ดาบ “ฟ้าฟื้น” ของขุนแผน ชื่อเดียวกับผีบรรพชน กษัตริย์เมืองน่านในตำนาน

“ขุนแผนตีดาบฟ้าฟื้น” จิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องขุนช้างขุนแผน ที่ระเบียงคดรอบวิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี เขียนโดย เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย

ฟ้าฟื้น ในชื่อดาบฟ้าฟื้นของขุนแผน มีร่องรอยให้น่าเชื่อว่ามาจากชื่อปู่ฟ้าฟื้นในตำนานผีบรรพชนของกษัตริย์ หรือเจ้านายเมืองน่าน

ซึ่งมีลำดับรายชื่ออยู่ในจารึกพบที่เมืองสุโขทัย

 

ปู่เมืองน่าน หลานเมืองสุโขทัย

จารึกที่มีชื่อปู่ฟ้าฟื้น เรียกกันด้วยภาษาปากว่าจารึกปู่สบถหลาน หรือปู่หลานสบถกัน ซึ่งนักโบราณคดีกรมศิลปากร ขุดพบที่วิหารสูง วัดมหาธาตุ กลางเมืองสุโขทัยเป็นจารึกหลักที่ 45 (รวมอยู่ในหนังสือประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 3 สำนักนายกรัฐมนตรี พิมพ์เผยแพร่ เมื่อ พ.ศ.2508 หน้า 61)

คำอธิบายที่จะมีต่อไปนี้เก็บความมาสรุปจากหนังสือรวมบทความวิชาการชื่อ ประวัติศาสตร์เบ็ดเตล็ด ของ ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร (สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2549)

เนื้อหาสาระสำคัญของจารึกปู่สบถหลานเกี่ยวกับคำสัตย์สาบานที่ทำขึ้นเมื่อ พ.ศ.1935 ว่าจะไม่รบพุ่งรุกรานกัน ระหว่างเครือญาติ 2 ราชวงศ์ คือ ราชวงศ์เมืองน่าน ผู้เป็นปู่ กับราชวงศ์เมืองสุโขทัย ผู้เป็นหลาน

ประเพณีทำสัตย์สบถสาบานกัน ต้องเชิญผีสางเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นพยาน เพื่อคอยลงโทษผู้ผิดคำสาบาน

ในจารึกปู่สบถหลาน มีข้อความต่อเนื่องติดกันเป็นพืด (ไม่มีย่อหน้า) เรื่องเชิญผีบรรพชนทั้งฝ่ายเมืองน่านและฝ่ายเมืองสุโขทัย

จะคัดมาให้เห็นเป็นพยานเฉพาะตอนที่กล่าวถึง โดยจัดแบ่งย่อหน้าและวรรคตอนเสียใหม่ให้อ่านสะดวก แล้วจำแนกเป็น 2 ตอน คือ ตอนต้นเป็นชื่อผีบรรพชนฝ่ายเมืองน่าน กับตอนหลังเป็นฝ่ายเมืองสุโขทัย ดังนี้

“(ส) บถด้วยกันนี้จุ่งให้ได้แก่ (อารัก)ษ์ทั้งหลายอันมีในน้ำในถ้ำ

(ว)งศาหน พระยาผู้ปู่ ปู่พระยา ปู่เริง ปู่มุง ปู่พอง ปู่ฟ้าฟื้น(ผ)ากอง ปู่พระยาคำฟู (พระ)ยาผากองเท่านี้ ดำพงศ์กำว(ผี)สิทธิแล

แต่นี้ดำพงศ์ ผีปู่ผาคำ (ฝู)งผู้หวาน ปู่ขุนจิด ขุนจอด ปู่พระยาศ(รีอินทราทิ)ตย์ ปู่พระยาบาน ปู่พระยารามราช ปู่ไสส(ส)งคราม ปู่พระยาเลอไทย ปู่พระยางัวนำถม ปู่(พระ)ยามหาธรรมราชา พ่องำเมือง พ่อเลอไทย แ(ละไท)ยผู้ดีผีชาวเลืองเท่านี้แล”

ผีบรรพชนเมืองน่าน
ผีบรรพชนราชวงศ์เมืองน่าน มีดังนี้
1. ปู่พระยา 2. ปู่เริง 3. ปู่มุง 4. ปู่พอง 5. ปู่ฟ้าฟื้น 6. ผากอง 7. ปู่พระยาคำฟู 8. พระยาผากอง

ผีบรรพชนเมืองสุโขทัย
ผีบรรพชนราชวงศ์เมืองสุโขทัย มีดังนี้

1. ปู่ขุนจิต 2. ขุนจอด 3. ปู่พระยาศรีอินทราทิตย์ 4. ปู่พระยาบาน 5. ปู่พระยารามราช 6. ปู่ไสสงคราม 7. ปู่พระยาเลอไทย 8. ปู่พระยางั่วนำถม 9. ปู่พระยามหาธรรมราชา 10. พ่องำเมือง 11. พ่อเลอไทย

(1. ปู่ขุนจิต 2. ขุนจอด ผู้รู้บางท่านเห็นเป็นผู้เดียวกัน ต้องเรียกรวมว่า ปู่ขุนจิตขุนจอด)

น่าน-หลวงพระบาง

เมืองน่านกับเมืองหลวงพระบาง เป็นเมืองเครือญาติอุปถัมภ์ใกล้ชิดสนิทสนมมาแต่ยุคแรกๆ ราวหลัง พ.ศ.1700

เมืองน่าน อยู่ฝั่งขวาแม่น้ำโขงในไทย ส่วนเมืองหลวงพระบางอยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงในลาว (แล้วเชื่อมโยงเป็นเครือญาติไปถึงเมืองแถนในเวียดนาม)

ตำนานลาวเล่าว่าเจ้าฟ้างุ่มหนีความขัดแย้งทางการเมืองในหลวงพระบาง ไปตายอยู่เมืองน่าน

ดาบฟ้าฟื้น

ตระกูลไทย-ลาว จากสองฝั่งโขงตั้งแต่รัฐหลวงพระบางถึงรัฐเวียงจัน ทยอยเคลื่อนย้ายลงไปตั้งหลักแหล่งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยผ่านเส้นทางลุ่มน้ำน่าน-ยม (ก่อนมีรัฐสุโขทัย) ลงสู่ฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ซึ่งเป็นดินแดนรัฐสุพรรณภูมิ)

ดาบฟ้าฟื้น กับ ขุนแผน จึงมีขึ้นจากประเพณีลาวที่ติดมา ดังเคยเขียนอธิบายแล้วหลายครั้ง (เช่น ฉบับวันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม 2556) ดังนี้

ดาบฟ้าฟื้น หมายถึง ดาบ (อาวุธ) วิเศษที่ผีฟ้าพญาแถนสร้างคืนกลับขึ้นใหม่ในสถานการณ์ศักดิ์สิทธิ์

ฟ้าฟื้น หมายถึง เทวดาสร้างคืนกลับขึ้นใหม่

(ฟ้า หมายถึง เทวดา, แถน, ฟื้น แปลว่า คืนกลับ, พลิกกลับขึ้นมา, สร้างใหม่)

คำให้การชาวกรุงเก่า เล่าว่าขุนแผนมีดาบวิเศษเรียกดาบฟ้าฟื้น เมื่อชราลงจึงนำดาบฟ้าฟื้นถวายพระพันวษา พระองค์ทรงรับไว้แล้วทรงประสิทธิ์ประสาทนามว่าพระแสงปราบศัตรู โปรดให้มหาดเล็กเชิญตามเสด็จซ้ายขวาคู่กับพระแสงขรรค์ชัยศรีครั้งพระยาแกรก

พระแสงขรรค์ชัยศรี เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจทางการเมืองในวัฒนธรรมเขมร มีในตำนานนิทานหลายเรื่องบอกเล่าว่าตกทอดต่อมาถึงพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา

พระแสงปราบศัตรู คือดาบฟ้าฟื้นของขุนแผน เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจทางการเมืองในวัฒนธรรมลาวของคนส่วนมากในกรุงเก่าซึ่งยกย่องดาบฟ้าฟื้นเสมอพระแสงขรรค์ชัยศรีของเขมร จะเชื่อถือว่าจริงทั้งหมดไม่ได้ แต่เชื่อได้ว่ามีคนกรุงเก่าบางกลุ่มที่ใกล้ชิดราชสำนักคิดอย่างนี้

ขุนแผน

แผน ในชื่อขุนแผน กลายจากคำว่า แถน หมายถึง ผีฟ้า เป็นผีบรรพชนของคนในวัฒนธรรมลาว ลุ่มน้ำโขง (ภาษาปากเรียก ผีฟ้าพญาแถน) ผู้บันดาลให้มีทุกสิ่งทุกอย่าง

คำว่า ขุนแผน มีใช้ในโองการแช่งน้ำ (วรรณกรรมยุคต้นอยุธยา) หมายถึง พระพรหม ผู้สร้างโลกขึ้นใหม่หลังไฟบรรลัยกัลป์ล้างโลก

การตั้งชื่อตัวละครเอกว่าขุนแผน ไม่น่าเป็นเรื่องบังเอิญ แต่เจตนาให้เป็นตำนานศักดิ์สิทธิ์

ตำนานวีรบุรุษ

ขุนช้างขุนแผนที่รู้จักแพร่หลายทุกวันนี้ ถูกแต่งเติมเสริมต่อตามความต้องการของยุคสมัยมานานมาก นับหลายร้อยปี

โครงเรื่องเก่าสุดน่าจะเป็นตำนานวีรบุรุษหรือนิทานศักดิ์สิทธิ์ มีตัวละครเอกคือขุนแผน กับดาบฟ้าฟื้นรบชนะข้าศึกเท่านั้น

ในคำให้การชาวกรุงเก่ามีรายละเอียดปรุงแต่งแล้ว คงได้จากนิทานขุนช้างขุนแผนที่ช่างขับเล่นตีกรับขับแคนแพร่หลายก่อนกรุงแตก