ทหารเรือมาแล้ว | เหยี่ยวถลาลม

กล่าวโดยส่วนตัวมีความนิยมชมชอบนายทหารเรือท่านหนึ่ง นั่นคือ พล.ร.อ.อมรเทพ ณ บางช้าง อดีตที่ปรึกษาพิเศษ ทร. ผู้ซึ่งเคยเป็นแคนดิเดตเก้าอี้ “ผบ.ทร.” เมื่อปี 2556 ร่วมกับ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ขณะเป็นรอง ผบ.ทร., พล.ร.อ.จักรชัย ภู่เจริญยศ ขณะเป็น เสธ.ทร. และ พล.ร.อ.พลวัฒน์ สิโรดม ขณะเป็นผู้ช่วย ผบ.ทร. ผู้ซึ่งเป็นบิดาของนาวาตรีพลรัตน์ สิโรดม ต้นหนเรือหลวงสุโขทัย ที่อับปางกลางมรสุมในอ่าวไทยเมื่อก่อนเที่ยงคืนวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา

เลือดราชนาวีในตัว พล.ร.อ.อมรเทพฉีดแรงเพราะยึดเอา “พ่อ” คือ พล.ร.อ.อำพล ณ บางช้าง เป็น “ตัวแบบ” มาตั้งแต่ยังเด็ก

“พ่อสอนว่าเป็นทหารต้องซื่อสัตย์ จงรักภักดี”

“อมรเทพ” สอบเข้า “เตรียมอุดม” ได้พร้อมกับ “เตรียมทหาร” แต่สละสิทธิ์ “เตรียมอุดม” แล้วเข้าเรียน “เตรียมทหาร” รุ่น 13 มุ่งหน้าเป็น “ทหารเรือ” สถานเดียว

เรียนโรงเรียนนายเรือปีเดียว สอบได้ที่ 1 ได้ไปเรียนต่อที่โรงเรียนนายเรือเยอรมัน

พล.ร.อ.อมรเทพเล่าความประทับตรึงใจเอาไว้เมื่อครั้งรับรางวัลเกียรติยศ “จักรดาว” ประจำปี 2555 ว่า ผู้พันที่โรงเรียนเยอรมันไม่เคยรับประทานอาหารก่อนนักเรียนเลย ทุกครั้งผู้พันต้องมาเดินดูนักเรียนก่อนแล้วถึงจะไปรับประทาน อาหารของผู้พันก็เหมือนกับที่นักเรียนกิน ไม่มีความแตกต่างระหว่างผู้พันกับนักเรียน

“ผมจึงตั้งใจดูแลลูกน้องให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถือว่าลูกน้องคือชีวิตจิตใจ”

“ตัวแบบ” เยอรมันผสมผสานกับเลือดราชนาวีที่เข้มข้นหล่อหลอมเป็น “อมรเทพ” ที่ยอมหักไม่ยอมงอจนเป็นที่รู้กันว่าทั้งซื่อ ทื่อ และตรงเผง

เก้าอี้ “ผบ.ทร.” หลายยุคหลายสมัยซึ่งกลายเป็นเพียง “ไม้ประดับ” ในแจกันให้คณะรัฐประหารนั้นไม่ควรค่ากับ “อมรเทพ ณ บางช้าง”!

ในประวัติศาสตร์ “กองทัพเรือ” เคยโดดเด่นเกรียงไกรมาตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

กองทัพเรือสมัยใหม่ถูกจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2432 สมัยที่มีการปฏิรูปทั่วด้านในสมัยรัชกาลที่ 5

พอถึงสมัยรัชกาลที่ 6 ยกฐานะขึ้นเป็น “กระทรวงทหารเรือ” มีกองเรือปืน กองเรือปืน มีผู้นำสง่างามน่าเกรงขาม จนล่วงมาถึงยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 “ทหารเรือ” ก็ยังคงเป็น “แถวหน้า” ทั้งด้านมันสมองและกำลังรบ

แต่เมื่อทำรัฐประหารล้มเหลว แล้วต้องกลายเป็น “กบฏแมนฮัตตัน” ทหารเรือก็ถูกจับตาและลดบทบาททางสังคมทางการเมืองจนเหลือแค่ฐานะ “ไม้ประดับ” ให้กับกองทัพบกทุกครั้งที่ทำรัฐประหารสำเร็จ ส่วนที่พ่ายแพ้ทุกครั้งและกลายเป็นกบฏนั้นไม่ปรากฏว่ามีทหารเรือเข้าร่วม

มาถึงยุคปัจจุบันที่คณะรัฐประหารได้ปรุงแต่งแปลงโฉม “ทหารเรือ” เล่นบทสนุกกับการจัดซื้อจัดหา “เรือดำน้ำ” โดยไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจจะย่ำแย่ ประเทศมีหนี้ท่วมแค่ไหน กระแสสังคมจะทัดทานคัดค้านอย่างไร “ทหารเรือ” ก็ไม่ลดราวาศอก

ทหารเรือไม่อยู่ในหัวใจคน!

เมื่อเรือหลวงสุโขทัยอับปางกลางทะเลอ่าวไทย “กองทัพเรือ” จึงโดดเดี่ยวเดียวดาย แทนที่จะได้รับความเห็นอกเห็นใจ กลับตกอยู่ท่ามกลางทะเลแห่งคำถาม

เรือหลวงเรือใหญ่ทั้งหลายได้รับการจัดสรรงบประมาณดูแลซ่อมบำรุงทุกปีรวมกันเป็นพันล้าน เพื่อให้มีความพร้อมอยู่เสมอ “ล่มได้อย่างไร”?

ใช่หรือไม่ว่า ราชนาวีมีระเบียบวินัย ก่อนออกไปปฏิบัติการทุกครั้ง เรือต้องพร้อม อุปกรณ์พร้อม คนพร้อม

“เรือหลวงสุโขทัย” หาใช่เรือแจว เรือหางยาว กองทัพเรือส่งผู้ใต้บังคับบัญชาออกไปปฏิบัติภารกิจ ทำไมแค่ “เสื้อชูชีพ” ไม่จัดเอาไว้ให้เพียงพอ!?

ผู้บังคับบัญชาที่ใกล้ชิดลดหลั่นกันไปตามลำดับชั้นหายหน้าไปไหน ไม่เห็นจะมีใครออกมาแอ่นอก!

 

คําให้สัมภาษณ์ของ พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผบ.ทร. กับคำแถลงของ พล.ร.อ.ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ ยิ่งพูดยิ่งห่างระหว่าง “สูง” กับ “ต่ำ” ยิ่งถ่างออกไปไกลระหว่าง “เจ้านาย” กับ “ลูกน้อง” ระหว่างผู้สั่งกับผู้รับคำสั่ง

“การมีเสื้อชูชีพไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะรอดชีวิต”

นับเป็น “ช่องว่าง” ระหว่างชีวิตกับชีวิตที่ต่อกันไม่ติดจริงๆ!

ถ้าละเลยไม่สนใจในเรื่องพื้นฐาน ไม่เอาใจใส่ ไม่มีวินัยกันเช่นนี้แล้ว จะมีเรือและออกเรือไปรบกับใครได้

 

คําถามจาก “เศรษฐา ทวีสิน” ในคอลัมน์ “ชี้ทิศทางประเทศไทย” หน้า 5 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันอังคารที่ 27 ธันวาคมที่ผ่านมา รวบรัดพุ่งเป้าแจ่มแจ้งอย่างยิ่งว่า “…เหตุใด ผบ.ทร.จึงไม่ได้ลงพื้นที่อย่างฉับพลันทันทีและติดตามการช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดด้วยตัวเอง”

หรือว่าเป็น “ท่วงทำนองแห่งยุคสมัย”?

กำลังพลบนเรือ 105 นาย รอดมาแค่ 76 สูญเสียเรือ สูญเสียกำลังพลมากมายขนาดนี้ก็ไม่มีปรากฏ “ท่วงท่าที่เหมาะควร” จาก “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม”

“นายกรัฐมนตรี” ที่ควบ “รัฐมนตรีกลาโหม” กลับคึกคักอักโขกับการลงพื้นที่หาคะแนนนิยมให้ตัวเองเพื่อจะเป็น “นายกรัฐมนตรี” ต่อไปอีกภายหลังเลือกตั้งครั้งหน้าในปี 2566

สังคมจึงกระหน่ำว่า วันๆ นายกรัฐมนตรีคิดแต่การเมือง

แน่นอนที่สุด เมื่อได้ “อำนาจ” มาแล้วจะด้วยวิธีการใดก็ตาม ลำดับถัดไปก็คือ ต้องหาทางรักษาอำนาจเอาไว้ให้ได้นานที่สุด!

 

เรื่องสภาพของเรือหลวงสุโขทัย การซ่อมบำรุง อะไหล่อุปกรณ์ เหตุปัจจัยที่น้ำเข้าเรือ และเรืออับปาง เสื้อชูชีพไม่พอ กำลังพลเสียชีวิตครั้งใหญ่ทั้งที่ไม่ได้ทำสงคราม ทะเลแห่งคำถามของผู้คนกับความอึดอัดไม่พอใจของญาติกำลังพลที่เสียชีวิตอื้ออึง – ไม่มีคำตอบ

คำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเรือหลวงสุโขทัยอับปาง ของ พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผบ.ทร. กลับก่อให้เกิดความปริวิตกด้วยซ้ำไปว่า “ค้นหาความจริง” ที่ไม่มีผู้เชี่ยวชาญหรือผู้แทนจากองค์กรอื่นที่เป็นกลางเข้าร่วมค้นหาและพิสูจน์นั้นจะกลายเป็นการค้นหาความจริงที่ถูกกลืนหายไปกับท้องทะเลและกาลเวลา

หมายความว่า ถ้าไม่ทำความจริงให้ปรากฏชนิดที่สว่าง กระจ่าง ปราศจากข้อสงสัย ไม่เพียงแต่ “เรือหลวงสุโขทัย” เท่านั้นที่ล่มไป แม้แต่เกียรติภูมิที่เกรียงไกรในประวัติศาสตร์ของ “กองทัพเรือ” ก็จะอับปาง

ไม่มีแล้วเสียงร้องฮึกเหิมเช่นแต่ก่อน “ทหารเรือมาแล้ว”!?!!