพ และความเท่าเทียมของประชาชน-ประเทศชาติ

แข่งขัน เช่นนั้นคือ แม้ว่าจะยากลำบาก

แต่หากตั้งใจอย่างที่คอลัมน์ของ “ท้อฟฟี่ แบรดชอว์” นำเสนอ

ประชาชนก็พร้อมจะเทคะแนนเสียงให้

ซึ่งเรา “หวัง” แบบโลกสวยเช่นนั้น

‘เครือมติชน’ จับมือ ‘เดลินิวส์’ ผนึกกำลัง ทำโพลเลือกตั้ง 66

อนึ่ง เมื่อกล่าวถึงการแข่งขันแล้ว

การเลือกตั้งที่เกิดขึ้น แม้สื่อมวลชนจะแข่งขันการนำเสนอข่าวดุเดือด

แต่อีกด้านก็สามารถร่วมมือเป็นพันธมิตรได้

อาทิ เมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา

คณะผู้บริหารเครือมติชน นําโดย น.ส.ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จํากัด (มหาชน) นายปราปต์ บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการสายเทคโนโลยีและดิจิทัลมีเดีย บริษัท มติชน จํากัด (มหาชน)

ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่องสํารวจความคิดเห็นของประชาชนกับการเลือกตั้งปี 2566 กับเครือเดลินิวส์

โดยมี นางประพิณ รุจิรวงศ์ นายปารเมศ เหตระกูล และนางสิริวรรณ พันธุ์ปรีชากิจ กรรมการบริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์ เข้าร่วม

นอกจากนี้ ยังมีนายอัครพงษ์ ค่ำคูณ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และนายศุภกร รวยวาสนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิกซ์เดฟ จํากัด ร่วมเป็นสักขีพยาน

การลงนามครั้งนี้ยังมีตัวแทนจาก 5 กองบรรณาธิการ ประกอบด้วย กองบรรณาธิการเดลินิวส์ มติชน ข่าวสด ประชาชาติธุรกิจ และมติชนสุดสัปดาห์ เข้าร่วมด้วย

ถือเป็นความร่วมมือของสื่อ ในบรรยากาศการแข่งขันการเลือกตั้งอันเข้มข้น! •