จิตรกรรมฝาผนังลุ่มเจ้าพระยา : ที่มา หน้าที่ และความหมาย (1) | ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

เมื่อพูดถึงประวัติความเป็นมาของการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังไทย (ในลักษณะที่เป็นภาพเล่าเรื่อง เช่น ภาพชาดก พุทธประวัติ สวรรค์ นรก ฯลฯ ที่มิใช่เป็นการเขียนลวดลายตกแต่งทางสถาปัตยกรรม) ที่ปรากฏบนผนังภายในโบสถ์และวิหาร เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยส่วนใหญ่เรามักเชื่อกันว่า เป็นสิ่งที่มีมาโดยตลอดควบคู่กับกำเนิดแรกเริ่มของการสร้างโบสถ์วิหารในสังคมไทย

แม้หลักฐานที่หลงเหลืออยู่แทบทั้งหมดจะชี้ให้เห็นว่าเป็นภาพที่ถูกเขียนขึ้นในช่วงอยุธยาตอนปลาย แต่คำอธิบายกระแสหลักก็มักมีสมมุติฐานว่า ก่อนหน้านั้นคงมีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเช่นกัน เพียงแต่ถูกเขียนทับซ้ำโดยช่างในยุคหลังอันเป็นธรรมเนียมปกติของช่างไทย

หรือไม่ก็ถูกทำลายลงจนหมดสิ้นจากสภาพภูมิอากาศแบบไทยๆ

หรือไม่ก็จากภัยสงคราม จนไม่เหลือร่องร่อยภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เก่าไปกว่านั้นให้เห็น

ที่สำคัญ มีการค้นพบพบภาพจิตรกรรมปรากฎอยู่ภายในผนังกรุของปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ อยุธยา, คูหาปรางค์ประธานวัดมหาธาตุ ราชบุรี, คูหาปรางค์วัดนครโกษา ลพบุรี, คูหาปรางค์ประธานวัดพระราม อยุธยา และคูหาปรางค์ประธานวัดมหาธาตุ อยุธยา เป็นต้น (ซึ่งได้รับการรักษาเป็นอย่างดี ไกลห่างจากการทำลายโดยพลังธรรมชาติ) ก็ยิ่งทำให้ทัศนะข้างต้นมีความสมเหตุสมผลมากยิ่งขึ้น

ผมเองก็เชื่อเช่นนั้น และไม่คิดว่าจะมีประเด็นอะไรที่น่าสนใจมากนักในการที่จะต้องเข้าไปพิสูจน์ว่าสมมติฐานดังกล่าวว่าจริงแท้แค่ไหน

จนกระทั่งมาได้อ่านบทความล่าสุดของ อ.คริส เบเคอร์ และ อ.ผาสุก พงษ์ไพจิตร เรื่อง The Beginnings of Wat Murals in Late Ayutthaya ตีพิมพ์ในหนังสือ Decoding Southeast Asian Art: Studies in Honor of Piriya Krairiksh เนื่องในโอกาส 80 ปี อ.พิริยะ ไกรฤกษ์

บทความเริ่มต้นด้วยประเด็นที่น่าสนใจ คือ แม้เป็นความจริง ที่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังถูกเขียนขึ้นประกอบภายในศาสนสถานในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามาอย่างยาวนานหลายร้อยปีแล้ว

แต่ทั้งหมดถูกเขียนขึ้นในพื้นที่ที่ไม่ได้ต้องการให้คนทั่วไปมองเห็น (ในกรุหรือคูหาภายในองค์พระปรางค์ ตามตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น)

เป้าหมายของภาพที่ไม่ได้ต้องการให้คนมองเห็นเหล่านี้ ชัดเจนว่าตัวมันเองถูกเขียนขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์หรือสื่อสารความหมายกับสิ่งเหนือธรรมชาติมากกว่าการทำหน้าที่สื่อสารโดยตรงกับคนทั่วไป

บทความยังเสนอหลักฐานประกอบสมมุติฐานนี้ คือ บันทึกของชาวต่างชาติหลากหลายคนที่เขียนถึงการเดินทางเข้ามาในอยุธยา ในช่วงก่อนสมัยอยุธยาตอนปลาย เช่น Jacques de Coutre พ.ศ.2138, Cornelius van Niejenrode พ.ศ.2164, Joost Schouten พ.ศ.2179, Gijsbert Heeck ที่เดินทางเข้ามาในสยาม พ.ศ.2198, และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Jeremias van Vliet ที่อาศัยอยู่ในสยามนานเกือบ 10 ปี (พ.ศ.2176-2185) ซึ่งทั้งหมดไม่ปรากฏการเขียนถึงภาพจิตรกรรมฝาผนังเลย

เนื้อหาของบันทึกปรากฏเฉพาะรูปเคารพที่สร้างด้วยทอง เงิน ทองแดง รวมถึงการประดับตกแต่งทางสถาปัตยกรรมที่หรูหราอลังการ

นักสำรวจและนักเดินทางชาวต่างชาติเหล่านี้ที่โดยส่วนใหญ่จะมีธรรมชาติในการจดบันทึกรายละเอียดสิ่งของที่ตัวเองได้พบเจอเป็นอย่างดี

ดังตัวอย่างการบรรยายสิ่งที่คนเหล่านี้พบเห็นเมื่อไปเยี่ยมชมวัดในสยาม จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะละเว้นการเขียนถึงภาพจิตรกรรมฝาผนัง หากว่ามันเคยถูกเขียนขึ้นจริงในยุคสมัยดังกล่าว

แน่นอน อ.คริส และ อ.ผาสุก ไม่ได้ละเลยบันทึกชาวต่างชาติบางชิ้น เช่น บันทึกของ Nicolas Gervaise ที่เดินทางเข้ามาในสยามในราวต้นทศวรรษที่ 2220 ซึ่งเขียนถึงภาพจิตรกรรมฝาผนังที่น่าเชื่อว่าจะเป็นภาพไตรภูมิเอาไว้อย่างชัดเจน

ดังนั้น จากหลักฐานทั้งหมดที่กล่าวมา บทความได้สรุปให้เราเห็นว่า ในยุคก่อนหน้านั้นจนมาถึงราวทศวรรษ 2220 ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในโบสถ์และวิหารเป็นสิ่งที่อาจจะไม่เคยถูกเขียนมาก่อน

หรือหากจะมีก็เป็นส่วนน้อยมากๆ และเขียนอยู่ในเฉพาะวัดหลวงที่สำคัญเท่านั้น

แต่ด้วยสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง (หรือหลายสาเหตุที่จะกล่าวต่อไป) ได้ทำให้ในช่วงเวลาราว 80 ปีสุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา อยู่ๆ ก็ปรากฏการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารและโบสถ์เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังกระจายตัวไปในพื้นที่นอกอยุธยาด้วย

หากข้อเสนอนี้ถูกต้อง (ก่อนสมัยอยุธยาตอนปลายไม่มีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์วิหาร) ผมคิดว่าจะเป็นข้อมูลที่สำคัญมาก และทำให้คิดอะไรได้ต่อเนื่องอีกมากในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการทำความเข้าใจคติสัญลักษณ์ในการออกแบบโบสถ์และวิหาร

ไปจนถึงการออกแบบแผนผังวัดในภาพรวมในช่วงสมัยอยุธยา ที่อาจจะมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญมากกว่าที่เรารับรู้กันในปัจจุบัน ระหว่างช่วงอยุธยาตอนปลายกับในยุคสมัยก่อนหน้านั้น (จะขอยกไปกล่าวถึงในสัปดาห์หน้า)

 

ย้อนกลับมาที่ตัวบทความของ อ.คริส และ อ.ผาสุก ปรากฏการณ์นี้ก็ทำให้ทั้งสองท่านสนใจที่จะหาคำตอบต่อไปว่า อะไรคือเหตุผลที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ความนิยมในการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว

ผมขอข้ามเนื้อหาในบทความที่อธิบายถึงคุณลักษณะสำคัญของภาพจิตรกรรมฝาผนังในช่วงอยุธยาตอนปลายออกไปนะครับ แม้ว่าในหลายส่วนมีประเด็นน่าสนใจ แต่การอธอบายรายละเอียดโดยภาพรวมทั้งโครงสร้างการเขียนภาพและเนื้อหาหลักของภาพ น่าจะเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปสำหรับผู้สนใจศึกษาจิตรกรรมฝาผนังในสมัยอยุธยาดีอยู่แล้ว

ข้อสรุปจากการวิเคราะห์ของบทความชิ้นนี้ เสนอว่า การปรากฏตัวขึ้นของภาพจิตรกรรมฝาผนังสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมขนานใหญ่ในสมัยอยุธยาตอนปลาย อันเป็นผลมาจากความรุ่งเรืองร่ำรวยขึ้นอย่างมากของอยุธยาในช่วงเวลาดังกล่าว ที่มาพร้อมกับความวิตกกังวลทางสังคมอันเกิดมาจากความไร้ระเบียบทางสังคมที่เพิ่มมากขึ้น (ในบทความใช้คำว่า Late Ayutthaya Society : Prosperity and Anxiety)

ในช่วงอยุธยาตอนปลาย เศรษฐกิจการค้าเจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างมาก (โดยเฉพาะกับจีน) พร้อมกันนั้น การผูกขาดการขายสินค้าโดยวังก็ได้รับการผ่อนคลายมากขึ้น เปิดโอกาสให้ข้าราชบริพาร ผู้ดี พ่อค้า และไพร่มั่งมี มีโอกาสเข้ามาแชร์สัดส่วนความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจากในอดีต ซึ่งส่งผลทั้งโดยตรงและโดยอ้อมให้เกิดกลุ่มคนใหม่ๆ ที่มีกำลังทางเศรษฐกิจในการอุปถัมภ์การสร้างวัดและเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังที่มีราคาแพงมากได้

ภาพจิตรกรรมฝาผนังจากที่เคยเป็นของศักดิ์สิทธิ์และแพงมากของกษัตริย์ ได้กลายมาเป็นของที่ผู้ดีและคนร่ำรวยสามารถอุปถัมภ์สร้างได้ในยุคนี้

และสิ่งนี้อาจเป็นเสมือนหนึ่งสัญญะของการแสดงสถานะทางสังคมของคนเหล่านี้ไปพร้อมกัน

ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดเกาะแก้วสุทธาราม เพชรบุรี อาจเป็นหนึ่งในกรณีตัวอย่างของสิ่งนี้

 

ขณะเดียวกัน ความร่ำรวยที่กระจายตัวออกไปในวงกว้าง ได้นำมาสู่การผ่อนคลายโครงสร้างทางสังคมแบบจารีตมากขึ้น (หรือที่ผมเข้าใจเองว่าอาจจะหมายถึง เป็นสังคมแบบทางโลกมากขึ้น เป็นปัจเจกมากขึ้น อยู่ในระบบเศรษฐกิจการค้ามากขึ้น) ซึ่งในอีกด้านหนึ่งได้ก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมา ทั้งการประท้วง คอร์รัปชั่น อาชญากรรม ฯลฯ ซึ่งบทความได้แสดงหลักฐานประกอบหลายอย่างในประเด็นนี้

ผลกระทบนี้ ก่อให้เกิดความวิตกกังวลทางสังคมในหมู่ชนชั้นสูง ผู้ดี และคนร่ำรวย จนนำไปสู่การตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิรูปศีลธรรม ซึ่งบทความนี้เสนอว่า เนื้อหาในภาพจิตรกรรมฝาผนังจึงได้ถูกเลือกเข้ามาทำหน้าที่เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง (ในหลายๆ อย่าง) ที่เข้ามาช่วยสั่งสอนและกระตุ้นศีลธรรมทางศาสนาของผู้คนในช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความไร้ระเบียบ

และนี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญหนึ่งที่ทำให้เกิดการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังในพื้นที่โบสถ์และวิหาร เพื่อให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงและมองเห็นได้ (ไม่ใช่ในคูหาลึกลับของพระปรางค์ที่ไม่มีใครเข้าถึงได้) ในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงปลายอยุธยา

นอกจากนี้ ภาพจิตรกรรมฝาผนังยังเต็มไปด้วยการเขียนเรื่องของผู้คนธรรมดา ชีวิตความเป็นอยู่ การละเล่น ไปจนถึงเรื่องตลกลามกของไพร่สามัญ (มิใช่มีแต่เพียงเนื้อหาของความศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา) โดยเฉพาะในส่วนที่เราเรียกกันว่า “ภาพกาก” ซึ่งเป็นการสะท้อนมุมมองที่ให้ความสำคัญกับเรื่องราวของคนสามัญมากขึ้น อันเป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมแบบจารีตที่เริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้นในอยุธยาตอนปลาย

ซึ่งลักษณะดังกล่าวยังปรากฏในงานศิลปะรูแบบอื่นด้วย เช่น งานเขียน และงานวรรณกรรมรูปแบบใหม่ๆ ทีเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน