คณะทหารหนุ่ม (20) | ปฏิวัติซ้อน

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี เล่านาทีระทึกใจที่สนามเสือป่าต่อไปว่า

“ผมโทร.หามนูญบอกว่าเรื่องมันยุ่งกันใหญ่แล้ว เมื่อไหร่จะมา อึดใจเดียวเท่านั้นได้ยินเสียงรถถังแล่นเข้ามาปิดล้อมสนามเสือป่าไว้ทุกด้าน มนูญเข้ามา ตามด้วยประจักษ์ สว่างจิตร และสาคร กิจวิริยะ ผมโล่งอก จากนั้นเราก็เริ่มเจรจากัน”

พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี เล่าปิดท้ายเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า ก่อนที่เรื่องจะจบลงนั้น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้ออกมาขอคุยกับพวกเราว่า

‘ขณะนี้ทางเราได้ประกาศยึดอำนาจไปแล้วโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ ถ้าหากคุณจะเปลี่ยนเป็น พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ผมก็เห็นด้วย แต่ลองคิดดูสิว่าประชาชนกับทหารจะสับสนกันขนาดไหน แสดงว่าทหารเกิดความแตกแยกกัน เอาอย่างนี้ดีไหม ผมจะปรึกษาคณะปฏิรูปฯ ว่าให้เป็นแบบที่พวกคุณต้องการคือ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี’

ปัญหาหัวหน้าคณะปฏิวัติจบลงแล้ว โดยจำเป็นต้องยอมรับ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ แม้จะไม่เต็มใจ แต่เหตุการณ์เกินเลยกว่าจะแก้ไข การเจรจาต่อไปนี้คือ ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี?

 

เกรียงศักดิ์ต้องเป็นนายกฯ

พล.ต.มนูญกฤตรับช่วงเล่าต่อว่า

“พอท่านเห็นพวกผมเข้าไปก็เปิดการเจรจากัน พล.ร.อ.สงัดนั่งฟังข้อเสนอของเราที่ต้องการจะให้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ตอนแรกท่านไม่ยอมเด็ดขาด ผมจึงพูดเสียงเข้มเอากับท่านว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ ผมจะไปพูดกับทหารบกลูกน้องผมทั้งประเทศได้อย่างไร”

“ขณะที่ผมจ้องหน้าท่านอย่างไม่สะทกสะท้านนั้นมีนายทหารฝ่ายอำนวยการของคณะปฏิรูปฯ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ขึ้นมารายงานว่า ขณะนี้ทหารช่างของฝ่ายปฏิวัติได้ฝังระเบิดไว้รอบสนามเสือป่าแล้ว นั่นแหละอะไรๆ มันถึงได้ลงเอยตามที่พวกเราต้องการ นั่นคือ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้เป็นนายกฯ คนที่ 15 ของประเทศไทย”

อย่างไรก็ตาม การยินยอมให้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนั้นทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นเพียงการตกลงด้วยวาจาเท่านั้น อีกทั้งเมื่อไม่นานก่อนหน้านี้ คณะทหารหนุ่มต่างได้ผ่านประสบการณ์ของ พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ “นัดแล้วไม่มา” และการ “กลับลำ” ของ พล.อ.เสริม ณ นคร มาแล้ว

เงื่อนไขการกำหนดตัวนายกรัฐมนตรีจึงยังคงอยู่ในสภาพที่ “ไม่น่าไว้วางใจ”

 

การปฏิวัติไม่ใช่งานเย็บปักถักร้อย

“การปฏิวัติไม่ใช่เชิญแขกมากินเลี้ยง ไม่ใช่แต่งความเรียง ไม่ใช่วาดภาพหรือเย็บปักถักร้อย จะทำอย่างประณีต ไม่รีบไม่ร้อน สุภาพเรียบร้อย หรืออย่างละมุนละม่อม เมตตากรุณา พินอบพิเทา เสงี่ยมเจียมตัวและอารีอารอบไม่ได้ : เหมาเจ๋อตง”

ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช สรุปเหตุการณ์หลังการรัฐประหาร 20 ตุลาคม 2520 ไว้ใน “ยังเติร์กกับทหารประชาธิปไตย” ว่า

“วันที่ 21 ตุลาคม 2520 พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิวัติ ได้จัดให้มีการประชุมคณะปฏิวัติซึ่งประกอบด้วยนายทหารระดับสูงทั้งสามเหล่าทัพและกรมตำรวจ รวมทั้งผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนใหม่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ซึ่งเพิ่งขึ้นรับตำแหน่งต่อจาก พล.ร.อ.สงัด ที่เกษียณอายุราชการไปเมื่อ 30 กันยายน พ.ศ.2520 และทำหน้าที่เป็นเลขาธิการคณะปฏิวัติ โดยคณะทหารหนุ่มไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย ปรากฏว่าที่ประชุมได้ลงมติให้ พล.ร.อ.สงัด เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่”

“เมื่อคณะทหารหนุ่มได้ทราบมติที่ประชุมก็ไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง และตัดสินใจร่วมกันว่า หากคณะปฏิวัติยังยืนยันความเห็นนี้ก็จะทำรัฐประหารซ้ำอีกครั้งหนึ่ง โดยมอบหมายให้ พ.ท.จำลอง ศรีเมือง เป็นผู้ต่อรองและยื่นคำขาดต่อคณะปฏิวัติว่า หากภายในวันที่ 23 ตุลาคม 2520 นายทหารระดับสูงที่เป็นสมาชิกคณะปฏิวัติไม่เปลี่ยนใจเอา พล.อ.เกรียงศักดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี พวกเขาซึ่งเป็นผู้คุมกำลังและทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ก็จะทำรัฐประหารซ้อนขึ้นอีก”

จากการสัมภาษณ์ พ.อ.จำลอง (ยศขณะให้สัมภาษณ์) ซึ่งเป็นตัวแทนของคณะทหารหนุ่มในการต่อรองเจรจากับสมาชิกคณะปฏิวัติในครั้งนั้น พ.อ.จำลองเปิดเผยว่า ‘คณะทหารหนุ่มมิได้สนับสนุน พล.อ.เกรียงศักดิ์ เพราะไม่มีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับกลุ่มแต่ประการใด แต่อาศัยหลักการที่ว่าผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นผู้นำกองทัพทั้ง 3 จึงควรเป็นนายกรัฐมนตรี’

“อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตว่า คณะทหารหนุ่มได้เคยขอให้ พล.อ.เสริม ณ นคร ผู้บัญชาการทหารบกเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2520 แต่เกิดความลังเลใจ ดังนั้น การปฏิวัติ 20 ตุลาคม 2520 ครั้งนี้ คณะทหารหนุ่มจึงมีท่าทีเปลี่ยนแปลงไปในการเลือกผู้นำทางการเมืองของประเทศ”

ความตึงเครียดระหว่างคณะนายทหารระดับสูงใน บก.คณะปฏิวัติ กับคณะนายทหารหนุ่มจึงดำรงอยู่จนกว่าปัญหาการกำหนดตัวนายกรัฐมนตรีจะลงตัว…

จนกระทั่งเดือนต่อมาจึงมีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2520 ซึ่งต้องมีการกำหนดตัวนายกรัฐมนตรีที่แน่นอน จึงมีประกาศพระบรมราชโองการ แต่งตั้ง พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2520 ปัญหานี้จึงคลี่คลาย

การปฏิวัติไม่ใช่งานเย็บปักถักร้อยจริงๆ

แต่ยังมีข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่งที่สะท้อนภาพในช่วงเหตุการณ์สำคัญนี้แตกต่างกันออกไป…

 

ปฏิวัติซ้อน

หนังสือ “จอว์สใหญ่” โดย “พันทิวา” ได้บันทึกเรื่องเล่าจากผู้อยู่ใกล้ชิดเหตุการณ์เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2520 ท่านหนึ่ง คือ พล.ร.อ.ทรงสิทธิ กิตติพีรชล ไว้ดังนี้

แม้เหตุการณ์ในวันที่ 26 มีนาคม จะสิ้นสุดลงอย่างเด็ดขาดโดยหัวหน้าคณะผู้ก่อการถูกตัดสินประหารชีวิต แต่สถานการณ์บ้านเมืองก็ยังไม่ค่อยจะเรียบร้อยดีนัก เสถียรภาพของรัฐบาลก็ไม่ค่อยมั่นคงจนนำไปสู่การปฏิวัติครั้งที่ 2 โดยคณะนายทหาร 3 เหล่าทัพในวันที่ 20 ตุลาคม ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นยังคงเป็นที่กังขามาจนถึงปัจจุบันว่ามีเบื้องหลังหรือความลับซับซ้อนที่แท้จริงอย่างไรกันแน่ เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว พล.ร.อ.ทรงสิทธิ์เล่าว่า

‘ครูหงัดไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อน และก็ไม่ได้เป็นผู้ริเริ่มด้วย แต่ความคิดที่จะปฏิวัติมาจากนายทหารที่ร่วมอยู่ในคณะปฏิรูปฯ เดิม และท่านเหล่านั้นต้องการให้ครูหงัดเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติเหมือนที่เคยเป็นหัวหน้าคณะปฏิรูปฯ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคมปีก่อนหน้านั้น’

ในตอนบ่ายของวันที่ 20 ตุลาคม 2520 บรรดา ผบ.เหล่าทัพ และนายทหารระดับสูงซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกของคณะปฏิรูปฯ เข้ามาชุมนุมกันที่ บก.สนามเสือป่า ส่วนครูหงัดอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อมีคนไปเชิญท่านกลับมาที่สนามเสือป่า ครูหงัดเดินเข้าไปในห้องประชุมเห็นคณะนายทหารนั่งกันอยู่เต็มพรึบ โดยมีพลเอกท่านหนึ่งนั่งอยู่หัวโต๊ะ ครูหงัดได้กล่าวถามประโยคแรกว่า ‘นี่ทำอะไรกัน’ คณะนายทหารที่อยู่ในห้องตอบว่า ‘ทำปฏิวัติครับ’ ครูหงัดถามอีกว่า ‘ใครเป็นหัวหน้า’ พลเอกทหารบกที่นั่งอยู่หัวโต๊ะจึงตอบว่า ‘ก็ท่านนั่นแหละครับเป็นหัวหน้า’

“จากนั้นจึงเชิญให้ท่านนั่งหัวโต๊ะเพื่อเป็นประธาน ตอนแรกท่านจะไม่รับ แต่เมื่อที่ประชุมเรียนท่านว่า ท่านต้องเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติเพื่อความสงบเรียบร้อย และท่านเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายซึ่งจะทำให้ไม่เผชิญกับการต่อต้าน ครูหงัดจึงตอบตกลงและสั่งให้เอาหนังสือมาลงนามเพื่อออกประกาศคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติ”

“ตอนนี้เองที่มีเหตุการณ์แทรกซ้อนขึ้นมา กล่าวคือ คณะนายทหารยังเติร์กซึ่งเป็น จปร.7 ได้นำกำลังเข้ามาเพื่อที่จะทำการปฏิวัติเช่นกัน จนเป็นที่กล่าวขานกันว่า เหตุการณ์ในวันนั้นมีการปฏิวัติซ้อน”

คำบอกเล่าของ พล.ร.อ.ทรงสิทธิ กิตติพีรชล ไม่ได้ระบุนาม “พลเอกทหารบกที่นั่งอยู่หัวโต๊ะ” แต่ตามธรรมเนียมปฏิบัติแล้วย่อมเป็นผู้อาวุโสสูงสุดในที่ประชุม อาวุโสกว่าผู้บัญชาการทหารบก อาวุโสกว่าผู้บัญชาการทหารเรือ อาวุโสกว่าผู้บัญชาการทหารทหารอากาศ

ซึ่งเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก “ผู้บัญชาการทหารสูงสุด” พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์