“ถ้าฉันรวย ฉันก็ใจดีได้แบบเขา” เจาะศีลธรรมชนชั้นนำในสังคมที่เหลื่อมล้ำ

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ประโยคที่นำมาพูดซ้ำหลายครั้ง ในหลายโอกาสมาจากภาพยนตร์รางวัลออสการ์ The Parasite – ชนชั้นปรสิต

เมื่อครอบครัวของตัวเอกชื่นชมคนรวยที่ครอบครัวตัวเองทำงานด้วย แม่ของเขาสวนกลับด้วยประโยคนี้ ประโยคที่ว่า “ถ้าฉันรวย ฉันก็ใจดีได้แบบเขา” หรืออาจะใจดีได้มากกว่าเขาเสียอีก

เป็นประโยคที่น่าคิด

เมื่อเราเห็นคนรวยหรือชนชั้นนำที่มีอำนาจ พวกเขาดูมีเกียรติ สุภาพเรียบร้อย มีเมตตา

ไม่แปลกนักที่เราจะหลงรักคนรวย ชื่นชมพวกเขา และยอมอยู่ภายใต้ศีลธรรมของพวกเขา

แต่ความรวยก็วางอยู่บนความขัดแย้ง เพราะมีคนที่มั่งคั่งเพียงแค่หยิบมือเดียว ในสังคมที่เหลื่อมล้ำ และเต็มไปด้วยผู้คนยากจน อาจมีชนชั้นกลางกลุ่มหนึ่งซึ่งบูชาคนรวย รู้สึกใกล้ชิด แต่สำหรับพวกเราส่วนใหญ่แล้วไม่มีโอกาสที่จะใช้ชีวิตใกล้ชิดกับพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นความใกล้ชิดจริงๆ หรือความใกล้ชิดในรสนิยมหรือวิถีชีวิต

ความจริงแล้วพวกเราห่างจากพวกเขามาก

เราสัมผัสกับพวกเขาผ่านศีลธรรม กฎหมาย กฎระเบียบ กติกาทางเศรษฐกิจที่พวกเขาสร้าง

แต่เอาเข้าจริงแล้วพวกเราแทบรู้จักพวกเขาเลย

จึงน่าสนใจว่าพวกเขาอยู่ในสังคมที่ขัดแย้งได้อย่างไร

พวกเขาสามารถทำตัวเป็นคนดีมีศีลธรรม ในสังคมที่เหลื่อมล้ำมหาศาลที่พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาได้อย่างไร

บทความนี้จะพาทุกท่านวิเคราะห์ความรู้สึกนึกคิดของชนชั้นนำที่พอสังเกตได้โดยสังเขป

ความจนเป็นโรคติดต่อ

พวกเขารักคนจนแต่รังเกียจความจน

 

คนรวยหรือกลุ่มชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ รักคนจน เพราะคนจนสำคัญต่อพวกเขา

คนจนเป็นทั้งแรงงาน เป็นทั้งผู้ผลิตอาหารให้แก่พวกเขา คนจนคนส่วนใหญ่เป็นผู้บริโภคในธุรกิจของพวกเขา

การทำงานและการบริโภคของคนจนจึงทำให้พวกเขามั่งคั่งมากขึ้น พวกเขาจึงรักคนจน

คนรวยไม่ได้รังเกียจคนจน พวกเขาเอ็นดูและเมตตา แต่พวกเขานรังเกียจความจน พวกเขารู้สึกกับคนจนได้เหมือนกับเรื่องราวในนิยายหรือในละครมีเรื่องชวนเศร้า มีเรื่องโศกนาฏกรรม แต่มีตอนจบเมื่อม่านละครปิด เมื่อโทรทัศน์หรือหนังสือปิดลง พวกเขาก็ไม่สนใจคนจนอีกต่อไป

สิ่งที่พวกเขารังเกียจคือ ความจน รังเกียจว่าความจนจะเป็นสิ่งที่ติดต่อได้ พวกเขาจึงสร้างกำแพงที่สูงมากขึ้น ไม่ได้เพื่อป้องกันคนจน แต่เพื่อป้องกันความมยากจนที่มาพร้อมกับคอาชญากรรม ความสิ้นหวัง ระบาดเข้ามาสู่ลูกหลานและครอบครัวของพวกเขา

พวกเขาจึงเนรมิตโรงเรียนนานาชาติราคาแพง โรงพยาบาลเอกชนที่หรูหรา บ้านชานเมืองที่ใหญ่ราวกับวัง งานเลี้ยงที่เต็มไปด้วยผู้คน ชนชั้นสูง

ทั้งหมดไม่ได้เป็นการกั้นคนจน แต่เป็นการกั้นความยากจนออกไปจากเครือข่ายของพวกเขา

พวกเขารู้ดีว่ากติกาทุกอย่างมีข้อยกเว้น

คนรวยและเหล่าชนชั้นนำสร้างกติกาต่างขึ้นมาเพื่อควบคุมสังคม เป็นกติกาที่พวกเขาได้เปรียบ

กติกาที่พวกเขาเริ่มต้นด้วยอภิสิทธิ์ แต่กติกาเหล่านี้ทำให้เหมือนว่าทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายหรือศีลธรรม ที่ทำให้ทุกคนเท่าเทียมกัน

แต่ว่าคนรวยคือคนที่คุมกฎอยู่เสมอ คุมกติกาความเป็นไป แต่แท้จริงแล้วคนรวยทราบดีว่า กติกาทุกอย่างเต็มไปด้วยข้อยกเว้น

รวมถึงศีลธรรมต่างๆ คนรวยอาจบอกว่า พวกเขาร่ำรวยขึ้นมาด้วยความขยันหมั่นเพียร ประหยัดอดออม ทำงานหนัก และพร่ำบอกให้ทุกคนเชื่อถือและทำตาม หยุดต่อสู้วิพากษ์วิจารณ์และให้ก้มหน้าก้มตาทำงาน

แต่กับลูกหลานของพวกเขากลับเป็นอีกอย่าง ซึ่งถูกสร้างพร้อมกับแนวคิด “เผด็จการแห่งความคู่ควร” ว่าชีวิตที่ดีของพวกเขานี้ได้จากสิ่งที่พวกเขาสมควรที่จะได้รับมันอยู่แล้ว

พวกเขาสามารถสร้างอภิสิทธิ์มากมายที่ส่งต่อได้ อภิสิทธิ์ที่เหนือกว่ากติกาทางเศรษฐกิจ อภิสิทธิ์ที่เหนือกว่ากฎหมายและศีลธรรมต่างๆ

โดยสรุปแล้วกติกาเหล่านี้สามารถมีข้อยกเว้นได้ หากมีอำนาจและเงินมากพอ

ความรวยไม่เคยพอสำหรับพวกเขา

 

แต่ความมั่งคั่งของพวกเขาไม่เคยเพียงพอ หากอุปมาให้เงินของพวกเขาเก็บไว้ในคลังขนาดใหญ่ ก็จินตนาการไม่ออกเลยว่าเงินที่มากมายของพวกเขาที่อยู่ลึกที่สุดจะถูกเอามาใช้ได้เมื่อไร ที่ดินแปลงไหนที่พวกเขากว้านซื้อไว้ท่ามกลางผู้คนไร้บ้านและเหน็บหนาวไม่มีที่ซุกหัวนอน พวกเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าแปลงไหนที่เป็นของพวกเขาไปแล้ว

กำไรและเงินปันผลของพวกเขามากเท่ากับรายได้ของผู้ใช้แรงงานที่ทำงานทั้งปีนับสิบคน แต่เหตุใดพวกเขาจึงไม่รู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้พอ เพราะความรวยและเงินทองนำมาสู่อำนาจ อำนาจที่สามารถทำให้ตนร่ำรวยได้มากขึ้นไปอีก และความร่ำรวยก็ทำให้พวกเขามีอภิสิทธิ์มากขึ้นไปอีก

พวกเขาจึงหยุดรวยไม่ได้ แม้ความรวยของเขาจะเหมือนกับการปล้นชีวิตของผู้คนจำนวนมหาศาลเพื่อสิ่งที่พวกเขาไม่ได้มีความต้องการ มันไปไกลมากกว่าการไม่มีข้าวกิน ไม่มีที่อยู่อาศัย หรือไม่มีเงินส่งลูกเรียนโรงเรียนดีๆ

มันกลายเป็น “ความวิตถาร” ของการสะสมทุนที่ทำให้พวกเขารวยขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

และทำให้คนส่วนใหญ่ในสังคมก็ยากจนอย่างไม่มีที่สิ้นสุดเช่นเดียวกัน

ยิ่งรวยพวกเขากลับยิ่งจน

และทำให้ทุกอย่างหมุนรอบตัวพวกเขา

 

แต่พวกเขาก็น่าเวทนามาก เพราะพวกเขาไม่สามารถที่จะรับรู้ได้ว่า สังคมที่เสมอภาคมันเป็นมิตรกับผู้คนมากกว่าสังคมที่เหลื่อมล้ำ

สังคมที่เสมอภาคไม่จำเป็นต้องให้ใครเป็นศูนย์กลาง และใครหมุนรอบใคร

หากพวกเขาแค่หยุดมั่งคั่ง และปล่อยให้ผู้อื่นมีชีวิตที่ดีขึ้นมาได้บ้างจากการกระจายทรัพยากรอย่างเป็นระบบ เหล่าชนชั้นนำจะสามารถพบกับความหมายของชีวิตที่ไม่ต้องหวาดกลัวความจนจะปีนข้ามกำแพงมาหาพวกเขา

พวกเขารวยแต่กลับจนอย่างน่าอัศจรรย์ และทางออกคือจุดเริ่มต้น ถ้าพวกเขายอมให้มีกฎหมายแรงงานที่เป็นธรรม สวัสดิการที่ดีจากการจัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า พวกเขาคงไม่ต้องวิ่งตามความรวยของตัวเองในสังคมที่เหลื่อมล้ำมหาศาลเช่นนี้

การทำความเข้าใจความคิดของคนรวยและเหล่าชนชั้นนำเป็นเรื่องสำคัญ

ไม่ใช่ให้เราเห็นใจพวกเขาแต่ให้เห็นได้ว่าความมั่งคั่งของพวกเขาถูกอธิบายอย่างผิดเพี้ยนอย่างไรตามมโนทัศน์ของพวกเขา

หากสิ่งเหล่านี้เปลี่ยนแปลงได้ เกี่ยวกับความความเข้าใจความจนและความรวย ความเท่าเทียมและเหลื่อมล้ำในสังคม จะทำให้เราสามารถปลดล็อคตัวใหญ่สู่การสร้างรัฐสวัสดิการได้