อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : โรฮิงญาจากวิกฤตสู่หายนะ

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โรฮิงญาเป็นชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่บริเวณตะวันตกของเมียนมาอยู่ในรัฐยะไข่ติดกับชายแดนประเทศบังกลาเทศ

โรฮิงญาอาจมองได้หลายแง่มุม ด้านชาติพันธุ์ พวกเขาเรียกตัวเองว่าโรฮิงญา อยู่บริเวณนั้นมานานกว่า 200 ปี แต่คนเมียนมาทุกระดับชั้นเรียกพวกเขาว่าเบงกาลี คือคนที่อพยพมาจากประเทศบังกลาเทศ

ด้านศาสนา ชาวโรฮิงญานับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งคนเมียนมาส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ในทางการเมืองภายในเมียนมา คนเมียนมาที่นับถือศาสนาพุทธทำร้าย เข่นฆ่าและเผาหมู่บ้านคนโรฮิงญา องค์กรพุทธบางองค์กรในเมียนมาเป็นแกนนำต่อต้านคนโรฮิงญา และมีการปะทะกันในเมืองสำคัญเช่นย่างกุ้งด้วย

แต่ก็มีข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ เสนอว่า คนที่ทำร้ายชาวโรฮิงญาคือคนที่ได้รับการว่าจ้างจากฝ่ายต่างๆ ที่ไม่ชอบชาวโรฮิงญา รวมทั้งจากฝ่ายรัฐด้วย

เป้าหมายเพื่อสร้างสถานการณ์ความวุ่นวาย

ด้วยเหตุนี้ ปัญหาโรฮิงญาจึงส่งผลต่อการเมืองภายในเมียนมาด้วย

ฝ่ายรัฐยังแยกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่ง นำโดย นางออง ซาน ซูจี ประธานที่ปรึกษาแห่งรัฐและเป็นผู้นำในการปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเดินอยู่บนเส้นด้ายเพราะถูกโจมตีว่าไม่จัดการกับความขัดแย้งเรื่องชาวโรฮิงญา องค์กรภายนอกเรียกร้องให้เอารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจากเธอคืน

ระหว่างทางของเส้นด้าย ฝ่ายความมั่นคงและต่อต้านชาวโรฮิงญาอย่างเปิดเผยเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น เมื่อก้าวเข้ามาแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

แต่ปัญหาโรฮิงญาจะไม่หยุดแค่ปัญหาความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ ศาสนาและการชิงไหวชิงพริบทางการเมืองเท่านั้น ปัญหาโรฮิงญาอาจนำไปสู่ปัญหามนุษยธรรมก็ได้

 

สู่ปัญหามนุษยธรรมโร

ตามความเห็นของ Jeremie Bodin กรรมการอำนวยการของ International medical humanitarian organization Medecins Sans Frontiere (MSF) Japan ได้ตั้งข้อสังเกตว่ามีการประชุมขององค์การสหประชาชาติที่นครเจนีวา ด้วยเป้าหมายเพื่อระดมทุน 434 ล้านเหรียญสหรัฐในอีก 6 เดือนข้างหน้าเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาโรฮิงญา ทว่า ตามความเห็นของ Jeremie Bodin เขาคิดว่าไม่มีวันเพียงพอ

เมื่อรัฐบาลบังกลาเทศแสดงความเห็นใจ โดยเปิดพรมแดนหลายด้านและให้ที่พักพิงแก่คนจำนวนมากกว่าครึ่งล้านคน ยังรวมถึงคนที่ได้เข้ามาอยู่ในที่พักพิงจากเหตุการณ์ที่เกิดความรุนแรงก่อนหน้านั้นด้วย

ทางการบังกลาเทศตอนนี้ทำงานหนักต่อแผนการจัดระเบียบใหม่กับที่พักพิงเหล่านั้น

การทำงานที่รัฐบาลบังกลาเทศไม่ได้ทำฝ่ายเดียว ยังมีการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ขององค์การสหประชาชาติ และองค์กรพัฒนาเอกชนจำนวนมาก ซึ่งต้องทำงานในสถานการณ์ที่อันตรายและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

แถมปีนี้พายุไซโคลนยังเข้ามาจนทำให้เกิดน้ำท่วม จนอาจสร้างพิบัติภัยใหญ่โตมากกว่าเดิม

จากการทำงานของ MSF กำลังทำงานที่ค่ายผู้ลี้ภัยหลักที่เมือง Kutupalong1 ตั้งแต่ปี 2009 มาและมองเห็นความต้องการด้านมนุษยธรรมต่างๆ

MSF กำลังทำงานป้องกันเป็นด้านหลักต่อการกอบกู้ระบบสาธารณสุขอย่างเร่งด่วนในบริเวณที่มีผู้อพยพนับหมื่นคนได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและดินถล่ม ในบริเวณนั้น มีสุขาหรือน้ำสะอาดน้อยมาก

ยังมีเงื่อนไขต่างๆ มากมายที่เปิดโอกาสให้โรคภัยไข้เจ็บเจริญเติบโตได้ ในค่ายผู้ลี้ภัยอื่นๆ หลายแห่ง MSF จัดน้ำดื่มและอุปกรณ์สุขอนามัยต่างๆ ให้ เจ้าหน้าที่บังกลาเทศรณรงค์การฉีดวัคซีนอหิวาตกโรคที่เกิดขึ้นแล้ว รวมทั้งป้องกันโรคอหิวาต์ที่จะกลับเข้ามาใหม่

เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานได้พบคลื่นของคนเจ็บป่วยจำนวนมาก พวกเขายังเข้าไม่ถึงการดูแลทางการแพทย์ระหว่างเป็นผู้อพยพเดินทางมาบังกลาเทศ เพราะแม้ว่าคนพวกนี้มาถึงแคมป์ที่พักแล้ว พวกเขาอาจต้องเดินทางเป็นชั่วโมงๆ ผ่านป่าทืบและข้ามแนวภูเขาสูงจึงจะมาถึงมือเจ้าหน้าที่ได้

 

โรคภัยจากความรุนแรง

ไม่เพียงโรคภัยไข้เจ็บทางการขาดแคลนอาหาร น้ำดื่ม และการดูแลทางสาธารณสุขของผู้ลี้ภัยโรฮิงญาที่ลี้ภัยมายังบังกลาเทศเท่านั้น ผู้อพยพในค่ายบางส่วนจะมีอาการติดเชื้อ มีผิวหนังและบาดเจ็บที่เกิดจากอันตรายที่เกิดขึ้นในช่วงที่พวกเขาหนีมาจากรัฐยะไข่ เมียนมา เช่น แผลบาดเจ็บจากการถูกยิง แผลบาดเจ็บจากระเบิดและเกิดจากความรุนแรงทางเพศ

ปัญหาในค่ายผู้ลี้ภัยยังมีเรื่องอาหารด้วยที่แสดงให้เห็นว่าเด็กที่ขาดอาหารอย่างรุนแรงมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

อาจกล่าวได้ว่า ปัญหานี้ยังแก้ไขได้ยากมากเพราะการนำอาหารที่สะอาดและเพียงพอมายังค่ายอพยพยังทำได้ไม่ทั่วถึงและยากลำบาก

กล่าวโดยสรุป การทำลายล้างของโรคภัยทางธรรมชาติ หรือโรคระบาดที่สามารถทำให้เกิดความเสียหายเกิดขึ้นได้ทั้งสองทางและทุกเมื่อ ดังนั้น สถานการณ์ของชาวโรฮิงญาในบังกลาเทศเป็นระเบิดเวลาที่กำลังจะระเบิดเป็นความหายนะของมนุษยชาติ

ยิ่งเมื่อย้อนดูรากเหง้าของปัญหาโรฮิงญาแล้ว นี่เป็นมากกว่าเรื่องปัญหาเชื้อชาติ การนับถือศาสนาและการแข่งขันทางการเมืองภายในเมียนมาเท่านั้น

———————————————————————————————–

1Jeremie Bodin, “How Terrible Were Things In Myanmar If This Is What They Chose? Why The Rohingya Crisis Is Headed For Disaster” Forbes 24 October 2017.