‘ความเปลี่ยนแปลง’ ที่มองไม่เห็น ‘กระบวนการ’

ไม่ใช่เรื่องผิดปกติหรือน่ารังเกียจแต่ประการใด

หากจะมีอดีตแนวร่วม กปปส. คนเคยเป่านกหวีด คนเคยเชียร์ลุงกำนัน คนเคยรักลุงตู่ คนเคยสวมเสื้อเหลือง คนเคยเป็นสลิ่ม คนเคยเกลียดทักษิณ และเคยร่วมสนับสนุนการทำรัฐประหาร ตัดสินใจเปลี่ยนขั้วย้ายข้างมาอยู่กับพรรคการเมือง “ฝ่ายประชาธิปไตย-ต่อต้านรัฐประหาร” เช่น เพื่อไทย หรือก้าวไกล

เพราะคนเราสามารถ “เปลี่ยนแปลง” กันได้

อีกทั้งสังคมก็ควรให้โอกาส “คนที่อยากเปลี่ยนแปลง” ได้พิสูจน์ตัวตน-ความคิดที่ “เปลี่ยนไป” ของเขาและเธอ

ในความเป็นจริงแล้ว “การย้ายข้างทางการเมือง” จึงไม่ใช่ปัญหาในตัวมันเอง

ทว่า เมื่อทุกๆ “การเปลี่ยนแปลง” ย่อมต้องมี “กระบวนการ” ที่คลี่เผย-ชี้แสดงให้เห็นว่าคนหรือสภาพการณ์ต่างๆ นั้น มีพลวัตผันแปรไปเช่นไร

สังคม-สาธารณชน จึงมีความชอบธรรมที่จะจับจ้อง เฝ้ามอง กระทั่งตั้งคำถามต่อ “กระบวนการของความเปลี่ยนแปลง” ดังกล่าว

 

สําหรับนักการเมืองหรือบุคคลสาธารณะบางราย แม้ว่าเมื่อหลายปีก่อน พวกเขาจะเคยสนับสนุนอำนาจนอกระบบและต่อต้านประชาธิปไตย

แต่ถ้าตลอดหลายปีหลังที่ผ่านมา พวกเขาตระหนักและยืนยันว่า “ระบอบ คสช.” ที่ยืนหยัดมาถึง 8 ปี นั้นสร้างปัญหาให้แก่ประเทศมากมาย

ถ้าพวกเขามองเห็นเช่นเดียวกับคนไทยอีกเป็นจำนวนมาก ว่าผู้นำของระบอบนี้ไร้ความสามารถ

ถ้าพวกเขามองออกและแสดงจุดยืนเสมอมาว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหาที่ต้องแก้ไขกันหลายจุด (หรือควรยกร่างใหม่ทั้งฉบับ) โดยเฉพาะการให้อำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี

ถ้าพวกเขายินดีรับฟังเสียงของเยาวชนที่ก้องดังขึ้นมา และเห็นว่าสิทธิในการพูดจา-แสดงออกของคนรุ่นใหม่เหล่านี้สมควรได้รับการปกป้อง

“กระบวนของความเปลี่ยนแปลง” ที่เกิดขึ้นกับตัวตนและจุดยืนทางการเมืองของพวกเขา ก็จะค่อยๆ ปรากฏชัดเจนขึ้นในการรับรู้ของเพื่อนร่วมสังคม

ดังนั้น ในท้ายที่สุด เมื่อพวกเขาประกาศย้ายพรรคเปลี่ยนข้าง นั่นจึงเป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้ โดยไม่ตะขิดตะขวงใจ

หรืออย่างน้อยที่สุด หาก “กระบวนการเปลี่ยนแปลง” ที่บังเกิดขึ้น อาจดูเล็กน้อยกว่านั้น แต่บ่งชี้ถึงนัยยะสำคัญบางประการ นั่นก็ยังเป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้

เช่น การโหวตสนับสนุนร่างกฎหมายสุราก้าวหน้าสามวาระรวดของ “เชิงชาย ชาลีรินทร์” อดีต ส.ส.พลังประชารัฐ ทำให้สาธารณชนเข้าใจได้ว่าทำไมเขาจึงต้องย้ายขั้ว และการเป็นอดีต ส.ส.เขต ในจังหวัดชัยภูมิ ก็ยิ่งทำให้เข้าใจได้ว่า เพราะเหตุใดเขาจึงต้องเลือกย้ายไปอยู่พรรคเพื่อไทย

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีนักการเมืองบางราย ที่เลือกยืนอยู่ข้าง “ระบอบสืบทอดอำนาจของ คสช.” อย่างสงบเสงี่ยมเรียบร้อย โดยไม่เคยหลุดปากวิพากษ์วิจารณ์ความอ่อนด้อยศักยภาพในการบริหารประเทศของ “บิ๊กๆ ลุงๆ” อดีตผู้นำคณะรัฐประหาร ที่กลายสภาพมาเป็นนักการเมือง-นักเลือกตั้ง แม้เพียงสักครั้งเดียว

ไม่กี่เดือน-ไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ นักการเมืองรายเดียวกันก็ยังลงพื้นที่พร้อมกับ “บิ๊กตู่” หรือ “บิ๊กป้อม” อยู่เลย

นักการเมืองประเภทนี้ไม่เคยโหวตสวนมติรัฐบาลพลังประชารัฐ ไม่เคยมีวิวาทะกับ ส.ว. และไม่ได้แสดงออกอย่างจริงใจ-จริงจังว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันสร้างปัญหาให้ประเทศเยอะแยะ

นักการเมืองประเภทนี้ไม่เคยเป็นปากเสียงให้เยาวชนที่ออกมาเรียกร้องเคลื่อนไหวทางการเมือง

แต่แล้วจู่ๆ เขา/เธอก็ย้ายมาลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ในฐานะตัวแทนของ “พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย-ต่อต้านรัฐประหาร”

“ความเปลี่ยนแปลง” ที่ปราศจาก “กระบวนการ” เช่นนี้ ย่อมหลีกเลี่ยงคำถามและข้อครหาได้ยาก

ทั้งนี้ มิได้หมายความว่า เราควรปิดโอกาสไม่ให้นักการเมืองประเภทนี้ได้เปลี่ยนแปลงตนเองอย่างสิ้นเชิง

ทว่า เจ้าตัวและพรรคต้นสังกัดใหม่จำเป็นต้องเร่งทำให้ “กระบวนการเปลี่ยนแปลง” นั้นสำแดงออกมาสู่สายตาสาธารณชนโดยเร็วที่สุด

“ความเปลี่ยนแปลง” ที่ว่า ไม่ใช่แค่การพูดถึง “ปัญหาปากท้อง” อย่างลอยๆ สั้นๆ หรือการรู้จัก “เล่น” กับเหล่าแฟนด้อมวัยรุ่นมากขึ้นเท่านั้น

หากต้องเป็น “ความเปลี่ยนแปลงในเชิงแก่นสาร-อุดมการณ์” ด้วย •

 

ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน