หนังการเมืองทำยาก แต่ ‘วันนี้ ไม่ทำไม่ได้แล้ว’

รายงานพิเศษ

 

หนังการเมืองทำยาก

แต่ ‘วันนี้ ไม่ทำไม่ได้แล้ว’

 

เพราะเหตุของ “ความอัดอั้น” ไม่ได้ทำหนังมานานถึง 2 ปี ว่าแล้ว บุญส่ง นาคภู่ จึงประกาศว่า ในช่วงปี พ.ศ.2566 และ 2567 ‘ปลาเป็นว่ายทวนน้ำฟิล์มสตูดิโอ’ มีแผนจะสร้างหนัง 12 เรื่อง

อันได้แก่ ‘In Her Hand’, ‘ตาลยอดด้วน’ จากเรื่องสั้นของมาลัย ชูพินิจ, ‘Pink Village’, ‘ตามรอยอรหันต์’, ‘มนต์รักศรีประจันต์’ ตอน ตามรอยขุนแผน, ‘บ้านเกิด’, ‘แดดเช้าร้อนเกินจะนั่งจิบกาแฟ’ ภาพยนตร์สั้นที่อาจยาว จากเรื่องสั้นของจเด็จ กำจรเดช, ‘Flight’ ภาพยนตร์สั้นที่อาจยาวดัดแปลงจากเรื่องสั้นของจอห์น สไตน์เบค/ร่วมกับบ้านเรียนมรดกใหม่, ‘เพื่อนยาก’ ดัดแปลงจากนิยายของจอห์น สไตน์เบค, ‘คนสร้างวิหาร’, ‘ศานตินิเกตัน’ ภาพยนตร์แรงบันดาลใจแห่งศิลปินทราย-วรรณพร และ ‘คนจนผู้ยิ่งใหญ่ 3’ ภาพยนตร์บันทึกสังคมการเมืองไทย ช่วงปี พ.ศ.2549-2567

ในจำนวนนั้น เรื่อง ‘In Her Hand’ ถ่ายเสร็จแล้ว กำลังอยู่ในขั้นมิกซ์เสียง เรื่อง ‘ตาลยอดด้วน’ จะเปิดกล้องในเดือนพฤษภาคม

ส่วนเรื่องอื่นๆ จะทยอยมา

บุญส่ง นาคภู่

“ไลน์อัพเยอะเหลือเกิน ทำได้ไงเนี่ย” เหมือนจะเดาใจเราได้ เพราะยังไม่ทันถาม เขาก็เอ่ยปาก พลางหัวเราะ

แล้วว่า อันที่จริงก็ไม่ยาก ด้วยหนังสั้นทำ 5-7 วัน น่าจะเสร็จ ขณะที่เรื่องยาวๆ ดูทรงแล้วก็ไม่มีปัญหา

“วิธีการทำหนังของผม ผมจะช็อตคัต ลดสิ่งที่ไม่จำเป็น เช่น แทนที่จะนั่งปั้นบทให้เสร็จ ผมก็ไม่ แค่มีไอเดียที่ชัด ก็ลงพื้นที่ ไปรีเสิร์ช รีเสิร์ชก็เขียนบทไปด้วย หานักแสดง หาโลเกชั่นไปด้วย มันเป็นอินดี้ไง ก็จะมีวิธีการแบบนี้แหละที่ง่าย และยกกล้องไปถ่ายได้เลย ขอให้มีตังค์ซัพพอร์ตนิดหน่อย”

เรื่องนายทุนเขาก็หาจากหลากหลายวิธี

“ด้วยความที่เป็นอิสระ เราก็ไม่ไปเสนอโปรเจ็กต์ในบริษัทที่เป็นเมนฟิล์ม ซึ่งจะมีเงื่อนไขทางการตลาดเยอะแยะไปหมด ก็ปัดวงจรนี้ไป ผมทำอินดี้ นายทุนก็คืออินดี้เหมือนกัน”

เรื่อง ‘Pink Village’ ก็ได้เพื่อนที่เป็น NGO ซึ่งคิดอยากมีสื่อเพื่อสังคม ชุมชนคนชายขอบ ซึ่งตรงกับความอยากทำของเขาพอดี ขณะที่เรื่องเงิน แม้ทางนั้นจะมีไม่เยอะ ก็ไม่ใช่ปัญหา

“เงินน้อย แต่เราไม่แคร์ เพราะเราใช้เวลา ใช้แรง ใช้คอนเน็กชั่น แค่แสนเดียวก็ทำได้แล้ว”

ถามว่าทำได้ไง

เขาหัวเราะ แล้วว่า “เพราะเป็นชาวบ้านเล่นน่ะ ถ่ายในหมู่บ้าน พระ นาง อยู่หมู่บ้านนี้หมด ถ่ายที่นั่นก็ฟรี”

แถมยังมีการซัพพอร์ตเรื่องอาหาร ด้านแรงงานก็มีนักศึกษา ลูกศิษย์ ทีมงานไปช่วยอุปกรณ์ถ่ายทำก็ได้รับการสนับสนุน

นี่คือตัวอย่าง

จเด็จ กำจรเดช

สําหรับเรื่อง ‘คนจนผู้ยิ่งใหญ่ 3’ ที่ตั้งใจบันทึกสังคมการเมืองไทย ช่วงปี พ.ศ.2549-2567 เขาก็ว่า “อยากทำมาเป็นสิบปีละ ไม่มีโอกาสสักที”

“ตั้งแต่ปี 2553 สมัยเสื้อแดง ผมคิดถึงตอนนั้นเลย และผมก็เหนื่อยหน่ายกับระบบการเมืองไทยมาก เลยสะสมความอัดอั้น”

เรื่องนี้เขียนบทเสร็จ ทรีตเมนต์ก็เสร็จแล้ว แต่ตังค์ไม่พอ ก่อนหน้านั้นเลยหยุดพักเพราะ “กลัวเสียของ” บุญส่งบอก

“จนวันนี้ ไม่ทำไม่ได้แล้วว่ะ คุณตู่ไม่ยอมออกสักที ก็ต้องหาทาง หนังมันต้องปลุกคนละ”

ที่คิดไว้คือตัวหนังจะพูดถึงพ่อที่ถูกจับเข้าคุกตอนปี พ.ศ.2553 พอออกมาก็เริ่มตามหาศพลูกที่ถูกยิง แล้วแฟลชแบ็กไปเล่าถึงสังคมการเมือง จนถึงปี พ.ศ.2565-2566

 

เรื่องนายทุน ตอนนี้มีคนแสดงความสนใจ และหวังว่าจะคุยกันได้สำเร็จ จะได้ ‘ไม่ต้องพัก’ เหมือนที่เจอมาซ้ำถึง 2 ครั้งก่อนหน้านี้

“มันเป็นหนังที่มีนัยยะสังคมไง ก็ต้องคนที่มีตังค์มาลงทุน และเขาก็ต้องไม่หวังผลประโยชน์ด้วย”

ซึ่ง “มันไม่ง่าย”

“จะไปเสนอกับบริษัทก็ไม่ได้ เขาไม่ทำอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ก็ต้องรอจังหวะที่เหมาะสม”

“ผมจะพูดเรื่องเซอร์เคิลในการเมืองไทย วงจรอุบาทว์ในการเมืองไทยที่รัฐประหารมันกำลังจะไปข้างหน้า ก็ไปไม่ได้ ประเทศนี้เป็นอะไรเนี่ย”

“เป็นเรื่องจริงผสมกับเรื่องแต่ง มีเรื่องราวเพิ่มเติมไปอีกตามสถานการณ์ของสังคมเอากล้องมาจับจ้องการเป็นไปของสังคมไทย”

“เราอยากเล่าเรื่องในวิธีเรา ในความรู้สึก ความเชื่อ เพื่อให้คนดูและตระหนักในปัญญา เกิดความคิด ความเข้าใจเรื่องปัญหาโครงสร้างของไทย นี่คือจุดประสงค์ของการทำ ไม่ใช่เพื่อเงินทุน เพื่อการตลาด หรือเพื่อกำไร”

“เรื่องค่าตัว การทำหนัง ถามว่าอยู่ได้ยังไง ก็กระเบียดกระเสียร รับจ๊อบนั่น นี่ เป็นนักแสดงไป แต่หนังมันต้องมีอุดมการณ์ ต้องเป็นประโยชน์ต่อสังคม”

 

หนังการเมืองในบ้านเรา เขาก็รู้เหมือนใครๆ ว่า ทำยาก

“ทำชัดเจนก็ไม่ได้ ถูกแบน เกี่ยวคนนั้น คนนี้ ก็ไม่ได้ เสื้อแดงถ้าทำโจ๋งครึ่งก็ไม่ได้ เหนื่อยนะครับ”

“ผมก็ต้องคิดเยอะ ต้องใช้วิธีการอันชาญฉลาดเยอะมาก ที่จะไม่ถูกฟ้องทีหลัง”

“ผมว่าภาพยนตร์ควรจะทำหน้าที่ เราอ่านหนังสือ คนเขียนหนังสือก็ต้องสู้เพื่อความถูกต้อง ความยุติธรรม เราคนทำหนังก็เช่นเดียวกัน แต่คนทำหนังส่วนใหญ่เขาเพลย์เซฟไง ที่ผ่านมา ผมก็ยอมรับว่าผมเพลย์เซฟ เพราะเราต้องทำหนัง ต้องเลี้ยงชีวิต เลี้ยงครอบครัว”

“จริงๆ ผมเสียดายเวลามาก น่าจะทำตั้งนานแล้ว ตั้งแต่ช่วงนั้นแล้ว แต่เราก็ไม่รู้ว่ามันจะอยู่ในม่านควัน จังหวะมันไม่เหมาะสม ตังค์ก็ไม่มี สังคมก็ไม่นิ่ง ครอบครัวก็สะเทือน แต่ตอนนี้คนทำหนังไทยโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ เริ่มทำเกี่ยวกับสังคมการเมืองเยอะขึ้น มีหลายเรื่องที่กำลังรอการผลิต หรือแอบผลิตอยู่ แต่รอจังหวะเหมาะสมที่จะปล่อยออกมา เราก็ต้องทำด้วยสิ”

“ทำให้คนเห็นความจริงของสังคมไทย”

บอกด้วยว่า ถ้าอะไรๆ เป็นไปอย่างที่คิด เขาก็น่าจะทำเรื่องนี้เสร็จในปี พ.ศ.2567

“แต่สิ่งที่จะทำกันนี่ ต้องระมัดระวังมาก คิดเยอะมาก เป็นโปรเจ็กต์สำคัญ ที่ถ้าไม่ดีพอเราก็หยุดไว้ก่อน รอเวลาที่เหมาะสม”

ส่วนระหว่างนั้น แน่นอนว่าก็ยังมีเรื่องอื่นๆ ตามไลน์อัพที่วางไว้ ให้ได้ดูกัน

“ผมเองสแตนด์บายที่จะทำเรื่องคนจนฯ 3 ตลอดเวลา”