“ไอดา เฮนริเอตตา ไฮด์” ยอดสตรีนักสู้ชีวิต | บัญชา ธนบุญสมบัติ

ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติhttps://www.facebook.com/buncha2509
ไอดา เฮนริเอตตา ไฮด์ ที่มา > https://physicstoday.scitation.org/do/10.1063/pt.6.6.20190908a/full/

หากถามถึงสตรีผู้หนึ่งซึ่งเป็นทั้งครู นักวิจัย และนักประดิษฐ์ ชื่อของ ไอดา เฮนริเอตตา ไฮด์ (Ida Henrietta Hyde) น่าจะติดโผในอันดับต้นๆ

ไอดา เฮนริเอตตา ไฮด์ เป็นชาวอเมริกัน เกิดเมื่อวันที่ 8 กันยายน ค.ศ.1857 พ่อของเธอชื่อ ไมเออร์ ไฮเดินไฮเมอร์ (Meyer Heidenheimer) เป็นพ่อค้าที่เดินทางอยู่เป็นนิจ แม่ของเธอชื่อ บาเบ็ทเทอ โลเวินทาล (Babette Lowenthal) ทั้งคู่เป็นชาวเยอรมันซึ่งอพยพมาอยู่ที่สหรัฐอเมริกา และเปลี่ยนนามสกุลให้ฟังดูเป็นภาษาอังกฤษว่า Hyde (ไฮด์)

ชีวิตวัยเยาว์ของเธอไม่สุขสบายนัก เพราะวันหนึ่งพ่อของเธอออกจากบ้านไปโดยไม่หวนกลับมา ทิ้งให้แม่ของเธอดูแลลูกทั้ง 4 คน เธอเป็นคนโต มีน้องชาย 1 คน น้องสาวอีก 2 คน แม่พาครอบครัวไปที่เมืองชิคาโกและรับจ้างทำความสะอาด ซ่อมแซม หลังจากนั้นได้เปิดร้านค้าของตนเอง

แต่โชคชะตาเล่นตลกอีกครั้ง เพราะเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ที่เมืองชิคาโกในช่วงวันที่ 8-10 ตุลาคม ค.ศ.1871 ร้านค้าซึ่งกำลังไปได้สวยก็วอดวายสิ้น ภาระในการหารายได้จึงตกแก่ไอดาซึ่งเป็นพี่คนโต ขณะนั้นเธออายุเพียง 14 ปี

ไอดาได้ฝึกงานในโรงงานทำหมวกในตัวเมือง รายได้ส่วนหนึ่งใช้ส่งเสียน้องชายให้เรียนต่อในมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เธอทำงานราว 7 ปี จนได้เลื่อนตำแหน่งเป็นพนักงานขายสินค้า

 

ระหว่างทำงานอยู่ที่โรงงานนี้ เธอได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Ansichten de Natur (มุมมองต่อธรรมชาติ) เขียนโดยอเล็กซันเดอร์ ฟ็อน ฮุมบอลต์ ว่ากันว่าหนังสือเล่มนี้ได้สร้างแรงบันดาลใจให้เธอรักธรรมชาติและวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะวิชาชีววิทยา

ระหว่างที่ส่งเสียน้องชายให้เรียนมหาวิทยาลัยอยู่นั้น เธอมีโอกาสพบกับสตรีหลายคนที่ทำงานวิชาการในมหาวิทยาลัยด้วย ไอดาจึงมุ่งมั่นต้องการเรียนหนังสือให้สูง แม้จะขัดกับความคิดของแม่ก็ตามที

ในช่วง ค.ศ.1875-1876 เธอเรียนภาคค่ำที่ชิคาโก อาเธอนีอัม ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ของเอกชนทางด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบ ราว 5 ปีต่อมา ขณะอายุ 24 ปี เธอได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์

ทว่า เรียนไปได้ราว 1 ปี การเรียนของเธอต้องสะดุดลง เนื่องจากน้องชายป่วย ทำให้เธอต้องทำหน้าที่ดูแล อีกทั้งเงินเก็บก็หมดลงอีกด้วย

ในช่วงนี้เองเธอสอบผ่านประกาศนียบัตรครูทั้งในระดับเทศมณฑลและในระดับเมือง เธอจึงได้งานเป็นครูสอนเด็กเกรด 2 และ 3 (ราว 7-8 ขวบ) ในระบบโรงเรียนสาธารณะของชิคาโก เธอริเริ่มโครงการวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนซึ่งสอนเด็กๆ เกี่ยวกับธรรมชาติ

อีกทั้งยังแบ่งปันประสบการณ์การสอนให้แก่เพื่อนครูอีกด้วย

ภาพวาดแสดงไมโครอิเล็กโทรดจากบทความ “A Micro-Electrode and Unicellular Stimulation” ตีพิมพ์ใน Biological Bulletin, Vol. 40, No. 3, March 1921
ที่มา > https://insight.ieeeusa.org/articles/ida-henrietta-hyde-and-the-micro-electrode/

ถึง ค.ศ.1888 เธอสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยคอร์เนล ใช้เวลา 3 ปีเรียนจบปริญญาตรี

ไอดาได้ทุนเรียนระดับบัณฑิตวิทยาลัยที่บรินมอวร์คอลเลจ โดยในช่วงนี้เธอมีโอกาสไปทำงานวิจัยเกี่ยวกับระบบประสาทของแมงกะพรุนที่ห้องปฏิบัติการชีววิทยาวูดส์โฮลในรัฐแมสซาชูเซตส์ด้วย

ปรากฏว่าผลงานวิจัยของเธอมีคุณภาพดีเยี่ยม และไปเข้าตา ดร.เกิทเทอ แห่งมหาวิทยาลัยชตราสบวร์กที่เยอรมนี เขาจึงเชิญเธอไปร่วมงานด้วย ทั้งนี้ เธอได้ทุนสนับสนุนจาก Association of Collegiate Alumnae (ชื่อในขณะนั้น โดยต่อมาองค์กรแห่งนี้เปลี่ยนชื่อเป็น American Association of University Women)

แต่ระหว่างกระบวนการยื่นใบสมัครเข้าเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยชตราบวร์ก เธอได้ถอนตัวเนื่องจากถูกต่อต้าน

เหตุผลหลักของการต่อต้านคือ เพราะเธอเป็นสตรี!

ไอดาจึงเปลี่ยนไปสมัครเข้ามหาวิทยาลัยไฮเดิลแบร์กแทน และเรียนจบปริญญาเอกใน ค.ศ.1896 เมื่ออายุได้ 39 ปี หัวข้อดุษฎีนิพนธ์คือ พัฒนาการทางสรีรวิทยาของแมงกะพรุน

 

ชีวิตการเรียนของเธอขณะอยู่ที่มหาวิทยาลัยไฮเดิลแบร์กไม่ได้ราบรื่นเลย เหตุเพราะศาสตราจารย์วิลเฮล์ม คูห์เนอ ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของเธอมีอคติต่อผู้หญิง

แต่ที่เขายอมรับเธอไว้ร่วมงานเป็นเพราะคุณภาพอันดีเยี่ยมของผลงานของเธอนั่นเอง

เธอยังไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าฟังการบรรยายในหลายวิชา จึงต้องขอยืมสมุดจดบันทึกจากเพื่อนนักศึกษาชายมาศึกษาเอง แถมยังต้องทำงานมากกว่านักศึกษาชายด้วย

ในช่วงบั้นปลายชีวิต เธอเขียนเล่าประสบการณ์เลวร้ายนี้เอาไว้ในบทความชื่อ “Before Women Were Human Beings : Adventures of an American in German Universities in the ’90s” หรือ “ก่อนที่ผู้หญิงจะเป็นมนุษย์ : การผจญภัยของคนอเมริกันในมหาวิทยาลัยของเยอรมนีในช่วงทศวรรษ 1890”

โดยตีพิมพ์ใน Journal of the American Association of University Women (วารสารสมาคมสตรีในมหาวิทยาลัยอเมริกัน) ฉบับเดือนมิถุนายน ค.ศ.1938

 

เมื่อจบจากเยอรมนี ไอดาได้งานที่สถานีสัตววิทยาเนเปิลส์ (Naples Zoological Station) ในอิตาลีใน ค.ศ.1896 โดยศึกษาสรีรวิทยาของสัตว์ทะเลที่ไม่มีกระดูกสันหลัง จากนั้นก็ทำงานที่มหาวิทยาลัยแบร์นในสวิตเซอร์แลนด์โดยศึกษาสรีรวิทยาของกล้ามเนื้อ

ไอดากลับมายังสหรัฐอเมริกา ใน ค.ศ.1897 โดยเริ่มงานที่แรดคลิฟฟ์คอลเลจของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ต่อมาได้รับเชิญจากโรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ดเพื่อไปเรียนต่อและฝึกงานด้านการแพทย์ นับเป็นสตรีคนแรกที่ได้รับเกียรติเช่นนี้

ใน ค.ศ.1897 นี้เอง ไอดาได้ริเริ่มงานที่น่าภาคภูมิใจมากที่สุดชิ้นหนึ่ง ได้แก่ การก่อตั้งสมาคมชื่อ The Naples Table Association for Promoting Scientific Research by Women เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการเงินและด้านต่างๆ แก่สตรีที่ทำงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ มีสตรีได้รับประโยชน์ถึง 36 คน

คำว่า Naples ในชื่อสมาคมแห่งนี้มาจากประสบการณ์ดีเยี่ยมในการบ่มเพาะภูมิปัญญาขณะที่เธอทำงานที่สถานีสัตววิทยาเนเปิลส์นั่นเอง เนื่องจากสถานที่ดังกล่าวปฏิบัติต่อชายและหญิงอย่างเท่าเทียมกัน

ด้วยประสบการณ์วิจัยอันโดดเด่นทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรป มหาวิทยาลัยแคนซัสจึงเชิญไอดาไปจัดตั้งภาควิชาสรีรวิทยาใน ค.ศ.1899 โดยเธอได้ทำหน้าที่หัวหน้าภาคคนแรก

น่ารู้ด้วยว่าไอดายังเป็นสตรีคนแรกที่ได้รับเชิญเข้าร่วมสมาคมสรีรวิทยาอเมริกัน (American Society of Physiology) ใน ค.ศ.1902 อีกด้วย

ไอดาทำงานที่มหาวิทยาลัยแคนซัสนานถึง 22 ปี เธอยังริเริ่มโครงการต่างๆ เช่น โครงการตรวจร่างกายทางการแพทย์สำหรับเด็กนักเรียนเพื่อค้นหาโรค เช่น วัณโรค และเยื่อหุ้มไขสันหลังอักเสบ

แถมเมื่ออายุได้ 54 ปี เธอยังมีเรียนจบแพทย์จากวิทยาลัยแพทย์รัชในปี ค.ศ.1911 เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของคำว่า “ไม่มีใครแก่เกินเรียน” อย่างแท้ทรู

 

ไอดายังเป็นนักประดิษฐ์ที่โลกจดจำ เนื่องจากเป็นคนแรกที่ประดิษฐ์ไมโครอิเล็กโทรด หรือเรียกแบบเต็มๆ ว่า intracellular micropipette electrode อุปกรณ์นี้มีขนาดเล็กจิ๋วซึ่งสามารถกระตุ้นเนื้อเยื่อได้ทั้งโดยการใช้สารเคมีหรือกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ และสามารถวัดกระแสไฟฟ้าจากเส้นประสาทในสัตว์ทะเลได้ (ดูภาพประกอบ)

ถือได้ว่าเป็นไอดาผู้บุกเบิกการวัดกระแสไฟฟ้าในระบบประสาทของสัตว์นั่นเอง!

ไอดาได้ไอเดียในการสร้างสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้มาจากการสังเกตพบว่าสารอิเล็กโทรไลต์ (electrolyte คือ สารละลายที่นำไฟฟ้าได้) ที่มีความเข้มข้นสูงมีผลต่อการแบ่งตัวของเซลล์ เธอสังเกตเห็นความแตกต่างเล็กน้อยของศักย์ไฟฟ้าที่ตำแหน่งต่างๆ ภายในเซลล์

ช่วงบั้นปลายชีวิต ไอดาออกจากมหาวิทยาลัยแคนซัสไปเริ่มงานวิจัยที่เบิร์กลีย์ในแคลิฟอร์เนีย เธอเสียชีวิตในวัย 88 ปี เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ.1945

งานวิจัยของไอดาครอบคลุมหลากหลายมิติด้านสรีรวิทยา เช่น ระบบประสาท ระบบการไหลเวียน และระบบการหายใจของสัตว์ทั้งมีและไม่มีกระดูกสันหลัง เธอยังศึกษาผลของยาเสพติด กาเฟอีน และแอลกอฮอล์ ต่อร่างกาย รวมทั้งผลกระทบของดนตรีต่อระบบคาร์ดิโอวาสคิวลาร์ในนักกีฬา นักดนตรี และเกษตรกรอีกด้วย

ไอดา เฮนริเอตตา ไฮด์ มีวัยเยาว์ที่แสนลำบาก ได้เริ่มเรียนในระบบการศึกษาช้ากว่าคนอื่นมาก แต่ยังสามารถสร้างสรรค์ผลงานคุณภาพมากมาย

เธอมีชีวิตที่สมควรเป็นแบบอย่างและสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนรุ่นหลังอย่างแท้จริงครับ