โจทย์ใหญ่ปีหน้า”ก.ล.ต.”ร่วมมือกับเอกชนสร้างเครื่องมือช่วยออม ให้คนไทยมีเงินใช้หลังเกษียณ

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีมูลค่าทรัพย์สินประมาณ 1 ล้านล้านบาท มีสมาชิกประมาณ 3 ล้านคน หรือคิดเป็น 20% ของจำนวนคนทำงานในภาคเอกชนทั้งหมด โดยครึ่งหนึ่งของสมาชิกมีเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสะสมไม่ถึง 1 ล้านบาท ซึ่งถือว่าไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายการดำรงชีวิตในวัยเกษียณที่ควรจะมีอย่างน้อย 3 ล้านบาท ดังนั้น เรื่องนี้เป็นโจทย์ใหญ่ของก.ล.ต. ที่จะสร้างความเข้าใจ และความตระหนักรู้ให้เกิดมากยิ่งขึ้นในแผนงานปี 2561 โดยจะร่วมมือกับบริษัทหลักทรัพย์ บริษัทจดทะเบียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการคิดค้นหาเครื่องมือ หรือแพลตฟอร์ม ที่จะกระตุ้นผู้ประกอบการและลูกจ้างให้มีการออมเพิ่มมากขึ้น

สำหรับปัจจัยที่ทำให้เงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังมีไม่เพียงพอ เนื่องจาก 1.ผู้ประกอบการและลูกจ้างภาคเอกชน ยังสมทบเงินไม่เต็มจำนวน โดยเฉลี่ยสะสมเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแค่ประมาณ 6% แบ่งเป็นฝั่งผู้ประกอบการสมทบ 3% ลูกจ้างสะสมอีก 3% ขณะที่กฎหมายกำหนดไว้สูงสุด 30% 2.ลงทุนในกองทุนที่ให้ผลตอบแทนน้อย เช่น ตราสารหนี้ภาครัฐ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นทุกปี

” นอกจากปัญหาเรื่องอัตราการสมทบในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว ยังมีประเด็นอื่นๆทั้งเรื่องสมาชิกของกองทุนไม่ทราบว่าผู้ประกอบการหรือนายจ้างนำเงินไปลงทุนในอะไรบ้าง ขณะเดียวกันเงินที่นายจ้างนำไปลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็ไม่ค่อยแอคทีฟ เพราะกลัวการถูกวิจารณ์ ต่างกับการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในต่างประเทศ ที่ผู้สะสมหรือลูกจ้างสามารถบริหารจัดการกองทุนเองได้”

นายรพี กล่าวอีกว่า นอกจากนี้แล้วในส่วนของกองทุนรวม ปัจจุบันมีบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน (บลน.) 2-3 รายที่เริ่มหันมาให้บริการการแนะนำการลงทุนในกองทุนรวมมากขึ้น โดยใช้ไฟแนนเชียล เทคโนโลยี (ฟินเทค) เข้ามาวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้า เพื่อให้สามารถเลือกลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แม้ว่าการทำโมเดลนี้จะใช้ต้นทุนสูงก็ตาม จึงมองว่าในช่วง 3-4 ปีหลังจากนี้ ทางฝั่งสถาบันธนาคารควรจะปรับตัวเช่นกัน