คุยกับทูต | โรเบิร์ต เอฟ. โกเดค 190 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐ (1)

หลังจากว่างเว้นมาเนิ่นนาน ในที่สุด เราก็ได้มีทูตสหรัฐประจำประเทศไทยคนใหม่ คือ นายโรเบิร์ต โกเดค (Robert F. Godec) ซึ่งมุ่งมั่นกระชับความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐในทุกระดับให้แน่นแฟ้น ทั้งรัฐบาลต่อรัฐบาล ธุรกิจต่อธุรกิจ ประชาชนต่อประชาชน และพร้อมร่วมมือกับหน่วยงานของไทยเพื่อจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 190 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐ ในปี 2023

ตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยได้ว่างลง นับตั้งแต่เอกอัครราชทูตไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี (Michael George DeSombre) อำลาไปเมื่อเดือนมกราคม 2021

เอกอัครราชทูตไมเคิล เป็นผู้ได้รับการแต่งตั้งด้วยเหตุผลทางการเมืองโดยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งปกติแล้ว เอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยจะเป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศมืออาชีพ

และการแต่งตั้งนายโกเดคถือเป็นการกลับไปสู่ประเพณีดังกล่าว

นายโรเบิร์ต โกเดค (Robert F. Godec) เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย

นายโกเดคเดินทางถึงประเทศไทยเมื่อวันพุธที่ 7 กันยายน เพื่อแทนที่คนก่อน คือ นายไมเคิล ฮีธ (Michael Heath) ซึ่งดำรงตำแหน่งอุปทูตตั้งแต่เดือนมกราคม 2021 ถึงเดือนสิงหาคมปีนี้

และได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายอักษรสาส์นตราตั้งเป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำราชอาณาจักรไทย ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2022

ถือเป็นการดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตครั้งที่สาม โดยผ่านประสบการณ์และดำรงตำแหน่งที่โดดเด่นทั้งในเอเชีย และแอฟริกา ซึ่งในระหว่างปี 2006-2009 เป็นเอกอัครราชทูตประจำตูนิเซีย และต่อมาระหว่างปี 2013- 2019 เป็นเอกอัครราชทูตประจำเคนยา

ตำแหน่งล่าสุดอื่นๆ ได้แก่ รักษาการผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศด้านกิจการแอฟริกาและผู้ประสานงานอาวุโสประจำอัฟกานิสถานในสำนักประชากร ผู้ลี้ภัย และการย้ายถิ่นฐาน

เคยเป็นรองผู้บัญชาการและที่ปรึกษากิจการระหว่างประเทศที่ National War College

รองผู้ประสานงานหลักของกระทรวงต่างประเทศเพื่อการต่อต้านการก่อการร้าย

รองผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศในสำนักกิจการตะวันออกใกล้

และรองผู้ประสานงานด้านการเปลี่ยนผ่านในอิรัก

นายโรเบิร์ต โกเดค (Robert F. Godec) เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย

นอกเหนือจากงานในแอฟริกาใต้และเคนยาแล้ว ก่อนหน้านี้ เอกอัครราชทูตโกเดคยังเคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานประจำประเทศไทยและพม่าในสำนักกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก และผู้อำนวยการฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ

ด้านการศึกษา สำเร็จการศึกษาศิลปศาสตรมหาบัณฑิตสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยเยล และปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิตสาขาการต่างประเทศจากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย

เขาเข้าร่วมการสัมมนาอาวุโสของกระทรวงต่างประเทศและได้รับรางวัล Presidential Meritorious Service Awards รางวัลเกียรติยศดีเด่น ตลอดจนรางวัลและคำชมเชยอื่น ๆ อีกมากมาย

นายโรเบิร์ต โกเดค (Robert F. Godec) เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย

ณานไม้สีขาวอายุ 100 กว่าปี ในสวนเขียวขนาด 22 ไร่ ใจกลางถนนวิทยุ ซึ่งใช้เป็นทำเนียบเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย อาคารหลังนี้ ได้รางวัลอาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์ จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อปี 1984 ทูตสหรัฐคนล่าสุด เริ่มต้นเล่าความเป็นมา

“ครั้งแรก ผมมาที่นี่เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เพื่อมายื่นหนังสือแต่งตั้งเอกอัครราชทูตจากสหรัฐ แล้วเดินทางกลับ และกลับมาประเทศไทยอีกครั้งเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ต่อมาวันที่ 7 ตุลาคม จึงได้เข้าเฝ้าฯ ถวายอักษรสาส์นตราตั้ง”

“ผมไม่เคยมีความคิดฝันที่จะมาเป็นนักการทูต แต่เนื่องจากคุณพ่อทำงานในกองทัพอากาศสหรัฐ ดังนั้น ผมและครอบครัวซึ่งประกอบด้วยคุณแม่และพี่น้องจึงโยกย้ายตามคุณพ่อไปในรัฐต่างๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา รวมทั้งในต่างประเทศคือ เยอรมนีและเบลเยียม ดังนั้น ผมจึงคิดว่าอาจจะเกิดจากความรักที่ไปอยู่ในต่างประเทศ ได้เห็นวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย เป็นเด็กชายที่มีโอกาสสุดพิเศษ วัยเด็กของผมจึงสุดยอดมาก”

“เอเชียเป็นภูมิภาคอันดับต่อมาที่ผมไปประจำ นับว่าค่อนข้างเร็วในอาชีพการงานของผม ได้เป็นผู้อำนวยการฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (United States Trade Representative : USTR) จากนั้นเป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายไทยและพม่าในสำนักกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก”

“งานทั้งสองที่กล่าวมานั้น ทำให้ผมมีโอกาสได้ไปเยือนทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเพียงแห่งเดียวที่ผมไม่ได้ไปในตอนนั้นคือ เวียดนาม”

“มาเที่ยวเมืองไทยก็หลายครั้ง ครั้งหนึ่งผมพักที่โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ และยังได้ไปขอพรท่านท้าวมหาพรหม ขอให้กลับมาประเทศไทยอีกในฐานะนักท่องเที่ยวหรือนักการทูต”

“และตอนนี้ก็ได้กลับมาอยู่ที่นี่จริงๆ ผมจึงรู้สึกเหมือนได้สมความปรารถนาตามที่ขอไว้ แล้วผมก็กลับไปที่ศาลท้าวมหาพรหมเอราวัณในสัปดาห์แรกที่มาถึงกรุงเทพฯ เพื่อแสดงความขอบคุณ พร้อมกับถวายเครื่องบูชาและอาหาร ก่อนเยี่ยมชมสถานที่สำคัญในกรุงเทพฯ เช่น วัดพระแก้ว วัดอรุณ”

นายรอเบิร์ต เอฟ. โกเดค (Mr. Robert F. Godec) เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายอักษรสาส์นตราตั้ง เป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย

กระบวนการแต่งตั้งทูตสหรัฐ

“เป็นกระบวนการที่มีรายละเอียดและครอบคลุมเพื่อการพิจารณา ประเมินและยืนยันในผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ตามข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญของเรา ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา”

“เมื่อวุฒิสภายืนยันกับผม จึงเป็นตอนที่ผมแน่ใจ ซึ่งกระบวนการนี้ใช้เวลาประมาณหนึ่งปี นับตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยมีข้อจำกัดว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้าง จนกว่าจะได้รับการเสนอชื่ออย่างเป็นทางการจากทำเนียบขาว เมื่อเผยแพร่สู่สาธารณะแล้ว เราจะสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ อันเป็นการเตรียมการตามปกติ แน่นอนว่า ทุกคนต้องการให้มีเอกอัครราชทูตประจำสถานทูตในต่างประเทศ ผมหมายถึงการมีทูตอย่างชัดเจนดีกว่าไม่มีทูต”

“อย่างไรก็ตาม เรามีเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยอย่างต่อเนื่องเสมอมา”

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กับเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย

การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ “เอเปค” (APEC)

“ฝ่ายสหรัฐที่มาเข้าร่วมการประชุมเอเปคระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2022 ที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ ครั้งนี้ ได้แก่ รองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส, รัฐมนตรีต่างประเทศ แอนโทนี เจ. บลิงเคน รวมทั้งผู้แทนการค้าของสหรัฐ ส่วนผมเข้าร่วมการประชุมและช่วยสนับสนุนในบางโอกาสที่เหมาะสม เรามีข้อมูลมากมายเกี่ยวกับการประชุมสุดยอดเอเปค ในเว็บไซต์ของรัฐบาลสหรัฐ”

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย กับเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย

ทั้งนี้ สหรัฐจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคในปี 2023 โดยมุ่งมั่นร่วมมือกับไทยอย่างใกล้ชิด ในฐานะเจ้าภาพเอเปคปี 2022 รวมถึงเปรู ในฐานะเจ้าภาพเอเปคปี 2024 ตลอดจนบรรดาสมาชิกเอเปคในประเด็นที่เป็นประโยชน์กับประชาชน

“และในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ 2023 ผมขออวยพรให้ประเทศไทย และคนไทยทุกคน ประสบแต่ความสุข ความเจริญรุ่งเรือง ตลอดปีและตลอดไป สวัสดีปีใหม่ครับ” •

 

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน (Chanadda Jinayodhin)