เสียงของ ‘ส.ว.’ | ปราปต์ บุนปาน

“…กระผมขอกราบเรียนท่านประธานนะครับ ทุกครั้งที่มีการเสนอแก้รัฐธรรมนูญที่เกิดจากการรัฐประหาร กระผมจะยกมือให้ทุกครั้ง กระผมไม่กลัว จะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม กระผมมีเหตุผลนะครับท่านประธาน

“กระผมโนโหวตตอนรับร่างประชามติ (รัฐธรรมนูญ 2550) ท่านประธานครับ ครูครอง จันดาวงศ์ ได้ถูกจับ 3 ครั้ง ปี 2491 ปี 2495 และปี 2504 มาเจอ พล.อ.สฤษดิ์ (จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์) ถามว่าทำไมพวกมึงขายชาติ ขอโทษนะครับท่านประธานต้องใช้คำนี้

“ครูครอง จันดาวงศ์ ได้ตอบว่าอย่างไรครับ ได้ตอบว่าในที่สุดประชาชนต้องเป็นฝ่ายชนะอธรรม พวกเผด็จการจะต้องพินาศ จอมพลสฤษดิ์ก็เลยสั่งประหารชีวิตทันที

“เหตุการณ์สดๆ ร้อนๆ ผมมีจดหมายของนายนวมทอง ไพรวัลย์ ท่านประธานครับ นายนวมทอง ไพรวัลย์ คือใคร ขับแท็กซี่ไปชนรถถัง แล้วก็ผูกคอตายหลังจากนั้น เขาเขียนจดหมาย ผมมีจดหมายแต่เวลา (อภิปราย) ผมจำกัด สุดท้าย (เขา) ขอให้ลูกๆ และภรรยาจงภูมิใจในตัวพ่อ ไม่ต้องเสียใจ ชาติหน้าเกิดมาคงไม่ได้พบเจอการปฏิวัติอีก

“ท่านประธานครับ นี่คือเหตุผลที่ผมจะต้องยกมือให้ทุกครั้ง ที่มีการเสนอการแก้รัฐธรรมนูญ …

“ความเสียหายจากการรัฐประหารปี 2549 เราแตกแยกกันหาที่สิ้นสุดไม่ได้ เราจำเป็นต้องมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย … ผมก็แปลกใจในสภาแห่งนี้ หลายคนจะพูดถึงเรื่องดูถูกประชาชนในการเลือกตั้ง ถ้าเราไม่วางใจ ไม่เชื่อมั่นประชาชน ผมคิดว่าประชาธิปไตยของประเทศเราก็เดินไปได้ยาก

“ท่านประธานครับ กระผมมีประเด็นหลายประเด็นที่จะกราบเรียน แต่เนื่องจากเวลากระผมจำกัด กระผมได้อ่านข่าวและติดตาม ถ้าเผื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในโอกาสต่อไป ถ้ามีการเสนอ ผมอยากให้สภาแห่งนี้กล้าหาญ

“ที่ประเทศตุรกี ท่านประธานครับ เขาเพิ่งลงโทษนักรัฐประหารเมื่อปี 2546 นายทหาร 200 กว่าคนที่ปฏิวัติที่ประเทศอาร์เจนตินา นายพลที่ปฏิวัติมาตั้ง 40 กว่าปี อายุ 86 ปี ก็จำคุกตลอดชีวิต ทำไมเขาทำได้ เพราะรัฐบาลก็ดี สภานี่ ได้แก้กฎหมายการนิรโทษกรรม

“กระผมคิดว่าเราถูกปฏิวัติกันมาหลายครั้ง ผู้ปฏิวัติไม่เคยเข็ดหลาบนะครับท่านประธาน สภาแห่งนี้ควรจะกล้าหาญเพื่อหยุดยั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับระบอบประชาธิปไตย … เพราะฉะนั้น ถึงเวลากระผมคิดว่า (ต้องมีการลงโทษคนทำรัฐประหาร) เพื่อเป็นบทเรียนว่าประเทศของเราต่อไปนี้ ไม่ต้องไปฉีกรัฐธรรมนูญ ไม่ต้องมีการรัฐประหาร

“ก็จะตอบคำถามของผมว่า ทำไมที่ผมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา เพราะต้องการให้อำนาจอยู่กับประชาชนจริงๆ …

“โอกาสสุดท้าย ท่านประธานครับ 1 มือของผมจะต้องต่อสู้ ผมไม่เหมือนกับคนที่เป็นแท็กซี่ ที่เขากล้ามากกว่าผมเสียอีกนะครับ ผมยังอับอาย ผมยังทำได้น้อยกว่า แต่ผมพร้อมที่จะใช้มือของผมนี่ยกมือสำหรับต่อต้าน แสดงให้เห็นว่าผมไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยคณะรัฐประหาร กราบขอบพระคุณมากครับท่านประธาน”

 

ถ้าลองไปถามคนติดตามข่าวการเมืองในยุคปัจจุบันว่า หากวาทะที่ผมนำมาอ้างถึงข้างต้น คือ คำอภิปรายที่เพิ่งเกิดขึ้นใน พ.ศ.2566 คุณคิดว่าใครเป็นผู้กล่าวคำอภิปรายนี้?

เชื่อว่าส่วนใหญ่คงให้คำตอบว่า ส.ส.พรรคก้าวไกล ไม่ก็เพื่อไทย หรืออาจจะเป็น ส.ส.จากพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่นๆ เช่น เสรีรวมไทยและประชาชาติ

อาจมีโอกาสบ้าง ที่นี่จะเป็นคำกล่าวของ ส.ส.ประชาธิปัตย์ หรือภูมิใจไทย บางคน ทว่า ความเป็นไปได้ก็มีไม่เยอะนัก

แต่คงไม่มีใครจินตนาการออกหรอกว่า วาทะข้างต้นคือคำอภิปรายในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยสมาชิกวุฒิสภารายหนึ่ง

ขออนุญาตเฉลยว่า ผมคัดลอกคำอภิปรายที่น่าประทับใจนี้มาจากรายงานการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ระหว่างวันที่ 1-3 เมษายน 2556 (ดาวน์โหลดจากคลังสารสนเทศของสถาบันนิติบัญญัติ เว็บไซต์รัฐสภา https://dl.parliament.go.th/handle/20.500.13072/568430)

ในช่วงสามวันดังกล่าว รัฐสภายุคนั้นได้ร่วมกันพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 (ซึ่งต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญคราวนั้น เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ)

และเจ้าของวาทะที่ผมนำมาอ้างอิง ก็คือ “เจริญ ภักดีวานิช” (อดีต) ส.ว.เลือกตั้งจากจังหวัดพัทลุง

มี 2-3 เหตุผล ที่ผมเลือกนำคำอภิปรายเมื่อสิบปีก่อนของ ส.ว.เจริญ มาเผยแพร่ซ้ำอีกครั้ง ณ ที่นี้

ข้อแรก จนถึงปัจจุบัน แม้จะผ่านรัฐประหารอีกหนึ่งรอบ และมีรัฐธรรมนูญใหม่อีกหนึ่งฉบับ แต่เค้าโครงปัญหาการเมืองไทยที่คุณเจริญระบุไว้ ก็ยังดำรงอยู่ มิได้เลือนหายไปไหน

ข้อสอง คำอภิปรายของคุณเจริญช่วยย้ำเตือนว่า เมื่อย้อนเวลาไปเพียงแค่ 1 ทศวรรษก่อน สังคมการเมืองไทยเคยมี ส.ว. (เลือกตั้ง) ที่แสดงจุดยืนสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยในสภาได้อย่างซื่อตรงขนาดนี้

นี่คือสัจธรรมที่บ่งบอกพวกเราว่า ท่ามกลางกาลเวลาที่ผันผ่านไป อาจมีความเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่เคลื่อนไหวไปสู่ทิศทางอันก้าวหน้ามีความหวังขึ้น พร้อมกันนั้น ก็มีความเปลี่ยนแปลงอีกไม่น้อยที่ถอยหลังกลับไปสู่วิถีทางอันเสื่อมทรามลง

ข้อสุดท้าย หลายคนคงเห็นพ้องต้องกันว่า ทรรศนะของอดีต ส.ว.พัทลุง นั้นฟังดูดี มีเหตุผล น่าเคารพนับถือเป็นอย่างยิ่ง หากนำไปเปรียบเทียบกับท่าที จุดยืน คำขู่ทางการเมือง และกิริยาอาการไม่ไยดีใน “เสียงประชาชน” ของ ส.ว.แต่งตั้ง ยุคปัจจุบัน •