‘พระนางสามผิว’ และ ‘พระนางมะลิกา’ เรื่องจริงหรืออิงนิยาย? (1)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

‘พระนางสามผิว’ และ ‘พระนางมะลิกา’ เรื่องจริงหรืออิงนิยาย? (1)

 

มีผู้สอบถามดิฉันบ่อยครั้ง ว่าเรื่องราวของ “พระนางสามผิว” กับธิดานาม “พระนางมะลิกา” ที่ชาวบ้านเล่าสืบต่อกันมาเชิงนิทานมุขปาฐะในแถบเมืองฝาง-แม่อายนั้น เป็นเรื่องจริงหรืออิงนิยายกันแน่?

ในฐานะที่ดิฉันสนใจศึกษาเรื่อง “แม่ญิงล้านนา”

เป็นเหตุให้ดิฉันต้องลงพื้นที่เก็บข้อมูล สัมภาษณ์ผู้รู้ และสอบค้นหลักฐานด้านเอกสารถึงที่มาที่ไปของราชนารีทั้งสองนางว่า เรื่องที่เล่านั้นจริงเท็จอย่างไร

แน่นอนว่าทุกคำถามย่อมมีคำตอบออกมาสามแนวทาง

แนวทางแรก อย่าได้หลงเชื่อ เป็นแค่นิทาน เรื่องแต่งล้วนๆ

แนวทางที่สอง เรื่องจริงแท้แน่นอน อาจใส่สีตีไข่เพิ่มความพิสดารขึ้นอีกนิดหน่อยพอให้จดจำง่าย

แนวทางสุดท้าย มีเค้าโครงเรื่องจริงอยู่พอสมควร แต่เมื่อไม่ได้บันทึกเรื่องราวตั้งแต่ช่วงที่เกิดเหตุการณ์จริงแบบสดๆ ร้อนๆ ครั้นกาลเวลาล่วงผ่าน เหลือเพียงความทรงจำอันเลือนรางในยุคหลัง จึงมีการดึงเอาชื่อบุคคล ศักราช แบบผิดฝาผิดตัวมาปะติดปะต่อเรื่องราวจนคลาดเคลื่อนไปบ้าง ทั้งๆ ที่เมื่อตรวจสอบหลักฐานแล้ว บุคคลเหล่านี้ได้สร้างวีรกรรมขึ้นจริง มีประวัติศาสตร์รองรับจริง

ดูเหมือนว่าคำตอบเรื่องของพระนางสามผิว และพระนางมะลิกา น่าจะอยู่ในแนวทางสุดท้าย

อนุสาวรีย์พระเจ้าฝางอุดมสิน และพระนางสามผิว

“นางสามผิว” ผู้เลอโฉมไม่ได้มีแค่เมืองฝาง

พระนางสามผิวในตำนานที่ปรากฏว่าเป็นราชินีแห่งเมืองฝาง ไม่ได้มีการระบุนามจริง มีแค่ฉายาว่า “พระนางสามผิว” เท่านั้น ในขณะที่พระสวามีกับพระราชธิดากลับปรากฏนาม

ตำนานบอกแต่เพียงว่า พระนางสามผิวเป็นพระมเหสีของ พระเจ้าอุดมสิน กษัตริย์เมืองฝาง ซึ่งชื่อของพระเจ้าอุดมสิน ก็ไม่ปรากฏในเอกสารหลักเล่มอื่นใดอีกเช่นกัน ส่วนพระราชธิดานั้น มีพระนามว่า มะลิกา

เหตุที่ได้รับฉายาว่า “นางสามผิว” ก็เพราะเกิดมามีรูปสมบัติพิเศษที่หาได้ยากยิ่งในหญิงอื่น นั่นคือ สีของผิวกายจะเปลี่ยนแปรไปได้ทั้งสามช่วงเวลา

ในตอนเช้า ผิวพรรณของนางมีสีขาวบริสุทธิ์ผุดผ่องเป็นน้ำเป็นนวล

ยามเที่ยงวัน พระฉวีเริ่มแปรเป็นสีชมพูอ่อน

ครั้นยามเย็นค่ำ ผิวเปลี่ยนเป็นสีแดงระเรื่อ ทำให้ชายใดได้ยลบังเกิดความลุ่มหลงยิ่งนัก

นำไปสู่สงคราม “ศึกชิงนาง” ระหว่าง พระเจ้าสุทโธธรรมราชา กษัตริย์เมืองอังวะของพม่า กับพระเจ้าอุดมสิน กษัตริย์เมืองฝาง ต้องสู้รบกันนานถึงสามปี

ในที่สุด พระนางสามผิวกับพระเจ้าอุดมสิน ตัดสินใจกระโดด “บ่อน้ำซาววา” ปลงพระชนม์ชีพลงพร้อมกัน เพื่อยุติสงคราม

มาถึงจุดนี้ เราได้เห็นตัวละครเพิ่มอีกหนึ่งตัวสำคัญคือ พระเจ้าสุทโธธรรมราชา ซึ่งเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ที่มีตัวตนจริง ยกทัพจากอังวะมาตีเมืองต่างๆ ในล้านนาจริง แต่จะมาเพื่อแย่งชิงตัวพระนางสามผิว เท่านั้นล่ะหรือ? เรื่องนี้ต้องค่อยๆ วิเคราะห์กันทีละเปลาะ

เบื้องแรกนี้อยากกล่าวถึงนิทานในทำนองเดียวกันนี้อีกเรื่องหนึ่ง ที่มีการกล่าวถึงความงามของสตรีผู้มีผิวกายงามสามสีสลับไปมา และถูกเรียกว่า “นางสามผิว” อีกอนงค์หนึ่ง

นั่นคือนิทานเรื่อง “นางแก้ว” แถวเวียงหวาย อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน ก็มีเรื่องราวที่กล่าวถึง สาวงามผู้มีผิวกายสามสี ไม่ว่าจะมองมุมไหนก็ระยับขับตา เป็นที่เสน่หาของผู้ได้ยล นำมาซึ่ง “ศึกชิงนาง” อันอีนุงตุงนัง อีกเช่นกัน

นิทานพื้นบ้านทั้งสองเรื่องนี้ สะท้อนให้เห็นว่า รสนิยมของบุรุษล้านนาต่อความงามของสตรีเพศนั้น หาได้ปลื้มผู้หญิงผิวขาวแบบ Whitening ตามที่ผู้หญิงยุคปัจจุบันให้คุณค่ากันไปเองโดยลอกเลียนแบบผิวกายของชาวตะวันตกไม่

น้ำบ่อซาววา จุดที่เล่ากันว่าสองกษัตริย์แห่งเมืองฝางได้กระโดดลงปลิดพระชนม์ชีพเพื่อยุติสงครามกับพม่า เป็นจุดที่ต่อมาได้สร้างอนุสาวรีย์

หากแต่ชอบผู้หญิงผิวเนื้อหลายสีผสมกัน ตำนานนางสามผิวเกิดขึ้นเมื่อไหร่ อย่างไร

เรามิอาจทราบได้ว่า ระหว่าง “นางแก้ว” กับ “นางสามผิว” นิทานเรื่องไหนเกิดขึ้นก่อน เรื่องใดลอกเลียนเรื่องใด หรือว่าต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างเขียน เพราะเป็นแนวคิดแบบสากลของคนในยุคสมัยก่อน

สมัยก่อนที่ว่านั้น เก่าแก่แค่ไหนกันเล่า?

อ.อินทร์ศวร แย้มแสง ปราชญ์เมืองฝาง (เพิ่งล่วงลับไปราว 3 ปีที่แล้ว) ท่านมีอายุร่วมสมัยกับปราชญ์ล้านนาคนสำคัญ อ.สงวน โชติสุขรัตน์ ทั้งสองเคยพากันไปสัมภาษณ์คนเฒ่าคนแก่ที่เปิดประเด็นเรื่องพระนางสามผิวแห่งเมืองฝางครั้งแรก เมื่อปี 2494

ผู้ที่เล่าเรื่องราวพระนางสามผิวให้สองปราชญ์ฟังมีนามว่า “พ่อเฒ่าโปธา” (ไม่ทราบนามสกุล) เป็นชาวอำเภอแม่ริม แต่ย้ายมาอยู่เมืองฝาง (ไม่ระบุว่าย้ายมาตั้งรกรากที่เมืองฝางตั้งแต่ปีไหน) ทราบแต่ว่าปี 2494 ช่วงที่ อ.สงวน และ อ.อินทร์ศวรไปสัมภาษณ์นั้น พ่อเฒ่าโปธามีสถานะเป็น “ผู้ใหญ่บ้าน” บ้านต้นหนุน หมู่ 5 ต.เวียง อ.เมืองฝาง

อ.สงวน โชติสุขรัตน์ ในฐานะนักเขียนสารคดีเชิงประวัติศาสตร์ เป็นคอลัมนิสต์ประจำหนังสือพิมพ์ที่ตัวท่านเองเป็นเจ้าของ ได้นำเรื่องราวตำนาน “พระนางสามผิว” มาตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในบทความชื่อ “ตำนานไชยปราการ” จากนั้นนำมารวมเล่มครั้งแรกในหนังสือ “ตำนานเมืองเหนือ” พ.ศ.2512

นี่คือสิ่งที่เราสามารถสืบสาวราวเรื่องถึงที่มาที่ไปของพระนางสามผิวได้เก่าสุด

แต่แน่นอนว่า พ่อเฒ่าโปธาย่อมต้องได้ยินเรื่องนี้มาก่อนปี 2494 แล้ว ทว่า ไม่มีการบันทึกไว้อย่างเป็นกิจจะลักษณะ

น่าสนใจทีเดียว เรื่องราวของพระนางสามผิวนี้ พบว่าไม่ใช่นิทานปรัมปราแบบท้าวแสนปม หรือพระยากง พระยาพาลที่เป็น “นิทานพื้นบ้าน” แล้วถูกนำมารวบรวมไว้ใน “พงศาวดารเหนือ”

อีกทั้งยังไม่ใช่นิทานที่ถูกบันทึกไว้ในลักษณะ “กึ่งตำนานกึ่งประวัติศาสตร์” เฉกเรื่องราวของ “พระนางจามเทวี” ที่ปรากฏในตำนานจามเทวีวงส์ และตำนานมูลศาสนา ซึ่งมีรายละเอียดของเหตุการณ์ สถานที่ และการระบุศักราชที่พอจะทิ้งร่องรอยให้สืบเค้าเหง้าค้นหาความจริงได้บ้าง

รูปปั้นพระเจ้าฝางอุดมสิน และพระนางสามผิว องค์เก่า ถูกนำมาเก็บไว้ด้านใน เมื่อมีการจัดสร้างองค์ใหม่แทนที่

พระนางสามผิวจากคำบอกเล่าของพ่อเฒ่าโปธา

พระเจ้าฝาง หรือพระเจ้าอุดมสิน มีมเหสีองค์หนึ่ง ทรงสิริโฉมงดงามมาก ในวันหนึ่งๆ สามารถเห็นผิวพรรณของนางเปลี่ยนไปได้ถึง 3 สี นับแต่เวลาเช้าผิวมีสีขาวบริสุทธิ์ผุดผ่อง ยามเที่ยงวันฉวีแปรเป็นสีชมพูอ่อน ครั้นยามเย็นวรรณะเปลี่ยนเป็นสีแดงระเรื่อ เป็นความงามประหลาดอันน่าชวนพิสมัยยิ่ง ด้วยเหตุนี้จึงได้พระนามว่า “พระนางสามผิว”

พระเจ้าฝางอพยพครัว 5,000 ครัว จากเชียงแสนมาตั้งเมืองที่ฝาง เพราะถูกพวกห้อ (ฮ่อ) รุกราน พระเจ้าฝางและพระนางสามผิวมีราชธิดาองค์หนึ่ง สวยงามเหมือนแม่ แต่มีตำหนิที่พระโอษฐ์เบื้องบนแหว่ง มีนามว่า “มะลิกา” เมื่อโตเป็นสาวพระนางมีความอายที่ปากไม่สวย ไม่อยากให้ใครได้ยลโฉม พระบิดาจึงสร้างเวียงเล็กๆ ให้อยู่เหนือเวียงฝางคือ เวียงมะลิกา (ปัจจุบันคืออำเภอแม่อาย) เป็นเวียงที่ค่อนข้างปิด เข้าออกได้เฉพาะสตรี คล้ายเมืองลับแล

กิตติศัพท์เรื่องมเหสีของพระเจ้าฝางมีพระฉวีงามยิ่งนักล่วงรู้ไปถึงหูของพระเจ้าสุทโธธรรมราชา (สะโดธรรมราชา) กษัตริย์พม่า พระองค์ปลอมเป็นพ่อค้าวาณิชนำสินค้าจากเมืองตะโก้ง เพื่อแอบทอดพระเนตรให้ประจักษ์ด้วยสายตาตัวเอง

ครั้นได้พบพระนางสามผิวตัวเป็นๆ ก็ตกหลุมรักชนิดถอนตัวไม่ขึ้น เมื่อกลับไปกรุงอังวะได้วางแผนตระเตรียมรี้พลเข้ามาล้อมเวียงฝางเพื่อทำศึกชิงนาง ทำการสู้รบกันนานถึง 3 ปี ในที่สุดเวียงฝางแตก แต่ก่อนที่พม่าจักหักเมืองได้นั้น มีเรื่องเล่าสองกระแส

กระแสแรก พระเจ้าฝางอุดมสินและพระนางสามผิว ได้ตัดสินพระทัยกระโดดลง “น้ำบ่อซาววา” (ซาวแปลว่า 20 หมายถึงบ่อน้ำที่มีความลึกถึง 40 เมตร) เพื่อตัดปัญหา ด้วยความคิดว่าเมื่อพระเจ้าสุทโธธรรมราชา ไม่ได้ตัวพระนางสามผิวแล้ว อย่างไรเสียก็คงเสียพระทัย ถอยกลับพม่าไป คงไม่ได้ทำอันตรายใดๆ แก่ชาวเมือง

กระแสที่สอง กล่าวว่าแท้จริงคนที่กระโดดลงน้ำบ่อซาววานั้น คืออำมาตย์และนางข้าหลวงผู้มีความจงรักภักดีต่อสองกษัตริย์อย่างสูงสุด ได้เสียสละปลอมตัวแทน ห้วงเวลานั้น พระนางมะลิกา ราชธิดาได้ยกทัพมาช่วยสู้รบกับพม่าอย่างอาจหาญ นางได้พาพระราชบิดา-พระราชมารดาหนีไปไกลถึงเมืองกุฉินารายณ์ (อยู่ที่ไหน? เพราะในสุวรรณภูมินิยมเอาชื่อเมืองในอินเดียมาตั้งซ้ำ)

 

ถอดรหัสเบื้องต้น ศึกพระเจ้าสุทโธฯ มีจริง

ก่อนที่จะทำการวิเคราะห์ในทุกประเด็นอย่างละเอียดฉบับหน้า ฉบับนี้ขอตั้งข้อสังเกตทิ้งไว้จาก “รหัส” ที่เรื่องเล่าทิ้งร่องรอยไว้ดังนี้

ประเด็นแรก นามของ “พระเจ้าสุทโธธรรมราชา” เป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ พระองค์ยกทัพมาตีเมืองฝางจริง และใช้เวลาสู้รบ 3 ปีจริง

ประเด็นนี้ยังไม่เพียงพออีกหรือ ที่จะสรุปได้ว่า เรื่องราวของพระนางสามผิว กับพระเจ้าอุดมสินกระโดดน้ำบ่อซาววานั้นคือเรื่องจริง?

ปัญหามีอยู่ว่า การยกทัพมาของพระเจ้าสุทโธฯ นั้น เอกสารฉบับอื่นๆ ไม่ได้ระบุเลยว่าเป็นเรื่องศึกชิงนาง อีกทั้งผู้ปกครองเมืองฝางขณะที่พระเจ้าสุทโธฯ ยกทัพมาตี เอกสารฉบับต่างๆ ก็ไม่ได้ระบุว่าชื่อ “พระเจ้าอุดมสิน” แต่อย่างใด

นอกจากนี้แล้ว เราควรสืบค้นประเด็นที่ว่ามีการอพยพชาวเมืองเชียงแสนมาอยู่ที่ฝางจริงหรือไม่ โดยตัวเลขอาจไม่ต้องมากถึง 5,000 ครัวเรือนก็ได้

โปรดติดตามตอนต่อไปฉบับหน้า •

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ