10 เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก ในมุมมองของ MIT ปี 2023 | บัญชา ธนบุญสมบัติ

ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติhttps://www.facebook.com/buncha2509

ทุกๆ ปีสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือ MIT (เอ็มไอที) จะประกาศ “10 Breakthrough Technologies” หรือ 10 สุดยอดเทคโนโลยีที่กองบรรณาธิการวารสาร MIT Technology Review เห็นว่าจะส่งอิทธิพลต่อสังคมมนุษย์ในวงกว้างและมีผลกระทบในระยะยาว

มาดูกันครับว่า ปี ค.ศ.2023 นี้ MIT ระบุว่าอะไรบ้างที่อาจมีบทบาทในชีวิตของเรามากขึ้น

ภาพสร้างโดย DALL.E 2 โดยใช้คำว่า Muay Thai fight in space with aliens watching

1) คริสเปอร์เพื่อจัดการปัญหาคอเลสเตอรอลสูง

องค์กรที่เกี่ยวข้อง : Verve Therapeutics, Beam Therapeutics, Prime Medicine, Broad Institute

สถานภาพ : อาจเป็นจริงได้ภายใน 10-15 ปี

คริสเปอร์ (CRISPR) ย่อมาจาก Cluster Regulary-Interspaced Short Palindromic Repeats เป็นเทคโนโลยีการตัดต่อจีโนม ซึ่งสามารถใช้ในการรักษาทางการแพทย์ได้ เช่น การแก้ไขยีน (gene editing) เพื่อรักษาโรคบางโรค

ใน ค.ศ.2022 มีการทดลองแก้ไขยีนของสตรีชาวนิวซีแลนด์เพื่อทำให้ระดับคอเลสเตอรอลของเธอลงอย่างถาวร สตรีผู้นี้มีโรคหัวใจและเสี่ยงต่อภาวะคอเลสเตอรอลสูงอยู่แต่เดิม หลักการคือ ปิดสวิตช์ยีนที่เรียกว่า PCSK9 ซึ่งเป็นยีนที่สร้างโปรตีนที่มีบทบาทในการควบคุมระดับคอเลสเตอรอลในกระแสเลือด

ควรทราบด้วยว่าการรักษาด้วยเทคโนโลยีคริสเปอร์ในปัจจุบัน (ต้นปี ค.ศ.2023) ยังอยู่ในขั้นทดลองเท่านั้น เนื่องจากประเด็นด้านความปลอดภัยยังไม่แน่ชัด

Pic

2) ปัญญาประดิษฐ์ที่สร้างภาพได้

องค์กรที่เกี่ยวข้อง : OpenAI, Stability AI, Midjourney, Google

สถานภาพ : มีใช้งานแล้ว

การสร้างภาพด้วยเอไอโดยการป้อนชุดคำสำคัญให้จัดเป็นส่วนหนึ่งของเอไอแบบรู้สร้าง (Generative AI) ตัวอย่างเอไอดังกล่าว เช่น DALL.E 2, Midjourney และ Imagen

ศิลปินและคนที่ทำงานด้านการออกแบบมีปฏิกิริยาตอบสนองแตกต่างกันไป ส่วนคนออกแบบระบบมองว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์เชิงคำนวณ (Computational Creativity)

OpenAI ผู้สร้าง DALL.E 2 บอกว่านี่เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งบนเส้นทางการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์แบบทั่วไป (General Artificial Intelligence) ซึ่งหมายถึง ปัญญาประดิษฐ์ที่มีความสามารถทุกด้านเทียบเท่ากับมนุษย์

 

3) การออกแบบชิปที่จะเปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่าง

องค์กรที่เกี่ยวข้อง : RISC-V International, Intel, SiFive, SemiFive, China RISC-V Industry Alliance

สถานภาพ : มีใช้งานแล้ว

ก่อนหน้านี้การออกแบบชิพเป็นความลับทางการค้า โดยมีสถาปัตยกรรมหลายแบบ แต่มี 2 แบบหลัก ได้แก่

(1) x86 ซึ่งใช้โดย Intel และ AMD

และ (2) Arm ทั้งนี้ผู้ใช้ต้องซื้อสิทธิ์การใช้ชุดคำสั่ง แต่เนื่องจาก x86 และ Arm “พูดคนละภาษา” แปลว่านักพัฒนาซอฟต์แวร์ต้องเขียนโค้ด 2 ชุดเพื่อให้แอพพ์หนึ่งๆ ใช้งานได้กับชิพทั้งสองแบบ

ปัจจุบันมี RISC-V (ออกเสียง “ริสก์ไฟว์”) ซึ่งเป็นมาตรฐานเปิด (open standard) สำหรับการออกแบบชิพ การเป็นมาตรฐานเปิดหมายถึงใช้งานได้ฟรี จึงเปิดโอกาสให้บริษัทเล็กๆ ที่ไม่มีทุนมากนักสามารถเข้าถึงการออกแบบชิพได้

 

4) โดรนทางการทหารที่ผลิตในปริมาณมาก

องค์กรที่เกี่ยวข้อง : Baykar Technologies, Shahed Aviation Industries

สถานภาพ : มีใช้งานแล้ว

โดรนเป็นเทคโนโลยีที่เริ่มจากการทหารมาก่อนที่จะเผยแพร่เข้าสู่การใช้งานภาคพลเรือน

แต่ปัจจุบันความต้องการใช้งานโดรนสูงขึ้นโดยสาเหตุหลักคือมีการใช้งานทางการทหารมากขึ้น

ทั้งการตรวจตราและการโจมตีเป้าหมาย

เดิมทีสหรัฐอเมริกาและอิสราเอลเป็นผู้นำในการส่งออกโดรนทางการทหาร

แต่ปัจจุบันมีผู้เล่นหน้าใหม่เพิ่มขึ้น เช่น อิหร่าน และตุรเคีย (ตุรกี)

ปัจจุบันราว 80 ประเทศทั่วโลกใช้งานโดรนทางการทหาร

นอกจากนี้ ระบบต่อต้านโดรนก็มีใช้มากขึ้นด้วยเช่นกัน

 

5) ยาทำแท้งผ่านการแพทย์ทางไกล

องค์กรที่เกี่ยวข้อง : Choix, Hey Jane, Aid Access, Just the Pill, Abortion on Demand, Planned Parenthood, Plan C

สถานภาพ : มีใช้งานแล้ว

หัวข้อนี้เป็นประเด็นของสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะ ใน ค.ศ.1973 ศาลสูงสุดมีคำตัดสินให้การทำแท้งถูกต้องตามกฎหมาย เรียกว่า คดี Roe V. Wade

แต่ในวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ.2022 ศาลสูงสุดมีคำตัดสินว่าการทำแท้งไม่ใช่สิทธิที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ

ผลก็คือ แต่ละรัฐมีแนวทางปฏิบัติแตกต่างกันซึ่งส่งผลกระทบแล้ว

เช่น สตรีที่ต้องการใช้ยาทำแท้งต้องเดินทางข้ามเขตรัฐไปยังรัฐที่ยอมให้มีการปรึกษาแพทย์ได้

และเป็นการปรึกษาแพทย์แบบทางไกล

 

6) อวัยวะทดแทนสั่งซื้อได้ตามต้องการ

องค์กรที่เกี่ยวข้อง : eGenesis, Makana Therapeutics, United Therapeutics (UT)

สถานภาพ : อาจจะเกิดขึ้นภายใน 10-15 ปี

ปัจจุบันมีการปลูกถ่ายอวัยวะราว 130,000 อวัยวะต่อปี แต่ความต้องการอวัยวะทดแทนยังมีอีกมาก ส่วนหนึ่งเพราะว่าอวัยวะที่ได้รับบริจาคมาไม่สามารถใช้งานได้ เช่น ปอดและหัวใจ กว่าครึ่งไม่สามารถใช้ได้เนื่องจากไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยขององค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา

การแก้ไขปัญหานี้มี 3 แนวทาง ได้แก่ (1) ซ่อมแซมอวัยวะที่บกพร่องให้กลับมาใช้งานได้ (2) ใช้อวัยวะจากหมูที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรมแล้ว (ที่ใช้หมูเนื่องจากอวัยวะของมันมีรูปร่างและขนาดใกล้เคียงกับอวัยวะของมนุษย์) และ (3) ใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติจากเซลล์ต้นกำเนิด (สเต็มเซลล์) เพื่อสร้างอวัยวะใหม่ในไบโอรีแอกเตอร์

ช่วงต้นปี ค.ศ.2022 เดวิด เบนเนตต์ เป็นคนไข้คนแรกของโลกที่ได้รับการผ่าตัดใส่หัวใจหมู (ที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรมแล้ว) เขามีชีวิตอยู่ได้ราว 2 เดือน

 

7) ยานยนต์ไฟฟ้าที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง

องค์กรที่เกี่ยวข้อง : BYD, Hyundai, Tesla, Volkswagen

สถานภาพ : มีใช้งานแล้ว

ตลาดของยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องด้วยปัจจัยหลายอย่าง ทั้งในแง่ราคาที่ลดลง สมรรถนะที่สูงขึ้น ตัวเลือกที่มากขึ้น การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม รวมทั้งนโยบายการส่งเสริมของรัฐ

หัวใจของยานยนต์ไฟฟ้าคือแบตเตอรี่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแบตเตอรี่ลิเธียม แต่แบตเตอรี่ชนิดนี้ยังมีราคาสูง คือ ราว 15-20% ของราคายานยนต์ อีกทั้งยังเสื่อมราว 3-5% ต่อปี (แปลว่าในเวลา 10 ปี ระยะทางสูงสุดที่วิ่งได้จะลดลงราว 25-37%)

Vehicle Technology Office ของ Department of Energy ของสหรัฐอเมริกาตั้งเป้าว่าการพัฒนาแบตเตอรี่ควรเป็นไปใน 3 ทิศทาง

ได้แก่ ลดราคา ใช้งานได้ไกลขึ้น และเติมประจุได้เร็วขึ้น

 

8) กล้องโทรทัศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์

องค์กรที่เกี่ยวข้อง : NASA, ESA, Canadian Space Agency, Space Telescope Science Institute

สถานภาพ : ใช้งานแล้ว

กล้องโทรทัศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์ออกแบบมาเพื่อจุดประสงค์ 4 อย่าง ได้แก่ (1) ค้นหาแสงแรกจากดาวฤกษ์ดวงแรกๆ และกาแล็กซี่แรกๆ (2) ศึกษาการก่อตัวและพัฒนาการของกาแล็กซี่ (3) ศึกษาการก่อตัวของดาวฤกษ์และดาวเคราะห์ และ (4) ศึกษาระบบดาวเคราะห์และกำเนิดชีวิต

ในการศึกษาอดีตอันไกลแสนไกลจึงออกแบบให้กล้องนี้ทำงานในช่วงรังสีอินฟราเรด เนื่องจากรังสีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากวัตถุที่กำเนิดขึ้นนานแสนนานมาแล้วจะเกิดเรดชิฟต์จนกลายเป็นรังสีอินฟราเรด เป็นต้น

กล้องโทรทัศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์ถูกส่งขึ้นไปเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ.2021 และได้ส่งภาพแรกเรียกว่า Webb’s Deep Field กลับมา โดยมีการประกาศเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ค.ศ.2022

 

9) การวิเคราะห์ดีเอ็นเอโบราณ

องค์กรที่เกี่ยวข้อง : Max Planck Institute for Evolutionary Anthropology, David Reich Lab at Harvard

สถานภาพ : ทำได้แล้ว

การวิเคราะห์ดีเอ็นเอของมนุษย์โบราณทำได้ยากมากเนื่องจากดีเอ็นเอมักเสื่อมสภาพ และอาจมีการปนเปื้อนจากจุลชีพหรือดีเอ็นเอของคนในปัจจุบัน แต่ในที่สุดนักวิทยาศาสตร์ก็ทำได้สำเร็จ ถือเป็นกำเนิดของศาสตร์ใหม่ เรียกว่า พันธุศาสตร์ดึกดำบรรพ์ (Paleogenomics)

โดยการวิเคราะห์หาลำดับดีเอ็นเอ (DNA sequencing) ของมนุษย์โบราณ ทำให้ทราบว่ามนุษย์นีแอนเดอร์ทัลกับโฮโมเซเปียนส์บางส่วนได้มีเพศสัมพันธ์กันทำให้ชาวยุโรปและชาวเอเชียมียีนของนีแอนเดอร์ทัลอยู่ราว 1-2%

นอกจากนี้ ยังมีการค้นพบมนุษย์โบราณสายพันธุ์ (หรือสายพันธุ์ย่อย) ใหม่ เรียกว่า เดนิโซวา (Denisova) และพบว่าบางส่วนของชาวออสเตรเลียพื้นเมือง ชาวโพลินีเชีย ชาวฟิเจียน และชาวอินโดนีเซียตะวันออก ก็มียีนของเดนิโซวาเช่นกัน

 

10) การรีไซเคิลแบตเตอรี่

องค์กรที่เกี่ยวข้อง : CATL, Umicore, Redwood Materials, Li-Cycle, Cirba

สถานภาพ : ทำได้แล้ว

เมื่อมีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ก็ย่อมต้องการแบตเตอรี่และวัสดุที่ใช้ทำแบตเตอรี่มากขึ้นตามไปด้วย ประมาณกันว่าภายในปี ค.ศ.2035 อาจต้องมีการขุดเหมืองโลหะเพิ่มขึ้นอีกราว 200 แห่ง การรีไซเคิลจึงอาจช่วยบรรเทาปัญหานี้ได้

บริษัทที่ทำงานด้านการรีไซเคิลแบตเตอรี่ได้พัฒนาเทคโนโลยีและการจัดการให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

บางบริษัทอย่างเช่น Redwood Materials ประกาศการลงทุนสร้างโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่ด้วยวงเงินสูงถึง 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ

แหล่งข้อมูลแนะนำ : หากสนใจรายละเอียดเพิ่มเติม ตามไปอ่านเรื่อง 10 Breakthrough Technologies 2023 ที่ https://www.technologyreview.com/2023/01/09/1066394/10-breakthrough-technologies-2023