กิติมา อมรทัต ไรน่าน อรุณรังษี สองปัญญาชนมุสลิมร่วมสมัย (23) | จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม | จรัญ มะลูลีม

 

กิติมา อมรทัต

ไรน่าน อรุณรังษี

สองปัญญาชนมุสลิมร่วมสมัย (23)

 

คำนำของอิสมาอีล รอญี อัลฟารูกี

หนังสือหะยาตมุฮัมมัด ของ ดร.ฮัยกัล มีเรื่องราวยืดยาวและแปลกอยู่

เมื่อโรงพิมพ์มหาวิทยาลัยชิคาโกได้แปลและจัดพิมพ์ออกเป็นภาษาอังกฤษ ก็ได้รับการพูดถึงจากผู้เชี่ยวชาญ ชาวตะวันตกเป็นจำนวนมากในทศวรรษที่สี่สิบและต้นทศวรรษที่ห้าสิบ

ทั้งๆ ที่แลเห็นอย่างชัดเจนแล้วว่าจำเป็นจะต้องมีหนังสือชีวประวัติของท่านศาสดาที่เขียนอย่างมีความเห็นอกเห็นใจและอย่างนักวิชาการ แต่กระนั้นก็ดี การเจรจากันก็เป็นไปหลายปีกว่าจะจบ

อย่างไรก็ดี ก็ยังไม่มีการตกลงกันแต่อย่างใด จนกระทั่ง ค.ศ.1964 เมื่อการจัดแปลสำเร็จเรียบร้อยลงในปี 1968 และได้รับความเห็นชอบจากสภาสูงแห่งกิจการอิสลาม กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ และโรงพิมพ์มหาวิทยาลัยชิคาโกมีการตรวจต้นฉบับเสร็จแล้วและเริ่มจัดพิมพ์จริงๆ ก็ได้มีพลังอันลึกลับมาขัดขวางไว้

แล้วโรงพิมพ์มหาวิทยาลัยชิคาโกก็ได้ถอนตัวไปจากข้อตกลงแต่ข้างเดียว

มีการตกลงกันใหม่อีกระหว่างผู้แปลกับโรงพิมพ์มหาวิทยาลัยเทมเปิล โดยใช้ข้อตกลงอย่างเดียวกับโรงพิมพ์มหาวิทยาลัยชิคาโก ในปี 1969 แต่เวลาห้าปีก็ผ่านไปโดยไม่มีการลงมืออะไรหรือมีแต่เพียงเล็กน้อย

ครั้นแล้วก็มีพลังลึกลับมาขัดขวางได้อีก เป็นผลให้โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยเทมเปิลถอนตัวไปจากข้อตกลงแต่ฝ่ายเดียวอีก

การต่อต้านโดยเจตนาต่อการจัดพิมพ์งานนี้มิได้ทำให้ผู้แปลหมดกำลังใจที่จะจัดการตระเตรียมการแปลขึ้นใหม่ด้วยการให้กำลังใจของสมาคมนักศึกษามุสลิมแห่งสหรัฐอเมริกาและแคนาดา อันเป็นตัวแทนหนึ่งที่สนใจในการส่งเสริมวิชาการอิสลาม

อิสมาอีล รอญี อัลฟารูกี

มหาวิทยาลัยเทมเปิล

มลรัฐฟิลาเดลเฟีย

เดือนซอฟัร ฮ.ศ.1396/กุมภาพันธ์ 1976

 

คำนำของชัยค์ แห่งอัลอัซฮัร

ในขณะที่ชัยค์ มุศเฏาะฟา อัลมะรอฆี แห่งอัลอัซฮัร กล่าวว่า นับตั้งแต่มนุษย์อุบัติขึ้นบนโลกนี้ เขาก็มีความวิตกกังวลใคร่จะแทงทะลุเข้าไปในจักรวาล และค้นหากฎเกณฑ์และความลี้ลับของมัน

เขายิ่งรู้มากขึ้นเท่าใด เขาก็ยิ่งมีความรู้สึกพิศวงในความยิ่งใหญ่ของจักรวาล และเขายิ่งรู้สึกถึงความอ่อนแอของตนเองและแลเห็นเหตุผลน้อยลงที่จะหลงละเมอไป

ท่านนบีแห่งอิสลาม (ขอพระผู้เป็นเจ้าประทานสันติแก่ท่านด้วย) นั้นคล้ายคลึงกับจักรวาลเป็นอย่างยิ่ง นับตั้งแต่แรกเริ่มทีเดียว นักวิชาการได้ทำงานหนักในอันที่จะค้นหาความเป็นมนุษย์อันยิ่งใหญ่ของท่านในแง่มุมต่างๆ เพื่อจะได้ประจักษ์ถึงคุณลักษณะอันประเสริฐในความคิดนึกของท่าน ลักษณะและความปรีชาของท่าน

แน่นอน คนเหล่านั้นได้บรรลุถึงความรู้เป็นจำนวนมากพอดู

แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พวกเขายังจับไม่ได้ก็ยังมีอีกมาก จึงยังคงมีหนทางอันยาวไม่รู้จบทอดอยู่เบื้องหน้า

ความเป็นศาสดานั้นเป็นพรสวรรค์ที่มิอาจหาเอาเองได้ ด้วยพระปรีชาญาณของพระองค์อัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้า ประทานให้แก่ผู้ที่พร้อมสำหรับพรนั้นและมีความสามารถที่จะดำเนินภารกิจนั้นได้

พระองค์ทรงทราบดีที่สุดว่าความเป็นนบีจะมีประโยชน์ที่สุดได้เมื่อไรและที่ไหน

ท่านนบีมุฮัมมัด (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน) เป็นผู้พร้อมที่จะนำสารแห่งศาสดาไปสู่มนุษยชาติทุกชาติทุกเผ่าพันธุ์ได้

ท่านได้รับการเตรียมพร้อมที่จะนำคำสั่งสอนของศาสนาที่สมบูรณ์ที่สุดที่จะเป็นข้อสรุปสุดท้ายของความเป็นศาสดา เป็นแสงสว่างที่ไม่มีแสงสว่างใดเทียบเท่าได้ ในการนำทางไปชั่วนิรันดร

ความไม่มีผิดพลาดของศาสดาท่านต่างๆ ในการนำสารและการกระทำหน้าที่ที่ได้รับความไว้วางใจจากพระผู้เป็นเจ้านั้นเป็นเรื่องที่นักวิชาการทั้งหลายเห็นพ้องต้องกันมาเป็นเวลานานแล้ว

เมื่อศาสดาได้รับเลือกให้ทำงานนั้น การนำข่าวสารของท่านและการปฏิบัติหน้าที่ที่ท่านได้รับมอบหมายมานั้น ท่านไม่ได้รับรางวัล งานของศาสดาทั้งหลายนั้นเป็นผลลัพธ์อันจำเป็นของการเปิดเผยของพระผู้เป็นเจ้า (วะหฺยุ) เช่นนั้น

ศาสดาทั้งหลายย่อมมีข้อผิดพลาดได้อย่างแท้จริงเหมือนคนอื่นๆ ทั้งหลาย แต่ความแตกต่างของศาสดานั้น อยู่ที่ว่าพระผู้เป็นเจ้ามิได้ทรงปล่อยให้ความผิดพลาดเป็นไปเช่นนั้น แต่ทรงแก้ไขให้ถูกต้อง และมีอยู่บ่อยๆ ที่ได้ทรงตำหนิศาสดาที่ทำผิดพลาดไป

 

ศาสดามุฮัมมัด (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน) ได้รับคำสั่งให้นำสารของพระผู้เป็นเจ้าไปเผยแพร่

แต่ไม่มีใครแสดงให้ท่านเห็นว่าจะนำคำสั่งนั้นไปอย่างไร หรือจะปกป้องผลแห่งงานของท่านได้อย่างไร

ท่านได้รับการปล่อยให้ทำหน้าที่ของท่านตามที่สติปัญญาและความปรีชาของท่านจะนำไปเหมือนกับผู้มีเหตุผลสติปัญญาอื่นๆ

วะหฺยุ (วิวรณ์) ที่ได้รับนั้นมีความแม่นยำชัดเจนอย่างสมบูรณ์ในทุกๆ อย่างที่เกี่ยวข้องกับสภาพอันแท้จริง ความเป็นหนึ่งคุณลักษณะและการเคารพภักดี (อิบาดะฮฺ) แด่พระผู้เป็นเจ้า

แต่นี่ก็มิใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถาบันสังคมคือครอบครัว, หมู่บ้านและเมือง

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสถาบันต่างๆ ที่กล่าวมานี้และกับรัฐอื่นๆ ดังนั้น จึงมีขอบเขตที่กว้างขวาง สำหรับจะทำการวิจัยในเรื่องความยิ่งใหญ่ของท่านศาสดา ก่อนหน้าที่ท่านจะมารับภาระเป็นศาสดา

รวมทั้งหลังจากที่ท่านเป็นศาสดาแล้วด้วย ท่านได้กลายเป็นผู้สื่อสารสำหรับพระผู้เป็นเจ้าของท่าน คอยเรียกร้องผู้คนให้มาหาพระองค์ คอยปกป้องศาสนาใหม่นี้และรับประกันอิสรภาพและความปลอดภัยของผู้สั่งสอนศาสนาอิสลาม

ท่านได้กลายเป็นผู้สื่อสารสำหรับพระผู้เป็นเจ้าของท่าน

ท่านได้กลายเป็นผู้ปกครองของประชาชาติอิสลาม เป็นผู้บัญชาการในยามสงคราม และเป็นครูเป็นผู้พิพากษา และผู้จัดการกิจการภายในและภายนอกทั้งหมดของประชาชาติอิสลาม

ตลอดเวลาที่ท่านทำหน้าที่นี้ ท่านได้สร้างความยุติธรรมและช่วยทำให้ชาติและกลุ่มต่างๆ ที่ไม่มีความสัมพันธ์กันและมีเจตนาร้ายต่อกันปรองดองกัน

ความเฉลียวฉลาด มีสายตาไกล มีสติปัญญาหลักแหลม มีความคิดนึก และมีความตั้งใจจริงของท่าน แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนในทุกสิ่งที่ท่านพูดและทำ

ความรู้หลั่งไหลและความคล่องแคล่วก็เกิดขึ้นจากตัวท่าน จนผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายต่างก็น้อมศีรษะด้วยความเกรงกลัวและพิศวง

ท่านจากโลกนี้ไปด้วยความพอใจในงานของท่าน มั่นใจในความโปรดปรานของพระผู้เป็นเจ้าและได้รับความขอบคุณจากผู้คน

ชีวิตในด้านต่างๆ เหล่านี้ของท่านศาสดาสมควรได้รับการศึกษาและวิจัยเป็นพิเศษ

 

ชีวประวัติของท่านศาสดามุฮัมมัด (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน) ก็เช่นเดียวกับชีวประวัติของผู้ยิ่งใหญ่ท่านอื่นๆ ได้ถูกขยายออกไปโดยเรื่องราวที่คิดเอาเองต่างๆ นานา ไม่ว่าจะโดยความบริสุทธิ์ใจหรือเจตนาที่อำพรางไว้ โดยเจตนาหรือโดยบังเอิญก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ชีวประวัติของท่านศาสดาก็ไม่เหมือนกับชีวประวัติของท่านอื่นๆ

คือส่วนใหญ่ของชีวประวัติรวมอยู่ในวะหฺยุของพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้น จึงได้รับการรักษาไว้ในคัมภีร์กุรอานอันบริสุทธิ์

อีกส่วนหนึ่งที่ใหญ่พอดูได้รับการรักษาไว้ให้เราอย่างปลอดภัยโดยผู้เล่าที่เชื่อถือได้จากแหล่งต่างๆ ที่ไม่มีผิดพลาดเหล่านี้ ควรจะสร้างชีวประวัติของท่านศาสดาได้ และควรจะสำรวจดูความหมายที่ซ่อนเร้นอยู่และปัญหาสลับซับซ้อนต่างๆ อีกทั้งควรจะสร้างหลักศีลธรรมขึ้นมาด้วยเรื่องต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบของมันที่ควรจะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ และควรมีการพิจารณาให้ดีถึงการวิเคราะห์แบบนักวิชาการในเรื่องสภาพของเวลาและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความเชื่อ สถาบัน และขนบธรรมเนียมที่มีอยู่ทั่วไป

ในหนังสือ ชีวิตของท่านศาสดามุฮัมมัด (ใช้ชื่อไทยว่า ศาสดามุฮัมมัด มหาบุรุษแห่งอิสลาม) ของ ดร.ฮัยกัล ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับชีวประวัติของศาสดามุฮัมมัด (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน) แก่เรา ซึ่งข้าพเจ้ามีโอกาสได้อ่านส่วนหนึ่งก่อนที่จะตีพิมพ์

ดร.ฮัยกัลนั้นเป็นที่รู้จักกันดีของบรรดานักอ่านภาษาอาหรับ หนังสือหลายเล่มที่ท่านเขียนทำให้ไม่จำเป็นต้องมีการแนะนำตัวท่าน ท่านศึกษากฎหมายและมีความคุ้นเคยกับตรรกศาสตร์และปรัชญา สภาพส่วนตัวและอาชีพของท่านทำให้ท่านสามารถศึกษาถึงวัฒนธรรมโบราณและวัฒนธรรมสมัยใหม่ และได้เรียนรู้จากวัฒนธรรมทั้งสองนั้นเป็นอย่างมาก

ท่านเคยบรรยายและโต้วาที เคยโจมตีและปกป้องปัญหาต่างๆ ในเรื่องความเชื่อ เรื่ององค์การสังคมและการเมือง ความมีวัยวุฒิของความนึกคิดของท่านนั้นคู่ควรกับความรู้ของท่าน ซึ่งมีอยู่อย่างสมบูรณ์ และการที่ท่านได้อ่านหนังสือมามาก ท่านโต้เถียงอย่างมีพลังและมั่นใจ ท่านปฏิบัติต่อเรื่องของท่านด้วยเหตุผลที่มั่นคงและเป็นแบบอย่างของท่านเอง การตระเตรียมเช่นนี้มีอยู่เบื้องหลังหนังสือของ ดร.ฮัยกัล

ในบทนำของท่าน ดร.ฮัยกัลได้เขียนไว้ว่า

“ไม่ควรมีใครคิดว่าการวิจัยเรื่องชีวิตของท่านศาสดามุฮัมมัดได้จบสิ้นลงแล้วด้วยงานชิ้นนี้ และข้าพเจ้าก็มิได้กล่าวอ้างเช่นนั้นเลย สิ่งที่ใกล้เคียงความจริงมากขึ้น สำหรับข้าพเจ้าก็คือการกล่าวว่างานของข้าพเจ้านั้นที่จริงเป็นเพียงการเริ่มต้นของการค้นคว้าวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์เป็นภาษาอาหรับในด้านนี้”

ท่านผู้อ่านอาจจะรู้สึกแปลกใจถ้าเราจะชี้ให้เห็นความละม้ายคล้ายคลึงกันอย่างมากของวิธีการเชิงวิทยาศาสตร์สมัยใหม่กับคำเรียกร้องของท่านศาสดามุฮัมมัด ในวิธีการเชิงวิทยาศาสตร์สมัยใหม่นั้นผู้สำรวจต้องเก็บความเชื่อของเขาเองไว้เสียและต้องหลีกเลี่ยงจากการตัดสินอะไรไว้ล่วงหน้า ให้เริ่มต้นการสังเกตการณ์ของเขาโดยการใช้ข้อมูล ครั้นแล้วก็ดำเนินไปสู่การทดลอง การเปรียบเทียบ การจำแนกประเภท และในที่สุดก็ไปสู่การสรุปความซึ่งขึ้นอยู่กับขั้นตอนตามวัตถุประสงค์เหล่านี้

ดังนั้น ข้อสรุปที่ได้มาก็จะเป็นเชิงวิทยาศาสตร์ เนื่องจากว่ามันอยู่ใต้การทดสอบและการวิเคราะห์อย่างจริงจังต่อไปได้ มันจะเป็นสิ่งที่เชื่อถือได้ไปตราบเท่าที่การค้นคว้าเชิงวิทยาศาสตร์ต่อไปจะยังไม่พิสูจน์ให้เห็นว่าหลักฐานที่เป็นรากฐานของข้อสรุปนั้นไม่ถูกต้อง จริงอยู่วิธีการเชิงวิทยาศาสตร์นั้นคือความสำเร็จสูงสุดของมนุษยชาติในความพยายามที่จะปลดปล่อยความคิดของมนุษย์ให้เป็นอิสระ แต่ที่จริงนั้นมันก็เป็นวิธีการของศาสดามุฮัมมัดและเป็นรากฐานของคำเรียกร้องของท่าน

วิธีการใหม่ของ ดร.ฮัยกัลนั้นก็คือวิธีการของกุรอานอย่างแท้จริง เพราะท่านได้ใช้เหตุผลเป็นตัวตัดสิน และใช้พยานหลักฐานเป็นพื้นฐานของความรู้ ท่านปฏิเสธอนุรักษนิยมและพวกที่ชอบอนุรักษนิยม ท่านเห็นด้วยกับหลักการของพระมหาคัมภีร์กุรอานที่ว่า “ความคิดเห็นและการเดานั้น มิใช่ส่วนประกอบที่แท้จริงของความรู้” (กุรอาน 53 : 28) ดร.ฮัยกัลได้ตำหนิผู้ที่เดาเอาโดยไม่มีหลักฐาน ผู้ที่ถือว่าของเก่าโดยอายุเท่านั้นคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ท่านได้มอบคำสอนเรื่องความจริงแท้ให้แก่ผู้ที่มีความสามารถที่จะรับไว้ได้

ท่านศาสดามุฮัมมัด (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน) มีปาฏิหาริย์ที่มิอาจต่อต้านได้อยู่อย่างเดียวเท่านั้นคือกุรอาน แต่กุรอานก็มิใช่สิ่งที่ไร้เหตุผล ข้อความของอัลบุซัยรีนั้นช่างหลักแหลมนัก

เขากล่าวว่า “พระผู้เป็นเจ้ามิได้ทรงทดสอบเราด้วยสิ่งใดที่ไร้เหตุผล ดังนั้น เราจึงไม่ตกอยู่ในความสงสัยหรือภาพลวงใดๆ”