ต่างประเทศ : ประเมินผล “ทรัมป์” ทัวร์เอเชีย

ปิดฉากการทัวร์เอเชียเป็นเวลา 12 วัน ไปเป็นที่เรียบร้อยสำหรับ โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐอเมริกา ที่เจ้าตัวคุยโอ่ว่า “ประสบความสำเร็จอย่างมากมาย”

และทำให้ตัวเขาได้เพื่อนระดับสูงสุดเพิ่มขึ้นอีกมาก ในการเยือน 5 ชาติเอเชีย เริ่มจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน เวียดนาม ก่อนปิดทริปส่งท้ายที่ฟิลิปปินส์

ซึ่งนอกจากทรัมป์จะถือโอกาสเยือนแดนตากาล็อก ชาติพันธมิตรเก่าแก่ทางทหารของสหรัฐในภูมิภาคเอเชียที่ระยะหลังความสัมพันธ์ไม่สู้จะดีนักสมัยปลายรัฐบาล บารัค โอบามา แล้ว

ทรัมป์ยังมีภารกิจเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนและประเทศคู่เจรจาภายใต้ความมุ่งหวังที่จะธำรงอิทธิพลบทบาทอันสำคัญของสหรัฐในภูมิภาคนี้เอาไว้

คำคุยของทรัมป์ถึงความสำเร็จในการเยือนเอเชีย เป็นความสำเร็จแท้จริงหรือไม่

และมีสิ่งใดเป็นมาตรวัดความสำเร็จดั่งที่ผู้นำสหรัฐกล่าวอ้าง

ทั้งนี้ทั้งนั้น หากมองในแง่ของบรรยากาศภาพรวมในแต่ละประเทศที่ทรัมป์เดินทางไปเยือน ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นไปอย่างราบรื่นด้วยดี

โดยเฉพาะกับจีน มหาอำนาจยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียที่เป็นคู่ปรับต่างขั้วอุดมการณ์กับสหรัฐมายาวนาน

และกับฟิลิปปินส์ ที่การพบปะกันของทรัมป์กับโรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เต็มไปด้วยความชื่นมื่น

ถึงขนาดที่ผู้นำฟิลิปปินส์ยอมขับกล่อมเพลง “อิเคา” เพลงรักในภาษาตากาล็อก ที่แปลว่า “เธอ” ให้ทรัมป์ฟังตามคำขอ

ผิดไปจากท่าทีอันเป็นปฏิปักษ์ดุเดือดของดูแตร์เตที่เคยมีต่อสหรัฐสมัยรัฐบาลโอบามาที่ไปวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินนโยบายปราบปรามยาเสพติดอย่างรุนแรงของรัฐบาลดูแตร์เต

 

แต่การปูพรมแดงต้อนรับอย่างอบอุ่นที่ทั้ง 5 ประเทศจัดให้ทรัมป์ ไม่ได้เป็นตัววัดความสำเร็จดังที่ทรัมป์อ้างได้ จากการประมวลความเห็นของผู้เชี่ยวชาญหลายคนที่จับตาความเคลื่อนไหวการเยือนเอเชียของทรัมป์ครั้งนี้ค่อนข้างไปในโทนเดียวกันว่าไม่ได้มีความสำเร็จอะไรที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้

นักวิเคราะห์มองตรงกันว่า 2 วาระใหญ่ที่เป็นเป้าหมายสำคัญในการมาทัวร์เอเชียครั้งนี้ของทรัมป์ คือ

หนึ่ง การมุ่งเพิ่มแรงกดดันต่อเกาหลีเหนือในประเด็นโครงการอาวุธนิวเคลียร์

และสอง เป็นประเด็นเรื่องการค้า ที่ทรัมป์พยายามจะผลักดันให้ภาคเอกชนของสหรัฐเข้าถึงตลาดเอเชียได้มากยิ่งขึ้น จากที่เที่ยวร้องแรกแหกกระเชอว่าสหรัฐเสียเปรียบดุลการค้าหลายชาติ

แฮร์รีj แคเซียนิส ผู้อำนวยการศูนย์กลาโหมศึกษาเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติ คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าที่การทัวร์เอเชียของทรัมป์จะเปิดฉากขึ้นว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ทรัมป์จะมุ่งเน้นไปที่เรื่องเกาหลีเหนือ ที่เหลืออีก 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นเรื่องการค้า

ซึ่งการคาดหมายดังกล่าวของแคเซียนิสได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าทำนายถูกต้อง โดยสัปดาห์แรกที่ทรัมป์เยือนเอเชีย ปัญหาเกาหลีเหนือเป็นประเด็นครอบงำการพบหารือของทรัมป์กับชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และประธานาธิบดี มุน แจ อิน ของเกาหลีใต้

เช่นเดียวกับการพบปะกับ นายสี จิ้น ผิง ผู้นำจีน

 

สก๊อต สไนเดอร์ นักวิชาการจากสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในนครนิวยอร์ก มองว่าการเยือนชาติเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ทรัมป์ได้เล่นบทบาทไปตามสคริปต์ที่วางไว้ในการกระชับสัมพันธ์อันดีที่สหรัฐมีกับชาติพันธมิตรคู่เจรจา

และบรรลุผลสำเร็จในแง่ของการสื่อสารที่เป็นการผสมผสานระหว่างการให้หลักประกันความมั่นใจแก่ชาติพันธมิตรต่อพันธกิจของสหรัฐที่มีอยู่ในภูมิภาคนี้ กับการจะแก้ไขปัญหาการเผชิญหน้ากับภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือไปพร้อมกัน

ทว่าประเด็นนี้ โก มยอง ฮยอน นักวิเคราะห์จากสถาบันศึกษานโยบายอาซานของเกาหลีใต้ กลับมองว่าก่อนการมาเยือนและหลังการมาเยือนเอเชียของทรัมป์ ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนไปเลยในประเด็นเรื่องเกาหลีเหนือ ที่แม้ทรัมป์จะมีมิติความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ดีกับ นายสี จิ้น ผิง และพยายามจะกระตุ้นให้ผู้นำจีนออกแรงกดดันเกาหลีเหนือให้มากขึ้น

แต่รัฐบาลปักกิ่งที่ยังเป็นพันธมิตรใกล้ชิดและคู่ค้ายักษ์ใหญ่ของเกาหลีเหนือ ยังคงยึดมั่นอยู่กับจุดยืนของตนเองในการจะลงโทษเกาหลีเหนือตามแนวทางที่จีนเห็นสมควรเอง

เฉิง เสี่ยว เหอ อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยเหรินหมิน ในกรุงปักกิ่ง มองการมาเยือนจีนของผู้นำสหรัฐว่า สี จิ้น ผิง ให้การต้อนรับทรัมป์อย่างยิ่งใหญ่ สะท้อนความสัมพันธ์จีน-สหรัฐว่าค่อนข้างมีเสถียรภาพในห้วงเวลานี้

ภายใต้บรรยากาศเช่นนี้ สี จิ้น ผิง จะไม่ปฏิเสธข้อเรียกร้องของทรัมป์โดยสิ้นเชิง และหากมองในระยะสั้น ความสัมพันธ์อันดีของผู้นำชาติมหาอำนาจโลกทั้งสองนี้ก็อาจก่อผลลัพธ์เชิงบวกขึ้นได้ แต่หากมองกันในระยะยาว

ทุกสิ่งทุกอย่างที่ตั้งอยู่บนความไม่แน่นอน “ผลประโยชน์แห่งชาติ” จะเป็นตัวตั้งและเป็นสิ่งยึดมั่นสูงสุดเสมอ

 

ประเด็นการค้า เป็นหนึ่งเรื่องที่ทรัมป์คุยให้นักข่าวฟังถึงความสำเร็จในการเยือนเอเชีย ขณะเขาอยู่บนเครื่องบินแอร์ฟอร์ซวันเพื่อกลับสหรัฐ

ทรัมป์บอกว่าได้ทำข้อตกลงด้านการค้ากับจีนมีมูลค่าราวๆ 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทว่านักวิเคราะห์อย่าง เฉิง เสี่ยว เหอ ชี้ว่าข้อตกลงการค้าเหล่านี้เป็นเหมือนแค่ “ยาระงับปวด” ที่ช่วยเยียวยารอยร้าวทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนได้แค่ชั่วเวลาหนึ่งเท่านั้น

เพราะข้อตกลงเหล่านี้ที่ลงนามกันไว้นั้น ส่วนใหญ่เป็นเพียงแค่บันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ที่ไม่มีผลผูกมัดแต่อย่างใด และก็อาจจะใช้เวลานานหลายปีกว่าจะบรรลุผล หากต่างฝ่ายต่างยึดมั่นที่จะเดินหน้าตามเอ็มโอยูที่ตกลงกันไว้ต่อไป

ยังมีมุมมองของผู้เชี่ยวชาญบางคนที่ให้น้ำหนักกับความสัมพันธ์ส่วนตัวว่าเป็นปัจจัยเอื้อสำคัญต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศ หากผู้นำสองฝ่ายมีเคมีส่วนตัวเข้ากันได้ดี ก็สามารถช่วยให้พวกเขาทำงานร่วมกันและแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่มีร่วมกันได้ ดั่งบรรยากาศอันดีในการพบปะกันครั้งแรกของทรัมป์กับดูแตร์เตที่ท่าทีเปลี่ยนไปในทางที่เป็นมิตรกับผู้นำสหรัฐ

แต่ผู้เชี่ยวชาญอีกกลุ่มหนึ่งเห็นแย้งว่า ถึงอย่างไร ผลประโยชน์แห่งชาติย่อมสำคัญเหนือสิ่งใด ส่วนความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ดีระหว่างผู้นำมีผลเอื้อเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งการเยือนเอเชียครั้งนี้ของทรัมป์ยังคงมีความท้าทายอยู่มากในเกือบทุกด้านทั้งปัญหาการค้า เขตแดน สภาพอากาศและข้อตกลงอื่นๆ ที่ยังไม่มีความคืบหน้า

สรุปการเยือนเอเชียของทรัมป์ ได้กระชับมิตรที่แน่นแฟ้นขึ้นกับผู้นำเอเชีย แต่ไม่ได้อะไรติดไม้ติดมือกลับสหรัฐที่เป็นเนื้อเป็นหนัง…