ประภัสร์ จงสงวน เปิดปัญหาใต้พรมการรถไฟฯ ที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง

หน่วยงานที่ช่วงนี้ “รถทัวร์” ไปจอดบ่อยสุด อันดับต้นๆ คงหนีไม่พ้น “การรถไฟแห่งประเทศไทย” หลังจากกรณีเปลี่ยนป้าย 33 ล้านบาท สถานีกลางบางซื่อสะท้านโซเชียลมีเดีย ที่เรียกประชาชนทุกวงการทุกสารทิศมาแสดงความเห็นกระหน่ำ และต่อยอดพูดถึงกันนานนับสัปดาห์ จนเป็น “มีม” ในโลกโซเชียล

จากนั้นก็มิวายมี “ดราม่าใหม่” มาให้เห็นอีก หลังจากมีผู้โพสต์คลิปเหตุการณ์ ขณะ “รถไฟ” ออกตัวจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ แต่กลับมีควันโขมงเต็มชานชาลา พร้อมกับคลิป-ภาพจะจะ ให้ผู้คนมาวิพากษ์กันอีกระลอก พร้อมระบุว่า “เปิดตัวเที่ยวแรกด้วยควันแบบท่วมๆ”

หลังคลิปนี้ถูกเผยแพร่ออกไป ทำให้โซเชียลวิจารณ์กันขรม พร้อมตั้งคำถามถึง “ความพร้อม” ว่าสรุปแล้วพร้อมจริงๆ หรือไม่?

ทำให้ “มติชนสุดสัปดาห์” ขอมาจับเข่าคุยกับคุณประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการการรถไฟฯ ในหลายๆ ประเด็น รวมทั้งข้อเสนอ-มุมมองต่อรถไฟไทย ทำไมถึงถูกคน “ด้อยค่า”?

ประภัสร์เผยหลังจากเห็นดราม่าในโลกออกไลน์ว่า ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า “สถานีนี้” ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อหัวรถจักรแบบนี้ ซึ่งลักษณะการออกแบบ หากพิจารณาดูเอาง่ายๆ ถ้าใช้หัวรถจักรประเภทนี้ที่อายุ 30-40 ปีขึ้นไป เป็นแบบโบราราณ เป็นธรรมดาที่จะมีควันมาก จำเป็นอย่างยิ่งต้องวางแผนคิดเรื่องระบายอากาศ

ซึ่งจริงๆ ส่วนตัวผมคิดว่าผู้ที่เกี่ยวข้องทราบดีอยู่แล้วว่าจะมีควัน ดังนั้น ต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์บางอย่าง เช่น พัดลมดูดแบบที่ติดในอุโมงค์หรือสถานีรถต่างๆ มากพอเพื่อดูดควันออก แต่เท่าที่ตรวจสอบดูมีเพียงสองตัวเล็กๆ

อดีตผู้ว่าการการรถไฟฯ เผยความในใจว่า ถ้าย้อนตอนสมัยที่ คสช.ยึดอำนาจใหม่ๆ เขาประกาศเลยว่าจะมีการลงทุน ปรับปรุงการรถไฟฯ ขนานใหญ่ จะทำทางคู่ทั้งหมด ซึ่งมีการขายฝันว่าทำแล้วรถไฟจะมีรายได้มากขึ้น แล้วจะซื้อทุกอย่างที่มีความจำเป็น เพื่อบริการประชาชน และขนส่งสินค้าอย่างเต็มที่

สุดท้ายทำตามที่พูดหรือไม่

วันนี้พูดตรงๆ เลยว่าก็ไม่ได้เป็นไปอย่างนั้นเลย ความพร้อมอะไรก็ไม่มี และการออกแบบสถานี ต้องออกแบบถูกคิดมาด้วยความพร้อมของทุกๆ อย่าง เพราะนี่จะเป็นสถานีที่ใหญ่มากของระบบราง จะมีรถไฟความเร็วสูง มีรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน และมีสายสีแดงอีกขนาดใหญ่ เกือบกว่า 20 เท่าของหัวลำโพง คุณต้องคิดให้รอบคอบ เพราะการเดินรถจะมี 52 ขบวนมาใช้สถานีตรงนี้ด้วย

มีอาคารรีบใช้แต่ไม่มีจำนวนผู้โดยสารที่มากพอที่จะทำให้การรถไฟฯ เกิดรายได้ที่มากเพียงพอ ครอบคลุม ดูแลค่าใช้จ่ายได้

ผู้บริหารต้องดู ไม่ใช่คิดว่าจะออกจากหัวลำโพง แล้วจะนำพื้นที่ตรงนั้นไปทำอย่างอื่น วันนี้มองว่าภาพรวมยังไม่ค่อยพร้อม

ประภัสร์มองว่าการรถไฟฯ เป็นหน่วยงานที่น่าสงสารเพราะผู้บริหารแต่ละคนที่เข้ามาเกาะเก้าอี้หมด ไม่มีใครกล้าพูดความจริงถึงสิ่งที่เกิดขึ้น อ้างว่าทำตามนโยบาย หากย้อนไปต้นกำเนิด ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 รถไฟถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนได้เดินทางกันได้อย่างสะดวก และระบุไว้ในกฎหมายของการรถไฟฯ ตั้งนานแล้วว่า ถ้าหากรถไฟขาดทุนรัฐต้องจ่ายเงินสมทบ

แต่หลังจากการจัดตั้งสภาพัฒน์ขึ้นมาในยุคถัดมา สภาพัฒน์กลับมีข้อเสนอ-ให้ความสนใจกับการพัฒนาถนนหนทางมากกว่าการรถไฟฯ มิหนำซ้ำยังไม่สนับสนุนให้มีการสร้างโรงซ่อมรถไฟมักกะสัน

สำหรับประเด็นที่มีการด้อยค่ารถไฟว่า “ไม่มีการพัฒนาเลย” คุณประภัสร์บอกไว้ว่าในสมัยที่นักการเมืองยังไม่มีการพูดถึงนโยบาย และทำตามแผนของสภาพัฒน์เท่านั้น โดยแผนตั้งแต่ฉบับที่ 1 ถึงฉบับที่ 9 นั้นไม่มีเรื่องของระบบรางเลย

ในช่วงนั้นทางสภาพัฒน์ได้กล่าวไว้ว่า “ประเทศไทยนั้นเป็นประเทศยาก จนมองว่าระบบรางไม่จำเป็น” และให้ความสำคัญกับรถเมล์มากกว่า

วิธีคิดแบบนั้นทำให้มุ่งให้ความสำคัญกับระบบทางด่วนมากกว่าระบบราง ซึ่งทางด่วนในตอนนั้นก็มีจุดมุ่งหมายที่จะให้รถบรรทุกขึ้นไปวิ่งเพื่อลดการจราจรที่ติดขัดด้วยซ้ำ

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้รถไฟถูกด้อยค่า คือภาพลักษณ์ของการรถไฟฯ เมื่อถูกนักการเมืองป้ายสีไว้ให้ประชาชนมองอย่างไร ประชาชนก็จะมองอย่างนั้น โดยที่ไม่ได้มองประโยชน์ที่รถไฟทำไว้นั้นมีเยอะมากมายขนาดไหน ทั้งในด้านการขนส่ง เศรษฐกิจ และภาพลักษณ์ของประเทศ

สิ่งเหล่านี้ควรเป็นสิ่งที่ถูกพัฒนาขึ้นไป ไม่ใช่ปล่อยให้ใครมาด้อยค่า จึงอยากจะฝากถึงทุกหน่วยงานว่า เลิกความคิดที่อยากจะพัฒนารถไฟ แต่เป็นเพียงการพัฒนาแค่คำพูด แต่การกระทำมันไม่ใช่การพัฒนา การกระทำมันเป็นการทำให้รถไฟหมดบทบาท

ทําไมรัฐบาลถึงควักเงินมาซื้อเครื่องบินรบได้ ง่ายกว่าการควักเงินมาซื้อรถไฟ คุณประภัสร์อธิบายว่า เราควรมองว่าสังคมเป็นอย่างไร สังคมไทยนั้นไม่ได้อยู่ภายใต้กระบอกปืน เราควรมองว่าคนในสังคมคิดอะไรอย่างไร มีความภูมิใจในความเป็นไทยมากน้อยแค่ไหน เทคโนโลยีต่างๆ ทำหน้าที่อย่างที่ควรเป็นจริงหรือเปล่า โดยในเรื่องรถไฟนั้น ถ้ารัฐบาลมองเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง ควรจะมีการจัดหาบุคลากรให้เพียงพอ จัดหาเครื่องมือให้รถไฟสามารถสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น มีการพูดเรื่องนโยบาย และชดเชยค่าใช้จ่ายจากนโยบายอย่างชัดเจน

เช่น นโยบายรถไฟฟรีที่ปัจจุบันประชาชนหลายคนคงไม่ทราบว่า ภาระค่าใช้จ่ายนั้นการรถไฟฯ ต้องแบกรับไว้เอง เพราะฉะนั้น เวลาพูดนั้น เราควรพูดให้หมด พูดให้ชัดเจน ไม่ใช่ให้ประชาชนเข้าใจเอาเอง

ข้อเสนอจากอดีตผู้ว่าการการรถไฟฯ เผยว่า ในช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยว ถ้าหากเราอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว เช่น การออกตั๋วช่วงเวลาที่สามารถขึ้นได้หลายครั้งในช่วงเวลานั้นเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ไปเห็นรอยยิ้มของคนไทยที่ออกมาจากใจจริงๆ

และยังมองอีกว่า รถไฟนั้นสามารถทำหรือประสานงานกับที่ต่างๆ ได้เยอะ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม หรือสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ นอกจากทางโรงแรมและการรถไฟฯ จะได้ประโยชน์แล้ว คนในพื้นที่เองก็จะได้รับประโยชน์มากมาย

นักท่องเที่ยวเองก็จะได้เห็นถึงวัฒนธรรมของไทยที่ยังมีรอยยิ้มที่มาจากใจคนไทยจริงๆ

ส่วนความเก่าใหม่ของตัวรถนั้น ประภัสร์มองว่าไม่สำคัญเท่ากับความปลอดภัย พนักงานที่ให้บริการมีรอยยิ้ม มีความสุขกับงานที่ทำมากแค่ไหน

ถ้าหากพนักงานมีความสุข การบริการของพวกเขาก็จะออกมาดี สิ่งเหล่านี้มีความเกี่ยวโยงกันทั้งหมด

เพราะฉะนั้น ถ้าหากผู้บริหารที่อยู่ตำแหน่งสูงมองหรือสั่งงานลงมาแล้ว ไม่มีความคืบหน้าของงาน ตรงนี้ผู้บริหารทั้งหลายก็ควรจะพิจารณาตัวเอง

รถไฟตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ขับผ่าน 40 กว่าจังหวัด และวิ่งไปแล้วกว่า 4,000 กิโล ถ้าไม่นับรถไฟทางคู่ก็แสดงให้เห็นถึงการหยุดอยู่กับที่ของการพัฒนา ซึ่งโครงการเหล่านี้มีความคาบเกี่ยวกับทางรัฐบาล ถ้าหากทางรัฐบาลไม่ให้การสนับสนุน ทางหน่วยงานเองก็ไม่สามารถพัฒนาไปต่อได้

โดยเฉพาะอย่างที่เคยกล่าวไปว่า “ผู้บริหารแต่ละคนที่เข้ามาเกาะเก้าอี้หมด” ทำให้ทุกคนก็เงียบไม่กล้าออกมาพูดกันหมด ถ้าหากทุกวันนี้สนับสนุนทุกอย่างที่รถไฟควรจะมี รถไฟในวันนี้คงสามารถเป็นได้ทุกอย่าง ทั้งในด้านของการท่องเที่ยว หรือในเรื่องของการเดินทาง สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้อย่างมหาศาล

ประภัสร์มองว่า อีกหนึ่งปัญหาที่การรถไฟฯ กำลังประสบอยู่ตอนนี้ คือเรื่องของบุคลากรที่กำลังเกษียณอายุไป และคนรุ่นใหม่เข้ามาไม่ทัน ทำให้เกิดช่องว่างที่ทำให้ตำแหน่งผู้บริหารเองก็หาไม่ทัน ส่งผลให้ผู้ที่มีคุณสมบัติไม่พร้อม ซึ่งไม่ได้ผ่านการอบรมทางความคิดในแบบที่ควรจะนึกถึงว่านี้เป็นองค์กรของประเทศ ที่มีเงินภาษีของประชาชนเป็นคนดูแลอยู่

อย่างไรก็ตาม ประภัสร์แนะนำให้ประชาชนลองสัมผัสประสบการณ์การเที่ยวกับรถไฟ รับประกันได้ว่าทุกท่านจะรักรถไฟมากขึ้นอีก เมื่อได้ลองสัมผัสก็จะรู้ได้ทันทีว่าบุคลากรของการรถไฟฯ รักรถไฟมาก ยอมควักเงินตัวเอง ใช้แรงตัวเองเพื่อให้สถานีมีความสวยงาม มีก็แต่คนในกรุงเทพฯ ไม่กี่คนที่ต้องปรับทัศนคติใหม่

และที่สำคัญคือ ไม่อยากให้ประชาชนเชื่อคำบอกเล่าว่ารถไฟนั้นไม่ดีอย่างไร อยากให้มองความจริงว่าที่ไม่ดีนั้นเพราะอะไรมากกว่า

ชมคลิป