ขยะมือถือ ‘ล้น’ โลก

ทวีศักดิ์ บุตรตัน
Image: Shutterstock

จํานวนประชากรโลกล่าสุดเมื่อวันที่ 15พฤศจิกายนที่ผ่านมามีทั้งสิ้น 8,000 ล้านคน

ในจำนวนนี้ใช้โทรศัพท์มือถือเป็นอุปกรณ์ประจำกาย 7,260 ล้านเครื่อง และในปี 2565 ที่ใกล้จะสิ้นสุดในอีกไม่กี่วันข้างหน้า มีโทรศัพท์มือถือที่เสียใช้งานไม่ได้หรือล้าสมัย เจ้าของเก็บซุกไว้ในบ้านกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์รวมแล้ว 5,300 ล้านเครื่อง

ในเวทีประชุมว่าด้วยขยะอิเล็กทริกเคิลและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นานาชาติ หรือ International waste electrical and electronic equipment : WEEE forum ประเมินปริมาณขยะมือถือดังกล่าวจากฐานข้อมูลการค้าโลก และชี้ว่านี่คือ “อี-เวสต์” หรือขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มาแรงแซงโค้งปัญหาขยะพิษอื่นๆ

“วิกตอเรีย กิลล์” นักข่าวสายวิทยาศาสตร์ นำเรื่องนี้มารายงานในบีบีซีนิวส์เมื่อไม่กี่วันก่อนพบว่า จากการวิจัยพบผู้คนทั่วโลกส่วนใหญ่มักจะเก็บโทรศัพท์มือถือรุ่นเก่าๆ เอาไว้มากกว่าจะทิ้งลงถังรีไซเคิล

วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตโทรศัพท์มือถือรุ่นสมาร์ตโฟนมีแร่ธาตุเป็นส่วนประกอบที่สำคัญราวๆ 30 ชนิด เช่น สายทองแดงเป็นสื่อกระแสไฟฟ้า แร่อินเดียม (indium) ใช้ผลิตจอสัมผัสหรือทัชสกรีน แร่กัลเลี่ยม (gullium) ใช้ทำหลอดไฟแอลอีดี หรือแผงโซลาร์เซลล์

แร่อีธเธียม (yttrium) ใช้ทำเลนส์กล้อง แร่แทนทาลัมทำเป็นตัวอิเล็กโทรดในหลอดไฟนีออน แร่เงินใช้ทำกระจก แร่โคบอลต์เป็นวัตถุดิบผลิตแบตเตอรี่ที่ชาร์ตได้ใหม่ (rechageable batteries) แร่นิเกิลผลิตแบตเตอรี่ของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าหรืออีวี

แร่นีโอดีเมียม (neodymium) นำมาใช้ในระบบสั่นของโทรศัพท์มือถือ แร่แลนทานุม (lanthanum) เป็นตัวสำคัญในการผลิตจอสีและแผงวงจรไฟฟ้า

 

เมื่อผู้ใช้โทรศัพท์มือถือไม่ยอมทิ้งมือถือรุ่นเก่าเอาเก็บใส่ลิ้นชักไว้จนลืมสนิท นั่นหมายถึงการผลิตโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่จะต้องใช้วัตถุดิบใหม่ ซึ่งผู้ผลิตต้องเร่หาซื้อแร่ธาตุจากเหมืองแร่ต่างๆ ทั่วโลก

บรรดาเจ้าของเหมืองแร่พากันเฮโลขุดหาแร่เอามาขายให้บริษัทผลิตโทรศัพท์มือถือ แหล่งแร่บางแห่งอยู่ในป่าพื้นที่อนุรักษ์ ต้องโค่นต้นไม้ ระเบิดหินขุดเอาแร่ขึ้นมาล้างด้วยการใช้สารเคมีทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษตามมา

แนวโน้มการขุดหาแร่ธาตุมีปริมาณขึ้นอย่างมากเนื่องจากตลาดมีความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นจนกระทั่งผู้เชี่ยวชาญเป็นห่วงว่าแร่ธาตุมีราคาพุ่งกระโดด อย่างเช่น แร่ลิเธียม ที่เป็น 1 ในส่วนประกอบสำคัญของเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ราคาพุ่งเฉียดๆ 500% ช่วงระหว่างปี 2564-2565

แร่ธาตุที่ใช้เป็นส่วนประกอบในโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต มีส่วนสัมพันธ์กับกระบวนการผลิตที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ยิ่งผู้ผลิตเพิ่มปริมาณสินค้ามากขึ้นเท่าไหร่ กระบวนการหาแร่ธาตุยิ่งส่งผลต่อการทำลายสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

 

นักสิ่งแวดล้อมบางกลุ่มกล่าวหา บริษัทแอปเปิลผู้ผลิตโทรศัพท์ยี่ห้อไอโฟนว่าเป็น 1 ในผู้สนับสนุนการทำเหมืองแร่ที่มีกระบวนการผลิตทำลายสิ่งแวดล้อม

เมื่อเดือนกันยายน บริษัทแอปเปิลขายไอโฟนทำรายได้กว่า 42,600 ล้านเหรียญสหรัฐ

การทำกำไรของแอปเปิล มีผลสะท้อนต่อปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มาจากการทำเหมืองแร่ และไม่เพียงแค่นั้น โทรศัพท์ไอโฟนแต่ละรุ่นมีอายุการใช้งานที่สั้น ต้องอัพเกรดปีต่อปี

ยิ่งอัพเกรด ยิ่งปลุกกระแสการตลาดให้ผู้บริโภคเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ๆ บ่อยมากเท่าไหร่ การทำลายสิ่งแวดล้อมก็ยิ่งเพิ่มขึ้น

นักสิ่งแวดล้อมจึงเรียกร้องให้บริษัทแอปเปิล หยุดปั่นกระแสบริโภคนิยม หันมาพัฒนาประบบการใช้งานของไอโฟนให้ยาวนานกว่าที่เป็นอยู่เพื่อชะลอกระบวนการขุดหาแร่ธาตุให้น้อยลง

รวมถึงการคิดค้นระบบอัพเกรดโทรศัพท์รุ่นเก่าๆ ให้กลับมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมือนกับเครื่องใหม่เพื่อลดปริมาณอีเวสต์

ฝ่ายบริษัทแอปเปิล แย้งว่า กระบวนการผลิตไอโฟนรุ่น 14 โปร และนับถึงอายุการใช้งานของเครื่องราวๆ 2 ปี ปริมาณปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียงแค่ 65-116 กิโลกรัมเท่านั้น

 

“พาสคัล เลรอย” ผู้อำนวยการกลุ่ม WEEE บอกกับ “กิลล์” ว่า น้อยคนที่จะรู้ว่าแร่ธาตุที่เป็นชิ้นส่วนในโทรศัพท์มือถือมีราคาและถ้าเอาแร่ธาตุเหล่านี้มารวมๆ กันจะมีมากมหาศาล

กลุ่ม WEEE ประเมินว่า ภายใน 8 ปีข้างหน้า บรรดาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลายที่อยู่ในโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นแท็บเล็ต โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ หรือแม้กระทั่งเครื่องซักผ้า เมื่อกลายสภาพเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่ล้าสมัย ไม่รองรับกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้อีกต่อไปจะมีน้ำหนักรวมกันแล้วมากถึง 74 ล้านตัน

ขณะที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีความสามารถในการเก็บกวาดโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รุ่นล้าสมัยเอามารีไซเคิลได้แค่ 17 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ตั้งเป้าว่า ในปีหน้าจะเร่งกวาดเก็บขยะอิเล็กทรอนิกส์เอาไปรีไซเคิลให้ได้ 30%

 

อีเวสต์เป็นแนวโน้มล่าสุดของโลก โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือกลายเป็นอุปกรณ์จำเป็นของชีวิตผู้คนเพราะโทรศัพท์มือถือยุคนี้เป็นมากกว่าเครื่องมือสื่อสารธรรมดา ภายในเครื่องมีทั้งข้อมูลส่วนตัว เป็นทีวี วิทยุ ใช้แทนบัตรเครดิต ทำหน้าที่เป็นสมุดธนาคาร เบิกเงินสดจากเครื่องเอทีเอ็ม หรือจะโอนเงินเข้าออกจากบัญชีก็ทำได้ในพริบตา

เมื่อโทรศัพท์มือถือรุ่นนั้นๆ ล้าสมัยหรือใช้งานไม่ได้ ก็ถูกทิ้งกลายเป็นสิ่งไร้ค่า แต่สิ่งไร้ค่ากลับมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนเพราะชิ้นส่วนในอีเวสต์ประกอบด้วยสารอันตราย

ในอังกฤษมีการสำรวจอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ล้าสมัยที่ถูกทิ้งขว้างมากกว่า 20 ล้านชิ้น ถ้าคิดเป็นมูลค่า ตกราวๆ 5,600 ล้านปอนด์ (ประมาณ 240,000 ล้านบาท)

อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในครัวเรือนชาวอังกฤษที่ไม่ใช้แล้วและซุกเก็บเอาไว้ถ้าเจ้าของรื้อหยิบไปขาย จะได้เงินตกเฉลี่ย 200 ปอนด์ หรือเกือบ 9 พันบาทต่อ 1 ครัวเรือน

องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมที่มีชื่อว่า “แมตทีเรียล โฟกัส” พยายามรณรงค์ให้ชาวอังกฤษใส่ใจกับปัญหาอีเวสต์มากขึ้น เพิ่มติดตั้งจุดทิ้งโทรศัพท์มือถือรุ่นเก่าที่ไม่ใช้แล้ว หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เสื่อมสภาพตามศูนย์รีไซเคิล ขยายศูนย์รีไซเคิลไปยังซูเปอร์มาร์เก็ต และที่ทำการไปรษณีย์

แมตทีเรียลโฟกัสพบว่า ปัจจุบันขยะอิเล็กทรอนิกส์มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมาก มีทั้งแปรงสีฟันไฟฟ้า แบตเตอรี่ลิเธียมอิออน ของเล่นเด็ก แล็บท็อป รวมไปถึงการ์ดอวยพรวันเกิดที่ใส่แบตเตอรี่ก้อนเล็กๆ เอาไว้ เนื่องจากราคาสินค้าเหล่านี้ถูกลงสนองตอบต่อความต้องการของตลาด

ฉะนั้น ทิศทางอนาคต รัฐในฐานะผู้จัดการบริหารประเทศ บริษัทผลิตสินค้าและผู้บริโภคจะต้องร่วมกันหาวิธีการป้องกันไม่ให้ซากอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ล้นโลก •

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]