ไต้หวัน (2)

นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

 

ไต้หวัน (2)

 

นักท่องเที่ยวไทยถือว่าเงินบาทกับเงินดอลลาร์ไต้หวันมีค่าเท่ากัน คือ 1 ดอลล์เท่ากับ 1 บาท เพื่อความสะดวกในการใช้จ่ายโดยไม่ต้องเสียเวลาคำนวณกลับเป็นเงินไทย แต่ในความจริงดอลลาร์ไต้หวันมีค่าแข็งกว่าไทยนิดหน่อย นับได้เป็นเศษสตางค์

ผมพบในการกินข้าวที่ไต้หวันว่า ราคาอาหารจานเดียวของเขาแพงกว่าเราประมาณ 1 เท่าตัว คือคูณ 2 ทุกจาน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าคุณภาพของวัสดุที่นำมาปรุงอาหารนั้น ดีกว่าในกรุงเทพฯ เกิน 2 เท่าตัว เช่น ก๋วยเตี๋ยวเนื้อวัวชามหนึ่งก็ประมาณ 100 เศษๆ แต่เนื้อที่ให้มาในจาน นอกจากเป็นชิ้นเนื้อทั้งก้อน ไม่ติดมันเลย แถมยังมีเนื้อติดเอ็นมาอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งก็เป็นเนื้อและเอ็นล้วนๆ ไม่มีมันผสมอีกเหมือนกัน

เราถามคนขับรถรับจ้างที่พาเราไปเที่ยวนอกเมืองว่า รายได้ขั้นต่ำของไต้หวันคือเท่าไร เขาไม่ทราบเพราะเขาไม่ได้เป็นลูกจ้างใคร เนื่องจากเป็นเจ้าของรถที่เขาขับเอง แต่เขาบอก (คงอาศัยข้อมูลจากลูกๆ) ว่ารายได้ขั้นต่ำสำหรับงานพาร์ตไทม์คือชั่วโมงละประมาณ 168 ดอลล์ (บาท) แต่เขาก็เตือนไว้ด้วยว่า ธรรมดางานพาร์ตไทม์ได้ค่าจ้างค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว ผมคำนวณเป็นวันได้ 1,344 บาท หากสัปดาห์หนึ่งทำงานสัก 3 วัน ก็จะมีรายได้สัปดาห์ละ 4,032 บาท พอกินสำหรับนักศึกษาคนหนึ่งอย่างสบาย

ผมกลับไปค้นในหนังสือพบว่า รายได้ของแรงงานภาคอุตสาหกรรมไต้หวันตกประมาณ 1,300 เหรียญสหรัฐ (45,000 บาท) ต่อเดือน ถ้าเป็นแรงงานภาคบริการก็จะได้ถึง 1,500 เหรียญสหรัฐ (52,000 บาทขึ้นไป)

แสดงว่า ผู้คนในไต้หวันใช้จ่ายเพื่อการกินไม่เกิน 25-30% ของรายได้เท่านั้น ซึ่งเป็นปรกติธรรมดาในประเทศที่เศรษฐกิจพัฒนาแล้วโดยทั่วไป คือค่าใช้จ่ายเพื่อการกินลดลงไปเรื่อยๆ จึงมีเงินเหลือไปจับจ่ายใช้สอยกับเรื่องอื่นๆ จนทำให้การผลิตภายในยิ่งเข้มแข็ง ไม่ต้องพึ่งแต่การส่งออกจนหมดตัว

 

เราอาจเผลอยอมรับการกล่อมของนายทุนและรัฐไทยว่า ก็ไต้หวันรวยแล้วนี่ จึงสามารถจ่ายค่าแรงได้ระดับนี้

ผมอยากจะเตือนว่าคิดแบบนี้คือเอาผลเป็นเหตุ เอาเหตุเป็นผลต่างหาก ตรงกันข้ามนะครับ ที่ไต้หวันรวยได้ก็เพราะยอมจ่ายค่าแรงในราคาสูงมาตั้งแต่ต้นต่างหาก และรายได้ที่สูงของแรงงาน (และเกษตรกร) นี่แหละที่เป็นหนึ่งในเหตุใหญ่ที่ทำให้เศรษฐกิจไต้หวันขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว ต้องกลับมาเล่าการพัฒนาเศรษฐกิจไต้หวันอย่างสั้นๆ จึงจะเข้าใจ

หลังสงครามโลก แรงกดดันของสหรัฐทำให้รัฐบาลก๊กมินตั๋งปฏิรูปที่ดิน ผลที่ตามมาก็คือไต้หวันกลายเป็นผู้ส่งออกผลิตผลการเกษตรรายใหญ่ของเอเชียตะวันออก ไม่ใช่ส่งออกพืชผลหลักเพียงอย่างเดียวอย่างไทย แต่ส่งออกพืชผลหลากหลายชนิดมาก โดยเฉพาะผลไม้ หน่อไม้ฝรั่ง ซึ่งต่อมาก็ทำเป็นกระป๋อง เพราะรัฐยอมลงทุนในการเปลี่ยนเข้าสู่เกษตรกรรมทันสมัยเต็มที่ และตลาดใหญ่ของไต้หวันคือญี่ปุ่นที่นับวันก็รวยพอจะกินอาหารดีๆ มากขึ้นทุกที

ไต้หวันเริ่มพัฒนาด้านหัตถอุตสาหกรรมอย่างเดียวกับประเทศอื่นในเอเชีย นั่นคือเริ่มที่อุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้า แต่ไต้หวันตกอยู่ในห้วง “ทดแทนการนำเข้า” ไม่นานนัก ไม่ถึงทศวรรษด้วยซ้ำ ในขณะที่ประเทศเอเชียอื่นๆ เช่นไทย วนเวียนอยู่ในห้วงนี้ไม่ยอมออกเป็นเวลาประมาณ 25 ปี

การผลิตเพื่อ “ทดแทนการนำเข้า” นั้นต้องมาพร้อมกับการปกป้องคุ้มครองการผลิตภายในเสมอ ไม่อย่างนั้นผู้ผลิตรายใหม่ไร้ประสบการณ์และต้องลงทุนซื้อเครื่องจักรหรือแม้แต่กระบวนการผลิตและบริหารมาจากต่างประเทศ จะแข่งกับสินค้าต่างประเทศได้อย่างไร

ในระยะเริ่มต้นของการพัฒนาอุตสาหกรรมอาจหลีกเลี่ยงได้ยาก แต่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่งว่า การปกป้องคุ้มครองของรัฐนั้นสร้างประโยชน์ปลูกฝัง และประโยชน์ปลูกฝังสร้างกลุ่มผลประโยชน์ที่ฝังแน่นในระบบเศรษฐกิจและการเมือง ในประเทศไทย นโยบายพัฒนาเกิดภายใต้รัฐบาลทหาร กลุ่มผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นคือเจ้าสัว, นายธนาคาร และนายพลจึงปลูกฝังประโยชน์ของตนลงไปในระบบได้อย่างเข้มแข็งและแน่นหนา จนยากจะก้าวข้ามห้วง “ทดแทนการนำเข้า” ไปได้

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ นายทุนไทยเลี้ยงไม่โต ต้องการการปกป้องคุ้มครองหรืออภิสิทธิ์จากรัฐไม่เลิก เพราะไม่มีแรงจูงใจให้โต จึงแข่งขันกับใครไม่เป็น ผลที่ตามมาก็คือนายทุนไทยลงทุนกับการวิจัยและพัฒนาน้อย ก็เมื่อไม่ต้องแข่งขันแล้วจะไปลงทุนด้านนี้ทำไมเล่าครับ พยายามกดค่าแรงให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ เป็นเหตุให้ไม่มีแรงจูงใจด้านการศึกษาแก่คนทั่วไป (เพราะให้ผลตอบแทนต่ำเกินไป) และตลาดภายในไม่มีกำลังซื้อ ทำให้ต้องพึ่งแต่การท่องเที่ยวและรับจ้างผลิตสินค้าสำหรับตลาดล่าง หมุนวงจรกลับมาที่การกดค่าแรง การไม่ยอมลงทุนด้านความรู้ และ ฯลฯ วงจรที่ไม่สิ้นสุด

แต่ไต้หวันก้าวข้ามห้วง “ทดแทนการนำเข้า” ไปได้อย่างรวดเร็ว ผมไม่ปฏิเสธว่าส่วนหนึ่งก็เพราะเผด็จการเจียงไคเช็ก ไม่เข้าไปติดบ่วงประโยชน์ปลูกฝังในระบบ ไม่ใช่เพราะเขาเป็นคนดีกว่าเผด็จการทหารไทย แต่เพราะองค์ประกอบแห่งความชอบธรรมทางการเมืองของเจียงไคเช็ก แตกต่างจากของเผด็จการกองทัพไทยอย่างลิบลับ นี่เป็นคำอธิบายอย่างรวบรัดหน่อยนะครับ

 

แม้ว่าอุตสาหกรรมไต้หวันเกิดขึ้นภายใต้เผด็จการอย่างเดียวกับไทย แต่เพราะรายได้ภาคเกษตรที่ค่อนข้างดี จึงกดดันให้นายทุนไต้หวันต้องจ่ายค่าแรงที่ดีกว่าแรงงานภาคเกษตร ไม่นับแรงกดดันของอเมริกันที่ไม่อยากให้เกิดความวุ่นวายปั่นป่วนในไต้หวันเป็นอันขาด

แต่รายได้ที่เป็นธรรมของแรงงานไม่อาจเกิดขึ้นจากรัฐหรือนายทุน ต้องเกิดภายใต้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองในการเคลื่อนไหวต่อรองของฝ่ายแรงงานเอง ไต้หวันโชคดีอย่างมากที่หลังจากเจียงไคเช็กถึงแก่กรรมไปแล้ว ไต้หวันได้ก้าวเข้าสู่ประชาธิปไตยอย่างมั่นคงยั่งยืน โดยการนำของประธานาธิบดีเจียงจิงกั๋ว ลูกชายของเจียงไคเช็กเอง ปราศจากกฎอัยการศึกที่ประกาศอย่างถาวร แรงงานย่อมสามารถเคลื่อนไหวร่วมกันเพื่อต่อรองกับนายทุนและรัฐได้

ผมจะไม่เถียงนักคิดไทย ที่มักคิดว่าการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพต้องเกิดภายใต้เผด็จการเท่านั้น แต่กรณีไต้หวันชี้ให้เห็นว่า ช่วงที่เศรษฐกิจกำลังจะเริ่มทะยานขึ้นนั้น ประชาธิปไตยช่วยการทะยานได้เร็วกว่า ปลอดภัยกว่า และยั่งยืนกว่า

ประชาธิปไตยไทยนั้นมาช้าไป ซ้ำมาอย่างไม่มั่นคงด้วยเพราะถูกขัดขวางจากพลังภายนอกระบบการเมืองตลอดมาจนถึงทุกวันนี้

 

รายได้ที่ดีของแรงงานไต้หวันไม่ได้มาจากเสรีภาพในการต่อรองเพียงอย่างเดียว ยังเกิดขึ้นได้ด้วยคุณภาพแรงงานที่สูงเด่นอีกด้วย ทั้งนี้ หมายรวมทั้งระดับการศึกษาของแรงงาน และความขยันหมั่นเพียง (แรงงานไต้หวันทำงานเดือนละ 200 ชั่วโมง ถือว่าสูงที่สุดแห่งหนึ่งในบรรดาแรงงานของเอเชียตะวันออก)

คุณสมบัติข้อแรกนั้นเกิดจากการทุ่มทุนลงไปกับการศึกษามาตั้งแต่ก๊กมินตั๋งต้องอพยพโยกย้ายมาตั้งที่ไต้หวัน ส่วนหนึ่งคงมาจากสาเหตุที่เจียงไคเช็กอยากแก้ตัว และอีกส่วนหนึ่งมาจากความช่วยเหลือของสหรัฐที่กดดันให้ลงทุนไปกับการศึกษา (สหรัฐอยากได้ไต้หวันเป็นหน้าต่างโชว์สินค้าของตนในเอเชียด้วย) จนปัจจุบัน ระดับการศึกษาของคนไต้หวันถือว่าสูงมากในเอเชียตะวันออกด้วยกัน คุณภาพมหาวิทยาลัยไต้หวันสูงขนาดที่ไม่มีอาจารย์เที่ยวไล่ซื้องานวิจัยมาเป็นผลงานตัวเองเลย อาจจะสูงจนอุตสาหกรรมไต้หวันตามไม่ทันด้วย คนหนุ่มสาวจึงพากันออกไปหางานทำนอกประเทศ ไม่ใช่เพราะรายได้ดีกว่าเพียงอย่างเดียว แต่มีงานที่ท้าทายให้ทำมากกว่าในประเทศ สองประเทศที่สมองไต้หวันไหลออกไปมากที่สุดคือสหรัฐและจีน ซึ่งกำลังแข่งด้านเทคโนโลยีกันอย่างเข้มข้น

อันที่จริง มีเรื่องจะพูดถึงแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของไต้หวันได้อีกมาก แต่ประเด็นสำคัญที่ผมอยากจะเน้นก็คือ การพัฒนาเศรษฐกิจ (หรือพัฒนาอะไรก็ตามที) ไม่ใช่ปัญหาทางเทคนิคที่ต้องการแต่ “ผู้เชี่ยวชาญ” มาจัดการ ที่จริงแล้วการพัฒนาเกิดขึ้นได้ท่ามกลางเงื่อนไขปัจจัยหลากหลายด้าน ที่ไม่เกี่ยวกับเศรษฐกิจหรือด้านอะไรก็ตามที่เราต้องการพัฒนาโดยตรง เช่นเกี่ยวกับสภาวะทางการเมือง, ทางวัฒนธรรม, ทางสังคม, ระบบเกียรติยศ, สำนึกความเป็นธรรม, ระบบกฎหมายที่ใช้บังคับอย่างเท่าเทียมและมีประสิทธิภาพ ฯลฯ

ถ้าเราต้องเอาทุนทั้งหมดที่มีไปลงในสังคมที่ผู้พิพากษาไม่เคารพกฎหมาย เราเอาไปลงทุนในกิจการอะไรที่จะให้ผลตอบแทนเร็วๆ ไม่ดีกว่าหรือ

กิจการที่ให้ผลตอบแทนอย่างมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว จะประสบความสำเร็จได้ก็ต้องใช้เวลา แต่เวลาในสังคมที่ผู้พิพากษาไม่เคารพกฏหมาย คือความเสี่ยงเสียยิ่งกว่าละเมิดกฎหมายหรือการเอารัดเอาเปรียบคนอื่น ดังนั้น ในสังคมแบบนั้น จึงไม่มีใครเชื่อในการลงทุนเพื่อประโยชน์สาธารณะในระยะยาว ไม่มีใครแยกได้ออกระหว่างการทำธุรกิจจริงๆ กับการดำเนินการเพื่อรวยทางลัด

ดูเหมือนคุณภาพของศาลไม่เกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ที่จริงแล้วเกี่ยวอย่างยิ่งทีเดียว

 

เมื่อพูดถึงไต้หวันแล้ว จะไม่พูดเรื่องสุดท้ายต่อไปนี้คงไม่ได้ นั่นคือไต้หวันจะรวมหรือถูกรวมเข้ากับจีนหรือไม่

ผมคิดว่าไม่มีใครตอบคำถามนั้นได้จริงสักคนเดียว เพราะเป็นการทำนายอนาคตซึ่งเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน แต่ถามใหม่ว่า ไต้หวันควรรวมหรือถูกรวมกับจีนหรือไม่ คำถามอย่างนี้ชวนให้พยายามหาคำตอบมากกว่า เพราะไม่เกี่ยวกับว่าความจริงในอนาคตจะเป็นอย่างไร

แม้กระนั้นก็ไม่ใช่คำถามง่ายๆ นะครับ เพราะอย่างที่ผมเคยพูดในตอนก่อน เป็นคำถามที่บีบทางเลือกให้เหลือแคบจนไม่สอดคล้องกับชีวิตจริง คนที่คิดว่าควรรวมก็ต้องรวมภายใต้เงื่อนไขบางอย่าง ที่อยากแยกเป็นอิสระก็ต้องภายใต้เงื่อนไขบางอย่าง

ในด้านกำลังทหารและแม้แต่กำลังด้านการทูต ไต้หวันไม่อาจต่อต้านจีนได้ ในกฎหมายระหว่างประเทศ ไต้หวันด้อยกว่ายูเครนอย่างเทียบกันไม่ได้ ยูเครนเป็นรัฐอิสระที่ได้รับการรับรองจากทั่วโลก แต่เกือบทั้งโลกยอมรับว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน ฝ่ายที่จะแทรกแซงการรวมแผ่นดินของจีน โดยเฉพาะสหรัฐ จะให้ความชอบธรรมแก่การกระทำของตนอย่างไร

อันที่จริงก็เป็นการกระทำอย่างเดียวกับที่รัสเซียทำในยูเครน เพียงแต่ทำในมุมกลับเท่านั้น

ยิ่งกว่าด้านการทหาร จีนคือตลาดใหญ่สุดของสินค้าไต้หวัน ไม่ใช่ใหญ่สุดเฉยๆ ด้วยนะครับ แต่ใหญ่เกินที่สองหลายเท่าตัว นอกจากนี้ไต้หวันยังเข้าไปลงทุนในจีนสูงกว่าในประเทศใดๆ ทั้งโลก ช่วงหนึ่ง เคยเป็นผู้ลงทุนต่างชาติใหญ่สุดของจีนด้วยซ้ำ และดังที่กล่าวแล้ว จีนยังเป็นตลาดงานใหญ่อีกแหล่งหนึ่งของคนหนุ่มสาวไต้หวันที่ได้รับการศึกษาดี พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ไม่ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของจีนหรือเป็นรัฐอิสระ ไต้หวันก็ต้อง “พึ่ง” จีน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ และต้องพึ่งมากขึ้นไปอีกในอนาคต

 

ในขณะเดียวกัน ก็ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ไต้หวันมีความเฉพาะของตนเองในทุกด้านจนจะหาความสงบสุขได้ยาก หากถูกจีนรวมเข้าไปเป็นมณฑลหนึ่ง จีนอาจแย้งว่าในมณฑลต่างๆ ของจีนเองก็มีความเฉพาะเหมือนกัน เช่น ทิเบต, ซินเกียง, กวางสี, ยูนนาน ฯลฯ ก็มีลักษณะเฉพาะของตนเอง ดังนั้นหากไต้หวันถูกรวมเข้ามา ก็ไม่ต่างจากมณฑลอื่นๆ อีกหลายมณฑลที่มีลักษณะเฉพาะของตนเองในด้านต่างๆ

แต่ความเฉพาะของไต้หวันไม่อาจแก้ได้ด้วย “เขตปกครองตนเอง” ที่จีนยกให้แก่ชนกลุ่มน้อยในมณฑลต่างๆ เพราะความเฉพาะของไต้หวันคือปรปักษ์ของระบอบอำนาจของจีนโดยตรง นั่นคือระบอบปกครองเสรีประชาธิปไตยที่จีนไม่อาจยอมรับได้ในขณะนี้

ปัญหาไต้หวันจึงไม่ได้เกิดเพราะไต้หวันฝ่ายเดียว เป็นปัญหาที่ทั้งสองฝ่าย – คือทั้งไต้หวันและจีน – ต้องปรับตัวเข้าหากัน ผมอยากเดาว่า ทั้งจีนและไต้หวันต่างรู้ดีว่า การแทรกแซงของอเมริกันนั้นวูบวาบไม่ยั่งยืนอย่างแน่นอน ผลประโยชน์แท้จริงของอเมริกันไม่ได้อยู่ที่ไต้หวัน แต่อยู่ที่ความเป็นทะเลหลวงของทะเลจีนใต้ต่างหาก ไต้หวันเป็นเพียงหมากในการต่อรองเท่านั้น ดังนั้น ทั้งสองฝ่ายจะใช้ประโยชน์กับปัจจัยอเมริกันอย่างไร ไม่ใช่เพื่อปล่อยให้ไต้หวันแยกตัวออกจากจีน แต่จะรวมเข้าด้วยกันสักวันหนึ่งในอนาคตภายใต้เงื่อนไขอะไรต่างหาก

 

อนาคตจะอยู่ใกล้หรือไกลแค่ไหนก็ไม่สำคัญ เพราะมันเป็นอนาคตที่แน่นอนว่า ถึงอย่างไรไต้หวันก็จะต้องรวมเข้ากับจีนจนได้ ท่านประธานเหมาเคยบอกแก่นิกสันและคิสซินเจอร์ซึ่งเข้าพบว่า เก็บไต้หวันไว้ก่อนก็ได้ จีนยังไม่อยากได้ตอนนี้ อีกร้อยปีข้างหน้าจีนจึงจะเรียกเอาคืน

ประธานเหมาพูดอะไรก็ได้ตามสบาย เพราะท่านประธานมีความมั่นคงในอำนาจของตนเองอย่างที่ไม่มีวันที่นักการเมืองของ พคจ.คนใดจะมีอย่างนั้นได้อีก แม้แต่สี จิ้นผิง ดังนั้น อย่างไรเสียก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากแสดงท่าทีฮึ่มๆ ฮั่มๆ ใส่ไต้หวัน เพราะการเมืองภายในของจีนเองบังคับให้ต้องทำเช่นนั้น พรรคที่หาความชอบธรรมทางการเมืองแทบไม่ได้อยู่แล้ว อย่าง พคจ.จะพูดว่าปล่อยไต้หวันไปก่อนเถิดได้อย่างไร หลังจากอาศัยเรื่องไต้หวันปลุกระดมความภักดีต่อพรรคมาเกือบศตวรรษแล้ว มึงกินเหล็กกินไหลมาจากไหนวะ

ในทางตรงกันข้าม เขาเล่ากันว่า หลังจากสถาปนาอำนาจของก๊กมินตั๋งได้มั่นคงบนเกาะไต้หวันแล้ว เจียงไคเช็กและผู้นำพรรคต่างรู้ดีว่า ที่จะใช้ไต้หวันเป็นฐานกำลังเพื่อไปชิงแผ่นดินจีนคืนนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่เจียงไคเช็กก็บอกคนใกล้ชิดว่า เรื่องกู้แผ่นดินนั้นต้องพูดต่อไปไม่หยุด เพราะมันมีประโยชน์ทางการเมือง (ภายในและรับความช่วยเหลือจากอเมริกา)

ปัญหาไต้หวันถูกเสนอในข่าวต่างประเทศเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศล้วนๆ และเรามักคิดกันแต่ปัจจัยที่เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ผมพยายามจะเสนอว่า การเมืองภายในของจีนและไต้หวันอาจเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่าหรือมากกว่าก็ได้