การดิ้นรนครั้งสุดท้ายของฝ่ายอนุรักษนิยม

สมชัย ศรีสุทธิยากร
(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

ความคิดอนุรักษนิยม (Conservative) เป็นแนวคิดของการรักษาของเดิม เห็นว่าสิ่งที่คงอยู่ในปัจจุบันเป็นสิ่งที่ดีงามแล้ว ไม่ว่าจะเป็นระบบการเมือง การบริหาร เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมของประเทศ จึงจำเป็นต้องรักษาและทำให้สิ่งดังกล่าวยังยืนยาวต่อไป

ตรงข้ามกับแนวคิดเสรีนิยม (Liberalism) ที่มักไม่พอใจกับสิ่งที่คงอยู่ในปัจจุบัน เห็นเป็นความล้าหลัง จำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่หรือเปลี่ยนแปลง โดยมีพื้นฐานในเรื่องความเท่าเทียมและเสรีภาพในการคิดและการกระทำ

สำหรับการพัฒนาการทางการเมืองไทย ฝ่ายอนุรักษนิยมมักจะเป็นฝ่ายหลักที่ครอบครองอำนาจ บางครั้งผ่านการเลือกตั้งและหลายครั้งผ่านการรัฐประหารยึดอำนาจ

โดยฝ่ายดังกล่าวจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของการเมืองด้านอนุรักษ์ที่ร่วมมือกับระบบราชการในความพยายามรักษาสถานะความได้เปรียบของตนเองตลอดไป

ในขณะที่กระแสแนวคิดแบบเสรีนิยมเริ่มขยายกว้างจากการเติบโตของคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาแทนที่

จากการเห็นปัญหาความไม่เท่าเทียมในสังคมที่ฝ่ายอนุรักษ์เป็นฝ่ายครอบครองทรัพยากรต่างๆ รวมทั้งการสร้างกฎกติกาที่ยากจะเปลี่ยนแปลง

โดยผลการเลือกตั้งในครั้งหลังๆ นับแต่การมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เป็นต้นมา ชี้ให้เห็นกระแสนิยมที่เพิ่มขึ้นของฝ่ายเสรีนิยม ทำให้ได้รับชัยชนะในการการเลือกตั้งต่อเนื่องหลายครั้ง

เมื่อไม่สามารถใช้วิธีการเลือกตั้งเพื่อเอาชนะได้ ฝ่ายอนุรักษนิยมจึงเลือกวิธีการครอบครองอำนาจผ่านการรัฐประหารสองครั้งในปี 2549 และ 2557 การใช้กลไกของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระเพื่อทำลายฝ่ายตรงข้าม และการสร้างกติกาใหม่ในรัฐธรรมนูญเรื่องบัตรใบเดียว ระบบการคิดคำนวณจำนวน ส.ส.แบบจัดสรรปันส่วนผสม การให้มีสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง และกลไกการเลือกนายกรัฐมนตรีที่ให้สมาชิกวุฒิสภามีส่วนร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร จนสามารถครองอำนาจอย่างต่อเนื่องนับแต่ปี พ.ศ.2557

แต่กระนั้นก็ยังมีอาการหวั่นไหวกับการเลือกตั้งในอนาคต

 

การก้าวพลาดของฝ่ายอนุรักษนิยม

ฝ่ายอนุรักษนิยมซึ่งครองอำนาจที่มาจากทหารนั้น กลับขาดประสบการณ์ทางการเมือง ทำให้เกิดการเดินหมากทางการเมืองที่ผิดพลาดหลายครั้ง จนเป็นเหตุให้สถานการณ์ที่เคยได้เปรียบมีแนวโน้มที่จะเป็นตรงข้าม

ประการแรก การเปลี่ยนแปลงกติกาการเลือกตั้ง กลับมาใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ เปลี่ยนสัดส่วน ส.ส.เขต ต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็น 400 : 100 และให้มีการนับคะแนนแบบคู่ขนาน โดยประเมินว่า กติกาดังกล่าวจะเอื้อประโยชน์ต่อฝ่ายตนเอง ถือเป็นการก้าวพลาดครั้งที่หนึ่ง

เหตุเพราะอ่านการเมืองไม่ขาด หรือเชื่อนักการเมืองที่ใกล้ชิดโดยลืมไปว่า คนเหล่านี้คือนักการเมืองที่ไม่มีความผูกพันจงรักภักดีต่อใครอย่างแท้จริง ฝ่ายไหนมีอำนาจก็พร้อมจะสามิภักดิ์ไปอยู่ด้วย

การมองไม่ออกว่า กติกานี้เป็นกติกาที่เอื้อต่อพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่สามารถได้ ส.ส.เต็มที่จากทั้งสองทาง คือทั้งเขต และบัญชีรายชื่อ แถมยังเป็นฝ่ายริเริ่มสนับสนุนเองตั้งแต่เริ่มต้น จึงนับเป็นการก้าวพลาดทางการเมืองที่จะมีผลต่อชัยชนะในการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลในอนาคต

ประการที่สอง การเขียนกติกาเพื่อจำกัดการดำรงตำแหน่งของผู้เป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกิน 8 ปี ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งต่อเนื่องหรือไม่ต่อเนื่องก็ตาม เป็นการสร้างข้อจำกัดให้แก่ฝ่ายการเมืองที่อาจได้รับความนิยมจากประชาชนไม่ให้สามารถสร้างอำนาจในตำแหน่งนายกรัฐมนตรียาวนานเกินไป

แต่การณ์กลับว่า กติกาในรัฐธรรมนูญดังกล่าวกลายเป็นอุปสรรคต่อการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสียเอง โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2565 ให้นับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2560 ซึ่งหมายความว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ประสงค์จะอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและชนะการเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งหน้า ก็จะได้อยู่เพียงแค่ครึ่งวาระ คืออยู่ได้ไม่เกินวันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2568 เท่านั้น

ข้อจำกัดดังกล่าว จึงเป็นปัญหาความเสียเปรียบในการหาเสียงเนื่องจากการชูบุคคลที่จะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีโอกาสดำรงตำแหน่งเพียงครึ่งวาระ ย่อมไม่เท่า คนที่สามารถอยู่ได้เต็มวาระ

ประการที่สาม การตัดสินใจแยกพรรคไปตั้งพรรคใหม่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ชื่อพรรครวมไทยสร้างชาตินั้น ในทางยุทธศาสตร์ไม่ใช่สิ่งที่เรียกว่า แยกกันเดินรวมกันตี แต่เป็นการแยกกันพ่ายแพ้ เพราะภายใต้กติกาการเลือกตั้งใหม่ การเลือกตั้งในระบบเขต เป็นระบบที่ผู้ชนะได้คะแนนมากที่สุดเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง (First-pass-the-post voting) คะแนนของคนที่ได้ที่สองไม่มีความหมาย

คะแนนที่คุณมีเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ พอแบ่งเป็นสองพรรคแข่งกันเอง ฐานคะแนนเดิมจะถูกแบ่งเป็นสองส่วน และอาจทำให้พรรคการเมืองที่สามที่เดิมอาจจะมีคะแนนน้อยกว่า กลายมาเป็นพรรคที่ได้รับการเลือกตั้งระดับเขตแทน

ในขณะที่จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อรวมของสองพรรคอาจไม่แตกต่างไปจากเดิมนัก เพราะแม้คะแนนนิยมจะถูกแบ่งเป็นสองส่วน แต่ก็รวมเป็นสัดส่วนที่จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเท่าเดิม

ผลที่เกิดขึ้นจากการแยกเป็นสองพรรค คือ จำนวน ส.ส. รวมของทั้งสองพรรคจะน้อยลงกว่าการเป็นพรรคเดียว เนื่องจากการแข่งขันกันเองในระดับเขต สิ่งนี้จึงจัดเป็นความผิดพลาดในการวางเกมการเมืองอีกประการหนึ่ง

 

ทางดิ้นครั้งสุดท้ายเพื่อแก้เกมที่เป็นรอง

การกลับไปอยู่พรรคเดียวกันเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ เนื่องจากเดินหน้าไปไกลแล้ว ทางออกของ สอง ป. คือ การทำให้อีกพรรคหนึ่งไม่มีความหมาย ไม่กลายเป็นคู่แข่งขันทางการเมือง

ป.ประยุทธ์นั้น เลือกวิธีการเดินหน้า เปิดหน้าชกอย่างชัดเจน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการดูดคนที่มีศักยภาพและทรัพยากรสนับสนุนเข้าพรรค

แต่จนถึงปัจจุบัน แม้จะโหมโรงเพียงไรก็ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร คนที่ไหลเข้าพรรคกลับเป็นอดีต ส.ส.ที่ไม่ได้มีฐานคะแนนในระดับเขต เป็นแถวสองแถวสามที่ถูกปฏิเสธจากพรรคเดิมแล้วจึงมาขอเกาะเกี่ยวกับพรรครวมไทยสร้างชาติ

การเปิดประเด็นของสมาชิกวุฒิสภาบางคน ถึงดำริในการแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 158 เพื่อให้นายกรัฐมนตรีสามารถดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปีได้ จึงออกมาในจังหวะเวลานี้ เพื่อทำลายข้อจำกัดในการหาเสียง เหมือนกับว่า ตอนนี้อยู่ได้สองปี แต่ก็สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญให้อยู่ตลอดไปได้

ในขณะที่ ป.ประวิตร ก็ต้องพยายามสร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดให้ ส.ส.เขตที่มีอยู่เดิมไม่แตกแถวไปสู่พรรคอื่น แต่จุดขายของพรรคกลับไม่มี ไม่โดดเด่นเหมือนรวมไทยสร้างชาติที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นจุดขาย แต่ยังพอมีความได้เปรียบในเชิงกลยุทธ์ด้านจุดยืนของพรรคที่สามารถเข้าร่วมรัฐบาลกับทุกฝ่ายหลังการเลือกตั้งได้ และยังมีแนวโน้มที่พรรคเพื่อไทยอาจต้องดึงมาร่วมรัฐบาลด้วยหวังเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภาที่พลเอกประวิตรยังพอมีความเชื่อมโยงอยู่ในฐานะอดีตประธานคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาในอดีต

หากหมากของ พล.อ.ประยุทธ์ได้ผล ย่อมมีคนไหลเข้าเพิ่มขึ้น และส่งให้พรรครวมไทยสร้างชาติเป็นพรรคที่มีผลการเลือกตั้ง ได้ ส.ส.รวมมากกว่าพรรคพลังประชารัฐของ พล.อ.ประวิตร

แต่หาก พล.อ.ประวิตรเลิกสนใจการรวมกับ พล.อ.ประยุทธ์ แต่เลือกที่จะอยู่กับพรรคเพื่อไทย

รวมไทยสร้างชาติ ที่เป็นพรรคตัวแทนของปีกอนุรักษนิยมขวาจัด จะได้มีโอกาสทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านในสภาเป็นครั้งแรกได้อย่างสมศักดิ์ศรี