ไทย- ‘สนตาย’ หรือ ‘สนลู่ลม’? ปัญหาการต่างประเทศไทย 2566

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“สงครามเย็นไม่เคยจบ… [และ] เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่จีนและสหรัฐเป็นรัฐมหาอำนาจใหญ่พร้อมกัน”

Stephen Kotkin (2022)

 

หลังจากการเกิดของสงครามยูเครนจากการบุกของรัสเซียในเดือนกุมภาพันธ์ และการปิดล้อมไต้หวันจากความไม่พอใจของจีนต่อการเดินทางเยือนของประธานรัฐสภาในเดือนสิงหาคม ในปี 2565

จึงเป็นที่ชัดเจนว่า สงครามเย็นได้หวนคืนอีกครั้ง จนอาจเรียกได้ว่าเป็น “สงครามเย็นใหม่”

ซึ่งศาสตราจารย์ Kotkin กล่าวถึงสถานการณ์โลกปัจจุบันว่า “สงครามเย็นไม่เคยจบ”

ข้อสังเกตเช่นนี้คงไม่ผิดนัก เพราะสถานการณ์การแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่ทวีความเข้มข้นอย่างต่อเนื่อง และปะทุเป็น “สงครามร้อน” ครั้งแรกของยุโรปนับตั้งแต่การสิ้นสุดของสงครามเย็นจากสนามรบที่ยูเครน

สงครามเย็นครั้งนี้อาจจะเปลี่ยนคู่แข่งขันหลัก เป็นความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐ แต่ก็ยังคงมีรัสเซียเป็นคู่แข่งขันอีกส่วน

จนเราอาจกล่าวเป็นข้อสังเกตได้ว่า การ “เผชิญหน้าอย่างเปิดเผย” ของรัฐมหาอำนาจใหญ่ในสองฝ่ายจะเป็นปรากฏการณ์ที่เห็นชัดมากขึ้น ดังที่เห็นแล้วในปี 2565

ภาวะเช่นนี้จึงเป็นความท้าทายอย่างมากต่องานด้านการต่างประเทศของทุกประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะสำหรับรัฐเล็กอย่างรัฐไทยแล้ว สงครามเย็นใหม่เป็นประเด็นความท้าทายที่ละเลยไม่ได้เลย

และจะเป็นโจทย์ทางการเมืองที่สำคัญในการกำหนดอนาคตของประเทศด้วย

 

ผลพวงจากรัฐประหาร

ในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกนั้น เราจะพบว่างานด้านการต่างประเทศของไทยนับตั้งแต่รัฐประหาร 2557 สืบเนื่องจนถึงหลังการเลือกตั้ง 2562 เป็นต้นมา ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในเรื่องของทิศทางนโยบายที่ดูจะมีลักษณะของการพึ่งพิงการสนับสนุนของรัฐบาลจากค่ายตะวันออกอย่างมาก

โดยเฉพาะการเริ่มต้นด้วยการแสวงหาการสนับสนุนทางการเมือง สำหรับการจัดตั้งรัฐบาลทหารที่กรุงเทพฯ

เนื่องจากท่าทีของโลกตะวันตกในขณะนั้น ไม่ตอบรับกับการยึดอำนาจที่เกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ แต่อย่างใด ภาวะเช่นนี้กลายเป็น “พันธะผูกพัน” ที่ทำให้รัฐบาลไทยต้องหันไปหาความสนับสนุนจากรัฐบาลจีน และรัสเซีย

เพราะหากปราศจาก “การรับรองทางการเมือง” จากรัฐมหาอำนาจต่อสถานะของการรัฐประหารที่กรุงเทพฯ รัฐบาลทหารอาจจะล้มพังทลายไปตั้งแต่ต้น

การสนับสนุนด้วยท่าทีแบบ “ไม่วิจารณ์” จากปักกิ่งและมอสโก จึงมีความสำคัญต่อความอยู่รอดของรัฐบาลทหารเป็นอย่างยิ่ง

ในทางกลับกัน ท่าทีของรัฐบาลตะวันตกที่ไม่สนับสนุนการรัฐประหารของผู้นำทหารไทย ได้กลายเป็นช่องว่างทางการเมืองอย่างดี ที่เปิดโอกาสให้รัฐบาลปักกิ่งและมอสโกแทรกตัวเข้ามาในช่องว่างดังกล่าว

นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ที่เกิดระหว่างรัฐบาลทหารไทยกับรัฐบาลของรัฐมหาอำนาจใหญ่ฝ่ายตะวันออกก็มีพัฒนาการเพิ่มมากขึ้นอีกหลังจากการเลือกตั้งในต้นปี 2562

อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายการต่างประเทศในลักษณะเช่นนี้ มักจะถูกอธิบายจากมุมมองของฝ่ายรัฐบาลไทยว่า การเอียงเข้าหารัฐมหาอำนาจตะวันออกก็เพื่อการ “ปรับสมดุล” ในงานด้านต่างประเทศของไทย

ซึ่งรัฐบาลทหารและกลุ่มผู้สนับสนุนมีความเชื่อว่า ไทยในช่วงที่ผ่านมามีความใกล้ชิดกับฝ่ายตะวันตกมากเกินไป จึงมีความจำเป็นต้อง “สร้างสมดุลใหม่” ด้วยการเข้าไปใกล้ชิดกับปักกิ่งและมอสโกแทน

จนเกิดข้อสังเกตว่า จากรัฐบาลทหาร 2557 จนถึงรัฐบาลสืบทอดอำนาจ 2562 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำรัฐประหารได้พาประเทศไทยออกจากความสัมพันธ์ที่เคยมีในหลายส่วนกับตะวันตก และแสดงออกถึงทิศทางที่ต้องการสร้างความใกล้ชิดกับรัฐบาลตะวันออก

สภาวะเช่นนี้สอดคล้องกับความรู้สึกของชนชั้นนำ กลุ่มผู้นำทหารสายขวาจัด และบรรดากลุ่มปีกขวา ที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่า พวกเขาไม่ชอบโลกตะวันตกที่ไม่สนับสนุนรัฐประหารที่กรุงเทพฯ

และไม่ชอบมากขึ้นที่ตะวันตกจะมาเรียกร้องให้ผู้นำรัฐประหารรีบคืนประชาธิปไตยให้กับสังคมไทย

แน่นอนว่า พวกเขา “รังเกียจประชาธิปไตย” ซึ่งมีนัยถึงอาการ “เกลียดตะวันตก”

และในขณะเดียวกันพวกเขามีท่าทีตอบรับอย่างมากที่จีนและรัสเซียไม่ออกเสียงวิจารณ์การเมืองไทย

ฉะนั้น จึงไม่แปลกเลยที่บรรดาปีกขวาจัดเหล่านี้ จะเรียกร้องให้ไทยเข้าไปใกล้ชิดกับรัฐมหาอำนาจตะวันออกมากขึ้น

จนกล่าวได้ว่ากลุ่มขวาจัดไทยมีทัศนะ “ชื่นชมตะวันออก”

 

หนี้ที่มีราคาทางการเมือง

แต่สังคมอาจจะต้องตระหนักว่า แนวคิดของ “การสร้างสมดุลใหม่” ของการต่างประเทศไทยที่บรรดาปีกขวาไทยให้การสนับสนุนอย่างแข่งขันนั้น เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขการรัฐประหาร อันส่งผลให้รัฐบาลไทยต้องพาตัวเองไปอยู่กับการสนับสนุนทางการเมืองของจีนและรัสเซีย

และกลายเป็น “หนี้ทางใจ” ที่กรุงเทพต้องคอยจ่ายตอบแทนแก่รัฐผู้สนับสนุน

ถ้าคิดในอีกมุมหนึ่ง เราอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า ถ้าการปรับนี้เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขของระบอบรัฐสภาแล้ว รัฐไทยน่าจะมี “ความยืดหยุ่น” ในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพฯ-ปักกิ่ง-มอสโก มากกว่านี้ ไม่ใช่การเป็น “รัฐลูกไล่” เช่นในปัจจุบัน (ในบางกรณี อาจต้องใช้คำว่า “รัฐลูกน้อง” ได้ด้วย)

เพราะผู้นำไทยดูจะมีท่าทีแบบ “พินอบพิเทา” กับบรรดาผู้นำจีนและรัสเซีย ดังจะเห็นได้จาก “ภาษากาย” ของผู้นำไทย ที่ดูจะมีความ “นอบน้อม” ต่อผู้นำจีน ราวกับไทยเป็น “รัฐอารักขา” ของจีน (เปรียบเทียบกับท่าทีผู้นำอินโดนีเซียในเอเปค จะเห็นถึงความแตกต่างเช่นนี้)

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่การมี “พันธะทางใจ” ทำให้มุมมองไทยต่อปัญหาในเวทีระหว่างประเทศอยู่ในกรอบคิดเดียวกับจีนและรัสเซีย ที่ละเลยต่อบรรทัดฐานของระเบียบระหว่างประเทศ

ตัวอย่างเช่น ในกรณีของสงครามยูเครนนั้น ไม่ว่ารัฐมนตรีต่างประเทศไทยจะกล่าวอ้างหลักการอะไรก็ตาม

แต่สุดท้ายนักสังเกตการณ์ระหว่างประเทศทุกคนรู้ดีว่า รัฐบาลไทยโดยกระทรวงต่างประเทศไทย เกิดภาวะ “ไม่มีความกล้าหาญทางจริยธรรม” และ “ไม่กล้าแสดงออกทางด้านมนุษยธรรม” ที่จะ “กล้าลงเสียงประณาม” การทำสงครามของประธานาธิบดีปูติน ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของชาวยูเครนอย่างใหญ่หลวง

นอกจากนี้ การลงเสียงของไทยในปัญหายูเครนสะท้อนว่า รัฐบาลไทยไม่ให้ความสนใจต่อการละเมิดเอกราชและอธิปไตยโดยการใช้กำลังของรัฐมหาอำนาจใหญ่ และไม่แสดงออกในเวทีสากลต่อการปกป้องสิทธิในการดำรงอยู่ของรัฐเล็กในฐานะ “รัฐอธิปไตย”

อันสะท้อนถึงการที่ไทยไม่สนใจต่อหลักการและบรรทัดฐานของ “ระเบียบระหว่างที่มีกฎเกณฑ์” (rule-based international order)

และไทยได้สนับสนุนระเบียบโลกแบบที่ยึดถือ การใช้กำลังเป็นใหญ่ หรือระเบียบแบบ “อำนาจคือธรรม” เช่นที่รัสเซียดำเนินการในยูเครน

ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อสถานะของรัฐไทยในเวทีสากลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และทั้งยังสะท้อนในอีกด้านว่า ไทยไม่ใส่ใจในประเด็นทางด้านมนุษยธรรมที่ชาวยูเครนเป็นจำนวนมากได้รับผลร้ายจากสงคราม

ในอีกด้านผู้นำไทยคาดหวังว่าการงดออกเสียงต่อปัญหาสงครามยูเครน ในด้านหนึ่งจะเป็นการชักชวนให้ผู้นำรัสเซียเข้าร่วมการประชุมเอเปคในเดือนพฤศจิกายนที่กรุงเทพฯ

และยังมีนัยถึงการ “ตอบแทน” ต่อความสนับสนุนที่มอสโกเคยให้แก่รัฐบาลทหารกรุงเทพฯ

ในอีกด้านหนึ่งผู้นำไทยมีอาการ “เกรงใจจีน” จนใช้การลงเสียงในปัญหาสงครามยูเครน เพื่อส่งสัญญาณว่า ไทยมี “จุดยืน” เดียวกับจีน และจะไม่เดินตามกระแสสากล

แม้รัฐบาลไทยพยายามสร้างภาพในบ้านว่า เป็นการลงเสียงในแบบที่ “เป็นกลาง” แต่ความเป็นกลางเช่นนี้ กลับถูกมองจากเวทีโลกว่า “ไทยเดินตามจีน” โดยเชื่อว่า “ผลประโยชน์แห่งชาติของไทย” อยู่กับค่ายตะวันออก มากกว่าอยู่กับค่ายตะวันตก

คำสัมภาษณ์ของรัฐมนตรีต่างประเทศไทยในปัญสงครามยูเครนว่า “เราโหวตโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศไทยและของโลกเป็นสำคัญ” จึงฟังไม่ขึ้น

และกลายเป็นภาพสะท้อนว่า รัฐบาลสืบทอดอำนาจของไทยพร้อมสนับสนุนรัฐบาลแบบอำนาจนิยมทั้งจีนและรัสเซียแบบไม่มีข้อต่อรอง

และการสนับสนุนเช่นนี้ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่า “ผลประโยชน์แห่งชาติของไทย” อยู่ตรงไหน

อีกทั้งยังอาจมองได้ว่า วาทกรรมเรื่อง “การปรับสมดุล” ของงานด้านต่างประเทศของรัฐไทย เป็นเพียงข้ออ้างของนักรัฐประหาร ที่ใช้ในการแสวงหาความสนับสนุนจากค่ายตะวันออก

ตลอดรวมถึงผลประโยชน์ในเรื่องของ “เสนาพาณิชยนิยม” ที่มักมีเรื่อง “อื้อฉาว” ของการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ (arms scandals) จากจีนเข้ามาเป็นส่วนประกอบของนโยบายต่างประเทศไทย

 

สายใยอำนาจนิยม

ในอีกส่วนก็เห็นถึง การแสดงท่าทีสนับสนุนรัฐบาลอำนาจนิยมของผู้นำทหารในประเทศเพื่อนบ้านอย่างชัดเจน ดังจะเห็นได้ว่ารัฐบาลกรุงเทพมีท่าทีในแบบ “ประนีประนอม” และไม่แสดงออกในลักษณะของการกดดันเพื่อที่จะเป็นปัจจัยในการช่วยลดทอนความรุนแรงที่เกิดจากใช้กำลังปราบปรามผู้เห็นต่างและฝ่ายประชาธิปไตยในเมียนมาอย่างต่อเนื่อง

จนเป็นดังการส่งสัญญาณทางการทูตว่า รัฐบาลไทย “ไม่ทอดทิ้ง” รัฐบาลทหารเมียนมาเด็ดขาด

ขณะเดียวกันก็จะ “ไม่สนับสนุน” ฝ่ายประชาธิปไตยและรัฐพลัดถิ่นของเมียนมา

ซึ่งในอีกด้านหนึ่ง อาจสอดรับกับท่าทีของจีนและรัสเซียในการสนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมาด้วย

และสะท้อนปัญหาที่ไทยเองไม่ใส่ใจต่อปัญหาทางด้านสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมในเมียนมาเท่าที่ควร

จนท่าทีกระทรวงการต่างประเทศไทยกลายเป็น “ความน่าผิดหวัง” ในการแก้ปัญหาความรุนแรงในเมียนมา

แต่หากพิจารณาในภาพรวม เราอาจอธิบายได้ว่า รัฐบาลไทยลงเสียงในเวทีสากลเพื่อเรียกร้องให้จีนและรัสเซียดำรงความสนับสนุนต่อรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ต่อไป

เพราะในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2566 นั้น มองไม่เห็นถึงชัยชนะของผู้นำรัฐบาลปัจจุบันแต่อย่างใด

จึงมีนัยว่าหากปักกิ่งและมอสโกต้องการเห็นทิศทางการต่างประเทศไทยในแบบที่เป็นอยู่ ก็จะต้องสนับสนุนให้ผู้นำชุดนี้ รวมทั้งกลุ่มของรัฐมนตรีต่างประเทศปัจจุบันได้มีอำนาจในการควบคุมทิศทางการต่างประเทศของไทยต่อไป

สภาวะเช่นนี้ทำให้ใครที่เคยเชื่อว่า นโยบายต่างประเทศไทยเป็นเสมือน “สนลู่ลม” ที่พร้อมจะยืนต้นอยู่ได้เสมอในท่ามกลางของ “พายุการแข่งขัน” ของรัฐมหาอำนาจใหญ่นั้น อาจต้องคิดทบทวนใหม่

เพราะการกำหนดทิศทางแบบ “ไม่แคร์กระแสโลก” และเชื่อว่า รัฐไทยอยู่ได้ด้วยกระแส “ลมตะวันออก” ที่พัดมาจากปักกิ่งและมอสโกเท่านั้น

แต่เราต้องไม่ลืมว่า “ลมตะวันตก” ก็พัดแรงเช่นกัน… ลมพายุแห่งการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่พัดแรงเสมอในยุคสงครามเย็น (ไม่ว่าจะใหม่หรือเก่าก็ตาม)

แต่วันนี้ดูเหมือน “สนไทย” ไม่ลู่ลมแล้ว เพราะยืนต้นตายไปตั้งแต่รัฐประหาร

ถ้าเช่นนั้น เราจะปลูก “สนต้นใหม่” หลังเลือกตั้งใหม่ได้หรือไม่

หรือไทยจะต้องดำเนินนโยบาย “สนตาย” ด้วยอาการพินอบพิเทาต่อผู้นำรัฐมหาอำนาจตะวันออกต่อไปไม่หยุด

จนเป็นเหมือนเอา “หลิวจีน” หรือ “สนรัสเซีย” มาปลูกแทน!