ปรสิต ‘ทาสแมว’ ให้อะไรมากกว่าที่คุณคิด | ป๋วย อุ่นใจ

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

เคยสังเกตมั้ยครับ “ทาสแมว” มักจะมีความกล้าและบ้าบิ่น บางทีอาจจะไม่ใช่แค่เรื่องบังเอิญ อาจจะเป็นเพราะติดปรสิตไข้ขี้แมว (Toxoplasma gondii) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่าท็อกโซ

ปรสิตบางชนิดก็ติดเชื้อเพื่อควบคุมสมอง…

เรื่องของเรื่องคือแม้จะติดเชื้อในสัตว์ได้สารพัดชนิด แต่เชื้อปรสิตท็อกโซจะมีเซ็กซ์กันได้แค่ในร่างกายของสัตว์ตระกูล “แมว” เท่านั้น พวกมันจึงต้องวิวัฒนาการกลยุทธ์สุดแยบคาย เพื่อให้ชัดเจนว่า ไม่ว่าจะผ่านอะไรมา พวกมันจะต้องได้ไปลงเอยจับคู่ตุนาหงันกันให้ได้ในร่างกายน้อง “แมว” ในท้ายที่สุด

นี่คือวิถีของการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติ แซลมอนเดินทางนับพันไมล์เพียงเพื่อให้มีโอกาสได้ผสมพันธุ์ ท็อกโซก็เช่นกันต้องวิวัฒน์วิธีตามล่าหาน้องแมว

แต่เส้นทางเพื่อการสืบต่อเผ่าพันธุ์ของท็อกโซนั้นไม่ตรงไปตรงมาเหมือนกับปลาที่ว่ายน้ำไปไหนก็ได้ตามใจหาง สำหรับปรสิตที่ต้องอาศัยเรือนร่างของสัตว์อื่น วิธีเดียวที่เป็นไปได้ ก็คือ “ต้องบังคับจิตใจ” ให้โฮสต์หรือสัตว์ที่ติดเชื้อ ยินยอมพร้อมใจที่จะพาพวกมันไปหาแมว… เพื่อที่พวกมันจะได้มีเซ็กซ์

ท็อกโซจึงเปลี่ยนพฤติกรรมของสัตว์ที่ติดเชื้อไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากหนูที่เคยขลาดกลัวแมวและสัตว์ผู้ล่าอื่นๆ พอติดเชื้อนอกจากจะไม่กลัวแล้ว ยังรู้สึกอยากท้าทาย เจอแมวที่ไหน พุ่งเข้าใส่ ยอมพลีกายให้ตะปบ ตบให้ตายกันไปข้างเลยทีเดียว

ถ้าจะว่าไป การควบคุมพฤติกรรมของสัตว์โดยท็อกโซ ก็ออกแนวจะคล้ายๆ การสะกดจิต นักวิทยาศาสตร์จึงตั้ง “สมมุติฐานการควบคุมพฤติกรรมโดยปรสิต (parasite manipulation hypothesis)” เพื่อใช้อธิบาย

พวกเขาเชื่อว่า “การติดเชื้อท็อกโซน่าจะสร้างผลกระทบได้ในสมองและระบบประสาทของสัตว์ สามารถปรับเปลี่ยนระบบรับสัมผัสทางกลิ่นและพฤติกรรมการตอบสนอง คอยสะกดให้พวกมันติดหลงอยู่ในภวังค์แห่งกลิ่น กระตุ้นให้ชื่นชอบ และอยากที่จะเข้าหาแมว (หรือสัตว์ตระกูลแมว) ถึงขนาดยอมสังเวยชีวิต เพื่อให้ปรสิตมีโอกาสไปติดแมว”

ซึ่งก็สอดคล้องกับการทดลองของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (The University of Oxford) ที่ตีพิมพ์ออกมาในปี 2000 ที่ว่าการที่หนูติดเชื้อถูกดึงดูดให้สนใจและเข้าหาแมว เป็นเพราะว่าพวกมันพิศวาสกลิ่นปัสสาวะแมว

และจากการทดลองสำรวจในคน จาโรสลาฟ เฟลกร์ (Jaroslav Flegr) และทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยชาร์ลส์ ประเทศสาธารณรัฐเช็ก พบว่าในคน ชายหนุ่มที่ติดเชื้อจะมีความนิยมชมชอบกลิ่นปัสสาวะแมวมากกว่าชายหนุ่มที่ไม่ติดเชื้ออย่างเห็นได้ชัด

ซึ่งน่าสนใจ เพราะนั่นหมายความว่าเจ้าทาสทั้งหลายก็ไม่รอดจากควบคุมของท็อกโซเช่นกัน

เฟลกร์คือหนึ่งในผู้บุกเบิกงานวิจัยเกี่ยวกับท็อกโซกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในมนุษย์ เขาเผยว่าความสนใจในการศึกษาท็อกโซของเขานั้นเริ่มต้นขึ้นในช่วงปี 1990s ในตอนนั้น เพื่อนร่วมงานของเขาได้พัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยโรคไข้ขี้แมวแบบใหม่ขึ้นมา และเขาก็อาสาเข้าร่วมเป็นกลุ่มทดลองให้ และผลที่ออกมาคือเขาติดเชื้อ

แม้จะไม่มีอาการอะไรชัดเจน เฟลกร์เริ่มพิจารณานึกย้อนกลับไปว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปในตัวเขาบ้าง เเละเขาก็ตระหนักว่าในช่วงหลังๆ ตัวเขาเองเริ่มที่จะไม่ค่อยกริ่งเกรงกับภยันตรายรอบๆ ตัวเหมือนที่เคยเป็น

“ผมข้ามถนนแบบไม่ใส่ใจอะไร ไม่แม้จะชะงักตอนที่โดนบีบแตรไล่” เฟลกร์กล่าว เขาตั้งคำถาม “แล้วท็อกโซมีส่วนแค่ไหน?”

“ขนาดหนูติดท็อกโซยังลืมกลัว ไปยั่วแมว” เฟลกร์เชื่อว่าในคนก็น่าจะไม่ต่าง

จากการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลอย่างละเอียด เฟลกร์พบความสัมพันธ์แน่นแฟ้นระหว่างท็อกโซกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์ คนติดเชื้อมีความกล้าบ้าบิ่น แต่จะตัดสินใจช้าลงในระยะเวลาคับขัน ซึ่งอาจเป็นต้นเหตุที่ทำให้ตัวเลขคนที่ติดเชื้อที่ประสบอุบัติเหตุบนท้องถนนนั้นมีมากกว่าคนที่ไม่ติดถึงสองเท่า

เกลนน์ แม็กคอนกี (Glenn McConkey) นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยลีดส์ (University of Leeds) และโจแอนน์ เว็บสเตอร์ (Joanne Webster) นักปรสิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยอิมพีเรียล (Imperial College London) พบว่าท็อกโซมียีนสำหรับสร้างสาร I-DOPA ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของสารสื่อประสาทโดปามีน และการเปลี่ยนแปลงระดับและเมตาโบลิซึ่มของโดปามีนในสมองนี่เองที่อาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในผู้ติดเชื้อท็อกโซ

แต่การทำงานของสมองนั้นซับซ้อนเกินกว่าที่เราจะสรุปได้ง่ายๆ แม้ว่าจะมีการทดลองที่น่าสนใจออกมาหลายฉบับเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นระดับโดปามีนในผู้ติดเชื้อท็อกโซ และอาจเชื่อมโยงไปถึงภาวะจิตเภทได้ด้วย แต่กลไกที่แท้จริงที่ท็อกโซใช้ในการควบคุมจิตใจของโฮสต์นั้นจนถึงตอนนี้ก็ยังคงเป็นปริศนา

การทำการทดลองปรับสมองในคนนั้นยากและอาจก้ำกึ่งในเชิงจริยธรรม แต่ถ้าอยากเข้าใจแค่เรื่องความพิศวาสกลิ่นปัสสาวะแมวนี่อาจจะไม่ยากเท่าไร เพราะพฤติกรรมชื่นชมนิยมแมว (และสัตว์ตระกูลแมว) หลังติดท็อกโซก็พบได้เช่นกันในชิมแปนซี

ในปี 2016 นักวิจัยจาก CNRS ประเทศฝรั่งเศสพบว่าเหล่าชิมแปนซีที่ติดเชื้อจะติดใจใฝ่หากลิ่นปัสสาวะของเสือดาว และยินดีที่จะยอมพาตัวเข้าไปเสี่ยงกับการโดนเสือกัด ขอแค่ได้อยู่ใกล้ๆ กลิ่นอันพึงปรารถนา

และนั่นจะช่วยให้เชื้อท็อกโซได้มีโอกาสเคลื่อนย้ายนิวาสสถานจากลิงไปสู่แมวยักษ์อย่างเสือด้วย

แต่ในกรณีของลูกไฮยีนาลายจุดที่พบในเคนยา การติดเชื้อท็อกโซจะเปลี่ยนพฤติกรรมของพวกมันไปอย่างสิ้นเชิง

ปกติ ลูกไฮยีนามักจะวิ่งเล่นอยู่ใกล้ๆ รัง โดยมีฝูงคอยดูแลอยู่ ทำให้ปลอดภัยจากผู้ล่าอย่างเสือและสิงโต

แต่ลูกไฮยีนาที่ติดเชื้อจะมีความกล้าบ้าบิ่นชอบแอบหนีออกจากรังไปเดินอวดทรวดทรงโชว์เมนูยั่วน้ำลายกลายเป็นของขบเคี้ยวใกล้ๆ กับดงเสือ ดงสิงโต

“ผมถึงกับอึ้งที่ได้เห็นชัดเจนว่าพวกลูกไฮยีนาที่ติดเชื้อกับพวกที่ไม่ติดเข้าไปป้วนเปี้ยนอยู่ใกล้สิงโตมากน้อยต่างกันแค่ไหน” เคย์ โฮลแคมป์ (Kay Holekamp) นักนิเวศน์พฤติกรรมจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐมิชิแกน (Michigan State University) กล่าว “พวกที่ติดเชื้อมักจะเข้าไปใกล้ถึงราวๆ 142 ฟุต ในขณะที่พวกปกติจะเพลย์เซฟอยู่ห่างออกไปราวๆ 300 ฟุต โอกาสที่จะโดนลากไปเป็นของกินเล่นกรุบกรอบจึงไม่ค่อยมี”

งานวิจัยไฮยีนาของทีมมิชิแกนนั้นน่าสนใจเป็นพิเศษ เพราะไฮยีนานั้นอยู่กันเป็นฝูงและถือเป็นสัตว์สังคม ซึ่งในตอนนี้ ถ้าว่ากันตามจริง ก็ยังมีคำถามอยู่อีกมากมายว่า พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของสัตว์ติดเชื้อนั้นจะทำให้พวกมันเสียเปรียบตัวที่ไม่ติดอย่างไรบ้าง ในไฮยีนานั้นชัดเจน พวกติดเชื้อมีโอกาสกลายเป็นของขบเคี้ยวของสิงโตมากกว่า และในอีกมุมหนึ่ง ถ้าพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปนี้จะส่งผลต่อกลุ่มประชากรของสิ่งมีชีวิตโดยรวมอย่างไร

บางที พฤติกรรมแบบกล้าบ้าบิ่นของพวกติดเชื้อ อาจจะส่งเป็นประโยชน์ในสัตว์สังคมบางประเภทก็เป็นได้

คอนเนอร์ เมเยอร์ (Connor Meyer) และคิรา แคสสิดี (Kira Cassidy) นักนิเวศวิทยาสัตว์ป่าจากมหาวิทยาลัยมอนทานา (University of Montana in Missoula) พบข้อเท็จจริงที่น่าสนใจจากการวิเคราะห์เลือดและติดตามพฤติกรรมหมาป่าสีเทาในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติเยลโลสโตน (Yellowstone National Park) นั่นคือหมาป่าติดเชื้อท็อกโซมีแนวโน้มที่จะแยกตัวออกไปตั้งฝูงใหม่ มากกว่าพวกที่ไม่ติดมากถึง 11 เท่า และมีโอกาสที่จะได้ขึ้นเป็นผู้นำฝูง หรือตัวเดียวที่ได้สิทธิ์ผสมพันธุ์ มากกว่าตัวที่ไม่ติดเชื้อมากถึง 46 เท่า ว่ากันอีกนัยหนึ่งก็คือ “อัลฟ่า” แทบทั้งหมดติดเชื้อ

“เราได้ผลมาแล้วก็ได้แต่นั่งจ้องหน้ากันไปมาแล้ว ก็อ้าปากค้าง นี่มันเกินกว่าที่เราคาดไว้ไปมาก” แคสสิดีกล่าว

ผลการทดลองแบบนี้แสดงให้เห็นถึงบทบาทของเชื้อปรสิตกับการวางรากฐานโครงสร้างประชากรของสัตว์ในสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่กรณีปกติ ที่แค่ติดเชื้อแล้วจะค่อยๆ อ่อนแอลงและตายไปในที่สุด

ในกรณีของหมาป่า พอติดเชื้อแล้ว พวกมันกลับแข็งแกร่งขึ้น ตระเวนมากขึ้น ซึ่งจะทำให้พวกที่ติดเชื้อกระจายโรคไปได้ไกลยิ่งขึ้น ไปยังพวกเสือภูเขา (และสัตว์ในตระกูลแมวอื่นๆ) ในเขตอาณาบริเวณใกล้เคียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

และถ้ามองย้อนกลับมาในสังคมมนุษย์ ในเวลานี้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อท็อกโซมีมากถึงราวๆ สองพันล้านคน

และจากการวิเคราะห์ข้อมูลระดับประเทศโดยสเตฟานี จอห์นสัน (Stafanie Johnson) นักเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยโคโลราโด โบลเดอร์ (University of Colorado, Boulder) พบว่า “ประเทศที่มีอัตราการติดเชื้อท็อกโซพลาสมาสูง คนในประเทศกล้าที่จะลงทุนและเป็นผู้ประกอบการณ์สูงขึ้นตามไปด้วย”

ยิ่งไปกว่านั้น “ยังมีความเชื่อมโยงระหว่างการติดเชื้อท็อกโซ และพฤติกรรมการเป็นผู้ประกอบการทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับนานาชาติ รวมไปถึงการเลือกเรียนในสายธุรกิจอีกด้วย”

ติดเชื้อ เพื่อเป็นอัลฟ่า แค่นี้ก็น่าตื่นเต้นแล้ว เชื่อได้ว่าน่าจะยังมีพฤติกรรมอีกมากมายที่ซับซ้อนที่การติดเชื้อท็อกโซอาจจะไปมีเอี่ยวด้วย ก็คงต้องรอดูต่อไป ว่าจะมีเซอร์ไพรส์อะไรอีกมั้ยจากงานวิจัยท็อกโซ

คงต้องติดตามตอนต่อไป เพราะบางทีการเป็นทาสแมว อาจจะให้อะไรมากกว่าที่คุณคิด