คำ ผกา : ฮิปสเตอร์โดยบังเอิญ

ในฐานะคนเจน X ที่เคยผ่านประสบการณ์การถูกคนเจน เบบี้บูมเมอร์ดูถูกดูแคลนว่า เป็นเจนที่ไม่ได้เรื่องไม่ได้ราว ไม่ชอบทำงานหนัก

พอคนเจน X เริ่มแก่ ดูเหมือนว่าเราจะกระหน่ำดูถูกคนเจนวายได้หนักหนาสาหัสกว่าที่เราเคยโดน

คนเจนวาย คือคนที่เกิดในช่วงปี 2528-2539 พวกเขาถูกเรียกว่าเป็น Selfie generation บ้าง เป็น Avocado generation บ้าง ในนัยว่า คนเจนนี้ไร้สาระ วันๆ สนใจแต่เรื่องตัวเอง ถ่ายเซลฟฟี่ตัวเองได้เป็นวรรคเป็นเวร ยอมจ่ายเงินแพงเพื่อขนมปังหน้าอะโวคาโด้ ที่มันดูแพงอย่างไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย

คนเจนวายยังถูกมองว่าเป็นคนเจเนอเรชั่นที่ขี้เกียจ ไม่เอาจริงเอาจัง หยิบโหย่ง ไม่อึด ไม่อดทน ทำงานได้แป๊บๆ ก็ลาออก ไม่เห็นเหตุผลว่าทำไมคนเราต้องอุทิศตัวให้บริษัท ให้องค์กร แค่ทำตามหน้าที่ ทำตามค่าจ้างที่ได้รับ ทำตามความรับผิดชอบของงานที่ได้รับมอบหมาย

ในขณะที่คนเจน x และ เบบี้บูมเมอร์ จะมองว่า การอุทิศตัวทำงานให้องค์กรเป็นจรรยาบรรณอย่างหนึ่งของการทำงาน

และบ่อยครั้งที่เราอาจทำงานเกินเวลา อยู่ออฟฟิศดึกๆ ดื่นๆ ทำงานให้ออกมาดีที่สุด โดยไม่ได้สนใจว่าจะได้ค่าแรงล่วงเวลาหรือไม่ แต่ทำเพื่อความภูมิใจ เพื่อคุณค่าของงานในตัวมันเอง

คนเจนวายมองว่า การทำงานแบบนั้นไม่ฉลาดเลย คนเจน X จำนวนมากเผชิญกับภาวะเครียด นอนไม่หลับจากการทำงาน เจ็บไข้ได้ป่วย เป็นโรคกระเพาะ เป็นโรคมะเร็ง เพราะทำงานมากเกินไป

แล้วถามว่า ใครได้ประโยชน์จากสุขภาพของเราที่ต้องเสียไป ก็คือ “องค์กร” ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ครอบครัว แต่คนเจน X หรือคนเจนเบบี้บูมเมอร์ เหมือนถูกหลอกให้ทำงานหนักในนามของความภาคภูมิใจ

ภาพเหมารวมของคนเจนวาย คือคนที่ ถ้าเป็นไปได้ ไม่อยากทำงานประจำ (คำว่า 9-5 แทบจะกลายป็นคำหยาบ) คิดนอกกรอบออกไปว่า การทำงานไม่จำเป็นต้องอยู่ในออฟฟิศประจำ คนเราควรสามารถทำงานจากบ้านหรือจากที่ไหนๆ ในโลกได้

คนเหล่านี้ไม่ซื้อบ้าน ไม่ซื้อรถ แต่เชื่อในการ “แชร์” ทรัพยากร เช่น co living space, co working space

นั่นหมายความว่า เลือกเชื่อเรื่องการครอบครองทรัพย์สิน สิ่งของ แต่ไปใช้แชร์ๆ ร่วมกับคนอื่น

และถ้าจะต้องมีทรัพย์สินในครอบครองก็ขอมีให้น้อยชิ้นที่สุด มีจานสามสี่ใบ แก้วน้ำสองสามใบ เสื้อผ้าไม่เกินแปดชิ้น

พอกันทีกับคนรุ่นพ่อรุ่นแม่เราที่มีจาน ชาม แก้วน้ำ ที่นอน หมอนมุ้งสรรพสิ่ง สมบัติบ้า ของสะสม ของในตู้โชว์ แบบมีแล้วมีอีก สุดท้ายไม่เคยได้เอาออกมาใช้

และเมื่อตายไปก็กลายเป็นขยะล้นบ้านล้นช่อง หรือเป็นแห่งสรรพสิ่งที่ส่งทอดความรกรุงรังในชีวิตต่อๆ กันไปอย่างไม่ที่สิ้นสุด

ฟังดูเผินๆ ชีวิตคนเจนวาย ก็เหมือนจะดี แม้จะถูกคนเจน X มองว่าเป็นเจนที่ไร้สาระ หยิบโหย่ง ไม่สู้งาน ขี้เกียจ และหากเอามาตรฐานของความสำเร็จในชีวิตแบบคนเจน X หรือเบบี้บูมเมอร์มาตัดสิน

นั่นคือ ต้องมีบ้าน มีรถ มีงานประจำ แต่งงาน มีลูก

คนเจนวายดูเหมือนจะไม่เข้าข่ายผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตเอาเสียเลย

 

แต่ในเวลาเดียวกันภาพพจน์คนเจนวายก็ดูดีมีคุณภาพ ไม่ยึดติดกับวัตถุที่ไม่จำเป็น ให้ความสำคัญกับสุขภาพ ประสบการณ์ การเดินทาง การพักผ่อน

แต่ข้อมูลอีกด้านหนึ่ง – เฉพาะในอเมริกา – กลับชี้ให้เห็นว่าจากสถิติ คนเจนวายมีรายได้น้อยกว่าคนเจน x และเบบี้บูมเมอร์ในวัยเดียวกันถึงร้อยละ 20

สิ่งที่น่าตกใจคือ คนเจนวายการศึกษาดีขึ้น รายได้น้อยลง เข้าไม่ถึงระบบสวัสดิการของรัฐ ไม่มีเงินเกษียณ ไม่มีความมั่นคงในการทำงาน

และคนกลุ่มนี้ที่มีการศึกษาดี กลับต้องมาพึ่งการสงเคราะห์จากรัฐ อย่างเช่น แสตมป์รับอาหารฟรี มากขึ้น

และที่น่าสนใจกว่านั้นคือ สถิติ “คนจน” ที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีและสูงกว่า กลับเพิ่มสูงขึ้น (1)

ทําไมจึงเป็นเช่นนั้น คงเป็นคำถามที่ใหญ่มากๆ และฉันคงไม่อาจหาญที่จะตอบ แต่ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา

ได้อ่านบทความหลายบทความที่ทำให้พอจะเห็นภาพความยากจนของคนเจนวายที่จบการศึกษาอย่างน้อยระดับปริญญาตรี

เช่น ข่าว Ellen Tara James-Penney อาจารย์ที่มหาวิทยาลัย San Jose State ที่ใช้ชีวิตเหมือนโฮมเลส ไม่มีบ้าน เพราะลำพังเงินเดือนอาจารย์ พอสำหรับจ่ายหนี้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาและค่ากินอยู่ แต่ไม่พอสำหรับจ่ายค่าเช่าบ้าน จึงต้องอาศัยนอนในรถ และหาที่จอดรถนอนไปคืนต่อคืน http://sanfrancisco.cbslocal.com/2017/08/30/homeless-san-jose-state-professor-struggles-living-out-of-her-car/

หรือบทความของ Julia Meszaros ที่ตั้งชื่อบทความอย่างตรงไปตรงมาว่า “The Rise of Hyper Educated Poor” เธอพูดถึงภาวะยากจนของเหล่าอาจารย์มหาวิทยาลัยหน้าใหม่ คนเหล่านี้จบปริญญาโทหรือเอก บากบั่นเรียนหนังสือให้สูงที่สุด

อย่างที่บอก ใครๆ ก็เชื่อว่าการศึกษาคือเครื่องมือที่จะปลดปล่อยเราออกจากความยากจน การศึกษาคือเครื่องมือในการขยับทางชนชั้น แบบที่เราเคยได้ยินคำพูดประมาณ – “ผมเป็นลูกชาวนา แต่ลูกผมเป็นลูกโปรเฟซเซอร์” – อะไรทำนองนี้

ลูกหลานชนชั้นกลางทั้งบนทั้งล่าง ทั้งตัวเขาเองและพ่อแม่ของเขาก็เห็นตรงกันว่า ถ้าเรียนได้ก็เรียนไปเถอะ เรียนให้สูงๆ เข้าไว้ พ่อแม่ก็เชื่อว่าการศึกษาคือทรัพย์สินที่สูงค่าที่สุดเท่าที่พ่อแม่จะส่งมอบให้กับลูกได้

ทุกคนเห็นตรงกันว่า การลงทุนเพื่อการศึกษาเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า จึงไม่มีใครรังเกียจเดียดฉันท์ที่จะกู้เงินเรียน

Julia บอกว่า พวกเธอกู้เงินเรียนสูงๆ ฝันถึงอนาคตอันเรืองรองที่รออยู่

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลน้อยลง นั่นแปลว่ามหาวิทยาลัยต้องบริหารให้องค์กรมีกำไร

สิ่งที่เกิดขึ้น การจ้างงานในมหาวิทยาลัยดำเนินไปในทิศทางที่หลายคนบอกว่า “เอาเปรียบแรงงานอาจารย์รุ่นใหม่” มากขึ้น

นั่นคือ จ้างงานแบบสัญญาปีต่อปีมากขึ้น ลดการจ้างงานในตำแหน่งอาจารย์ประจำลง พร้อมๆ กับที่มีคนจบการศึกษาระดับปริญญาโท ปริญญาเอก ออกมาดกดื่น

จากการที่มหาวิทยาลัยก็รับนักศึกษาระดับบัณฑิตวิทยาลัยเพิ่มขึ้นเพื่อหารายได้จากค่าเล่าเรียน ยิ่งนักเรียนมาก รายได้ของมหาวิทยาลัยก็มาก

ผลก็คือ อาจารย์จบใหม่เหล่านี้ต้องทำงานบนสัญญาจ้างงานชั่วคราว ไม่มีสวัสดิการ ไม่มีเงินเกษียณ รายได้ต่ำ ชั่วโมงการสอนแน่น หลายคนวิ่งรอกสอนหลายมหาวิทยาลัย

เมื่อสอนเยอะ ก็ไม่มีเวลาทำงานวิชาการ ไม่มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ ก็ยิ่งทำให้โอกาสจะได้บรรจุเข้าเป็นอาจารย์ประจำตีบตันลงอีก

Julia บอกว่า อาจารย์จบใหม่จำนวนไม่น้อยต้องอาศัยแสตมป์อาหารฟรีในการดำรงชีวิต ทั้งๆ ที่ปกติ มีแต่คนที่จนมากๆ เท่านั้นที่ต้องใช้แสตมป์นี้

และเช่นเดิม รายได้จากการสอนส่วนหนึ่งก็ต้องเอาไปจ่ายคืนเงินกู้เพื่อการศึกษา

สรุปได้หยาบๆ ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างน้อยในสังคมอเมริกันคือ อเมริกันดรีม ไม่มีจริง จากที่เคยเชื่อว่า ถ้าเราขยัน ประหยัด ทำงานหนัก ตั้งใจเรียน เรียนให้สูง เราจะประสบความสำเร็จในชีวิต แต่ปรากฏว่า โดยโครงสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจแนวทางเสรีนิยมที่ทำให้สวัสดิการสองอย่างอันสำคัญที่สุดกับความมั่นคงในชีวิตพลเมืองหายไปคือสวัสดิการด้านการศึกษากับสาธารณสุข – ส่งผลอย่างชัดเจนต่อการเพิ่มขึ้นของความยากจนในหมู่พลเมือง

พูดให้ง่ายขึ้นอีกก็คือ มันเพิ่มจำนวนคนจน!

คนจนรุ่นใหม่ คนจนเจนวายที่เรียนจบออกมาแล้วพบว่างานหายาก ค่าแรงต่ำ ตำแหน่งงานอยู่ในเมืองใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางธุรกิจ ถ้าจะเข้ามาทำงานก็ต้องจ่ายค่าเช่าบ้านแพงลิบจนรายได้หรือเงินเดือนที่ได้ไม่พอจะจ่ายค่าเช่า พร้อมกันนั้น พวกเขายังต้องแบกรับภาระหนี้สินจากเงินกู้เพื่อการศึกษาอีก

เมื่องานหายาก พวกเขาต้องทำงานที่มีค่าแรงต่ำกว่าวุฒิการศึกษา หรือยอมทำงานรายชิ้น งานฟรีแลนซ์ งานชั่วคราว นั่นหมายความว่าพวกเขาไม่มีสวัสดิการใดๆ จาก “นายจ้าง” พวกเขาแทบไม่ได้รับการคุ้มครองแรงงานตามกฎหมายแรงงาน เจ็บป่วยก็ต้องควักกระเป๋าจ่ายเองทุกบาททุกสตางค์ และทำงานไปบนความไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะไม่มีงานทำ

และนายจ้างสามารถเลิกจ้างพวกเขาโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยใดๆ เพราะพวกเขาเป็นแค่ฟรีแลนซ์หรือ Temp

เมื่อคนเจนวาย “ยากจน” ถึงเพียงนี้ก็ไม่น่าแปลกใจที่พวกเขาต้องสมาทานวิถีชีวิตแบบที่เรามองผิวเผิน เราคิดว่าเป็นชีวิตฮิปสเตอร์ นั่นคือ ไม่มีบ้าน ไม่มีรถ ต้องไปนั่งทำงานใน co working space เพราะไม่สามารถนั่งทำงานในห้องเช่ารูหนูของตัวเองได้

ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่พนักงานประจำของบริษัทไหน เลยไม่มี “ที่ทำงาน” พวกเขาต้องเช่าบ้านอยู่รวมๆ กันในนามของ co living space พวกเขาอาจจะต้องเดินทางด้วยการ “เดิน” หรือ “ปั่นจักรยาน”

พวกเขาไม่สามารถมีแฟน เพราะมีแฟนต้องใช้เงิน (โอ…บางทีเลยต้องบอกว่าตัวเองชอบชีวิตสันโดษ) ไม่ต้องพูดถึงว่าพวกเขาไม่สามารถแต่งงาน มีลูก

หลายๆ คนยังต้องอาศัยอยู่กับพ่อแม่ ทั้งๆ ที่เรียนจบมาหลายปีแล้ว และทนกับสายตาดูถูกเหยียดหยามจากเพื่อนบ้านว่า เฮ้ย โตจนหมาเลียตูดไม่ถึงแล้วยังอยู่บ้านพ่อบ้านแม่อีกหรือ?

มันจริงที่ว่า คนที่ใช้ชีวิตเยี่ยงฮิปสเตอร์ไม่ได้ “จน” ทุกคน แต่มันก็จริงอีกที่ว่า ไลฟ์สไตล์หลายคนไปพ้องพานกับความเป็นฮิปสเตอร์โดยบังเอิญ ไม่ใช่เพราะอยากฮิป แต่เป็นเพราะกูจนว้อยยยย!

สิ่งทิ่คนเจนวายผู้ยากจนควรทำอย่างยิ่ง เพื่อให้คนเจน Z ต้องลำบากกว่าที่พวกเขาต้องเผชิญคือ การเรียกร้องให้รัฐบาลเก็บภาษีจากคนที่ครอบครองความมั่งคั่งของสังคม แล้วนำมาเป็นสวัสดิการของพลเมืองอย่างน้อยสองเรื่องคือ เรื่องการศึกษาฟรี และเรื่องการรักษาพยาบาลฟรีหรือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

และความจนจะไม่เลวร้ายเกินไป หากเราเป็นฮิปสเตอร์ที่ต้องเดิน ต้องปั่นจักรยาน เราก็ต้องผลักดัน การสร้างเมืองที่เดินได้ ปั่นได้ หรือการมี co working space ที่อุดหนุนโดยรัฐบาล รวมไปถึงการจัดหาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย

หากเราไม่ผลักดันเรื่องหล่านี้ ไม่ช้านาน เราจะกลายเป็นฮิปสเตอร์ที่ถือ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” และรอซื้อของร้านธงฟ้าเดือนละ 200 บาท เหมือนคนจนการศึกษาสูงในอเมริกาจำนวนหนึ่งที่ยังชีพด้วยแสตมป์อาหารฟรี

(1) สำหรับผู้สนใจสถิติความยากจนที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มคนที่เรียนสูง http://www.demos.org/blog/12/2/15/why-education-does-not-fix-poverty