วงค์ ตาวัน : เมื่อสามารถตั้งข้อหาฆ่าได้

วงค์ ตาวัน

คดี ผอ.อ้อย ซึ่งเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชนวงกว้าง เพราะเป็นการหายตัวไปอย่างเป็นปริศนา แม้จะรู้ทั้งรู้ว่าใครที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการหายตัวไปของเหยื่อสาว แต่เมื่อไม่สามารถหาศพ หรือพิสูจน์ได้ว่ามีศพ มีการฆ่าให้ตายไปแล้ว

จะไม่สามารถตั้งข้อหาผู้กระทำผิดในคดีฆาตกรรมได้

“แต่เพราะอาชญากรรมย่อมมีร่องรอยเสมอ”

ความพยายามของเจ้าหน้าที่ตำรวจทีมสืบสวน การทุ่มเทของครอบครัวผู้สูญเสีย ไปจนถึงหูตาของพยานบุคคลในพื้นที่

จึงสามารถแกะหาร่องรอยจนได้ และตามไปจนพบชิ้นส่วนกระดูก เสื้อผ้า เข็มขัด นาฬิกา เมื่อพิสูจน์ยืนยันด้วยดีเอ็นเอเป็นอันชัดเจน

ร.อ.ศุภชัย ภาโส หรือผู้กองเหน่ง จึงโดนข้อหาฆ่าและซ่อนเร้นอำพรางศพ

จากเดิมทีที่ตั้งข้อหาได้เพียงกักขังหน่วงเหนี่ยว ลักทรัพย์ ใช้เอกสารปลอม

“ทำให้รูปคดีสมบูรณ์แบบในที่สุด”

โดยชัดเจนครบถ้วนว่า มีการนำตัว ผอ.อ้อยไปฆ่า แล้วนำศพไปหมกไว้ในป่า ใกล้กับฐานทหาร บริเวณที่มีการวางกับดักระเบิดไว้มากมาย ซึ่งเป็นพื้นที่อันตรายสำหรับคนทั่วไป คงคาดคิดแล้วว่าไม่มีใครไปพบชิ้นส่วนศพได้ง่ายๆ แต่สุดท้ายก็ตามพบจนได้

ไม่ใช่แค่คดีที่ขาดช่วงขาดตอน ยืนยันได้เพียงแค่ ผอ.อ้อยหายตัวไประหว่างอยู่กับผู้กองเหน่งแน่นอน แต่หายไปไหน และร่างไปอยู่ที่ไหน พิสูจน์ไม่ได้ อะไรทำนองนั้น

“เมื่อสามารถพิสูจน์ทราบเรื่องศพได้ จึงเป็นคดีที่ครบถ้วนทุกขั้นตอน”

ที่น่าคิดก็คือ สภาพพื้นที่ที่พบชิ้นส่วนศพนั้น เป็นพื้นที่ป่าที่เต็มไปด้วยการวางกับดักระเบิด มีป้ายเตือนหรา

การนำศพไปหมกไว้ในป่าดังกล่าว คงคิดคำนวณแล้วว่ายากที่จะมีใครไปเจอะเจอ

แต่สุดท้ายก็มีพยานไปพบเห็นจนได้ ทำให้ครอบครัวของ ผอ.อ้อยที่ไม่ท้อถอย ได้รับความยุติธรรมในที่สุด

ได้พบชิ้นส่วนศพ เพื่อนำไปทำพิธีทางศาสนาได้ในอนาคต และได้เห็นการนำตัวผู้ต้องหาดำเนินคดีในข้อหาฆาตกรรมจนได้!

การติดตามหาร่องรอยและร่างของ ผอ.อ้อย หรือ น.ส.จุฑาภรณ์ อุ่นอ่อน ผอ.กองการศึกษา อบต.ชำ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งใช้เวลาถึง 3-4 เดือนกว่าจะประสบความสำเร็จนั้น ส่วนหนึ่งเพราะคดีมีการซ่อนเร้นซับซ้อน

ขณะเดียวกัน อีกส่วนหนึ่งเพราะฝ่ายผู้ต้องหามีสถานะอยู่ในราชการทหาร

“แน่นอนว่านี่เป็นความผิดส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับกองทัพหรือหน่วยงานที่สังกัด”

แต่ความเป็นนายทหารในราชการ อยู่ภายใต้ข้อตกลงร่วมทหารกับตำรวจ ทำให้การเรียกตัว การสอบสวน การตั้งข้อหา การควบคุมตัว ต้องผ่านขั้นตอนหลายอย่าง

ดังนั้น ผู้ต้องหาจึงไม่ตกอยู่ภายใต้สภาวะที่ถูกกดดันมากนัก ต่างจากผู้ต้องหาที่เป็นพลเรือนทั่วไป

แถมมีความเชี่ยวชาญในพื้นที่ที่ใช้หมกศพ รู้ได้ว่า พื้นที่ย่านนั้นตรงไหนที่เป็นเขตอันตราย ยากที่คนทั่วไปจะเข้าถึง

“เหล่านี้ ทำให้การแกะรอยหาพยานหลักฐาน จึงใช้เวลายาวนานไม่น้อย!”

นั่นคือความซับซ้อนยุ่งยากประการหนึ่งสำหรับคดีนี้

ไม่เท่านั้น ขั้นตอนถัดจากนี้ เมื่อพนักงานสอบสวนสามารถตั้งข้อหาเป็นคดีฆ่าได้แล้ว ก็ต้องมาดูกันอีกว่า เมื่อทำสำนวนส่งอัยการแล้ว

“จะต้องส่งฟ้องศาลทหาร เพราะผู้ต้องหาเป็นทหาร หรือจะสามารถส่งฟ้องศาลอาญาได้!?”

ก่อนหน้านี้ นายศักดา คล้ายร่มไทร อัยการจังหวัดกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ได้มีข้อแนะนำโดยหยิบเอาประเด็นที่มีการนำรถเก๋งของ ผอ.อ้อยไปขายมาชี้ว่า คดีนี้มีพลเรือนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดด้วย ในข้อหาปลอมแปลงเอกสาร ลักทรัพย์หรือรับของโจร ซึ่งเห็นว่าพนักงานสอบสวนคดีนี้ควรแจ้งข้อหาพลเรือนที่เข้ามามีส่วนร่วมในคดีนี้ด้วย

หากมีพลเรือนเข้าไปมีส่วนร่วมเป็นผู้ต้องหาในคดีนี้ตามกฎหมายแล้ว จะทำให้ผู้ต้องหาคดีนี้ต้องมาขึ้นศาลยุติธรรม แทนที่จะไปขึ้นศาลทหาร

ล่าสุด พนักงานสอบสวนตำรวจได้ดึงเอาประเด็นพลเรือนที่ร่วมในขั้นตอนซื้อขายรถเข้ามาแล้ว

นั่นจะทำให้คดีนี้ไม่ต้องไปขึ้นศาลทหาร แต่สามารถขึ้นศาลอาญา เหมือนผู้กระทำผิดทั่วไปได้!

คงจะเป็นเรื่องรันทดอย่างมากสำหรับครอบครัวของ ผอ.อ้อย หากคดีนี้ดำเนินไปโดยไม่สามารถตามหาร่างของผู้ตายได้ ไม่เพียงไม่สามารถนำมาจัดพิธีทางศาสนาเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ตายได้เท่านั้น

แต่นั่นยังหมายความว่า ผู้ต้องหาจะไม่โดนข้อหาคดีฆาตกรรมอีกด้วย

กระบวนการกระทำผิดนั้น อันที่จริงครบถ้วนไปหมดแล้ว คือ มีการนำตัวเหยื่อไปกักขังหน่วงเหนี่ยว แล้วลงมือฆ่า มีความตาย มีศพแล้ว เพียงแต่ได้พยายามซ่อนเร้นอำพรางศพ อันเป็นหลักฐานสำคัญสุดของคดีนี้

จะเป็นเรื่องน่าเสียใจอย่างมากสำหรับญาติพี่น้องของ ผอ.อ้อย หากรูปคดีไม่สามารถดำเนินได้อย่างครบถ้วน

จนเมื่อตามพบศพจนได้ ก็มีข้อหาฆาตกรรมได้

“ความยุติธรรมในชั้นนี้จึงปรากฏขึ้น ต่อจากนี้ก็รอฟังขั้นตอนทางศาล จนกระทั่งรอถึงวันพิพากษา และวันที่คดีถึงที่สุด!”

อันที่จริงอารมณ์ความรู้สึกที่คับข้องใจว่า มีการฆ่าคนตายเกิดขึ้นไปแล้ว แต่กลับไม่มีการดำเนินคดีข้อหาการฆ่าได้

อารมณ์เช่นนี้มีอยู่จริง เกิดแล้วจริงๆ

“กับครอบครัวญาติมิตรของคนที่ตายไปในเหตุการณ์สลายม็อบเมื่อ 10 เมษายน – 19 พฤษภาคม 2553 ที่มีคนตายมากมายถึง 99 คน!!”

แม้ว่าหลังเกิดเหตุการณ์ไม่นาน คดีเริ่มดำเนินไปได้ มีการทำสำนวนไต่สวนชันสูตรศพขึ้นสู่ชั้นศาล และศาลมีคำสั่งชี้ผลว่า ผู้ตาย ตายด้วยกระสุนปืนของเจ้าหน้าที่ ศอฉ. หรือตายด้วยกระสุนที่ยิงจากฝั่งเจ้าหน้าที่ ศอฉ.

ชี้ไปแล้ว 17-18 ศพ

“อันเป็นเครื่องยืนยันชัดเจนว่า การใช้กำลังเจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธจริงและกระสุนจริง ทำให้ผู้ชุมนุมถูกยิงตายจากมาตรการนี้”

แล้วนั่นก็จะต้องนำสำนวนนี้ ไปสู่การดำเนินคดีข้อหาฆ่ากับผู้รับผิดชอบสั่งการ

แต่ลงเอยผู้ต้องหา คือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ใช้ช่องทางกฎหมายต่อสู้เพื่อไม่ให้คดีนี้พิจารณาในศาลอาญา

“ไม่ให้เป็นคดีข้อหาฆ่า!?!”

สุดท้ายผลการต่อสู้ด้วยเทคนิคทางกฎหมายดังกล่าว ทำให้คดีนี้ยกฟ้องจากศาลอาญาไปเรียบร้อยแล้ว

จากนี้ต้องส่งไปให้ ป.ป.ช. ไต่สวน กลายเป็นคดีความผิดเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่

ท่ากับว่าคดี 99 ศพ ในขณะนี้ ไม่สามารถจะดำเนินคดีกับใครในข้อหาการฆ่าได้

ทั้งที่ศพคนตายมีอยู่มากมาย ศพเกลื่อนเห็นกันชัดแจ้ง

แถมไม่ได้โดนซ่อนเร้นอำพรางแต่อย่างใด!!