กิติมา อมรทัต ไรน่าน อรุณรังษี สองปัญญาชนมุสลิมร่วมสมัย (25)

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม | จรัญ มะลูลีม

 

กิติมา อมรทัต

ไรน่าน อรุณรังษี

สองปัญญาชนมุสลิมร่วมสมัย (25)

 

คำนำของชัยค์ แห่งอัลอัซฮัร (ต่อ)

ความมั่นใจอย่างแน่นแฟ้นของ ดร.ฮัยกัลได้รับการยืนยันโดยเหตุการณ์จริงๆ สิ่งที่เราได้แลเห็นอยู่ทุกวันนี้ ในเรื่องความเป็นห่วงของตะวันตกเกี่ยวกับการศึกษาถึงมรดกของเรา และในความเอาใจใส่ของนักวิชาการตะวันตก ในอันที่จะศึกษาถึงมรดกของอิสลาม เนื้อหาต่างๆ ของอิสลาม ประวัติศาสตร์โบราณและสมัยใหม่ รวมทั้งผู้คนของอิสลาม การปฏิบัติอย่างยุติธรรมที่นักวิชาการเหล่านั้นบางคนมีต่องานการของท่านศาสดา และสุดท้ายก็คือสิ่งที่เรารู้ด้วยประสบการณ์ถึงชัยชนะขั้นสุดท้ายของสัจธรรม

ทั้งหมดเหล่านี้นำไปสู่ข้อพิจารณาว่าอิสลามจะต้องแพร่ขยายไปทั่วโลก เมื่อเป็นเช่นนั้นผู้ที่เป็นปรปักษ์อย่างแข็งขันที่สุดต่ออิสลาม ก็อาจจะเป็นศัตรูที่แข็งแรงที่สุดของอิสลาม

ในขณะที่ผู้ที่เป็นปรปักษ์อย่างห่างๆ นั้นอาจกลายมาเป็นผู้หันมารับและปกป้องอิสลามก็ได้ ดังที่ในสมัยต้นๆ คนแปลกหน้าได้สนับสนุนอิสลาม คนแปลกหน้าก็อาจจะเป็นผู้ช่วยให้อิสลามได้ประสบชัยชนะขั้นสุดท้ายได้เช่นกัน

กล่าวกันว่า “อิสลามเริ่มต้นขึ้นเหมือนกับคนแปลกหน้า และจะกลับไปเหมือนกับคนแปลกหน้า ขอพระผู้เป็นเจ้าทรงอำนวยพรแก่คนแปลกหน้าด้วยเถิด!”

เนื่องด้วยท่านศาสดาเป็นศาสดาท่านสุดท้าย และโลกนี้จะไม่มีศาสดาอีกต่อไปหลังจากท่าน และเนื่องจากศาสนาของท่านเป็นศาสนาที่สมบูรณ์ที่สุด ดังที่พระมหาคัมภีร์ได้กล่าวไว้ จึงเป็นไปไม่ได้ที่อิสลามจะคงมีสถานภาพเดิมเช่นนี้อยู่ตลอดไป

รัศมีอิสลามจะต้องกลบรัศมีอื่นๆ เสียหมดเหมือนดังแสงอาทิตย์กลบแสงดาวเสียกระนั้น

 

ดร.ฮัยกัลได้บรรยายถึงเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตของท่านศาสดาอย่างใกล้ชิดติดต่อกันและกัน เพราะฉะนั้นหนังสือของท่านจึงเป็นข้อโต้เถียงที่มีส่วนประกอบ ซึ่งถักสานกันไว้อย่างใกล้ชิดแน่นหนาในทุกๆ เรื่อง ท่านมีหลักฐานอันเข้มแข็งมาสนับสนุน และได้กล่าวถึงไว้อย่างชัดเจนและมั่นใจ งานของท่านจึงมิใช่เป็นเพียงแต่การเชิญชวนเท่านั้น มันเป็นหนังสือที่น่าอ่านซึ่งจะทำให้ผู้อ่านอ่านต่อไปจนกระทั่งจบ

ยิ่งกว่านั้นหนังสือเล่มนี้ยังมีการศึกษาในหลายๆ เรื่อง ซึ่งมิได้เกี่ยวข้องกับชีวประวัติของท่านศาสดาโดยตรง แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับตอบปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอยู่

ในที่สุดนี้ขอให้ข้าพเจ้าจบคำนำนี้ ด้วยการขอพรให้กับผู้ที่เป็นครูแห่งมนุษย์ทั้งหลาย ขอความสันติจากพระผู้เป็นเจ้าบังเกิดแก่วงศ์วานและสาวกของท่านเถิด ดังนี้

“โอ้พระผู้เป็นเจ้า ข้าพระองค์ขอพึ่งพิงอยู่ภายใต้รัศมีแห่งพระพักตร์ของพระองค์ ซึ่งจักทำให้ความมืดซึ่งอยู่เบื้องหน้ารัศมีนั้นกลายเป็นความสว่างไสว และโลกนี้อีกทั้งโลกหน้าจะถูกสร้างขึ้นอย่างมั่นคง ด้วยพระบัญชาของพระองค์ ขอทรงปกป้องข้าพระองค์จากความโกรธขึ้ง และไม่พอพระทัยของพระองค์ การตัดสินย่อมเป็นของพระองค์แต่ผู้เดียว การตัดสินนั้นอาจหนักหนาสาหัส เมื่อพระองค์ไม่ทรงโปรดปราน ไม่มีอำนาจหรือพละกำลังใดๆ นอกจากในพระองค์

15 กุมภาพันธ์ 1935

มุฮัมมัด มุศเฏาะฟา อัลมะรอฆี

ชัยค์แห่งอัลอัซฮัร

“แท้จริงอัลลอฮฺและมลาอิกะฮฺ (อรูปวิญญาณเทียบได้กับทูตสวรรค์) ของพระองค์ ต่างอำนวยพรแก่ศาสดา บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย จงวิงวอนขอความสันติของพระองค์ และคำอำนวยพรแก่ท่านเถิด” กุรอาน 33 : 56

ด้วยพระนามของพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงเมตตา ผู้ทรงปรานียิ่ง

“บรรดาการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ผู้ทรงกรุณา ผู้ทรงเมตตาเสมอ ผู้ทรงสิทธิแห่งวันตอบแทน เฉพาะพระองค์เท่านั้นที่เราเคารพภักดี และเฉพาะพระองค์เท่านั้นที่เราขอความช่วยเหลือ ขอพระองค์ได้โปรดนำเราสู่ทางที่เที่ยงตรง ทางของบรรดาผู้ที่พระองค์ได้ประทานความโปรดปรานแก่เขาทั้งหลาย ไม่ใช่ทางของพวกที่ถูกกริ้ว และไม่ใช่ทางของพวกที่หลงผิด” (กุรอาน 1 : 1-7)

 

ในฐานะหนึ่งในผู้แปลหนังสือมุฮัมมัด มหาบุรุษแห่งอิสลาม ผมจึงขอสรุปถึงแนวคิดอิสลามที่มีต่อการดำเนินชีวิตของศาสดามุฮัมมัด (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน) จากถ้อยคำของ ดร.ฮัยกัลที่กล่าวเอาไว้ในเรื่องนี้ว่า

…ความเมตตาของศาสดามุฮัมมัด (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน) มิได้เกิดจากความอ่อนแอ หรือการยอม และก็มิได้เสียไปด้วยความหยิ่งทะนงจองหอง หรือปรารถนาที่จะได้รับการขอบคุณ แต่เป็นไปเพื่อพระผู้เป็นเจ้าด้วยความบริสุทธิ์ใจ อิสลามวางความยุติธรรมเคียงข้างความเมตตา และถือว่าความเมตตาที่ปราศจากความยุติธรรม ย่อมไม่ใช่ความเมตตา ความเมตตาปรานี จะเป็นที่เหมาะที่ควร และการทำดีที่เกิดจากความเมตตานั้นจะมีค่าควรแก่การสรรเสริญก็เพียงแต่เมื่อแรงดลใจนั้นมาจากภายใน มีเจตนารมณ์ที่เป็นอิสระและมีความมุ่งหมายคือเพื่อความโปรดปรานจากพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น ความเมตตาควรออกมาจากดวงวิญญาณที่เข้มแข็ง ซึ่งไม่รู้จักจำนนต่อสิ่งใด นอกจากพระผู้เป็นเจ้า และไม่รู้จักความพ่ายแพ้ต่อความอ่อนแอ มิได้เป็นไปอย่างสุดโต่งในนามของผู้ใจบุญ และไม่รู้จักหวั่นกลัวหรือโศกเศร้าเสียใจ เว้นแต่จะเสียใจในเรื่องของการทำผิด หรืออาชญากรรมที่ตนประกอบขึ้น

ตราบใดที่ดวงวิญญาณตกอยู่ใต้อำนาจภายนอก มันจะไม่มีวันเข้มแข็งได้เลย และมันจะไม่มีวันเข้มแข็งได้ถ้ามันยืนอยู่ภายใต้อำนาจกิเลสตัณหาของมันเอง…

ปรัชญาอิสลาม (ฉบับสมบูรณ์)

หนังสือที่เกี่ยวกับศาสนาอิสลามเล่มสุดท้าย

ของกิติมา อมรทัต

กิติมา อมรทัต อิมรอน มะลูลีม (ศ.ดร.อิมรอน มะลูลีม) จรัญ มะลูลีม เขียน สำนักพิมพ์อิสลามิค อะคาเดมีตีพิมพ์ในเดือนตุลาคม ปี 2550 ความยาว 484 หน้า ราคา 470 บาท

เป็นงานด้านศาสนาอิสลามเล่มสุดท้ายที่กิติมา อมรทัต เขียนก่อนจะกลับไปสู่อ้อมกอดของพระผู้เป็นเจ้า

ทั้งนี้ ผมได้เขียนคำนำของหนังสือเล่มนี้เอาไว้ว่าหนังสือปรัชญาอิสลาม เป็นหนังสือที่พยายามให้มีเนื้อหาสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่ผู้เขียนทุกคนจะหามาได้

ปรัชญาอิสลามเล่มนี้เป็นการนำงานของ ศ.ดร.อิมรอน มะลูลีม และงานที่เขียนขึ้นใหม่ของ ดร.กิติมา อมรทัต มาจัดลำดับพร้อมกับเพิ่มเติมงานที่ผมแปลและค้นคว้าลงไป

ก่อนที่อาจารย์กิติมา อมรทัต จะกลับไปสู่ความเมตตาของพระองค์อัลลอฮฺ (ศุบห์) และอยู่ในช่วงป่วยไข้ อาจารย์ได้อุทิศเวลาให้แก่ปรัชญาอิสลาม อย่างหาผู้ใดเสมอเหมือนได้ยาก ทั้งนี้ เพราะอาจารย์เขียนหนังสือได้ท่ามกลางความเจ็บป่วยทางกายและต้องออกเดินทางไปมาระหว่างบ้านกับโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์อยู่เกือบสองปี

ผมเดินทางไปเยี่ยมอาจารย์เป็นระยะๆ ทั้งที่โรงพยาบาลและบ้านที่พระประแดง อาจารย์ไม่เคยแสดงอาการท้อแท้ให้เห็น แต่ได้ต่อสู้กับโรคร้ายด้วยความอดทนและมีสติ และใช้เวลาที่มิได้เข้าโรงพยาบาลเขียนหนังสือโดยเฉพาะปรัชญาอิสลาม ที่อาจารย์โทร.ให้ผมและคุณสมชาย สมภักดี ญาติของผมไปรับต้นฉบับอยู่เนืองๆ

การไปรับต้นฉบับคือการได้เยี่ยมเยียนแลกเปลี่ยนทัศนะและถามถึงความเป็นไปในชีวิตในเวลาเดียวกัน

แม้ว่าอาจารย์จะแนะนำเรื่องการเรียบเรียงกับผมเอาไว้หลายบท แต่อาจารย์ก็ไม่มีโอกาสได้อ่านต้นฉบับที่ผมเรียบเรียงเพราะอาจารย์ได้จากไปเสียก่อน ท่ามกลางความอาลัยรักของผู้คนที่รู้จักอาจารย์ทุกคน

 

ผมเองเดินทางไปศึกษาที่อินเดียครั้งแรกกับอาจารย์และพี่ชาย (ศ.ดร.อิมรอน มะลูลีม และคุณเจริญ มะลูลีม อดีตรองประธานองค์การบริหารส่วนตำบลคลองตะเคียน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) และมีความผูกพันกับอาจารย์มาตลอดระยะเวลายาวนาน นับเป็นกัลยาณมิตรที่เป็นผู้ให้อย่างแท้จริง

ขณะที่อยู่ในประเทศอินเดีย อาจารย์ได้สละเวลาอันมีค่าให้กับผมมาตลอด ไม่ว่าจะช่วยอ่านต้นฉบับแปล หาหนังสือจากสำนักพิมพ์ในเมืองไทยมาให้แปล (ส่วนใหญ่เป็นงานจากสำนักพิมพ์สร้างสรรค์ของคุณประสิทธิ รุ่งเรืองรัตนกุล) ช่วยตรวจทานและส่งเสริมให้ผมมีรายได้จากการแปลหนังสือ ในขณะที่ยังเป็นนักศึกษาอยู่

ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นคุณูปการอันงดงามที่ยังอยู่ในความทรงจำของผมตลอด ไม่ว่าขวบปีจะผ่านไปยาวนานแค่ไหนก็ตาม

ทั้งอาจารย์ ดร.กิติมา อมรทัต ศ.ดร.อิมรอน มะลูลีม และผม เป็นนักศึกษาไทย 3 คนของมหาวิทยาลัย Muslim Aligarh ที่ได้รับทุน University Grants Commission ซึ่งเป็นทุนของรัฐบาลอินเดีย ในระดับก่อนปริญญาเอก (M.Phil) ปริญญาเอกและหลังปริญญาเอก (ในกรณีของอาจารย์ ดร.กิติมา อมรทัต) จากคณะเอเชียตะวันตก (West Asian Studies) หรือตะวันออกกลางศึกษา

ข้อดีของการเป็นนักเรียนทุนก็คือ การมีเวลาให้แก่การศึกษามากขึ้น ได้อยู่ห้องสมุดมากขึ้น และได้รับการบริการจากมหาวิทยาลัยเป็นอย่างดี

ซึ่งผมต้องขอขอบคุณคณาจารย์ของคณะทุกท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสตราจารย์ ดร.มะห์มูดุล ฮัก (Prof. Dr. Mahmudul Haq) ผู้เชี่ยวชาญด้านโลกมุสลิมที่เป็นพลังผลักดันให้ผู้เขียนปรัชญาอิสลามทุกคนหันมาสนใจโลกมุสลิมและปรัชญาอิสลาม

ในการเชื่อมต่อ ใส่เชิงอรรถ เทียบคำภาษาอาหรับ รวมทั้งการดึงเนื้อหาสำคัญมาเป็นคำอธิบายในเชิงอรรถ ฯลฯ ผมเองพยายามทำให้ดีที่สุดแล้ว ซึ่งผมเองก็ไม่มั่นใจว่าจะทำหน้าที่นี้ได้ดีแค่ไหน

งานของ ศ.ดร.อิมรอน มะลูลีม ก็เป็นปฐมบทสำคัญต่อการเรียนรู้ปรัชญาอิสลามหรือปรัชญามุสลิม และเปิดศักราชงานเขียนแนวนี้ขึ้นในตลาดหนังสือแนวปรัชญา ทั้งในแวดวงมุสลิมและในฐานะที่เป็นตำราในมหาวิทยาลัย

 

เป็นที่รับรู้กันว่าปรัชญาอิสลามให้ความอิ่มเอิบแก่ชีวิต ถ้าผู้อ่านอ่านอย่างใคร่ครวญก็จะพบกับอาณาจักรแห่งจิตวิญญาณและความเกรียงไกรของพระผู้เป็นเจ้า

อิสลามเป็นศาสนาแห่งขันติธรรม เป็นศาสนาที่มีความยืดหยุ่นและมีส่วนประกอบของความคิดก้าวหน้าอยู่ในตัว เพราะฉะนั้นจึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่ความคิดของมุสลิมจะมีรูปแบบเสรี อิสลามสนับสนุนให้มีความปรองดองระหว่างเหตุผลกับวิวรณ์ (วะหฺยุ) หรือการเปิดเผยของพระเจ้า

สำหรับพวกนิยมความลี้ลับ อิสลามก็เป็นวิถีทางแห่งความสมบูรณ์ด้านจิตวิญญาณ

และสำหรับนักวิทยาศาสตร์ อิสลามก็คือศาสนาแห่งวิวัฒนาการทางธรรมชาติ ศาสนาอิสลามกลืนเอาทุกสิ่งที่ดี รวมเอาทุกอย่างที่เป็นประโยชน์และรวบรวมความคิดทุกแขนงไว้เป็นอย่างดียิ่ง

ท่านศาสดากล่าวว่า “ความรู้คือสมบัติที่หายไปของผู้ศรัทธา” และ “จงรวบรวมเอาความรู้เอาไว้เถิด มันจะไม่เป็นอันตรายต่อท่านดอกไม่ว่ามันจะมาจากไหน (แหล่ง) ไหนก็ตาม”

“อิสลามจึงเป็นศาสนาที่เคลื่อนไหวอยู่เสมอไม่หยุดนิ่ง นักปรัชญามุสลิมสามารถเก็บดอกไม้ได้จากท้องทุ่งทุกแห่ง”