“ฮอนดะ โซอิจิโร” ผู้ให้กำเนิดจักรวาลฮอนด้า | บัญชา ธนบุญสมบัติ

ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติhttps://www.facebook.com/buncha2509
Soichiro Honda with the 1963 Honda RA270F prototype Formula one car

ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกค่ายหนึ่งคือ ฮอนด้า มีผู้ให้กำเนิดคือ ฮอนดะ โซอิจิโร ซึ่งเป็นนักสร้างสรรค์ที่มีชีวิตน่าเรียนรู้อย่างยิ่ง

โซอิจิโร เกิดเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2449 ที่หมู่บ้านโคเมียว อ.อิวาตะ (ปัจจุบันคือเมืองเทนริว) เขาเป็นบุตรชายคนโตของกิเฮ (พ่อ) และมิกะ (แม่) ตระกูลฮอนดะยึดอาชีพตีเหล็กมาหลายชั่วอายุคน

พ่อแม่ของโซอิจิโรเล่าให้เขาฟังว่า เขาสนใจเครื่องจักรตั้งแต่ยังไม่รู้ความทีเดียว โดยเฉพาะเครื่องจักรในโรงสีข้าวที่เขามักจะรบเร้าให้คุณปู่กระเตงพาไปดู พออายุราว 3 ขวบ เด็กน้อยก็ชอบเข้าไปเล่นในที่ทำงานของพ่อ

ตอนเรียนชั้นประถม 2 เขาเคยไปตกแต่งจมูกของรูปปั้นพระจิโซ เพราะไม่ชอบรูปร่างเดิม แต่แต่งพลาดจนจมูกพระแหว่ง พระจิโซหน้าตาเป็นยังไง ให้นึกถึงเรื่องอิกคิวซังซึ่งมีรูปปั้นพระตามข้างทาง ถือกันว่าพระจิโซท่านช่วยคุ้มครองเด็ก คุ้มครองชีวิต

พฤติกรรมแต่งจมูกพระนี้แย้มนิดๆ ว่า เขาใส่ใจในรูปร่างของวัตถุ ซึ่งต่อมาความพิถีพิถันนี้ได้ปรากฏให้เห็นในการออกแบบผลิตภัณฑ์นั่นเอง

เมื่อโซอิจิโรอายุได้ 15 ปี เกิดเหตุการณ์สำคัญที่กำหนดเส้นทางชีวิตของเขา เพราะมีรถยนต์คันหนึ่งแล่นผ่านหมู่บ้านโคเมียวเป็นครั้งแรก แม้ว่ารถคันนี้จะเป็นเพียงรถอเมริกันบุโรทั่งคันหนึ่ง แต่เสียงของเครื่องยนต์ก็ได้ปลุกเร้าให้เขาและเพื่อนๆ วิ่งตามออกมาริมถนน โซอิจิโรจ้องมองรถคันนั้นด้วยความชื่นชม ยิ่งเมื่อมีโอกาสสัมผัสกับคราบน้ำมันเครื่องที่พื้น หัวใจของเขาก็พองโต

นับแต่นั้นมาเขาก็ไม่เคยคิดถึงเรื่องอื่นใด นอกจากรถยนต์!

โซอิจิโร ฮอนด้า ในวัยเยาว์

ในช่วงแรก โซอิจิโรอยากทำอู่รถยนต์ แต่ไม่กล้าบอกพ่อ ทว่า พ่อก็มีเมตตาและบอกว่าถ้าเขาอยากเรียนต่อชั้นมัธยมก็ได้ ไม่ต้องสืบทอดกิจการของครอบครัว

จุดหักเหในชีวิตก็มาถึงอีกครั้ง เมื่อเขาได้เป็นช่างฝึกงานซ่อมรถยนต์ของบริษัท อาร์ต จำกัด ในโตเกียว แต่ครึ่งปีแรกเป็นช่วงเวลาที่น่าเหนื่อยหน่ายที่สุด เพราะแทนที่จะได้ซ่อมรถ โซอิจิโรกลับโดนมอบหมายให้เลี้ยงเด็ก ซักผ้าอ้อม และทำงานบ้านจิปาถะ เนื่องจากเขาเป็นน้องใหม่

แต่ในที่สุดเวลาของเขาก็มาถึง วันหนึ่งหิมะตกหนัก มีลูกค้านำรถมาซ่อมที่บริษัทและต้องการด่วน ทว่า วันนั้นไม่มีช่างว่าง ผู้จัดการบริษัทก็เลยให้เขาเป็นลูกมือ โซอิจิโรทำงานเพลินจนลืมเวลาและความหนาว ทุกคนรู้สึกทึ่ง ในที่สุดเขาก็ได้ทำงานซ่อมรถมากขึ้นเรื่อยๆ

ต่อมาเกิดวิกฤตใหญ่ วันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2466 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.9 ในภาคคันโต (บริเวณหลายจังหวัดรอบโตเกียว) มีกรุงโตเกียวเป็นจุดศูนย์กลาง ความสูญเสียเหลือคณานับ ตั้งแต่ไฟไหม้ถึง 3 วัน มีคนตาย 99,331 คน หายสาบสูญ 43,476 คน บ้านเรือนพังพินาศ 128,266 หลัง และถูกไฟไหม้อีก 447,128 หลัง

ส่วนอู่ของบริษัทอาร์ต กลายเป็นเถ้าถ่าน เหลือเพียงแค่รถยนต์และรถนั่งติดจักรยานยนต์อย่างละคันเท่านั้น!

แต่ในวิกฤตย่อมมีโอกาส ผู้จัดการบริษัทเกิดปิ๊งไอเดียนำรถที่ถูกไฟไหม้มาซ่อมขาย โซอิจิโรเข้าใจในทันทีและให้กำลังใจเพื่อนร่วมงานโดยถือคติ “ทำลูกเดียว” ที่เขาได้ยินมาตั้งแต่เด็ก

การซ่อมรถขนานใหญ่ครั้งนี้เองที่ทำให้ฝีมือของเขาพัฒนาขึ้นอย่างมาก เรื่องนี้ทำให้คิดถึงคำพูดของเขาที่ว่า “สิ่งใดที่เราถนัด เราต้องหมั่นขัดเกลาอยู่เสมอ”

 

หลังจากอยู่ที่โตเกียวได้ 6 ปี ผู้จัดการบริษัทก็เปิดโรงซ่อมรถยนต์ของบริษัทอาร์ต ที่ฮามามัตสึ ใกล้บ้านของเขา และมอบหมายให้โซอิจิโรรับผิดชอบ (แต่ตอนแรกต้องทำงานคนเดียว) นี่เองคือจุดเริ่มก่อร่างสร้างตัวของเขา

โซอิจิโรเป็นนักคิดนักพัฒนา ช่วงที่ฝึกงานเป็นเด็กซ่อมรถนี้เอง เขาสังเกตว่าล้อรถที่ทำจากไม้มักจะบิดเบี้ยวง่ายเมื่อเจอความชื้น แถมช่วงที่เกิดไฟไหม้ (ในเหตุการณ์แผ่นดินไหว) ก็พบว่าล้อไม้ติดไฟได้

เขาจึงคิดค้นล้อเหล็กหล่อ โดยนำแบบร่างไปจ้างให้โรงหล่อผลิต ปรากฏว่าล้อเหล็กหล่อขายดี โรงหล่อก็ร่ำรวยไปด้วย

นอกจากนี้ ยังได้รับสิทธิบัตร แถมไปจัดแสดงในงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมที่เมืองฮามามัตสึ และโกอินเตอร์ไปขายถึงดินแดนภารตะ

แต่เมื่อเริ่มรู้ว่าขืนซ่อมรถไปเรื่อยๆ คงไม่มีอะไรดีขึ้นนัก เขาจึงเริ่มเรียนรู้การสร้างเครื่องจักรกล และก่อตั้งบริษัท โตไก จำกัด ขึ้นมา หมายมั่นปั้นมือว่าจะผลิตแหวนลูกสูบ

แหวนลูกสูบเป็นชิ้นส่วนโลหะขนาดเล็กจึงใช้วัตถุดิบไม่มากและมีราคาดี โซอิจิโรทุ่มเทประดิษฐ์ชิ้นส่วนนี้ด้วยเชื่อมั่นเหลือเกินว่าประสบการณ์จะสามารถเอาชนะอุปสรรคทุกอย่างได้

แต่จนแล้วจนรอดเขาก็ล้มเหลว เพราะแหวนลูกสูบใช้งานไม่ได้ โดยหากไม่แตกหักเสียหายระหว่างใช้งาน มันก็จะแข็งเกินไปจนทำให้ผนังกระบอกสูบสึกหรอ

ในที่สุดเขาก็ได้ไปขอคำปรึกษาจากอาจารย์โยชิโนบุ ฟูจิอิ ในโรงเรียนช่างอุตสาหกรรมฮามามัตสึ (ปัจจุบันคือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิสึโอกะ) และพบว่าเหล็กที่เขาใช้ทำแหวนลูกสูบขาดธาตุซิลิคอน

เมื่อต้องการความรู้ เขาจึงขออนุญาตเข้าเรียนในชั้น เรื่องนี้โด่งดังมากสำหรับนักศึกษาในยุคนั้น (ลองคิดดูว่าหากชั้นเรียนของคุณมีผู้ใหญ่ระดับเจ้าของบริษัทมานั่งฟังเพื่อ ‘เอาวิชา’ อยู่ด้วย) ในที่สุดเขาก็สามารถพัฒนาแหวนลูกสูบสำเร็จ

เมื่อจบคอร์ส อาจารย์ใหญ่ได้เรียกโซอิจิโรไปพบ และบอกว่าเขาจะไม่ได้รับประกาศนียบัตรเพราะไม่ได้สอบไล่

โซอิจิโรตอบว่า “ประกาศนียบัตรหรือครับ นั่นมันมีค่าน้อยกว่าตั๋วหนังอีก เพราะตั๋วหนังรับประกันว่าเราจะได้เข้าไปในโรงหนังแน่ แต่ประกาศนียบัตรไม่รับประกันว่าเราจะทำมาหากินได้”

 

แล้วมอเตอร์ไซด์อันเลื่องชื่อของฮอนด้ามาจากไหน?

โซอิจิโรเล่าว่า “หลายปีหลังจากญี่ปุ่นแพ้สงคราม เสบียงอาหารในที่หลายแห่งไม่พอ ภรรยาผมต้องถีบรถจักรยานไปหาซื้อเสบียงอาหารในชนบทที่อยู่ไกลออกไป เธอต้องถีบรถข้ามภูเขา แม่น้ำ ลำห้วย เพื่อหาซื้อข้าวกับผักต่างๆ เหน็ดเหนื่อยอยู่ทุกๆ วัน ความยากลำบากของภรรยาเตือนให้ผมทุ่มเทกับการผลิตรถจักรยานยนต์ทั้งชีวิตจิตใจ”

“ผมไปหาซื้อเครื่องยนต์ขนาดเล็กที่ใช้ในเครื่องมือสื่อสารยามสงครามจากร้านค้าของเก่า แล้วดัดแปลงกาน้ำชาโลหะให้เป็นถังน้ำมัน ติดเข้ากับรถจักรยาน มันก็กลายเป็นรถจักรยานติดเครื่องยนต์”

นี่คือรถจักรยานยนต์คันแรกของฮอนด้า ซึ่งต่อมาได้กลายไปเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นแรก นั่นคือ ฮอนด้า เอ-ไทป์ (Honda A-type) ซึ่งเผยโฉมในปี พ.ศ.2490

พูดได้ว่า ได้ดีเพราะ (ความรักที่มีต่อ) ศรีภรรยา แท้ๆ เชียว!

 

โซอิจิโรหลงใหลในพลังและความเร็วยิ่งนัก เขาจึงมุ่งพัฒนารถจักรยานยนต์ไปจนถึงขั้นสุดยอด นั่นคือ รถจักรยานยนต์สำหรับแข่ง ในตอนแรกนั้น เขาตื่นตะลึงกับเทคโนโลยีเครื่องยนต์อันทรงพลังของเยอรมนีและอิตาลี ซึ่งแม้เป็นเพียงแค่รุ่น 125 ซีซี แต่ดูเหมือนว่าจะมีกำลังม้าสูงกว่ารถของฮอนด้าถึง 3 เท่า!

ต่อมาฮอนด้าก็ส่งรถรุ่น RC141 ขนาด 125 ซีซี ลงแข่ง ณ สนาม T.T. Race บนเกาะแมนเป็นครั้งแรก โดยได้ลำดับที่ 6, 7, 8 และ 11 แต่ในอีก 2 ปีต่อมา รถจักรยานยนต์ของฮอนด้าขนาด 125 ซีซี และ 250 ซีซี ก็กวาดตำแหน่งที่ 1-5 มาทั้งสองรุ่น

โซอิจิโรก็มุ่งสู่การสร้างรถยนต์ โดยเริ่มจากรถบรรทุกขนาดเล็ก รุ่น T360 และรถสปอร์ตขนาดเล็กรุ่น S360 ในปี พ.ศ.2505 และในปีเดียวกันนั้น ฮอนด้าก็ประกาศเข้าร่วมแข่งรถฟอร์มูล่าวัน

ในระยะแรก รถแข่งของฮอนด้าแพ้อย่างต่อเนื่อง เพราะเครื่องยนต์ขัดข้องบ้าง เกิดอุบัติเหตุบ้าง ฯลฯ แต่ในที่สุดก็สามารถคว้าแชมป์ที่ 1 ในการแข่งขันกรังด์ปรีซ์ที่เม็กซิโก (พ.ศ.2508) และที่อิตาลี (พ.ศ.2510) เป็นการประกาศศักดาทางเทคโนโลยีให้โลกได้รับรู้อย่างชัดเจน

นี่แหละคือ ผลผลิตจากความใฝ่ฝันของเด็กน้อยผู้หลงใหลในกลิ่นคราบน้ำมันและเสียงเครื่องยนต์ จนสามารถสร้างอาณาจักรยานยนต์อันยิ่งใหญ่ จะคิดฝันถึงอะไรก็ลงมือทำให้ถึงสุดยอด

อันสะท้อนคำกล่าวของเขาที่ว่า “พฤติกรรมบอกคน ผลิตผลบอกผู้ผลิต” นั่นเอง!