กฎเหล็ก หรือ กฎเหลว 180 วัน

สมชัย ศรีสุทธิยากร
(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

ย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2565 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งออกข่าวเกี่ยวกับการเตือนผู้สมัคร พรรคการเมือง ว่าเพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 68 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 ที่ระบุว่า ในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปอันเนื่องมาจากการครบอายุของสภาผู้แทนราษฎร ผู้สมัครและพรรคการเมืองต้องปฏิบัติเกี่ยวกับวิธีการหาเสียงตามที่ กกต.กำหนด ตั้งแต่ 180 วันก่อนวันครบอายุจนถึงวันก่อนวันเลือกตั้ง

ดังนั้น เมื่อสภาผู้แทนราษฎรจะครบอายุ 4 ปี ในวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2566 กำหนด 180 วันก่อนวันครบอายุจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2565

หลังจากนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ออกระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2565 ในวันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2565 โดยมีสาระสำคัญ 2 ประการ คือ

ประการแรก เป็นการกำหนดให้ผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง สามารถปิดประกาศแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งได้ในช่วง 180 วัน ตามขนาด จำนวน และสถานที่ตามที่ กกต. หรือผู้อำนวยการ กกต.จังหวัด เคยประกาศกำหนดในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด

ประการที่สอง ให้การหาเสียงเป็นไปตามระเบียบว่าด้วยวิธีการหาเสียงฯ ฉบับที่ 1 ที่ กกต.เคยประกาศมาก่อนหน้าเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2561 โดยเพิ่มฐานความผิด “จงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบ” ของปี พ.ศ.2561 และให้นำระเบียบมาใช้บังคับแก่ผู้ประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้งด้วย

หมายความง่ายๆ คือ แม้ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ยังไม่มีการรับสมัคร ยังไม่มีผู้สมัคร แต่กฎหมายก็มีผลใช้บังคับ และยังรวมไปถึงผู้ประสงค์จะสมัครในอนาคตด้วย

 

ติดป้ายหาเสียงได้
แต่ขาดความชัดเจนมากมาย

แม้ กกต.จะมีประกาศเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำ สถานที่ปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้ง กำหนดขนาดและรายละเอียดของป้ายหาเสียง เช่น ป้ายขนาดกว้าง ไม่เกิน 130 ซ.ม. ยาวไม่เกิน 245 ซ.ม. ระบุชื่อ ที่อยู่ผู้ว่าจ้าง ผู้ผลิต จำนวนและวันเดือนปีที่ผลิต มีจำนวนได้ไม่เกิน 2 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในแต่ละเขต เป็นต้น

แต่สิ่งที่เป็นปัญหา คือ จนถึงวันนี้ กกต. ก็ยังไม่มีประกาศการแบ่งเขตเลือกตั้ง พื้นที่ตำบลใด อำเภอใดจะเป็นเขตเลือกตั้งที่เท่าไรยังไม่มีความชัดเจน ผู้สมัครและพรรคการเมืองไม่สามารถทราบถึงจำนวนหน่วยเลือกตั้งในแต่ละเขตเลือกตั้งได้

อีกทั้งถึงวันนี้ กกต.ก็ยังไม่มีการกำหนดค่าใช้จ่ายในการหาเสียงของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ว่าในช่วงเวลา 180 วันและต่อเนื่องจนถึงวันก่อนวันเลือกตั้ง ผู้สมัครแต่ละคน พรรคการเมืองแต่ละพรรค จะสามารถใช้จ่ายเงินเพื่อการหาเสียงได้ไม่เกินวงเงินเท่าไร

เพียงแต่บอกให้มีการบันทึกค่าใช้จ่ายเพื่อนำไปรายงานต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งภายใน 90 วันหลังวันเลือกตั้งเท่านั้น

การติดป้ายในกรอบ 180 วันดังกล่าว จึงเป็นไปด้วยความสับสน ไม่มีขอบเขตพื้นที่ ไม่สามารถคิดคำนวณสัดส่วนงบประมาณที่จะใช้ในการหาเสียง และรออย่างเดียวว่า หากนายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา ก็จะรีเซ็ต และไปเริ่มต้นการหาเสียงและการคำนวณค่าใช้จ่ายกันใหม่ตามมาตรา 64(2) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 ที่ระบุว่า

“ในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปอันเนื่องมาจากการยุบสภา… ให้คำนวณค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปตั้งแต่วันที่ยุบสภา…จนถึงวันเลือกตั้ง”

 

ทำความผิด ไม่ต้องกลัว

สิ่งหนึ่งที่สื่อสารกันในหมู่ฝ่ายการเมืองคือ แม้ว่าจะมีการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง มีการใช้เงินซื้อเสียง จัดเลี้ยง แจกของ หรือสารพันฐานความผิดต่างๆ แต่หากมีการยุบสภาเกิดขึ้น ความผิดทั้งหลายจะหายไปโดยไม่ถือเป็นความผิด

วิธีการคิดดังกล่าวเกิดขึ้นจากการตีความมาตรา 68(2) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 ที่มีเนื้อหาว่า ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดวิธีการหาเสียงให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองต้องปฏิบัติ และมีผลภายในกำหนดเวลา ดังต่อไปนี้ “(2) ในกรณีการเลือกตั้งทั่วไปอันเนื่องมาจากการยุบสภา…ให้กระทำได้ตั้งแต่วันที่ยุบสภา…จนถึงวันก่อนวันเลือกตั้ง”

หลายคน หรือแม้กระทั่งคนใน กกต.เองจึงตีความไปในความหมายว่า หากยุบสภา ความผิดทั้งหลายก็หายไปด้วย ไม่ต้องนำมาคิด

คนของพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลที่มั่นใจว่าอย่างไรนายกรัฐมนตรีก็ยุบสภาจึงไม่เกรงกลัวหากมีการร้องจากฝ่ายตรงข้ามว่ามีการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง

คนของ กกต.ก็อาจถือหลัก รับเรื่อง รับคำร้องต่างๆ มาแล้วก็ภาวนาให้มีการยุบสภาเสียเร็วๆ คำร้องต่างๆ เกี่ยวกับการทำผิดกฎหมายเลือกตั้งก็จะได้ตกไป ไม่เป็นภาระต้องไต่สวน วินิจฉัยให้ยุ่งยาก

การตีความเช่นนี้จึงกลายเป็นการส่งเสริมให้เกิดการเลือกตั้งที่ไม่สุจริต และขาดความเที่ยงธรรม เนื่องจากผู้รู้ข้อมูลภายในว่าจะมีการยุบสภาย่อมมีความได้เปรียบและกล้าทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง

 

กฎเหล็กต้องเป็นกฎเหล็ก

หากการมีคณะกรรมการการเลือกตั้งนั้นเพื่อจัดการการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม สิ่งที่คณะกรรมการการเลือกตั้งควรออกมาชี้แจงยืนยันต่อสังคมคือ การกระทำความผิดใดๆ ที่เกิดขึ้นในช่วง 180 วัน ยังคงเป็นความผิดแม้ว่าจะมีการยุบสภาแล้วก็ตาม

ทั้งนี้เพราะในมาตรา 132 หมวด 7 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 ที่ว่าด้วยเรื่องการดำเนินการกรณีการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรมนั้นให้อำนาจ กกต.สามารถให้ “ใบส้มก่อนหน้าการประกาศผล” คือสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครที่กระทำการอันเป็นเหตุให้เกิดให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรมได้เป็นเวลาไม่เกิน 1 ปี นับแต่คณะกรรมการมีคำสั่ง

การให้ใบส้มก่อนการประกาศผล จึงมีความหมายรวมไปถึงเมื่อใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาหรือไม่ และหมายความรวมถึงช่วง 180 วันก่อนครบอายุของสภาผู้แทนราษฎรได้ด้วย

การประกาศเช่นนี้ จึงจะทำให้ผู้สมัคร พรรคการเมือง ไม่กล้าทำผิดกฎหมายเลือกตั้งอย่างแท้จริง กฎเหล็กจึงจะเป็นกฎเหล็ก ไม่ใช่ปล่อยข่าวถือท้ายคนกระทำความผิดว่า อีกเดี๋ยวยุบสภาก็เลิกแล้วกันไปทำให้กฎเหล็กจะกลายเป็นกฎเหลวไป

และหากมีคนกระทำความผิด สิ่งที่ กกต.พึงดำเนินการคือ การเอาจริงเอาจังต่อการสืบสวน ไต่สวนข้อเท็จจริง มิใช่ยืดเยื้อเพื่อรอการยุบสภา และต้องกล้าใช้อำนาจของตนเองที่มีตามกฎหมายจัดการกับคนผิด โดยกล้าที่จะแจกใบส้มตามอำนาจในมาตรา 132

แต่หากยังรีรอ เพราะขยาดที่จะแจกใบส้มทั้งๆ ที่มีการกระทำความผิด กกต.เองอาจกลายเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

นาทีนี้ คงต้องเลือกเอาเอง อยากใช้หรืออยากได้ใบอะไรครับ ท่าน กกต.