อวสาน ‘โลกาภิวัตน์’? | สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ | สุทธิชัย หยุ่น

 

อวสาน ‘โลกาภิวัตน์’?

 

“อวสานของโลกาภิวัตน์?” คือหัวข้อการเสวนาที่ผมมีส่วนไปดำเนินรายการเพื่อระดมความคิดความเห็นของกูรูด้าน “ภูมิรัฐศาสตร์”

เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์โลกที่มองไปข้างหน้า

The End of Globalization? เป็นหัวข้อที่น่าถกน่าแถลงกันอย่างกว้างขวางในสังคมไทย

เป็นส่วนหนึ่งของงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ประจำปี ที่ชวนกันแสวงหาทางออกจากวิกฤตทุกๆ ด้านที่โลกกำลังเผชิญอยู่ เพราะที่ผ่านมาเราจะมองเรื่องเฉพาะหน้าเป็นหลัก แม้จะมี “แผนยุทธศาสตร์ 20 ปี” ของรัฐบาล แต่ก็ดูเหมือนจะไม่มีใครใส่ใจหรือเอาจริงเอาจังกับมันนัก เพราะไม่มีใครเชื่อว่ามันมีความหมายในทางปฏิบัติแต่อย่างใด

พอฟังแนวทางวิเคราะห์ของกูรูบนเวทีวันนั้นจึงพอจะเห็นว่าทุกอย่างกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ “ฉากทัศน์” ที่ท้าทายเป็นอย่างยิ่ง

ประเทศไทยจะฟันฝ่าความไม่แน่นอนที่เขย่าระเบียบโลกใหม่ได้แค่ไหนเพียงใดจึงเป็นคำถามที่ต้องพยายามหาทางออกร่วมกัน

บนเวทีมี ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกฯ และรัฐมนตรีต่างประเทศ

ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผอ.สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ

ดร.สุรชาติ บำรุงสุข แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

คุณสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ

เริ่มด้วย ดร.สุรเกียรติ์ ตั้งประเด็นในคำกล่าวนำในหัวข้อ “Globalization on the Brink” หรือแปลตรงตัวว่า “โลกาภิวัตน์บนปากเหว”

โดยชี้ให้เห็นว่าเพราะความท้าทายจากภูมิรัฐศาสตร์ ไทยต้องปรับตัวอย่างแรง

สำคัญคือต้องเลือกข้างฝ่ายที่ถูกต้อง

และฝ่ายที่ถูกต้องชอบธรรมนั้นต้องอยู่ข้างกฎหมายระหว่างประเทศ

มองตั้งแต่สงครามยูเครนที่ยังร้อนแรงถึงจุดเปราะบางที่ช่องแคบไต้หวัน

รวมถึงตั้งประเด็นว่าไทยเราควรจะวางหมากอย่างไรจึงจะอยู่รอดปลอดภัย

ที่สำคัญต้องเริ่มต้นด้วยการตระหนักว่าทุกวันนี้โลกาภิวัตน์มีความหมายที่แตกต่างไปจากที่เราคุ้นเคย

โลกาภิวัตน์ในยุค “โลกรวน” หรือ disruption นั้นไม่ได้หมุนตามตัวเลขกำไรอีกต่อไป

ไม่เหมือนแต่ก่อนที่มีหลักคิดว่ามีกำไรที่ไหนไปลงทุนหรือค้าขายที่นั่น

วันนี้เกิดหลายปัจจัยใหม่เข้ามาเกี่ยวข้อง

เกิด “โลกาภิวัตน์” แบบใหม่ที่ยังไม่มีใครสามารถระบุชัดเจนได้ว่าจะสรุปเป็นแบบไหนกันแน่

 

ดร.สุรเกียรติ์ชี้ให้เห็นว่าช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์จากสงครามการค้า และสงครามเทคโนโลยี ทำให้เกิดกระแส Decoupling

อันหมายถึงแนวคิดการแยกขั้วทางเศรษฐกิจหรือแยกห่วงโซ่อุปทาน

ไม่เพียงแต่แบ่งโลกเป็นสองค่ายเท่านั้น แต่ยังซอยย่อยลงไปถึงโลภาภิวัตน์ที่มีลักษณะแตกเป็นเสี่ยงเสี้ยว (Fragmented Globalization)

ซึ่งกระทบกับทุกภาคส่วน รวมถึงภาครัฐและภาคเอกชน ไม่มีข้อยกเว้น และไม่มีข้ออ้างว่าเตรียมตัวตั้งรับไม่ทัน เพราะไม่มีใครมีเวลาและทรัพยากรที่จะตั้งรับได้ทั้งหมดเช่นกัน ที่โลกาภิวัตน์ไม่มีความหมายเหมือนก่อนเก่าก็เพราะถูกท้าทายโดยแนวโน้มใหญ่ของโลก

ไม่ว่าจะเป็นค่านิยมระหว่างประเทศที่เปลี่ยนไป ที่โยงถึงระเบียบโลกทางเศรษฐกิจ และระเบียบโลกทางการเมือง

ตัวอย่างเช่น เทรนด์สังคมผู้สูงอายุหรือ Aging Society ที่ก้าวเข้าสู่ Aged Society คือสังคมที่ผู้สูงวัยมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง…นำไปสู่สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์

ในเอเชีย ไทยเราก็ไปแนวเดียวกับจีน ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โจทย์ใหญ่สำหรับไทยคือเรามีนโยบายรับมืออย่างไร

เพราะผู้สูงอายุมักไม่ใช้เงิน ไม่ชอบความเสี่ยง ไม่ค่อยลงทุน กลายเป็นว่าคนอายุกลางๆ ต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อช่วยประคองประชากรที่มี “ผลผลิต” ทางเศรษฐกิจน้อยลงตามลำดับ

ในขณะที่เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์เป็น “สังคมคนอ่อนวัย” หรือ Young Society ซึ่งมีศักยภาพสูงกว่า มีพลังด้านการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจให้แก่สังคมได้มากกว่า

นำไปสู่การตัดสินใจลงทุนระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป

 

แต่ในมิตินี้ก็มิได้มีแต่ข่าวร้ายเท่านั้น

ดร.สุรเกียรติ์มองว่าในบางแง่มุม โลกาภิวัตน์ก็มีความเข้มแข็งขึ้น

เช่น ในมิติการขยายตัวของชนชั้นกลาง

เพราะกลุ่มชนชั้นกลางมีศักยภาพที่สูงและมีความเชื่อมโยงที่สร้างพลังได้มากกว่า

เห็นได้จากที่ในหลายประเทศ โดยเฉพาะในเอเชียมีสังคมการเป็นเมืองมากขึ้น

ส่งผลให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างเมือง

จึงทำให้มีการลงทุนของความเป็นเมืองมากขึ้น

และอีกส่วนก็เชื่อมระหว่างเมืองในประเทศกับเมืองต่างประเทศ ซึ่งเสริมความเป็นโลกาภิวัตน์

แต่ปัจจัยอื่นๆ ก็ส่งผลกระทบต่อโลกาภิวัตน์ได้ไม่น้อย

เช่น หลังเกิดโรคระบาดโควิดก็จะเห็นถึงเทรนด์ทางสังคมมีลักษณะที่เน้นความมั่นคงทางสุขภาพมากขึ้น

ขณะที่สงครามในยูเครนทำให้เกิดเทรนด์ที่ให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางพลังงานและอาหาร

ตลอดจนปัญหา “โลกรวน” ทำให้เกิดเทรนด์การใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น เกิดการเชื่อมโยงของโลกในเวที COP26 และ COP27

 

ระบอบการปกครองก็ถูกท้าทายไม่น้อย…เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้โลกาภิวัตน์ต้องปรับเปลี่ยนไปเช่นกัน

นั่นคือความท้าทายว่าด้วยค่านิยมระหว่างประเทศ

ต้องยอมรับว่าประเทศที่ไม่มีประชาธิปไตยจะได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะมากหรือน้อย

ซึ่งอาจส่งผลกระทบด้านการลงทุน หรืออาจถูกประณามในเวทีระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องธรรมาภิบาล คอร์รัปชั่น และสิทธิมนุษยชน

หลายประเทศที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ถูกนานาชาติคว่ำบาตร

แต่มาตรการคว่ำบาตรของหลายประเทศมีลักษณะที่ไม่เป็นไปในทางเดียวกัน

คือมีลักษณะการคว่ำบาตรที่แตกต่างกันออกไป

เช่น สหรัฐคว่ำบาตรเมียนมาแบบหนึ่ง ญี่ปุ่นคว่ำบาตรเมียนก็อีกแบบหนึ่ง

“เมื่อการคว่ำบาตรไม่เหมือนกัน คำถามคือ แล้วโลกาภิวัตน์จะไปต่ออย่างไร” ดร.สุรเกียรติ์ตั้งเป็นคำถามชวนใคร่ครวญ

และโยงประเด็นไปที่ว่าการลงทุนผลิตสินค้าในเมียนมาเพื่อส่งออกไปจีน การลงทุนในเมียนมาเพื่อส่งออกไปไทย หรือลงทุนในไทยเพื่อส่งออกไปเมียนมา ก็เกิดขึ้นไม่ได้

 

ประเด็นท้าทายอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากคือเรื่องของสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เป็นค่านิยมใหม่

ประเทศไหนไม่มีแผนยุทธศาสตร์ ESG (Environmental, Social และ Corporate Governance) ที่ชัดเจน ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ต่างชาติไม่มาลงทุน ธนาคารไม่ปล่อยกู้ให้แก่บริษัทที่มีกิจกรรมไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

หรือภาครัฐอาจมีการเก็บภาษีเพิ่มเติมกับบริษัทที่ปล่อยมลพิษ ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็มีแนวโน้มใช้จ่ายมากขึ้นกับสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

นั่นแปลว่าหากไทยไม่ปรับตัว ในอนาคตเราอาจไม่สามารถส่งออกข้าวไปยุโรปได้ เพราะข้าวของเรามีก๊าซ “มีเทน” ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของปัญหาโลกร้อน

 

ทั้งหมดนี้เป็นการตอกย้ำว่า “ยุทธศาสตร์ 20 ปี” ที่ประเทศไทยอ้างอิงอยู่ขณะนี้ต้องถูกฉีกทิ้งโดยพลัน

เพราะไม่อาจจะตอบโจทย์ของโลกที่กำลังถูกเขย่าอย่างหนัก…โดยปัจจัยที่ไม่มีใครคาดคะเนได้อย่างแม่นยำอีกต่อไป

ยุทธศาสตร์สำหรับประเทศไทยในยุคจากนี้ไปจึงอยู่ที่การต้องสามารถสร้างทักษะแห่งการ “บริหารความเปลี่ยนแปลง” ตลอดเวลา

แผน 3 ปี แผน 5 ปีก็อาจจะยาวเกินไปที่จะรองรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงตลอดเวลา

(สัปดาห์หน้า : การทูตไทยแบบ Quiet Diplomacy ในยุคโลกรวนยังใช้ได้หรือไม่?)