ไปทำความรู้จัก “ท่านผู้หญิงบุตรี” ข้าหลวงผู้ปิดทองหลังพระ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

นอกจากประชาชนนับล้าน นายทหารทุกเหล่าทัพกว่า 5,613 นาย และหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ข้าราชบริพาร ข้าราชการ ที่ร่วมในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จนเสร็จสิ้นสมพระเกียรติแล้ว

ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพนั้น มีขั้นตอนประเพณีซับซ้อน ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรและภาพถ่ายมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีวิธีการธรรมเนียมปฏิบัติที่ได้คงสืบต่อมา

ในการนี้มีข้าราชบริพาร 1 คน ที่ถวายการรับใช้ราชสำนักมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ต้นรัชสมัยรัชกาลที่ 9 ได้ซึมซับ-เรียนรู้ และมีประสบการณ์การถวายงานในพระราชพิธีต่างๆ อย่างแม่นยำ

1 ในนั้นคือ ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ รองราชเลขาธิการ ประจำสำนักพระราชวัง

“ท่านผู้หญิงบุตรี” ในฐานะรองราชเลขาธิการ ประจำสำนักพระราชวัง ได้ถวายการรับใช้ในโบราณราชประเพณีพระราชพิธีสำคัญๆ มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง

ก่อนหน้าพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวง รัชกาลที่ 9 “ท่านผู้หญิงบุตรี” ได้ถวายการรับใช้ในการพระบรมศพมาแล้ว 3 พระบรมศพ คือ พระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ “สมเด็จย่า”

พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระศพ และพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

และพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระศพ และพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

ในฐานะที่เป็น 1 ในคณะที่ปรึกษาคณะกรรมการริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

“ท่านผู้หญิงบุตรี” กล่าวกับตัวแทน 100 ราชสกุล ทุกมหาสาขา จาก 129 ราชสกุล ที่ร่วมฝึกซ้อมในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ว่า

“พระวงศานุวงศ์ ราชสกุล ข้าราชบริพารในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แพทย์และพยาบาล ผู้ที่เคยถวายงาน สมาคม องค์กร มูลนิธิ โรงเรียน ที่ได้รับคัดเลือกมาร่วมในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศในครั้งนี้นับว่าโชคดีที่สุด ที่ได้เกิดมาภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร ได้เกิดในรัชกาลที่ 9 นับว่าทุกคนโชคดีจริงๆ ซึ่งคณะกรรมการได้ทำการคัดสรรผู้ที่ได้รับหน้าที่อันทรงเกียรตินี้อย่างดีที่สุด”

“ท่านผู้หญิงบุตรี” นับเป็น 1 ในสาแหรกหลักแห่งราชสกุล “กฤดากร” ในฐานะบุตรีของ พลโทหม่อมเจ้าชิดชนก กฤดากร ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำประเทศอังกฤษ กับหม่อมหลวงต่อ ชุมสาย คุณข้าหลวงในพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี รัชกาลที่ 6 และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดาพระองค์เดียว ในรัชกาลที่ 6

ก่อนจะมาสมรสกับ นายมีชัย วีระไวทยะ เดิมมีสถานะเป็น “ม.ร.ว.บุตรี กฤดากร” มีพี่น้องร่วมมารดาอีกคนคือ พลเอก ม.ร.ว.กฤษต กฤดากร

กว่าจะมาเป็นสตรีในราชสำนัก “ม.ร.ว.บุตรี” ในวัยเด็ก ได้ถวายตัวเป็นข้าหลวงในต่างแดน ประจำตำหนักแฟร์ฮิลล์ เมืองแคมเบอร์เลย์ มณฑลเซอร์เรย์ และตำหนักหลุยส์เครสเซนต์ เมืองไบรตัน ประเทศอังกฤษ อันเป็นที่ประทับของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และพระองค์เจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

ตำนานชีวิตฝ่ายบิดาของ “ท่านผู้หญิงบุตรี” พลโทหม่อมเจ้าชิดชนกนั้นได้เสด็จไปเฝ้าฯ ทั้งสองพระองค์เสมอ จนเป็นแขกประจำของตำหนัก ทำให้มีโอกาสได้พบสนิทสนมกับหม่อมหลวงต่อ ข้าหลวงในตำหนักแฟร์ฮิลล์ ผู้เพียบพร้อมด้วยรูปโฉมและความสามารถในด้านการบ้านการเรือน

ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นระยะที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ และพระนางเจ้าสุวัทนาฯ ทรงอพยพลี้ภัยไปประทับที่แคว้นเวลส์ จึงทรงพระกรุณาประทานพระอนุญาตให้หม่อมเจ้าชิดชนกพาหม่อมหลวงต่อกลับไปเข้าพิธีสมรสที่ประเทศไทย จนกระทั่งหม่อมเจ้าชิดชนกทรงรับตำแหน่งทูตทหาร ณ ประเทศอังกฤษ จึงพร้อมด้วยหม่อมหลวงต่อกลับมาถวายการรับใช้อีกครั้ง

พร้อมด้วยธิดาพระองค์น้อย “ม.ร.ว.บุตรี” เข้าเป็นข้าหลวงในพระองค์ของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ด้วย

พร้อมด้วยข้าหลวงรุ่นจิ๋วที่อยู่ร่วมตำหนักเวลานั้นคือ เด็กหญิงปิ๋ว หรือ สุรัสวดี กุวานนท์

“ท่านผู้หญิงบุตรี” เล่าความทรงจำก่อนเข้าประจำการเป็นข้าหลวงวัยเยาว์ไว้ในหนังสือ “ดวงแก้วพระมงกุฎเกล้า” ว่า “ตอนนั้นอายุ 5 ขวบ จำได้ว่าท่านพ่อ แม่ พี่ชาย น้องชาย คุณสรรเสริญ ไกรจิตติ และนักเรียนไทยอีกสองสามคน…เชื่อมั้ยว่าเครื่องบินจากไทยไปอังกฤษสมัยนั้นใช้เวลา 3 วัน เพราะเครื่องบินบินตอนกลางคืนไม่ได้…ต้องแวะกัลกัตตา อัมสเตอร์ดัม แล้วจึงจะถึงลอนดอน ไม่ได้มีสายการบินที่บินตรงเหมือนสมัยนี้

…ทุกคนเมาเครื่องบินกันแทบตาย…ยกเว้นก็แต่น้องชาย (ม.ร.ว.กฤษต กฤดากร) อายุ 1 ขวบ คลานไปคลานมาทั่วเรือบิน สนุกสนานอยู่คนเดียว”

ในเวลาต่อมาราวปี 2502 เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าฯ และพระนางเจ้าสุวัทนาฯ เสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นการถาวร หลังจากประทับในอังกฤษยาวนานถึง 21 ปี

“ท่านผู้หญิงบุตรี” ได้ทูลขอพระราชทานพระอนุญาตจากพระนางเจ้าสุวัทนาฯ ศึกษาต่อที่อังกฤษ ซึ่งพระนางเจ้าสุวัทนาฯ ก็พระราชทานพระอนุญาต

เมื่อกลับเมืองไทย ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ ได้กลับมาถวายงานรับใช้ใต้ฝ่าพระบาทพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เรื่อยมาจนพระนางเจ้าสุวัทนาฯ สิ้นพระชนม์ในปี 2528

จึงถวายงานรับใช้สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ต่อมา จนสิ้นพระชนม์ชีพในปี 2554

“ท่านผู้หญิงบุตรี” ในวัย 75 ยังคงคล่องแคล่วการงานแห่งราชสำนัก เมื่อพระราชพิธีพระบรมศพ และพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสร็จสิ้นลง “ท่านผู้หญิงบุตรี” ได้ถวายการรับใช้ในการจัดนิทรรศการพระเมรุมาศต่อเนื่องทันที

นับเป็นเกียรติยศยิ่งใหญ่ ที่ครั้งหนึ่งได้สนองพระมหากรุณาธิคุณตราบถึงวาระสุดท้ายแห่งการถวายบังคมลา ตามคตินิยมโบราณที่ว่า “ขอร่วมกันส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย”