71 ปี ‘พัณณิน กิติพราภรณ์’ สรุปบทเรียนธุรกิจสวนสนุก ‘ต้องเลือกสนามรบ’

เผลอแป๊บเดียว ‘ดรีมเวิลด์‘ ย่านคลอง 3 จ.ปทุมธานี ตั้งมาครบรอบ 30 ปี

ในขณะที่ ‘พัณณิน กิติพราภรณ์’ กรรมการผู้จัดการบริษัท อะมิวส์เม้นท์ ครีเอชั่น จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจสวนสนุก ‘ดรีมเวิลด์’ หรือคุณตุ๊กตา ที่เธอมักจะใช้คำแทนตัวเองว่า ‘ตา’ อายุขึ้นเลข 7 แล้ว แต่ยังคงรักษาหุ่นและเสียงหัวเราะที่สดใสไว้เหมือนเดิม พร้อมดวงตาที่เปล่งประกายแห่งความสุข

ซึ่งนั่นอาจเป็นเพราะว่ามีหลานชาย 2 คนมารับช่วงกิจการเรียบร้อยแล้ว ทำให้เจ้าตัวมีเวลาในการท่องเที่ยวและทำอะไรตามใจปรารถนามากขึ้น

เห็นยังหุ่นดีเหมือนเมื่อสมัยยังสาว ทำอย่างไรนั้น คุณตุ๊กตาบอก ออกกำลังกาย และระวังว่าจะกินอะไร บังเอิญโชคดีที่เป็นคนไม่ชอบกินโดยธรรมชาติ ส่วนการออกกำลังกายใช้วิธีวิ่งช้าๆ และมีเทรนเนอร์ สุขภาพยังโอเค ยังโชคดี ไม่มีโรคประจำตัวอะไร

ก่อนหน้านี้เธอไปเล่นสกีที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเจ้าตัวบอกเป็นกีฬาที่ชอบ แต่ไม่ได้เล่นเก่งอะไรมากมาย

กับคำถามที่ว่าหลานชาย 2 คนที่มาเป็นผู้บริหารของบริษัทอะมิวส์เม้นท์ฯ ได้แนะนำอะไรเป็นพิเศษไหม

เธอว่า “ไม่ได้บอกเทคนิคอะไร เราก็ทำไปด้วยกัน บางครั้งบอกว่าอย่างนี้ไม่ใช่นะลูก เพราะยังอายุแค่ 31 ปีกับ 29 ปี ไม่เหมือนเราที่มาทำตั้งแต่อายุ 21-22 ปี ต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง ผิดเองอะไรเอง ไม่เคยทำแล้วอยู่ดีๆ มาทำ คุณต้องบริหาร ไม่อยากจะพูดหรอกว่าผิดอะไรมาบ้าง จนไม่อยากพูด ไม่ได้จำว่า เฮ้ยผิดอันนี้ ไม่ใช่ เรารู้แล้วว่าเราไม่ควรทำอะไรแบบนี้ ตอนนี้หลาน 2 คนเพิ่งเข้ามาช่วงก่อนโควิด หวังว่าจะมาบริหารต่อ”

“ตอนนี้ตาบริหารเป็นหลักอยู่ ต้องค่อยๆ Groom เขา ไม่ใช่ง่ายๆ เพราะเราก็ผิดมาเป็นหมื่นๆ อย่างมั้ง”

ในช่วง 30 ปีของการก่อตั้งดรีมเวิล์ด ผ่านวิกฤตหนักๆ หลายรอบแต่ยังฟันฝ่ามาได้ ขณะที่หลายธุรกิจถึงทางตัน

ประเด็นนี้คุณตุ๊กตาย้อนเล่าให้ฟังว่า วิกฤตมีหลายอัน เรื่องแรกหมดสัญญาเช่าที่แดนเนรมิตก็มาเปิดที่ดรีมเวิลด์ ที่เลือกแถวคลองสามเพราะคิดว่ามาสะดวก ต้องใช้ที่เกือบ 200 ไร่ คิดว่าระยะทางไม่ไกลมาก แต่ตอนนั้น 30-40 ปีที่แล้วยังไกล เมื่อเปิดมาคนมาเที่ยวยังน้อย ไม่เข้าเป้า เลยเพิ่มเครื่องเล่นเข้าไปเพื่อดึงดูด เราสู้ ใช้วิธีลงเครื่องเล่นใหม่ไปเรื่อยๆ ขาดทุนอยู่ 5 ปี แต่เห็นเทรนด์ดีขึ้น มาดีที่สุดตอนทำเมืองหิมะ

นอกนั้นวิกฤตหลักๆ ก็ไม่ค่อยมี ประคองตัวมาได้เรื่อยๆ และรู้ว่าต้องเติมอะไร ธุรกิจนี้เป็นธุรกิจของการเดาว่าอะไรที่ลูกค้าจะชอบ เราก็เติมเครื่องเล่นเข้ามาเรื่อยๆ

วิกฤตที่เจอคือปัญหาตอนสร้างเครื่องเล่น อย่างเช่น เครื่องเล่น 4D หนังเราก็สร้างเอง ภูมิใจมากเลย ว่าไปแล้วก็ไม่ใช่วิกฤต แต่เป็นปัญหาที่ต้องฟันฝ่าอุปสรรคไปให้ได้

ส่วนช่วงโควิด-19 แพร่ระบาดนั้น เจ้าของดรีมเวิลด์เล่าว่า ตอนได้ข่าวใหม่ๆ ปี 2563 ไม่ได้ตื่นเต้น ตอนแรกไม่คิดว่าจะยาว จนกระทั่งวันที่ 21 มีนาคม 2563 เพื่อนมาบอกระบาดนาน ไม่ใช่เล่นๆ เลยประชุม มีอยู่ 4 บริษัท เบ็ดเสร็จมีคนทำงาน 2,000 คน ซึ่งคงเก็บไว้ไม่ได้หมด มี 2 ประเภทที่ต้องเก็บไว้ เพราะสวนสนุกเป็นความสามารถพิเศษ

ส่วนบางพวกที่หางานใหม่ได้ก็จ่ายตามกฎหมายแรงงาน

ส่วนพวกที่เก็บไว้ก็จ่าย 30% โดยไม่ต้องมาทำงาน และให้ยืมอีก 20% เปิดมาแล้วค่อยมาใช้ คิดว่าคุณมี 50% ก็พออยู่ได้ ไม่ต้องเดินทาง จะไปทำอะไรก็ช่วยตัวเองบ้าง อยู่มา 2 ปี ถึงได้เปิดสวนสนุก ซึ่งได้รับความเห็นอกเห็นใจจากคนมาเที่ยวพอสมควร

“อย่างหนึ่งที่คิดว่าเรามี เป็นสิ่งที่ทำให้รอดมาได้ คือความอดทน ความพยายาม ความไม่ยอมแพ้ง่ายๆ แต่มันต้องมาจากประสบการณ์ที่เรารู้ว่าต้องเลือกสนามรบอะไรที่เราจะรบ ไม่ใช่ดันทุรังสู้มันไปทุกสนามรบก็คงไม่ใช่”

อย่างสยามนิรมิตกรุงเทพฯ ที่ปิดไป ดูแล้วไม่ไหวเลยปิดใช่ไหม

คุณพัณณินยอมรับ “ใช่ค่ะ เราถอย คำนวณง่ายๆ เหลือสัญญาเช่าอีก 7 ปี ต้องเสียค่าเช่าอีกเท่าไร ค่าลูกน้องอีกเท่าไร กว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาไม่รู้เมื่อไร มันไม่คุ้ม มันก็ต้องจบ”

กรณีสยามนิรมิตที่กรุงเทพฯ เป็นสัญญาเช่าที่ดิน ที่ลำบากที่สุดแล้ว ขาดทุนเยอะเหมือนกัน หลายร้อยล้านบาทอยู่ เพราะตอนเปิดมา คนยังไม่เข้าใจ กว่าจะเห็นโฉมว่าดีอะไร กว่าจะสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมา สร้างได้ไม่เท่าไร เอ้า…เสื้อเหลืองเสื้อแดง ตอนแรกปิดสนามบิน นักท่องเที่ยวก็หมดไป กว่าจะสร้างขึ้นมาใหม่ แล้วเสื้อเหลืองเสื้อแดงก็มาทะเลาะกัน แล้วก็น้ำท่วมกรุงเทพฯ ตอนนั้นดีเชียวก่อนจะเกิดโควิด หูย… รุ่งเรือง เอ้า โควิดมาอีก และเราก็มาปิดไปสักพักหนึ่ง แต่มันเหลือสัญญาเช่าอีกไม่กี่ปี ต้องเสียค่าเช่า ต้องเลี้ยงลูกน้องบางส่วน คำนวณดูแล้วไม่คุ้มแน่ และเรามีภูเก็ตเลยคิดว่าคงต้องยอมสละ ถ้าไม่มีภูเก็ตคงร้องไห้แน่เลย เพราะไม่ใช่ทำกันง่ายๆ”

แสดงว่าสยามนิรมิตภูเก็ตไปได้ดี

“ถือว่าไปได้ แต่ยังต้องให้ดีกว่านี้ กว่าจะทำโชว์ที่คนยอมรับว่าเป็นโชว์ที่ดีที่สุดในโลกโชว์หนึ่ง ไปดูได้เลย ไฮไลต์อยู่ในโชว์อยู่แล้ว ชื่อโชว์สยามนิรมิต โชว์เสมือนจริงมาก เราใช้เวลาทำอยู่ 5 ปี ทำแล้ว แก้แล้วแก้อีกอะไรแบบนี้”

ในส่วนนักท่องเที่ยวจีนแผ่นดินใหญ่ที่จะมาเที่ยวไทยนั้น คุณตุ๊กตาแจง ตั้งแต่แรกคนกลุ่มนี้ก็ไม่ใช่ลูกค้าของดรีมเวิลด์อยู่แล้ว ที่นี่จะเป็นรัสเซีย จีน ไต้หวัน และฮ่องกง

 

อย่างที่เจ้าตัวเกริ่นแล้วว่า บริหารสวนสนุกมาตั้งแต่อายุ 21 ปี เรียกว่าทำงานด้านนี้มานานถึง 50 ปีได้ และยังยืนอยู่ในระดับแถวหน้าของธุรกิจสวนสนุก

คุณตุ๊กตาบอกหลักในการบริหารคือ “ทีมงานเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด คิดว่าเรากับเขาต้องร่วมทุกข์ร่วมสุข จะเห็นว่าทุกคนเรียกคุณตาทั้งนั้น ไม่เคยรู้สึกว่าเขาเป็นลูกน้อง มีความรู้สึกว่าเขาเป็นลูกและน้อง ให้ความเป็นกันเอง นี่เป็นบุคลิกของเรา อายุ 71 ปีนี้ ทำงานมาเกือบ 50 ปี คงเรียกว่าเป็นเจ้าแม่สวนสนุกได้ เพราะไม่มีคนทำสวนสนุก แต่อย่าไปเรียกเลย ไม่ชอบให้ใครเรียกคำคำนี้ เจ้าแม่ควรจะมีอะไรๆ เด่น คนเยอะแยะแล้วเราเด่นขึ้นมา แต่นี่มีสวนสนุกในประเทศอยู่แค่ 2 เจ้าเท่านั้นเอง ซึ่งก็มีจุดเด่นกันคนละอย่าง”

ในฐานะที่อยู่ในวงการสวนสนุกมานาน เมื่อถามถึงเป้าหมายสูงสุด เธอว่า ไม่ได้คิดถึงเป้าหมายอะไร คิดแค่ว่าทุกปีต้องมีอะไรใหม่ๆ ให้คนมาเที่ยวก็พอใจแล้ว ไม่เคยคิดว่าจะไปขยายกิจการไปที่ต่างประเทศหรือในประเทศ มันไม่ใช่บริหารง่ายๆ บริหารยากมาก อย่างนี้แหละคนเลยไม่ค่อยทำธุรกิจสวนสนุก

นอกจากเรื่องการทำเครื่องเล่น ทำโปรดักต์แล้ว เป็นเรื่องการบริหารการจัดการ มันยากเหมือนกัน

 

ถามถึงเคล็ดลับความสำเร็จของการบริหารจัดการดรีมเวิลด์

คุณพัณณินตอบ “อดทน ไม่ใช่อดทนธรรมดา อึดตลอดๆ คือความอึดของเรา ไม่ยอมแพ้ เพราะคิดว่าเรามีโอกาสไง เราไม่ใช่คนดื้อดึง ดื้อดัน แต่เรารู้ว่าทุกๆ ความสำเร็จไม่ได้ง่าย คนอื่นเขายากที่เขาต้องไปแข่งกับคนอื่น เดี๋ยวนี้ไม่มีธุรกิจอะไรที่ผูกขาด แต่ของเรามันไม่ใช่ Monopoly แต่ไม่มีใครเขาอยากมาแข่งกับเรา เป็นไปทำนองนี้มากกว่า”

ได้ยินพูดเสมอว่าการทำธุรกิจสวนสนุกเป็นเรื่องยาก ถ้าย้อนกลับไปตอนสาวๆ ยังอยากจะทำธุรกิจสวนสนุกอยู่ไหม

เจ้าของดรีมเวิลด์อธิบายว่า “ตาเป็นคนสองอย่าง ประการที่หนึ่ง เป็นคนฟาดฟันกับใครไม่เป็น ให้ไปต่อสู้กับคู่แข่ง ตาต่อตาชนกันอย่างนี้ ตาจะไม่ค่อยเก่ง อาจหลบมาทำอะไรที่คนเขาไม่อยากทำ คงเป็นอย่างนั้นแหละ เราทำอะไรที่ขายตัวมันเองมากกว่า อย่างที่บอกความสุขของเราคือ เห็นคนมาเที่ยว เขามีความสุขเราก็มีความสุขแล้ว เห็นเขาหัวเราะสนุกสนานทำให้เขามีความสุขได้ ขณะที่ลูกน้องก็มีความสุขสนุกสนาน”

“ทีมงานก็สนุก ทำให้คนอื่นสนุก”

 

นอกจากนั่งบริหารดรีมเวิลด์แล้ว คุณตุ๊กตายังทำงานการกุศลด้วย

อย่างที่เธอให้รายละเอียดว่า ช่วยทำงานกับแพทย์ชนบทมา 3-4 ปีแล้ว เพราะไปเจอหมอกลุ่มหนึ่งอยู่ขอนแก่น อุบลราชธานี เขาบอกว่า ควรมีพยาบาลลงชุมชน ไปดูแลชุมชน แต่หายาก พยาบาลแพงด้วย เลยส่งไปเรียน คล้ายๆ อสม. แต่ไปเรียนวิทยาลัยพยาบาล ไปเทรนที่โรงพยาบาล เพื่อให้ไปดูแลคนติดเตียง ดูแลคนเบาหวาน ความดัน คนพิการ

โดยให้สปอนเซอร์ปีละแสนบาทต่อคน ให้ 5 อำเภอ อำเภอละ 5 คน ชื่อโครงการ ‘นักบริบาลของพ่อ’ เนื่องจากเป็นคนรัก ร.9 เลยให้ชื่อนักบริบาลของพ่อ

ทำมา 3 ปี ขึ้นปีที่ 4 ทางโรงพยาบาลรามาธิบดีก็เห็น ไปขอทุนรามาได้มาอีก 70 คน

อยากให้ขยายไปเรื่อยๆ กำลังปั้นอยู่ ปั้นมาครึ่งทางแล้ว

ทั้งหมดนี้คงทำให้ได้เห็นกันแล้วว่า ‘พัณณิน กิติพราภรณ์’ ผู้ก่อตั้งดรีมเวิลด์คนนี้ นอกจากจะประสบความสำเร็จในธุรกิจสวนสนุกแล้ว เธอก็ยังเป็นที่รักของเหล่าลูกน้อง

และยังแบ่งปันผลกำไรกลับคืนสู่สังคมอีกด้วย