90 ปี ยังมีเลือกตั้ง…บนรัฐธรรมนูญแบบ 70/30 | มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ
(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

90ปี ไทยมีรัฐธรรมนูญถึง 20 ฉบับ เริ่มจากการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองช่วง 2475 รวม 2 ฉบับ เกิดจากการปรับปรุงแก้ไขของระบบรัฐสภา 1 ฉบับ และมีเพียง 2 ฉบับที่เกิดจากการต่อสู้เรียกร้องของประชาชนคือ หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และหลังพฤษภาทมิฬ 2535

แต่อีก 15 ฉบับเกิดจากการที่คณะรัฐประหารร่างขึ้นเพื่อใช้แปลงกายสืบทอดอำนาจ

การจะให้มีรัฐธรรมนูญแบบไหน เป็นไปตามความต้องการของกลุ่มผู้ปกครองซึ่งกุมอำนาจรัฐ

เนื้อหาของรัฐธรรมนูญในแต่ละยุคสมัยขึ้นอยู่กับว่าในขณะนั้นใครมีอำนาจ

ถ้าเป็นประชาชน รัฐธรรมนูญจะออกมาเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนมากหน่อย

แต่ถ้าเป็นบุคคลหรือกลุ่มคน ตัวรัฐธรรมนูญก็จะถูกร่างออกมาเพื่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มนั้น

ดังนั้น รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 ซึ่งร่างหลังการรัฐประหารของ คสช. 2557 จึงถูกดีไซน์เพื่อพวกเขา ทำให้เป็น…ประชาธิปไตยแบบ 70/30 …ผู้มีอำนาจเอาไป 70 ประชาชนได้แค่ 30

เพราะกรรมการร่างฯ ถูกแต่งตั้งมาจากผู้มีอำนาจหลังการรัฐประหาร

ดูได้จากที่มาของกลุ่มคนที่ร่างรัฐธรรมนูญและเนื้อหาเมื่อร่างเสร็จ รธน. 2560 เป็นแบบสืบทอดอำนาจโดยคณะรัฐประหารแต่งตั้งคนขึ้นมาร่างเพื่อให้ตนเองได้ประโยชน์ทางการเมืองการปกครอง มีหลักการทั่วไปคือ…

ให้อำนาจคณะรัฐประหารตั้ง ส.ว. และให้มีอำนาจเท่ากับ ส.ส. ในการเลือกนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้ง

นายกฯ ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งก็ได้

และให้ ส.ว.มีอำนาจในการตั้งองค์กรอิสระ และศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น อำนาจในการตัดสินถูกผิด ชี้เป็นชี้ตาย ก็จะตกอยู่ในมือพวกเดียวกัน

ในทุกตำแหน่งที่คุมอำนาจจึงถูกคนกลุ่มหนึ่งผลัดกันเขียน เวียนกันตั้ง

รธน.ฉบับ 2560 ยังมีพิเศษตรงที่ว่า เมื่อได้รัฐธรรมนูญที่ดีไซน์เพื่อตัวเองแล้ว ยังวางกฎเกณฑ์สารพัดให้แก้ไขยาก ตามระบบสภา จนกลายเป็นเงื่อนไขที่จะสร้างความวุ่นวายทางการเมือง

(Photo by LILLIAN SUWANRUMPHA / AFP)

ผลไม้พิษได้พิสูจน์หลังเลือกตั้ง 2562

ผลของการใช้ รธน. 2560 หลังการเลือกตั้ง 2562 สรุปได้ว่า คสช.สามารถสืบทอดอำนาจสำเร็จหลังเลือกตั้ง แม้ไม่มี ม.44

1 คนฝ่าย คสช.แม้ไม่ชนะเลือกตั้ง ก็สามารถตั้งรัฐบาลและเป็นนายกฯ ได้ เพราะมี ส.ว. 250 คนที่แต่งตั้งมาช่วยโหวต

2 คนที่เป็นใหญ่ใน คสช.ก็ยังมีอำนาจพิเศษเหนือทั้งนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ทำอะไรก็ได้ ไม่ผิด

3 มีการซื้อเสียงโหวตในสภาจนเป็นข่าว มีการซื้อ ส.ส. เปิดช่องทางให้ย้ายค่าย ขายตัว ขณะนี้อำนาจและเงินบงการได้ทุกวงการ

4 เกิดการโกงกินไปทุกวงการ เพราะมีระบบอุปถัมภ์คอยช่วยเหลือผู้ทำผิด อิทธิพลของผู้มีอำนาจคอยปกป้องผู้ทำผิดได้ทุกระดับทั้งคนไทยและต่างชาติ ถ้าไม่ขัดแย้งกันก็หากินกันสบาย แต่ถ้าขัดแย้งแย่งผลประโยชน์กันก็เป็นข่าว

5 กลุ่มทุนใหญ่ได้ประโยชน์ คนจน คนชั้นกลางยังเสียเปรียบต่อไป

6 ยังไม่ยอมกระจายอำนาจ ตลอด 8 ปี เพิ่งจะมีเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งเดียว

ตอนนี้อำนาจอธิปไตยจึงเป็นของคนกลุ่มหนึ่งหรือสองกลุ่ม…ถ้าวัดจากการบริหาร และการปกครอง การทำงานของรัฐสภา และระบบยุติธรรม…ถือว่าเป็นระบบอำมาตยาธิปไตยที่ครบสมบูรณ์ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560

จึงต้องแก้ไขโครงสร้างให้เป็นประชาธิปไตย…ปลูกผลไม้พันธุ์ประชาธิปไตย ในรัฐธรรมนูญใหม่

*อำนาจนิติบัญญัติ ต้องมาจากการเลือกตั้ง ทั้งหมดอาจไม่ต้องมีวุฒิสภา หรือถ้ามี ต้องให้ ส.ว.มาจากการเลือกของประชาชนโดยตรง

*อำนาจบริหาร นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง หรือคณะผู้บริหารต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง

*อำนาจตุลาการ ต้องมีสภายุติธรรม ที่ผ่านการเลือกตั้งของประชาชน เพื่อดูแลกระบวนการยุติธรรม ฝ่ายตุลาการ และองค์กรอิสระ ต้องมีจำนวนมากพอ ไม่น้อยกว่า 150 คน

* อำนาจในการร่างรัฐธรรมนูญต้องเป็นของประชาชน จึงจะทำให้โครงสร้างแต่ละข้อเป็นจริงได้ ดังนั้น จะต้องมี สสร.ที่ได้รับเลือกจากประชาชนโดยตรง มาทำการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นที่ยอมรับ ให้ความเป็นอิสระกับ สสร.ในการร่าง

หน้าที่ของนักการเมือง
ในระบอบประชาธิปไตย ช่วงเวลานี้

จะต้องพัฒนาระบอบการปกครองให้เป็นประชาธิปไตยจริงๆ ให้ได้ โดยการสร้างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย เพราะถ้าทำไม่ได้การเลือกตั้งตัวแทนของประชาชนก็จะอยู่บนกฎเกณฑ์ที่ร่างมาแบบไม่ถูกต้อง จากนั้นก็จะมีการโกงอำนาจของประชาชนทำให้บ้านเมืองวุ่นวายอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

การเตรียมการเลือกตั้งในครั้งที่จะถึงนี้โดยหลักการแล้วพรรคการเมืองต่างๆ จะต้องเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งวิธีการและเนื้อหาหลัก

เพื่อให้รู้ว่าแต่ละพรรคการเมืองมีแนวทางในการสร้างรัฐธรรมนูญใหม่หรือจะเพียงแก้ไข และถ้าแก้ไขจะแก้เรื่องอะไรบ้าง แก้ไขอย่างไร และประชาชนควรเลือก ส.ส.ผ่านหลักการและนโยบายนี้ นอกเหนือจากนโยบายด้านเศรษฐกิจ และสวัสดิการรัฐ

ถ้าคิดจะเป็นตัวแทนของประชาชน ในช่วงเวลาที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนี้ไม่ควรจะไปทุ่มกำลังทั้งหมดแค่หาคนมาสมัครรับเลือกตั้ง เพราะต่อให้ได้ชัยชนะในการเลือกตั้ง ถ้ารัฐธรรมนูญยังเปิดช่องว่างให้มีการซื้อ ส.ส. ก็จะไม่มีประโยชน์อะไรที่จะเลือกตั้งใหม่ เพราะจะวนไปเข้าวงจรอุบาทว์เดิม

ขั้นตอนในการปฏิบัติเพื่อให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดย สสร.ที่เลือกจากประชาชน

1) ทุกพรรคการเมืองที่ต้องการระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง จะต้องกำหนดนโยบายขึ้นมาขณะหาเสียงเลือกตั้งเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญใหม่และเสนอหลักการทางประชาธิปไตยที่พรรคของตนเองต้องการให้เป็น เช่น มีสภาเดียวหรือสองสภา

2) ร่วมกันเคลื่อนไหวผลักดันให้มีการลงประชามติให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ในช่วงการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ส.ส. (เพราะเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2564 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก วินิจฉัยรัฐสภามีอำนาจและหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ต้องจัดทำประชามติ 2 ครั้ง ครั้งแรกให้ประชาชนลงมติว่าต้องการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และครั้งที่สองเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ต้องจัดให้มีการลงประชามติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่)

3) ฝ่ายประชาชนจะต้องร่วมกันเคลื่อนไหวผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และพยายามผลักดันให้เกิดการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่องทั้งก่อนเลือกตั้งและหลังเลือกตั้ง จะไปหวังพึ่งเสียงในสภาอย่างเดียวไม่ได้

ถ้าจะสรุปยุทธศาสตร์สำคัญในช่วงเวลานี้ก็คือต้องต่อสู้เพื่อให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ พร้อมกับหาเสียงไปด้วย