‘ศศิน’ ถามหา ‘นโยบายพรรค’ “ลุงตู่” ประกาศยุบสภาไปเรียบร้อยแล้ว

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

นาทีนี้การเมืองไทยเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งเต็มรูปแบบ พรรคการเมืองทุกพรรคมุ่งเป้าเข้าหาฐานเสียงในพื้นที่เรียกหาคะแนนตุนความนิยมให้ได้มากที่สุด

การโน้มน้าวให้ผู้มีสิทธิกาบัตรเลือกพรรคและผู้สมัคร ส.ส.มีหลายปัจจัยประกอบกันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้ใช้สิทธิต้องกาบัตร 2 ใบ ใบแรกเลือกพรรคเอาผลคะแนนทั้งหมดที่ผู้ใช้สิทธิทั้งประเทศกาให้กับทุกพรรคการเมือง หารด้วย 100 จะได้คะแนนเฉลี่ย ส.ส.บัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้สิสต์ 1 คน

ตามกฎหมายกำหนดให้มี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ทั้งหมดเพียง 100 คนเท่านั้น

คาดกันว่า พรรคไหนจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน ต้องมีคะแนนเฉลี่ยอย่างน้อยๆ 360,000 เสียง หรืออาจทะลุ 400,000 เสียง

ส่วนใบที่ 2 กาเลือก ส.ส.ในเขตเลือกตั้ง คนใช้สิทธิอาจจะชอบตัวบุคคลหรือตัดสินใจเลือกเพราะเห็นว่านโยบายพรรคดี หรือหลงใหลได้ปลื้มกับผู้นำของพรรค

เรื่องนี้เป็นดุลพินิจของคนใช้สิทธิไม่มีใครไปบังคับได้ ยกเว้นแต่ว่าขายสิทธิขายเสียงไปเรียบร้อยแล้ว

 

ถามพรรคพวกว่า มีพรรคการเมืองอยู่ในใจหรือยัง หลายคนบอกว่ามีแล้วเปิดคูหาให้ใช้สิทธิเมื่อไร กาได้ทันที แต่ ส.ส.เขตต้องใช้เวลาตัดสินใจเนื่องจากผู้สมัครของพรรคการเมืองที่อยากกาให้ยังไม่โผล่โชว์ตัว ไม่รู้ว่าพรรคจะส่งใครลงสมัคร

ถ้าเป็นผู้สมัครโนเนมไม่มีผลงานเลยอาจไม่เลือกก็ได้เพราะกลัวเลือกแล้วแปลงร่างกลายเป็น ส.ส.งูเห่า

แต่บางคนคิดละเอียดไปกว่านั้น ดูคุณสมบัติของผู้สมัครไม่พอ ยังเจาะลึกไปถึงรายละเอียดเรื่องนโยบายพรรคเอามาเทียบกันใครคุยโม้แล้วทำได้อย่างที่โม้ หรือโม้อย่างสวยหรูแต่ทำไม่ได้

ผมเชื่อว่า ตั้งแต่นี้ไปคนไทยส่วนใหญ่พูดถึงเรื่องเลือกตั้ง ผู้สมัครและพรรคการเมืองกันมากขึ้น แม้กระทั่งกลุ่มวัยรุ่นนักศึกษาตั้งประเด็นถกเถียงกันจนกลายเป็นกระแสหลักไปแล้ว

 

วันก่อนอ่านคำให้สัมภาษณ์ของคุณศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในไทยพีบีเอสออนไลน์ มีประเด็นน่าสนใจขอนำมาแชร์กัน

คุณศศินบอกว่า พรรคการเมืองต่างๆ ที่หาเสียงกันในขณะนี้ ยังไม่มีใครพูดถึงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมสักเท่าไร

เมื่อสิบปีที่แล้ว คุณศศินมีบทบาทอย่างสูงในการต่อต้านโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ สมัยรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”

คงจำกันได้ว่า คุณศศินเปิดแคมเปญเดินต้านเขื่อนจนเกิดเป็นปรากฏการณ์สั่นสะเทือนวงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ต่อมา กรมชลประทาน เจ้าของโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ยอมถอนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พร้อมกับส่งเทียบเชิญกลุ่มต่อต้านรวมทั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียรไปหารือเพื่อหาทางออกร่วมกันในการแก้ปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม จนกระทั่งกรมชลประทานยอมลดระดับจากโครงการเขื่อนมาเป็นแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็ก ฝายชะลอน้ำ

การหันหน้ามาเจรจาระหว่างฝ่ายหนุนและต่อต้านเขื่อนครั้งนี้ ทำให้อุณหภูมิความขัดแย้งลดลงอย่างเห็นได้ชัด เป็นรูปแบบใหม่ในการจัดการน้ำของกรมชลประทาน สอดคล้องกับแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

หลังจากนั้น คุณศศินหันมาเน้นทำงานกับมูลนิธิสืบฯ และได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ เป็นคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 เป็นช่วงรัฐบาล “คสช.”

ทุกวันนี้บทบาทของคุณศศินในฐานะประธานมูลนิธิสืบฯ ยังโดดเด่นในเรื่องของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

 

ประธานมูลนิธิสืบฯ ตั้งคำถามผ่านสื่อออนไลน์ว่า นักการเมืองสนใจในการรักษาป่า น้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง หรือเรื่องประมงซึ่งเป็นเรื่องสำคัญหรือไม่ ทุกพรรคไม่มีใครสนใจ

“ผมอยากให้คนสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมใช้เป็นนโยบายหาเสียง ประชาชนจะตัดสินใจได้ถูกว่าเลือกพรรคไหน”

ประธานมูลนิธิสืบฯ ยังเสนอแนวคิดว่า ต้องมีรองนายกรัฐมนตรีดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม ดูแลเรื่องฝุ่นพีเอ็ม 2.5

“คนที่จะมาจัดการเรื่องป่าไม้และทะเล ก็ต้องจัดการเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากและคนนี้สำคัญมาก ถ้าการเมืองส่งแคนดิเดตรองนายกฯ ด้านสิ่งแวดล้อมได้ อันนี้จะชัดกว่าคนที่จะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ อีก มาทำเรื่องใหญ่ระดับนโยบายได้มากกว่าด้วยซ้ำไป”

ก่อนหน้านี้ คุณศศินเคยให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดในการอนุรักษ์ป่าว่า ถ้าทำตามแผนป่าไม้แห่งชาติตั้งเป้าให้มีป่า 40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งประเทศ ไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ทั้งหมด เพียงขีดเส้นให้เป็นป่าเศรษฐกิจมีพื้นที่สีเขียว 55% สถานการณ์ป่าไม้ของไทยอาจจะดีกว่านี้เยอะ

เมื่อพูดถึงการทำลายป่า คุณศศินชี้เปรี้ยงไปที่วัด โรงเรียน และสถานที่ราชการ

คุณศศินอธิบายว่า วัดเปลี่ยนความร่มเย็นเป็นลานซีเมนต์ให้คนมาจอดรถทำบุญ โรงเรียนแข่งกันพัฒนาให้เด็กตีนไม่ติดดินเพราะพื้นราดปูนหมด ส่วนสถานที่ราชการสร้างตึกแข่งกัน

“พระต้องมีความรู้มากขึ้น โรงเรียน สถานที่ราชการต้องมีความรู้มากขึ้น เพราะเอกชนไปไกลแล้ว เอกชนสร้างอาคารใหม่ๆ ที่มีสิ่งแวดล้อมดี มีสวนเขียว ที่อยู่สมัยใหม่ก็แข่งกันว่าที่ไหนจะมีธรรมชาติแทรกขึ้น แต่วัด โรงเรียน สถานที่ราชการไม่ยอมเปลี่ยน ยังเชยอยู่”

 

คุณศศินยังมองปัญหาชนบทกับเมืองว่า คนชนบทไม่สามารถจะอยู่ได้เพราะทรัพยากรถูกแย่งดูดไปให้คนเมือง เช่น เรื่องของน้ำ เมื่อน้ำแล้ง คนเมืองได้รับผลกระทบน้อยที่สุดเพราะระบบเทศบาลเข้ามาปกป้อง ปัจจุบัน ความเป็นชนบทลดน้อยลง

มีความพยายามเปลี่ยนให้เป็นเมือง แม้กระทั่ง อบต.ก็เป็นเมือง มี อบต.ที่ไหนไม่ราดปูนซีเมนต์ ความเป็นเมืองคือ ปูน ระบบเทศบาล การเก็บขยะ

“ผมคิดว่าการเกิดความสมดุลทางธรรมชาตินำไปสู่ความยั่งยืนให้แก่โลก จะทำได้ก็ต่อเมื่อคุณมีสำนึก มีความรู้ เมื่อเกิดปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ผู้คนเริ่มสำนึกกันเพราะหายใจไม่ออก อีกเรื่องที่ผมคิดว่าจะเกิดความสำนึกเป็นเรื่องน้ำฉีดก้น วันใดไม่มีน้ำฉีดก้น คนเมืองจะเดือดร้อนหนัก จะกลับมาคิดว่าทำอย่างไรจึงพัฒนาแหล่งน้ำ กระจายการกักเก็บน้ำ หาทางทำอย่างไรฟ้าฝนตกตามฤดูกาล ก็จะย้อนกลับไปว่าทำอย่างไรให้บ้านเมืองเรามีป่า 40-50 เปอร์เซ็นต์”

สิ่งแวดล้อมจะดีขึ้น ป่าจะเขียวขึ้นนั้น “ศศิน” บอกว่า ต้องมาจากการสร้างแรงบันดาลใจจากผู้นำ จากนักการเมือง ฝ่ายสังคม โดยเฉพาะนักการเมืองต้องได้คนรุ่นใหม่ ที่จะต้องลุกขึ้นมาพูดว่า รุ่นเราต้องไปต่อได้

“คนรุ่นพ่อ รุ่นผมปล่อยพลังในการขุดทำลาย ราดปูนซีเมนต์ไปหมดแล้ว จะให้กลับมาอนุรักษ์มันไม่ใช่ คนรุ่นใหม่มีหน้าที่มองไปข้างหน้า เพราะฉลาดกว่า เรียนมากกว่า ส่วนรุ่นพ่อรุ่นผมทำดีที่สุดแล้วทำให้คนรุ่นใหม่มีกิน โลกมันต้องเป็นแบบนั้น” •

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]