เงินบาทแข็ง ส่งออกติดลบ 14%

ส่งท้ายปีขาล เริ่มต้นปีกระต่าย ด้วยตัวเลขการนำเข้า-ส่งออก เดือนธันวาคม 2565 ที่กระทรวงพาณิชย์แถลงข่าวเมื่อวันที่ 24 มกราคม ที่ผ่านมา สร้างความตกอกตกใจแก่ประชาชนเป็นอย่างมาก

เนื่องจากตัวเลขการส่งออกของเดือนธันวาคม 2565 ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2565 ถึง 8.26% และเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2564 (ปีก่อนหน้า) ลดลง 6.08%

เมื่อคิดเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ พบว่าลดลงจากเดือนธันวาคม 2564 ถึง 14.56%

ซึ่งสวนทางกับการส่งออก 9 เดือนแรกของปี 2565 อย่างสิ้นเชิง

 

ผู้เขียนเคยพยากรณ์ปัญหาเศรษฐกิจที่รัฐบาลจะต้องประสบในปี 2566 ในบทความก่อนหน้า แต่ไม่คิดว่าวิกฤตการส่งออกของไทยจะมาถึงเร็วขนาดนี้

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกของไทยชะลอตัว ก็คือ อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท หรือที่นิยมเรียกกันว่า ค่าเงินบาท

อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท พบว่า ปรับตัวลดลงหรืออ่อนค่าลงเป็นอย่างมากในช่วงเดือนตุลาคม 2565 อยู่ที่ระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นสัญญาณหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าการส่งออกกำลังจะชะลอตัวลง

ต่อมาค่าเงินบาทก็ปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว อยู่ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน และปรับสูงขึ้นอยู่ที่ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

ล่าสุดเดือนมกราคม 2566 อยู่ที่ระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ ทั่วโลก พบว่าเงินบาทมีการแข็งค่าอันดับ 1 ของภูมิภาค

ไม่เฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับสกุลดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น แต่เมื่อเปรียบเทียบกับทุกสกุลเงิน พบว่าเงินบาทแข็งค่ากว่าทุกสกุลเงิน

ซึ่งเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจของประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลักอย่างประเทศไทยเป็นอย่างมาก หากปล่อยให้ค่าเงินบาทแข็งค่าอยู่เช่นนี้

รับรองได้ว่าตัวเลขการส่งออกในเดือนมกราคม 2566 และเดือนต่อๆ ไป ติดลบอย่างมหาศาลแน่นอน

เมื่อการส่งออกติดลบมากๆ เข้า ก็จะฉุดรั้งเศรษฐกิจให้ไม่สามารถเติบโต หากเติบโตอย่างมากก็เพียง 1-2% เท่านั้น

ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา มีโอกาสสร้างความเติบโตได้มากกว่าประเทศพัฒนาแล้ว เพราะฐานของเศรษฐกิจมีขนาดเล็กกว่ามาก

แต่กลับกลายเป็นว่าประเทศไทยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเท่ากับประเทศพัฒนาแล้ว

 

ขออธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับค่าเงินบาทในระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการจัดการ (Managed float) ที่ประเทศไทยใช้อยู่ในปัจจุบัน

อัตราแลกเปลี่ยน คือ ราคา ที่เกิดจากจุดตัดของอุปสงค์ (Demand) ของเงินบาท และอุปทาน (Supply) ของเงินบาท ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามกลไกของตลาด ซึ่งก็คือความต้องการใช้เงินบาทและปริมาณเงินบาทที่มีอยู่ ส่วนราคาก็คือ อัตราแลกเปลี่ยน นั่นเอง

เมื่อมีความต้องการเงินบาทเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปริมาณเงินบาทคงที่ ราคาของเงินบาทก็ปรับสูงขึ้น เพราะความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ต้องแย่งกันซื้อในราคาที่สูงขึ้น

ในทางกลับกันเมื่อความต้องการเงินบาทลดลง ราคาเงินบาทก็จะลดลง เพราะไปต้องแย่งกันซื้อในราคาที่สูง

 

สาเหตุที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงนี้ เพราะการท่องเที่ยวขยายตัวอย่างมากหลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดคลี่คลายลง

กอปรกับประเทศจีนอนุญาตให้ประชาชนสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศได้ รวมกับช่วงนี้มีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้าประเทศเป็นจำนวนมาก

ความต้องการเงินบาทจึงเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในระยะเวลาเพียง 2 เดือนเศษเท่านั้น

38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ สู่ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เปลี่ยนแปลงมากถึง 6 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเกือบ 20%

นั่นหมายความว่า หากเราส่งออกสินค้าจากเดิมได้เงิน 100 บาท วันนี้จะเหลือเพียง 80 บาทเศษ เท่านั้น ถ้าไม่ขายขาดทุนก็ต้องเพิ่มราคาสินค้าให้สูงขึ้น

ซึ่งการเพิ่มราคาสินค้าย่อมหมายถึงความสามารถในการแข่งขั้นทางการค้าในเวทีโลกลดลง จึงเป็นที่มาว่าทำไมการส่งออกถึงลดลงรวดเร็วพอๆ กับการแข็งค่าของเงินบาท

 

“ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเป็นไปตามกลไกตลาด” คำพูดนี้เรามักได้ยินอยู่เสมอ ใช่ครับ ไม่ปฏิเสธว่าค่าเงินย่อมเป็นไปตามธรรมชาติของกลไกตลาด

แต่ประเทศไทยมีหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลและจัดการ ซึ่งก็คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย หากปล่อยทุกอย่างเป็นไปตามยถากรรมโดยไม่จัดการดูแล แล้วอ้างว่าเป็นไปตามกลไกตลาดเพียงอย่างเดียว ประเทศไทยคงไม่จำเป็นต้องมีหน่วยงานดูแลจัดการก็ได้

การมีหน่วยงานดูแลจัดการ เพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจน้อยที่สุด หรือที่เรียกว่า Minimize loss นั่นเอง และนั่นคือหน้าที่โดยตรงของธนาคารแห่งประเทศไทย

แต่ทุกวันนี้ยังไม่เห็นสัญญาณและท่าทีที่เป็นรูปธรรมของธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีต่อปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วแต่อย่างใด

ซ้ำยังปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียงเพราะกลัวเงินเฟ้อที่เกิดจากวิกฤตราคาพลังงาน เป็นการเร่งให้เงินทุนไหลเข้าประเทศเพิ่มขึ้น

ซึ่งค่าเงินบาทแข็งหากปล่อยทิ้งไว้จะทำลายโอกาสขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2566 ทำลายความหวังตั้งแต่เริ่มต้นปีเลยทีเดียว

 

พอบวกเข้ากับปัญหา 3 ประการที่ไทยจะต้องเผชิญในปี 2566 ที่ผู้เขียนเคยพยากรณ์ไว้ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อันได้แก่

1. ปัญหาวิกฤตราคาพลังงาน ส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อแบบ Cost-push inflation

2. ปัญหาการขาดดุลการค้า

และ 3. ปัญหาดอกเบี้ยโลกขาขึ้น ปัญหาเหล่านี้คอยบั่นทอนการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2566 อยู่แล้ว ยังมิวายเจอปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่าอีก

การท่องเที่ยวที่กำลังขยายตัวไปได้สวยงามในช่วงนี้ ก็ขออย่าได้มาสะดุดเพราะค่าเงินบาทแข็งค่าเลย เพราะการท่องเที่ยวเป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจเพียงเครื่องจักรเดียวที่เหลืออยู่ของไทย

ส่วนการส่งออกปีนี้คงเป็นปีที่เลวร้ายมากๆ เพราะเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงขาลง ความต้องการจึงลดลงตามสภาวะเศรษฐกิจโลก บวกกับค่าเงินบาทที่ไม่เอื้ออำนวยการส่งออก พอส่งออกไม่ได้ราคาสินค้าเกษตรในประเทศคงตกต่ำอย่างแน่นอน เพราะราคาสินค้าเกษตรขึ้นอยู่กับราคาส่งออก จะหวังพึ่งการบริโภคในประเทศก็ถูกอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นสกัดไว้อีก

คงได้แต่หวังว่าสื่อมวลชนจะช่วยกันส่งเสียงเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทยช่วยทำหน้าที่ของตนเองโดยเร็วในการจัดการค่าเงินไม่ให้แข็งค่าเกินไป

มิฉะนั้น คนไทยทั้งประเทศคงต้องก้มหน้ารับกรรมจากภาวะเศรษฐกิจหดตัวด้วยกันทุกคนทั้งที่ไม่ได้ก่อ