ประวิตร จ่อเพิ่มมูลค่าราคาปาลม์ ดันนโยบายเกษตรอัจฉริยะ แปรรูปพืชเศรษฐกิจ

ลุงป้อม จ่อเพิ่มมูลค่าราคาปาลม์ ดันนโยบายเกษตรอัจฉริยะ แปรรูปพืชเศรษฐกิจ

24 ม.ค. 66 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.อ.ดร.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ได้รับรายงานการแก้ไขปัญหาปาล์มติดคิวหน้าโรงงานและลานเทคลี่คลาย ราคาปาล์มทะลายที่รับซื้อกลับสู่สภาวะปกติ เป็นไปตามโครงสร้างราคาของกระทรวงพาณิชย์ (ณ วันจันทร์ที่ 23 ม.ค. 66) ทะลุ กก.ละ 4.5 – 5.5 บาท สอดคล้องกับราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ณ ตลาดกรุงเทพฯ ที่ 29.50-30.50 บาท จึงได้ขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ประกอบด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานและคณะทำงานขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาปาล์มฯ ระดับจังหวัดทั้ง 5 จังหวัด คือ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ภายใต้ กนป. รวมทั้ง คณะกรรมาธิการปาล์มน้ำมัน สภาผู้แทนราษฎร ที่ลงพื้นที่รับฟังปัญหาในการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะ พ่อค้าที่รับซื้อปาล์มทะลายหน้าโรงสกัดและลานเท ที่เข้าใจสถานการณ์และช่วยคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งได้ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบแต่ละฝ่าย

พล.ต.อ.ดร.ธรรมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ท่าน พล.อ.ประวิตร รองนายกรัฐมนตรี ประธาน กนป. ได้กำชับมิให้เกิดปัญหาเช่นนี้อีก โดยขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดจัดระบบการปิดซ่อมบำรุงเครื่องจักรของโรงสกัดน้ำมันปาล์มในพื้นที่ และให้มีการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ชาวสวนปาล์มทราบทั่วกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประชุมเร่งรัดติดตามและขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ ของ กนป. อย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะ กรรมการ กนป. เร่งรัด สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) พิจารณารายละเอียดของสูตรโครงสร้างราคาปาล์มน้ำมันที่เกี่ยวข้องกับการผลิตน้ำมันปาล์ฺมดิบ เพื่อปรับปรุงร่างสูตรโครงสร้างราคาให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย เสนอ กนป. พิจารณาโดยด่วนต่อไป

ด้านการแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ปาล์มน้ำมัน 8 ผลิตภัณฑ์ ตามที่ได้มีมติ ครม. อนุมัติหลักการไปแล้วนั้น พล.อ.ประวิตร รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.ดร.ธรรมศักดิ์ ในฐานะประธานอนุกรรมการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันปาล์มน้ำมันทั้งระบบ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย โดยให้ใช้ปาล์มโมเดลเป็นต้นแบบนำไปขยายผล เพื่อผลักดันการแปรรูปเพิ่มมูลค่าสู่พืชเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยใช้หลักการการเกษตรอัจฉริยะ Smart Farming ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จัดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษทางการเกษตร Agri-SEZ และให้ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นเจ้าภาพบูรณาการ ขับเคลื่อนในรูปแบบของศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อการพัฒนาจังหวัด Center of Excellence for Provincial Development หรือ COE-PD) ด้านการเกษตร มีการแบ่งปันบริการเครื่องมือทางการเกษตร (Machine Farming Service Sharing) ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จัดทำโครงการเสนอคณะอนุกรรมการ ต่อไป